Skip to main content
sharethis

เตรียมจัดพิธีสืบชะตาต้นแม่น้ำปิง 9 - 10 พ.ค.นี้ ที่ต้นน้ำปิง บ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ด้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเตรียมนัดหมายจัดรำลึกครบรอบ 1 ปีที่ได้ร่วมกันคัดค้านให้รัฐยุติการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำปิงด้วย

จากสถานการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้ในหลายๆ ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินกันว่า ในหลายพื้นที่ต่างเผชิญกับปัญหาอันเกิดขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และจากกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งด้านอุตสาหกรรม ระบบการผลิตทางการเกษตรมุ่งเน้นเพื่อการค้ามากกว่าเพื่อการยังชีพ ส่งผลทำให้ทรัพยากรโดยรวมของประเทศไทยถูกนำไปใช้ประโยชน์เกินขีดความสามารถและข้อจำกัดในการบริหารจัดการทรัพยากร

ในพื้นที่ภาคเหนือก็เช่นกัน ในหลายจังหวัด หลายอำเภอ หลายลุ่มน้ำ ล้วนมีลักษณะของพื้นที่ป่าที่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ แหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่า โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและในเขตพื้นที่ป่าซึ่งบางแห่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ที่ชุมชนตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า ได้ถูกจำกัดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

ผืนป่าต้นน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อผืนป่าระหว่างไทย– พม่า โดยมี “ดอยถ้วย” เป็นขุนน้ำ หรือ “ตาน้ำ” แหล่งกำเนิดสายน้ำแม่ปิงที่หล่อเลี้ยงผู้คน ชุมชน ตั้งแต่ อ.เชียงดาวจนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

แต่ก็นั่นแหละ ในหลายๆ พื้นที่ทางตอนเหนือ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ไม่อาจหลีกพ้นที่จะเผชิญกับความพยายามในการขยายพื้นที่รองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การใช้ปัจจัยการผลิตที่ส่งเสริมให้พืชหลายชนิดมีน้ำหนัก และตรงกับความต้องการของตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดภาวะน้ำแล้งในบางแห่ง น้ำไหลหลาก น้ำท่วม ในบางพื้นที่ รวมทั้งแนวคิดของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งผลต่อแนวคิด แนวทางและรูปแบบโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่เกินความต้องการของชุมชนจนนำมาสู่ความคิดเห็นต่างของคนในชุมชน ยกตัวอย่างกรณี การศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฐานทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องหาอยู่หากินกับผืนป่า ผืนดินและแหล่งน้ำ จึงจำเป็นต้องรักษาคงไว้มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทางผู้นำชุมชน สมาชิกชุมชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม ต้นน้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของสมาคมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ.เชียงดาว ที่ก่อเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่ม รวมตัวกันเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม อันเป็นลำน้ำเล็กๆ ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์และอาศัยลำน้ำซุ้มในการหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรของชุมชนที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำ และมีพื้นที่เกษตรที่มีลำน้ำซุ้มไหลผ่าน ตั้งแต่บ้านนาหวาย บ้านน้ำรู บ้านโล๊ะป่าหาญ บ้านห้วยไส้ บ้านห้วยเป้า และบ้านโป่งอาง ได้ริเริ่มหาแนวทางในการที่จะร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรโดยใช้ฐานวัฒนธรรม สร้างความศรัทธาร่วม ภายใต้การคิดโครงการที่ชื่อ “สายธรรมค้ำสายธาร” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อการเชื่อมร้อยการสืบชะตาแม่น้ำซึ่งเป็นพิธีกรรม ที่ผู้ประกอบพิธีมีความต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย หรือการทำให้ชีวิตมีความรุ่งเรือง การสืบชาตานั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเชื่อเรื่องของผี คือ เรื่องของขวัญ ในเชิงจิตวิทยา ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่า คน สัตว์ พืช สิ่งของ ล้วนแล้วแต่มีขวัญอันเป็นพลังชีวิตประจำตนอยู่

น.ส.นุจิรัตน์ ปิวคำ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ ต.เมืองนะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพิธีสืบชะตาขุนน้ำปิง ปีละ 1 ครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 ณ บ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง ในปี พ.ศ. 2554 ครั้งที่ 2 ณ บ้านห้วยไส้ ต.เมืองนะ พร้อมกับส่งต่อกิจกรรมจากบ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำเดียวกัน โดยมีข้อตกลงร่วมกันด้วยการลงนามความร่วมมือของ 5 หมู่บ้านเพื่อเป็นสักขีพยานจากหน่วยงานต่างๆในการที่จะร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู จัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรฯ เชื่อมประสานภาคีหน่วยงานเข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการปฏิบัติการในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

“ในปีนี้ชาวบ้านได้หารือร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิง ณ บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 9-10 พ.ค.นี้”

การจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิงในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้สังคม ชุมชน เกิดความตระหนักในการดูแลรักษา ฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิงตอนบน อีกทั้งเพื่อเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน รวมถึงชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน รวมไปถึงการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างพลัง ความเข้มแข็งให้กับกลุ่มแก่เหมืองแก่ฝาย กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องการดำเนินงานในระยะยาวต่อไป

ด้านนายวิรินทร์ บิดาแปง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง กล่าวว่า การจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำปิงในครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีกรรมการบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำปิงแล้ว ทางชาวบ้านโป่งอางก็อยากจะเชิญชวนทุกท่านไปร่วมเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีที่พี่น้องชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านให้รัฐยุติการสร้างเขื่อนด้วย

ทั้งนี้ หมู่บ้านโป่งอาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 102 หลังคาเรือน เป็นชุมชนชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับกว่าร้อยปี โดยพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำปิง การดำรงชีวิตของคนในชุมชน จึงอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศจากดินน้ำป่า มาช้านาน

และถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเป็นป่าต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยลุ่มน้ำห้วยหก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางกรมชลประทานเคยมีแนวคิดโครงการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง จนกระทั่งถูกชาวบ้านบ้านโป่งอาง เจ้าของพื้นที่ลุกขึ้นคัดค้านต่อต้านจนโครงการนั้นล้มพับไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net