Skip to main content
sharethis

แม่ทัพภาค 4 แถลง เหตุโจมตีฐานทหารบาเจาะ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องป้องกันตัว หน่วยความมั่นคงเปิดแผนยุทธการ 4563 บุกเขาบูโดไล่ล่ากลุ่มโจมตีฐาน ล่าสุดเชิญตัวผู้ต้องสงสัย 10 คน

เมื่อเวลา 13. 00 น.วันที่ 18 ธันวามคม 2556 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อให้งานเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน

โดยได้ดำเนินยุทธศาสตร์หลักๆ 5 ด้าน คือ การรักษาความปลอดภัย การแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเป็นธรรม การดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญคือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่จะให้พวกเราออกจากความขัดแย้ง โดยกำลังตำรวจ ทหารที่ลงมาในพื้นที่ขณะนี้ ก็มาเพื่อควบคุมสถานการณ์ ป้องปรามไม่ให้เหตุร้ายขยายตัว สิ่งที่ดำเนินการคือการสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารซึ่งกันและกัน

พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า มีหลายฝ่ายมองว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ แต่ตนมองว่าเหตุการณ์คนร้าย 50 คนบุกโจมตีจมตีฐานทหารบ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถ้าไม่โต้ตอบ เหตุการณ์แบบนี้ก็น่าจะเกิดซ้ำอีกเช่นอดีตที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม ที่ทางอิสลามก็ได้สอนคนทั้งโลกว่า การทำร้ายศพนั้นผิดหลักศาสนา แต่ก็ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักรบญีฮาดกระทำเช่นนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้องกันตัว

กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่นมา โดยทั่วไปในพื้นที่ก็ยังมีลักษณะของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ยังไม่สามารถยุติเหตุการณ์ได้ ก็ยังคงเกิดเหตุโจมตีกัน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะใช้การมีส่วนร่วมในการเข้าปิดล้อมตรวจค้น มีการเชิญผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนเข้าร่วม ซึ่งหลายเหตุการณ์ก็ออกมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถ้าหลักฐานไม่เพียงพอก็มีการปล่อยตัวไป สรุปได้ว่า พื้นที่ยังคงมีเงื่อนไขในการต่อสู้กันอยู่ ก็ยังมีความเชื่อมโยง แต่ทางรัฐเลือกที่จะใช้หลักของกฎหมาย หลักของสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการ

พล.ท.อุดมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพระราชบัญญัติการรักษาความไม่สงบภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) หากศึกษาให้ดี พ.ร.บ.นี้จะนำไปสู่ มาตรา 21 คือ การให้อภัยกัน ซึ่งอยากให้ศึกษาแนวทาง ตนเองประเมินสถานการณ์ล่าสุดว่า ในเมื่อรัฐยึดถือแนวทางสิทธิมนุษยชน ส่วนฝ่ายตรงข้ามต้องการสร้างสงคราม ให้คล้ายว่าเป็นสงครามศาสนา แม้แต่การทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็ยังทำ ตนมองว่าคงจะมาถึงจุดสุดท้ายของสงครามมากกว่า ฉะนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะพยายามใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า กลุ่มเค้ายังคงมีอยู่ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เกิดความเบื่อหน่ายกับสถานการณ์แล้ว

“กรณีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น ตนอยากจะบอกว่า เวลาเราจะพูดคุยกับใคร ถ้าเรามีอำนาจเราก็จะสามารถต่อรองได้ แต่เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนมองว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขมายาวนาน เราได้เปรียบในเรื่องงานมวลชน เดิมฝ่ายตรงข้ามอาจจะได้เปรียบ แต่เมื่อความจริงใจ และความตั้งใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐ จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ การพูดคุยไม่ใช่การเจรจา เพราะจะเจรจาไม่ได้ แต่กระบวนการรัฐศาสตร์เปิดเอาไว้ในสภาวะเกื้อกูล ให้ออกจากความขัดแย้งได้ สามารถกระทำควบคู่ไปกับนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาพื้นที่ได้ เมื่อถามตนว่าการเจรจาทำหรือไม่ ก็คงจะตอบว่าไม่ได้ทำ แต่ทำกระบวนการสร้างสภาวะเกื้อกูลให้สามารถออกจากความขัดแย้งนั้น มีการทำอยู่ในทุกระดับ รวมทั้งการเยียวยา” แม่ทัพภาค 4 กล่าว

ภายหลังการแถลงข่าว พล.ต.ต.สุชาติ ธีระสวัสดิ์รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.)เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคนร้ายที่เสียชีวิต พบว่า คนร้ายมีหมายจับของทางการอย่างน้อย 12 คน และจากการตรวจสอบขยายผลอาวุธปืนที่ยึดได้นั้น มีหลักฐานยืนยันที่ตรงกันว่า มีการใช้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จำนวนหลายคดี โดยอาวุธปืนส่วนใหญ่ที่ยึดได้จากกลุ่มคนร้ายจะเป็นอาวุธปืนของทางราชการ เป็นของเจ้าหน้าที่ที่ถูกคนร้ายก่อเหตุ และขโมยไป

“โดยเฉพาะอาวุธปืนของ นายมะรอโซ จันทรวดี แกนนำคนสำคัญที่เสียชีวิตในการเหตุดังกล่าว พบว่า มีการใช้ก่อเหตุมากถึง 35 คดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เร่งขยายผลในการตรวจสอบหลักฐานอย่างอื่น เพื่อติดตามจับกุมตัวคนร้ายที่เหลือ และยังหลบหนีอยู่ในขณะนี้”

วันเดียวกัน หน่วยความมั่นคงได้เปิดใช้แผนยุทธการ 4563 เพื่อเร่งตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายเขตรอยต่อ อ.ไม่แก่น อ.สายบุรี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี กับ อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อกดดันและจับกุมกลุ่มก่อเหตุโจมตีฐานทหารที่บ้านยือลอ โดยปรับแผนการปฏิบัติให้มีการกระชับพื้นที่เป้าหมาย เขตรอยต่อให้แคบลง เพื่อง่ายต่อการเข้ากดดัน จับกุม โดยมีหน่วยกำลังประจำพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้ามาช่วยเหลือในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และการลาดตระเวนควบคู่ไปกับการกดดันไล่ล่ากลุ่มคนร้ายที่หลบหนีอยู่ตามป่าเขา โดยเฉพาะบนเทือกเขาบูโด ซึ่งได้รับรายงานว่าบางส่วนลงมากบดานอยู่ในบ้านของสมาชิกแนวร่วม

แผนยุทธการ 4563 สามารถเชิญตัวผู้ต้องสงสัยส่งไปควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ที่กรมทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา จนขณะนี้รวมแล้วกว่า 10 ราย และได้ทำการเก็บลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ ไว้เทียบเคียงกับวัตถุพยานที่พบจากที่เกิดเหตุ โดยคาดว่าจะสามารถรู้ผลได้ในช่วงอาทิตย์นี้

ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ พบว่าเป็นผู้ที่มีภูมิลำเลาอยู่ในพื้นที่ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส รวมทั้ง อ.รามัน จ.ยะลา และผลการซักถามพบว่า บางรายมีความเชื่อมโยง และเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยข้อมูล ผลการซักถาม ว่าจะมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการณ์หมวดปืนเล็กที่ 2 ฉก.นราธิวาส 32 ด้วยหรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net