Skip to main content
sharethis

ธวัชชัย – สุภิญญา กสท.เสียงข้างน้อย ระดมความเห็น เสนอ 5 หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ เน้นให้คะแนน การออกแบบโครงสร้างมากสุด มีเนื้อหาที่ตอบสนองสังคม มีแหล่งที่มารายได้ เน้นความเป็นมืออาชีพ ยืนยาว สร้างพลังคนดูในทีวีสาธารณะ และมีธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ 

               

วันนี้ (30 เม.ย.56) ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. และ กสท. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ หรือเกณฑ์ beauty contest โดยมีนักวิชาการด้านต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วม เสนอเกณฑ์ 5 ข้อ เพื่อคลายสเป็กทีวีสาธารณะ ดังนี้

เกณฑ์ที่ 1 โครงสร้างบริหารองค์กร สะท้อนความเป็นอิสระ สาธารณะ มีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ แบ่งเป็น 3 โมเดล คือ เป็นองค์กรมหาชน หากเป็นหน่วยงานรัฐ แยกมาจากหน่วยงานราชการแผ่นดิน หรือ ตั้งองค์กรที่มีโครงสร้างบริหารที่เป็นอิสระ หรือมีภาคีเครือข่ายจับมือใน 3 กลุ่มคุณสมบัติร่วมที่กำหนดว่า มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น  ฯลฯ เพื่อดูความน่าเชื่อถือที่แต่ละองค์กรควรมี ให้คะแนนเพิ่มเติมในกรณีที่มีตัวแทนจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพ องค์กรอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่า ลดแนวโน้มในการผูกขาดอำนาจ และเป็นการเพิ่มความหลากหลายและรับประกันความคุ้มค่าในแง่การใช้คลื่นสาธารณะ โครงสร้างต้องสะท้อนความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดให้มีการมีส่วนร่วม  เน้นให้ร้อยละ 30 

เกณฑ์ที่ 2 หลักเกณฑ์ในเรื่องผังและเนื้อหารายการ มีความหลากหลาย ตอบสนองเนื้อหารายการที่สังคมไทยไม่มี เช่น เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ แม้คนดูจะไม่เยอะแต่มีประโยชน์  โดยตัวชี้วัดที่สำคัญในเรื่องเนื้อหา เช่น การสร้างคุณค่าทางสังคม คุณภาพรายการ เช่น คุณค่าทางการผลิต  อยู่ทนนาน สร้างความปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดความคิด  เป็นต้น ความหลากหลายในเรื่องเนื้อหาประกอบด้วย 4 มิติ เช่น รูปแบบ เนื้อหา (ภูมิภาค ส่วนกลาง) ความคิด (แตกต่าง) ความสนใจเฉพาะกลุ่ม (เชื้อชาติ) ควรให้คะแนนร้อยละ 25

เกณฑ์ที่ 3 การเงิน การหารายได้ ในแง่การให้คะแนนควรต้องดูว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร เช่น ในแง่การเงินเพื่อพอหารายได้สำหรับ self-sufficient แล้วจะให้คะแนนอย่างไร เช่น กรณีช่อง 11 ได้มีการกำหนดไว้ว่า ความพอเพียงน่าจะไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไว้  คำถามคือ ให้เงินทุนอย่างไรที่จะธำรงความเป็นอิสระ  ในขณะเดียวกันมีงบประมาณที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการออกแบบแผนการเงินจึงเป็นเกณฑ์สำคัญ ให้คะแนนร้อยละ20 

เกณฑ์ที่ 4 ความเป็นธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของสถานี มีคณะกรรมการเป็นอิสระในการเป็นเจ้าของและการดำเนินการ  มีมาตรฐานคุ้มค่าการลงทุน กระบวนการแต่งตั้ง มีกลไกตรวจสอบที่เปิดเผยโปร่งใส มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ : เป็นอิสระในเชิงบรรณาธิกรณ์  แหล่งที่มารายได้ และแจ้งให้เห็นต้นทุนในแต่ละปี เกณฑ์การให้คะแนนร้อยละ 15

