Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจาก 157 ประเทศหารือในที่ประชุมยูเอ็น เพื่อพิจารณาการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ หากผลักดันสำเร็จ จะยุติการขายอาวุธที่ไม่มีการควบคุม ซึ่งแอมเนสตี้มองว่าเป็นสาเหตุการทารุณกรรมและละเมิดสิทธิในวงกว้าง

19 มี.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหประชาชาติหนุนการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty) เนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นเพื่อการควบคุมการค้าอาวุธเป็นครั้งแรกนี้ จะสามารถยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนที่ไม่มีการควบคุม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการทารุณกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กว้างขวาง

การประชุมรอบสุดท้ายเพื่อเจรจาหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนโดยไม่มีการควบคุม เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 มี.ค. ที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการอาวุธ ณ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยมีตัวแทนจาก 157 ประเทศเข้าร่วม 
 
มี 108 ประเทศ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว นำโดยเม็กซิโก รวมถึงเยอรมนีและอังกฤษ โดยระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นความสำคัญของสนธิสัญญาการค้าอาวุธ และสนธิสัญญาที่อ่อนแอ อาจสร้างความชอบธรรมให้กับการค้าอาวุธที่ไม่รับผิดชอบและผิดกฎหมาย จึงต้องหลีกเลี่ยงผลการเจรจาเช่นนั้น 
 
ตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ระบุว่าสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ จอห์น เคอร์รี กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นในการสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของสากล แต่ก็ระบุว่า จะไม่รับรองสนธิสัญญา หากส่งผลจำกัดต่อสิทธิของพลเมืองสหรัฐในการถืออาวุธ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในการเมืองสหรัฐ ในขณะที่สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้สนับสนุนการถืออาวุธปืนที่มีอิทธิผลในสหรัฐ กดดันรัฐบาลโอบามาไม่ให้รับรองสนธิสัญญาดังกล่าว  
 
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าประชาชนในซีเรีย มาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอันเป็นผลมาจากการซื้อขายอาวุธระดับโลกอย่างไม่บันยะบันยัง และทำกันเป็นความลับ
 
“เรารอไม่ได้อีกแล้วที่ต้องเห็นผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน และจะไม่รอให้มีการทำลายชีวิตเพิ่มเติมก่อนที่ผู้นำจะแสดงความกล้าหาญและดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานระดับโลกเพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศอย่างเป็นผล การประชุมนี้นับเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เหล่าผู้นำประเทศต้องฉวยโอกาสนี้ไว้และหาทางยุติไม่ให้เกิดการส่งมอบอาวุธที่จะถูกนำไปใช้เพื่อการทารุณกรรม”
 
0000
 

แอมเนสตี้ ฯ เรียกร้องสหประชาชาติหนุนการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่ช่วยชีวิตมนุษย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของโลกต้องแก้ปัญหาการซื้อขายอาวุธระดับโลกที่ขาดการควบคุม ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อประชาชนหลายสิบล้านคน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอีกนับไม่ถ้วนในแต่ละปี ในขณะที่การประชุมรอบสุดท้ายขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ได้เริ่มขึ้นที่กรุงนิวยอร์ก

การเจรจาระหว่างวันที่ 18-28 มีนาคม เป็นโอกาสที่รัฐต่าง ๆ จะตกลงกันเกี่ยวหลักเกณฑ์เพื่อยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่จะแสดงพันธกิจของตนที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าประชาชนในซีเรีย มาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอันเป็นผลมาจากการซื้อขายอาวุธระดับโลกอย่างไม่บันยะบันยัง และทำกันเป็นความลับ

“เรารอไม่ได้อีกแล้วที่ต้องเห็นผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน และจะไม่รอให้มีการทำลายชีวิตเพิ่มเติมก่อนที่ผู้นำจะแสดงความกล้าหาญและดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานระดับโลกเพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศอย่างเป็นผล การประชุมนี้นับเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เหล่าผู้นำประเทศต้องฉวยโอกาสนี้ไว้และหาทางยุติไม่ให้เกิดการส่งมอบอาวุธที่จะถูกนำไปใช้เพื่อการทารุณกรรม”

