Skip to main content
sharethis

นักสหภาพแรงงานไทยร่วมกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์สมานฉันท์กับขบวนการแรงงานเม็กซิโก ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ร้อง รบ.ปกป้องสิทธิแรงงาน-มนุษยชน ด้านเอกอัครราชทูต แจงทางการเม็กซิโกกำลังสืบสวนแต่ละกรณีปัญหา

ภาพกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก

20 ก.พ. 56 เวลา 10.30 น.ที่หน้าอาคารไทยวาห์ ถ.สาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศไทย นักสหภาพแรงงานประมาณ 40 คน จาก สหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ กลุ่มสหกรณ์คนงานธาร์ยอาร์ม กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ชุมนุมแสดงสมานฉันท์ร่วมกับขบวนการแรงงานเม็กซิโกและสหภาพแรงงานสากลอินดัสตรีออล (IndustriALL Global Union) ในการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเม็กซิโกเคารพ ปกป้องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองเพื่อมาตรฐานการจ้างงานและการดำรงชีพที่ดีสำหรับคนงานทุกคน โดยการชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นในสัปดาห์นี้พร้อมๆ กับประเทศอื่นทั่วโลก

โดยในแถลงการณ์ของนักสหภาพแรงงานกลุ่มนี้ระบุถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนในประเทศเม็กซิโก อาทิ กรณีบริษัท PKC บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เลิกจ้างสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะกว่า 100 คน ที่เมือง Ciudad Acuna ประเทศเม็กซิโก หลังจากที่พวกเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเหล็กและเหมืองแร่ Los Mineros กรณีสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้า (SME) ถูกเลิกจ้าง 16,599 คน หลังจากคณะกรรมการกิจการไฟฟ้าเข้ามาบริหารแทนรัฐวิสาหกิจ แม้ศาลแรงงานเม็กซิโกออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เลิกจ้างและให้โอนพนักงานทั้งหมดมาเป็นพนักงานของคณะกรรมการกิจการไฟฟ้า แต่คณะดังกล่าวไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล และกรณีการเรียกร้องให้เร่งค้นหาคนงานเหมืองกว่า 63 ชีวิตที่เสียชีวิตและติดอยู่ในเหมืองหลังเกิดอุบัติเหตุเหมืองแร่บริษัท GRUPO ถล่ม เมื่อ ก.พ.49 แต่รัฐบาลเม็กซิโกและบริษัทไม่ยอมค้นหาร่างคนงานที่ยังถูกฝัง รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ

ต่อมา เวลา 11.00 น. เอกอัครราชทูตโคร์เฆ่ เชน (Jorge Chen) อนุญาตให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าพบพร้อมรับหนังสือ พร้อมชี้แจงผ่านล่ามว่า กรณีปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุมาในหนังสือร้องเรียนนั้น ทางการเม็กซิโกกำลังดำเนินการและสืบสวนอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ปัญหา ประกอบกับมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ล่าช้า ส่วนบางกรณีที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมนั้น ประเทศเม็กซิโกก็เหมือนในหลายประเทศที่ต้องใช้เวลา

สำหรับกรณีเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายแรงงาน เอกอัครราชทูตฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลใหม่และรัฐสภาขณะนี้ไม่ได้มีพรรคใดมีเสียงข้างมาก ดังนั้นการจะปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรมนั้นจึงไม่ได้อยู่ที่อำนาจของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ต้องได้รับความเห็นฟ้องจากฝ่ายค้านด้วย

สุดท้ายเอกอัครราชทูตฯ ได้รับปากกับตัวแทนนักสหภาพแรงงานที่เข้าพบว่าจะนำข้อร้องเรียนดังกล่าวส่งถึงรัฐบาลเม็กซิโก และแสดงความขอบคุณที่คนงานไทยมีความห่วงใยในสิทธิของคนงานเม็กซิโกด้วย พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่าหากมีประเด็นใดเพิ่มเติม ก็ยินดีให้หารือได้ในอนาคต

เอกอัครราชทูตโคร์เฆ่ เชน รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนคนงาน

