Skip to main content
sharethis

เป็นประเพณีสำคัญสำหรับการขับกล่อมเพลงชาติอเมริกา The Star-Spangled Banner ก่อนที่ศึกชิงชนะเลิศอเมริกันฟุตบอล หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์โบวล์” จะเริ่มขึ้น ซึ่งการขับร้องเพลงชาติอเมริกานี้ ถือเป็นเรื่องทรงเกียรติและการันตีถึงความสามารถและความโด่ดังของนักร้องคนนั้นได้เป็นอย่างดี พอๆ กันกับคอนเสิร์ตช่วงพักครึ่ง หรือที่เรียกว่า Half Time ที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่พอๆ กัน ซึ่งการแสดงช่วงพักครึ่งนี้เริ่มครั้งแรกในปี 1993 โดยได้ไมเคิล แจ๊กสัน ราชาเพลงป๊อปขึ้นแสดง ที่ยังถือว่าการแสดงของเขาในครั้งนั้นยังเป็นที่ติดตราตรึงใจ และเป็นที่พูดถึง นำมาเปรียบเทียบกับการแสดงพักครึ่งในทุกๆ ปี

ส่วนการร้องเพลงชาติ The Star-Spangled Banner นั้น ก็เริ่มต้นมาพร้อมกับการแข่งขันซูเปอร์โบวล์เลยแหละ แรกๆ ก็ใช้แค่เสียงดนตรี จากวงโยธวาทิต หรือวงการร้องประสานเสียงจากวงคอรัสต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและมีความหมาย โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1967 ที่มีการแข่งขันซูเปอร์โบลว์ครั้งแรก นักร้องคนแรกที่ได้ร้องเพลงชาติอเมริกา ในงานซูเปอร์โบวล์ก็คือ Anita Bryant ก่อนจะเริ่มใช้นักร้องดังๆ เรื่อยมา ทั้ง ไดอาน่า รอส ในปี 1982 หรือเวอร์ชั่นที่หลายลงความเห็นว่าเริ่ดที่สุด เป๊ะที่สุด ก็คือเวอร์ชั่นของวิทนีย์ ฮูสตันในปี 1991 และด้วยความที่งานนี้ทั้งยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติ และศักดิ์สิทธิ์ นักร้องที่ได้รับเลือกให้มาร้องเพลงชาติในงานซูเปอร์โบลว์จึงทั้งดีใจและประหม่ากลัวในเวลาเดียวกัน เพราะนี่คือการร้องสดต่อหน้าทั้งแสตนด์ปเนหมื่นเป็นแสนคนและผู้คนที่ดูการถ่ายทอดสดทั่วประเทศรวมถึงทั่วโลก ที่รายการนี้ขึ้นชื่อว่าเรตติ้งดีที่สุด มีคนดูการถ่ายทอดสดหลายสิบล้านคน เพราะฉะนั้นใช่ว่าจะไม่เกิดเหตุผิดพลาดขึ้นเลย สองปีก่อน นักร้องสาวเสียงลูกคอเก้าชั้นคริสติน่า อากีเลร่า ก็เคยร้องเพลงชาติผิดมาแล้ว! สร้างความอับอายขายขี้หน้า แถมยังโดนถล่มยับตามโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า ร้องเพลงชาติผิดได้อย่างไร !!!

มาในปีนี้ผู้ที่ได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชาติในงานซูเปอร์โบลว์ก็คือ นักร้องสาวผิวสีเสียงดีเล่นเปียโนเก่ง อลิเซีย คียส์ เจ้าของเพลงฮิต If I Ain’t Got You หรือ No One เธอสร้างความแปลกใหม่ด้วยการนั่งร้องพร้อมเล่นเปียโนด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่ที่มาของดราม่าเต็มโซเชียลเน็ตเวิร์กและยูทูบ เพราะหลังจากเธอร้องจบไม่ทันไร ก็มีกระแสวิพากษฺวิจารณ์ตามมาทันทีว่า เวอร์ชั่นเพลงชาติของอลิเซีย คียส์ นั้น เป็นเวอร์ชั่นที่ “รับไม่ได้” เนื่องจากเธอร้องเพลงชาติ ด้วยท่วงทำนองและสไตล์ในแบบเพลงอาร์แอนด์บีของตัวเอง ไม่ใช่ท่วงทองที่เพลงชาติควรจะเป็นและถูกร้องกันมาในแบบก่อนหน้านี้ ซึ่งหลายๆ คนให้ความเห็นว่า เมื่อมันเป็น “เพลงชาติ” ก็ควรจะ “เคารพ” โดยการร้องด้วยท่วงทำนองตามประเพณีที่เคยเป็นมา ไม่ใช่ร้องเป็น “เพลงของตัวเอง” ในสไตล์ของตัวเอง (นอจากนี้ยังมีคอมเมนต์ขำๆ ว่าเวอร์ชั่นของอลิเซีย คีย์ส ร้องตามไม่ได้ หลายคนเลยหัวเสีย!)

ข่าวนี้ทำให้ย้อนนึกถึงหลายปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยพยายามจะมีการเปลี่ยนแปลงท่วงทำนองเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งที่เปิดในโทรทัศน์และในโรงหนัง ที่ได้รับการต่อต้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เห็นไหมว่า เมื่อมาสู่ประเด็นชาตินิยม ไม่ว่าชาติเสรีประชาธิปไตย หรือชาติที่มีคำว่าประชาธิปไตยแบบขาดๆ แหว่งๆ อย่างเราก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่

เพลงชาติเวอร์ชั่น วิทนีย์ ฮูสตัน ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์

เพลงชาติเวอร์ชั่นล่าสุดของอลิเซีย คีย์ส ในงานซูเปอร์โบวล์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net