การประชุมว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการการค้าอาวุธจัดครั้งนี้จะมีการประชุมกัน 9 วันที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมสืบเนื่องจากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากการเจรจาขององค์การสหประชาชาติในครั้งนั้นยุติลงเพราะไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อันเนื่องมาจากมีเพียงไม่กี่รัฐที่ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายเหล่านี้ และใช้ยุทธวิธีเพื่อถ่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อตกลงฉบับนี้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 157 รัฐลงมติเห็นชอบที่จะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในเดือนนี้เพื่อจัดทำร่างสุดท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าว

ในช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นแนวหน้าในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และมีพื้นฐานมาจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ความพยายามก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่จะจัดทำสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายดังกล่าว

การลงมติคว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธขององค์การสหประชาชาติ มักเป็นมาตรการที่นำมาใช้ภายหลังการทำทารุณกรรมเกิดขึ้นแล้ว และเนื่องจากไม่มีระบบควบคุมการส่งมอบอาวุธที่เห็นชอบร่วมกัน เป็นเหตุให้มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งยังคงเร่งให้เกิดการทารุณกรรมและการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง  

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่รัฐต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่ออาวุธที่ตนส่งมอบ รวมทั้งการกำหนดเป็นหลักการสำคัญไว้ในสนธิสัญญา ว่ารัฐควรประเมินความเสี่ยงอย่างจริงจังว่าการส่งมอบอาวุธจะถูกใช้เพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือไม่ และหากมีความเสี่ยงเช่นนั้น ก็ไม่ควรปล่อยให้มีการส่งมอบอาวุธเกิดขึ้น

ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ไม่มีรัฐบาลและผู้นำการเมืองคนใดที่ยอมรับอย่างเปิดเผยในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ก่ออาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าช่วงที่มีสงครามความขัดแย้งหรือช่วงที่สงบสุขก็ตาม แต่นับตั้งแต่มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้น ยังไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในสนธิสัญญาฉบับร่างเพื่อห้ามการส่งมอบอาวุธให้กับผู้กระทำความผิด

“ผู้คนทั่วโลกต่างจับตามองกระบวนการนี้ และหวังว่าผู้นำการเมืองจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ในขณะเดียวกันผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของการใช้อาวุธและครอบครัวของพวกเขา ต่างเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่เข้มแข็ง สามารถกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนและเป็นสากลเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าสมาชิกถาวรของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งประเทศจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ต่างแบกความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงเพื่อทำให้เกิดสนธิสัญญาที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ พวกเขาต่างมีหน้าที่ดูแลให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ในปี 2553 ประเทศเหล่านี้มีการค้าขายอาวุธรวมกันประมาณ 60% ของมูลค่าการซื้อขายอาวุธทั่วไป 70,000 ล้านเหรียญ คาดว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากการค้าอาวุธอาจมีเพิ่มสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผลกระทบในระยะยาวจากความโลภเช่นนี้ อาจสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับผู้หญิง สนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่มีข้อห้ามอย่างชัดเจนต่อการส่งมอบอาวุธที่อาจถูกนำไปใช้ในการละเมิดร้ายแรง อย่างเช่น ความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาพ และความรุนแรงทางเพศ โดยสนธิสัญญาฉบับนี้อาจช่วยยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ทุกวัน

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพร้อมกับผู้แทนจากทุกภูมิภาคทั่วโลก กำลังเข้าร่วมการเจรจาขององค์การสหประชาชาติ และทำหน้าที่กดดันผู้นำประเทศต่าง ๆ ให้เห็นชอบต่อสนธิสัญญาที่กำหนดหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายอาวุธ เพื่อประกันให้มีความเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการมีหลักเกณฑ์ที่เข้มแข็งดังนี้

  • ต้องช่วยควบคุมประเภทอาวุธทั่วไปอย่างเข้มงวด รวมทั้งอาวุธสงคราม ลูกกระสุน และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทหารและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายใช้
  •  จะต้องควบคุมการซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศในทุกแง่มุม ทั้งในรูปของการให้เป็นของขวัญ การเป็นนายหน้าเจรจาซื้อขายอาวุธ การขนส่ง และการเป็นแหล่งทุน
  • ต้องจัดทำกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งมอบอาวุธไปยังผู้รับซึ่งไม่ได้รับอนุญาต กำหนดให้มีการรายงานประจำปีต่อสาธารณะ และการเอาผิดทางอาญาต่อการลักลอบค้าอาวุธ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net