Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขอให้โปรดพิจารณาพฤติกรรมของตัวเองอย่างถ้วนถี่และเร่งด่วนว่า พวกท่านและองค์กรของท่านกำลังใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองทำการคอรัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่ และกำลังทำลายประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนหรือไม่

ตามที่ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการร่วมสภาธุรกิจไทย-สหภาพ ยุโรป(อียู) ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า "ในวันที่ 12เมษายน 2556 จะได้หารือกับศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป เพื่อให้ช่วยเจรจากับองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่เป็นห่วงการเจรจาเอฟที เอไทย-อียูในหลายเรื่องว่าอย่าเพิ่งโจมตี หรือทำอะไรที่รุนแรง และในวันที่ 28 เมษายนทางสภาธุรกิจฯจะเปิดเวทีระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเสนอ ให้รัฐบาลใช้เป็นจุดยืนในการเจรจาต่อไป" นั้น

พวกเราถือว่า การกล่าวหาของประธานกรรมการร่วมสภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรปที่ว่า ผู้ที่จับตาการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปจะใช้ความรุนแรงนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่น่ารังเกียจและไร้ความจริงอย่างที่สุด เพราะการติดตามตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอและการจัดกิจกรรมตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีของเราไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย

‘สภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป’ และคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) อันประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มักอ้างตัวว่า เป็นแกนนำสำคัญของภาคีต่อต้านคอรัปชั่นที่เน้นการสร้างธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การรู้รับผิดรับชอบ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่โดยแท้จริงแล้ว คือ กลุ่มธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ ที่ยังมุ่งสร้างผลกำไรเพิ่มเติมโดยการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เพื่อหวังส่งออกสินค้าบางอย่างของตน ทั้งที่ไม่เคยสร้างงานที่เป็นธรรมหรือมีวิถีการผลิตที่ยั่งยืนแต่อย่างใด

ขอให้โปรดพิจารณาพฤติกรรมของตัวเองอย่างถ้วนถี่และเร่งด่วนว่า พวกท่านและองค์กรของท่านกำลังใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองทำการคอรัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่ และกำลังทำลายประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนหรือไม่

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ประชาชาติสูงขึ้น และภาคเอกชนไทยก็มีศักยภาพในการครองตลาดหลายสินค้าในสหภาพยุโรปเกินกว่า 17.5% ซึ่งไม่เข้าข่ายการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯนานแล้ว แต่เราไม่เคยเห็นว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว จะพยายามปรับตัวให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ที่ไม่เป็นเพียงแค่การขอให้รัฐบาลทำอะไรก็ได้ หรือแลกกับอะไรก็ได้ ในเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เช่น ในกรณีเอฟทีเอกับอียู จะให้เจรจา 7 รอใบนระยะเวลาแค่ปีครึ่ง ทั้งที่เป็นเอฟทีเอที่เนื้อหามากที่สุดเท่าที่ไทยเคยเจรจามาเพื่อให้สิทธิพิเศษเหล่านั้นคงอยู่ ดังนั้น การเจรจาอย่างเร่งรัดเพื่อให้ได้ต่อสิทธิ GSP ที่จะหมดภายในสิ้นปี 2557 จะทำลายอำนาจการต่อรองและการเจรจาของไทยอย่างสิ้นเชิง

พวกเราขอทราบจุดยืนของ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.): สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หากผลประโยชน์ที่ธุรกิจไทยต้องการได้จากสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯที่กำลังจะมีในอนาคต จะต้องแลกด้วยสวัสดิการพื้นฐาน ด้านสาธารณสุข การศึกษา การมีชีวิตที่ดีของคนในสังคมนี้ และทรัพยากรชีวภาพของแผ่นดิน ทาง กกร.ใช้หลักใดในการตัดสินใจให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมของชาติโดยรวมตามหลักจรรยาบรรณของทั้ง 3 องค์กร

และนี่คือคำประกาศของเรา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 

คำแนะนำ: โปรดอ่านซ้ำไปซ้ำมาจนขึ้นใจ

พวกเราเครือข่ายประชาชนต่างๆ จำนวน 1,500 คน มาแสดงพลังร่วมกันในวันนี้ เพื่อบอกกับรัฐบาล คณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และประชาชนทั้งหลายว่า การเจรจาการค้าเสรีนั้น ต้องไม่ก่อผลกระทบต่อชีวิต วิถีการทำมาหากินของประชาชนคนส่วนใหญ่ เนื่องจากผลกระทบเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเยียวยา

เรายืนยันและจะยืนหยัดร่วมกัน ติดตาม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการกำหนดท่าทีเจรจาอย่างจริงจัง ถึงที่สุด พวกเราจะกลับไปสื่อสารบอกกล่าวกับพี่น้อง เพื่อนมิตร ที่ชุมชนของเรา เพื่อที่จะได้รวมกำลังที่มากขึ้น กลับมาทวงความรับผิดชอบของรัฐบาลให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน คนส่วนใหญ่ เหนือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม
 

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
เครือข่ายองค์กรงดเหล้า 
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 
สมัชชาคนจน
เครือข่ายสลัม 4ภาค 
ชมรมเพื่อนโรคไต 
เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง 
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
มูลนิธิสุขภาพไทย 
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 
กลุ่มเพื่อนแรงงาน 
มูลนิธิเภสัชชนบท
ชมรมเภสัชชนบท 
กลุ่มศึกษาปัญหายา
มูลนิธิชีววิถี 
มูลนิธิบูรณะนิเวศ 
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ 
เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
มูลนิธิชีวิตไท
องค์กรชาวบ้านบัวใหญ่บัวลาย จ.นครราชสีมา 
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์
เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ 
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม. 
เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D)
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ
เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)


อ้างอิงจากข่าว 
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=172502%3A2013-03-06-03-29-46&catid=87%3A2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net