Skip to main content
sharethis

กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้ สปสช.ทำหน้าที่รับข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของข้าราชการกว่า 5 ล้านคน เริ่ม 1 ต.ค.นี้ หวังเพิ่มความสะดวกในการเบิกจ่าย-ช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลระบบสุขภาพของไทย

(26 ก.พ.56) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่อง “การพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการ ระหว่างกรมบัญชีกลาง และ สปสช.” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประเทศให้ไปในแนวทางเดียวกัน  

นายมนัส กล่าวภายหลังลงนามฯ ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้มีการบูรณาการระบบการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม เพื่อให้โรงพยาบาลบริหารจัดการข้อมูลการเบิกจ่ายได้สะดวก อันจะส่งผลดีต่อการให้บริการผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนทั้ง 3 กองทุน เพราะจะทำให้เกิดการบูรณาการการรับส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่าย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลระบบสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียว และเกิดระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน

ดังนั้น  กรมบัญชีกลาง จึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย และระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการกับ สปสช. โดยกรมบัญชีกลางได้มอบให้ สปสช.ทำหน้าที่ในการทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ (clearing house) หรือเป็นศูนย์รับข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในโครงการของผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการทุกแห่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป

สำหรับปีงบประมาณ 2556 ยังคงเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระบบเดิม คือ สถานพยาบาลจะขอเบิกเงินกับกรมบัญชีกลางโดยตรง ขณะที่ข้อมูลการเบิกจ่ายงบกลางนั้น จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีการเบิกจ่ายงบกลางไปแล้วจำนวน 22,157.50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะบริหารจัดการให้เบิกจ่ายอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 60,000 ล้านบาท
  
“สำหรับการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของสิทธิข้าราชการทั้งหมดยังเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางทั้งหมด และข้าราชการที่อยู่ในกองทุนสวัสดิการข้าราชการนั้นยังคงได้รับการรักษาเช่นเดิมตามสิทธิที่พึงจะได้รับ โดยตั้ง สปสช.เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ให้กับกรมบัญชีกลางเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ของสิทธิข้าราชการเท่านั้น” นายมนัสกล่าว 

ด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอธิบดีกรมบัญชีกลางในการมองภาพรวมด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศ โดยได้มอบให้ สปสช. ทำหน้าที่ประมวลผลและออกรายงานการจ่ายเงินให้กับกรมบัญชีกลาง พร้อมทั้งจะออกรายงานการประมวลผลการรับข้อมูลและการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการด้วย ซึ่ง สปสช.จะวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการของข้าราชการ ข้อมูลการเงิน และจัดทำรายงานส่งให้กรมบัญชีกลางเป็นระยะ รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบข้อมูลการเงินของระบบประกันสุขภาพระดับประเทศ  (National Health Financing Information) และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ (National Health Information System)

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บทบาทการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ซึ่ง สปสช. ไม่ได้เข้าไปจัดการหรือกำหนดหลักเกณฑ์หรือสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด การทำหน้าที่ในครั้งนี้ สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเบิกจ่าย กรมบัญชีกลางจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำหน้าที่ข้างต้น ให้กับ สปสช. ตามที่ลงนามข้อตกดำเนินการกันในแต่ละปีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับข้าราชการและญาติที่มีสิทธิกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ อีกทั้งจะใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการจัดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net