เกณฑ์ที่ 5 ความพร้อมด้านเทคนิค การประเมินศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเนื้อหา เช่น digital archive, สามารถบูรณาการในด้านเทคโนโลยีและเนื้อหาในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น  และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างจากระบบอนาล็อก ร้อยละ 10

นอกจากนี้ การกำกับดูแล ควรมีความชัดเจนว่าผู้ขอใบอนุญาตจะถูกกำกับดูแลอย่างไรให้อนาคต ว่า ผลลัพธ์ส่งต่อเป้าหมายสาธารณะจริงหรือไม่ มีการประเมินผลหนึ่งปี และหากไม่ทำตามข้อเสนอในการประกวดควรใส่ในใบอนุญาตควบคู่ไปเลย

มีการจัดทำจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นเกณฑ์เพิ่ม มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน – มีสมาชิกสภาผู้ชม ผู้ฟัง หรือมีผู้ตรวจการ (ombudsman) อาจจะทำให้การให้คะแนนชัดเจนมากขึ้น รวมถึงคะแนนเพิ่มเติมอาจพิจารณาให้แสดงว่า จะทำอย่างไรเพื่อเติมเต็มการปฏิรูปสื่อ และมีคะแนนเพิ่มเติมอาจพิจารณาว่ามีการส่งเสริมการศึกษาของพลเมืองอย่างไร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง

 

ด้าน ธวัชชัย ระบุว่า ควรเน้นเนื้อหาที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับทีวีระบบอนาล็อกเดิม อาจทำให้ไม่มีคนดูในตอนแรก ต้องใช้เวลาฝ่าฟันให้ได้

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างหลักเกณฑ์ทีวีสาธารณะ Public Service Broadcasting (PSB) ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ในต่างประเทศ ที่แม้ว่าจะให้ภาครัฐ แต่องค์กรกำกับดูแลจะต้องมีการกำกับหรือ norm ให้แก่สถานี ด้านเนื้อหาที่หลากหลาย สร้างคุณภาพทางสังคม มีความเป็นอิสระในเชิงบรรณาธิกรณ์จากรัฐบาล ส่วนการหารายได้ต้องมีการอุดหนุนทางการเงินส่วนใหญ่จากสาธารณะโดยผ่านกลไกที่ถูกออกมาเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระ และมีการประเมินศักยภาพการใช้เทคโนโลยี มีตัวอย่างคลังข้อมูลดิจิตอล (digital archive) ในสถานี BBC NHK  เป็นต้น

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า หลักเกณฑ์มีความสำคัญต่อการให้คะแนน เพราะมีผลต่อการสนับสนุนงบประมาณในทีวีสาธารณะ ทุกนาทีในโทรทัศน์มีราคาและความสำคัญ เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์ทางการเงินจึงสำคัญ หากไม่มีประสบการณ์การบริหารสถานีโทรทัศน์ อนาคตอาจต้องเซ้งให้รายอื่นเข้ามาดูแลแทน ไม่ใช่การบริหารแบบ Low Cost TV (ทีวีดาวเทียม) รวมทั้งทำทีวีสาธารณะต้องมีคนดู สามารถทำให้สนุกได้ แต่ต้องมีพลัง “ถ้าไม่มีคนดู ก็จะไม่เกิดพลัง” จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้คราวเดียวหมด

สุภิญญา กล่าวว่า ทีวีสาธารณะจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและมีผลต่อความคึกคักของทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ หากเนื้อหาทีวีสาธารณะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ก่อน เชื่อว่าเนื้อหาอาจไม่ต่างจากทีวีธุรกิจ กสท.ควรค่อยๆ ออกใบอนุญาตสาธารณะ เพื่อดูภาพรวมทีวีประเภทธุรกิจด้วย นอกจากนี้ จะเสนอกลไกการคัดเลือกโดยมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม  โดยจะนำเกณฑ์ที่ได้เสนอที่ประชุม กสท. ในวันอังคารหน้า (วันที่ 7 พ.ค.) 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net