น.ส.จิตรา คชเดช ตัวแทนเข้าพบเอกอัครราชทูตและผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงานธาร์ยอาร์ม กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการแสดงออกซึ่งการสมานฉันท์ระหว่างคนงานทั่วโลก เพราะไม่ว่าเรื่องจะเกิดขึ้นที่ใด เราเชื่อว่าคนงานทั่วโลกก็จะเห็นเป็นประเด็นร่วมกัน และจะออกมาสนับสนุนสิทธิการรวมตัวการเจรจาต่อรอง ความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน รวมถึงการป้องกันการคุกคามนักสหภาพแรงงาน

ขณะที่ น.ส.สมพร ตราพระสาโธ กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ซึ่งประสบปัญหาการถูกเลิกจ้าง และชุมนุมต่อเนื่องร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลที่หน้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา กล่าวหลังการเข้าพบเอกอัครราชทูตว่า วันนี้ต้องการมาช่วยคนงานที่เม็กซิโกที่เป็นคนงานเหมือนกัน ซึ่งถูกกระทำเหมือนกับพวกตน จึงเดินทางมาเรียกร้องให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานเหมือนที่พวกตนต้องการ มองว่าการเลิกจ้างที่ตนเองและที่คนงานเม็กซิโกประสบนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากผู้ที่ถูกเลิกจ้างมักเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน

หนังสือร้องเรียน(ฉบับแปล)ที่ยื่นต่อเอกอัครราชทูตฯ :

สถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก

กรุงเทพฯ

                                               20 กุมภาพันธ์ 2556

เรียนฯพณฯ เอกอัครราชทูต

ขบวนการแรงงานในประเทศไทยได้รับแจ้งจากขบวนการแรงงานสากลอินดัสตรีออล (IndustriALL Global Union) เรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนในประเทศเม็กซิโก

พวกเรามีความเป็นห่วงในเรื่องต่อไปนี้:

  • Protection Contracts: ปัญหาข้อตกลงสภาพการจ้างที่บริษัทในเม็กซิโกทำกับสหภาพแรงงานที่นายจ้างแทรกแซง/จัดตั้งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการกีดกันการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานที่แท้จริงของคนงานในเม็กซิโก ข้อตกลงฯ ดังกล่าวมักมีสาระเพียงแค่มาตรฐานขั้นตำที่ระบุในกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว และทำให้คนงานที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองสภาพการจ้างหรือต้องการปรับปรุงสภาพการจ้างทำไม่ได้เพราะติดปัญหา Protection Contracts (ข้อตกลงผูกมัดคนงานในสถานประกอบการ)  
  • ปัญหาอุบัติเหตุเหมืองแร่เมื่อปี 2549 ซึ่งคนงานเสียชีวิตถึง 65 คน  รัฐบาลและบริษัทเหมืองแร่ Grupo ไม่ได้ดำเนินการให้มีการสอบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริงรวมถึงไม่มีการนำร่างคนงานที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเหมืองแร่ครั้งนั้น 63 ขึ้นมา
  • การแก้ไขกฎหมายแรงงานในทางที่ไม่ก้าวหน้า

นอกจากนี้เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของประเทศเม็กซิโกพาผู้นำแรงงานเม็กซิโก คุณนโปเลียน โกเมซ กลับเม็กซิโกอย่างปลอดภัย คุณโกเมซขณะนี้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีความภายใต้รัฐบาลที่ผ่านมา คุณโกเมซเป็นคณะกรรมการบริหารอินดัสตรีออล

คนงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ถูกบริษัท PKC บริษัทสัญชาติฟินแลนด์เลิกจ้างในเม็กซิโกหลังจากที่คนงานเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ Los Mineros  บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะจำนวนกว่า 100 คน

สมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้า SME จำนวนมากกว่า 16,500 คนถูกเลิกจ้างหลังจากรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการกิจการไฟฟ้าซึ่งไม่ยอมรับการโอนพนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ศาลฏีกาเม็กซิโกได้ออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เลิกจ้างพนักงานแต่คณะกรรมการกิจการไฟฟ้าไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ถึงเวลาที่รัฐบาลประเทศเม็กซิโกจะต้องเคารพและปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกลุ่มและแก้ปัญหาเรื่องการทำข้อตกลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับคนงาน    

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net