Skip to main content
sharethis

4 ก.พ.56 เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ออกเอกสารรณรงค์ ในรูปแบบถาม-ตอบ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ ไปจนถึงกระบวนการผลักดันและความคืบหน้ากฎหมายนี้ โดยเอกสารรณรงค์ดังกล่าว มีเนื้อหา ดังนี้

0 0 0

ทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61

รัฐบาลเดินหน้าแล้ว... เดินให้สุดทาง เป็นอีกหนึ่งผลงานฝากไว้กับประชาชน

 

ทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61

ถาม ช่วงนี้ทำไมมีข่าวผู้บริโภคถูกต้มถูกหลอกบ่อยจัง โดนฟิตเนสหลอกบ้างล่ะ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีกบ้างล่ะ ดูทีวีดาวเทียมก็มีแต่โฆษณาหลอกขายยาอาหารเสริมบ้าบอเต็มไปหมด แถมเวลามีฟุตบอลจอกลับดำดูไม่ได้ และเมื่อได้รับซิมฟรี ยังไม่ทันใช้ก็มีใบแจ้งค่าบริการส่งมาให้ถึงบ้าน ยังไม่นับรวมปัญหาเก่าเรื่องบัตรเติมเงินที่วันหมด ถูกยึดเงิน ถูกยึดเบอร์

ตอบ โอ๊ย...ผู้บริโภคไทยถูกต้มถูกหลอกจากการซื้อหรือใช้สินค้าบริการต่างๆมานานแล้วล่ะ ไม่ใช่เพิ่งมามีช่วงนี้หรอก และอันที่จริงเราก็ตกเป็นเหยื่อจากโฆษณาขายสินค้าในรูปแบบต่างๆ แทบทุกวันอยู่แล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐก็มีอยู่เยอะนะ ทั้ง สคบ. อย. กสทช. กรมการค้าภายใน กรมขนส่งทางบก ฯลฯ ...แต่ว่าหน่วยงานเหล่านี้ถือกฎหมายกันคนละฉบับ ปฏิบัติหน้าที่กันคนละมุม อยู่กันคนละกระทรวง ทบวง กรม ทิศทางการทำงานเพื่อดูแลผู้บริโภคก็เลยออกมาหลายทาง ดูตามความเชี่ยวชาญแต่ไม่มีพลัง เพราะไม่มีใครคอยชี้เป้าให้เห็นถึงปัญหาที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เช่น กรณีจอดำเป็นตัวอย่างที่ดี สคบ.ลุกขึ้นมาเต้นแล้วเงียบหายไป กสทช.อ้างทีวีดาวเทียมยังไม่มีการให้อนุญาต เลยทำอะไรไม่ได้ เหมือนจัดการรถตู้เถื่อนยัดผู้โดยสารเกิน 14 ที่นั่ง เบียดกันเป็นปลากระป๋อง กระทำความผิดสองเด้งคือไม่ได้รับอนุญาตและนั่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด

วิธีการจัดการปัญหาให้สะเด็ดน้ำก็ไม่มี ปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ความซวยมันก็เลยตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างนี้แหละ

 

ถาม อ้าว...แล้วอย่างนี้ เราจะทำอะไรได้ล่ะ หรือต้องทนกับสภาพปัญหาการถูกหลอกถูกต้มแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ตอบ  มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้เราสามารถจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมาจากพวกเรากันเอง คอยเป็นหูเป็นตาร่วมกันกับทุกคน เมื่อรู้สึกถูกละเมิดสิทธิเมื่อไหร่ก็บอกไป องค์การอิสระเขาจัดให้ เป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทน และปกป้องผู้บริโภคได้ต็มๆ ก็แหงล่ะ ไม่มีใครรู้ปัญหาและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ดีกว่าพวกเรากันเองนะ แถมให้รัฐสนับสนุนงบประมาณด้วย

เราก็ทำเหมือนกลุ่มธุรกิจที่เขามีการรวมตัวกันเป็นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม มีสมาชิกสาขาอยู่ทั่วประเทศ ช่วยกันกำหนดทิศทางเป้าหมายการผลิตการขายสินค้า ขอลดภาษี ขอส่งเสริมการลงทุน หรือจัดทำข้อเสนอกับรัฐบาลเพื่อขอการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ

 

มีแล้วมีประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไร

1. เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว ที่ปิดกิจการ หากเรามีองค์การอิสระก็จะออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวัง ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะไปเป็นสมาชิก ก็น้อยลง แทนที่จะถูกหลอกถูกโกงกันเกือบสองแสนคน ก็น่าจะน้อยลง เสียหายกันน้อยลง

2. ป้องกันปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุก กรณีที่จะมีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน แต่หากมีองค์การอิสระ กรมทางหลวงต้องจัดส่งเรื่องนี้ ขอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลความรู้ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การทำหน้าที่ให้ความเห็นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภคและช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากตัวแทนของผู้บริโภคมากขึ้น แทนที่กลุ่มผู้บริโภคต้องอาศัยการฟ้องคดีในการคัดค้านการขึ้นราคาซึ่งก็เป็นปลายเหตุ

3. เท่าทันปัญหาและใช้ชีวิตทันสมัยได้อย่างไม่ถูกหลอกถูกโกง เช่น ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า และโฆษณาในโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เคเบิ๊ลทีวี เพราะแม้แต่เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 % แต่กลับโฆษณารังนกแท้ 100 %

4. เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จหรือครบวงจร (one stop service) ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียน ตรวจสอบ ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และติดตามความคืบหน้าได้ในทุกประเด็นปัญหา ทุกข้อเรียกร้อง  แม้องค์การนี้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งรื้อ หรือสั่งปรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร

5. ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เดิมประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลาก หากมีองค์การอิสระ ต้องขอความคิดเห็นจากองค์การนี้ ซึ่งจะมีโอกาสเสนอให้ยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือถึงแม้ในปัจจุบันจะมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับโยกโย้ จะทำงานวิจัยใหม่ แทนที่จะปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี องค์การอิสระ ก็จะช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่หน่วยงานอื่น ๆ ต้องแก้ปัญหาจากการตีรวนไม่ทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม

6. ผลักดันให้กฎหมายเป็นกฎหมาย เช่น กสทช.กำหนดกติกาให้บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ในความเป็นจริงทุกบริษัทกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินกันทั้งนั้น ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด กสทช.ก็มีมาตรการปรับวันละ 100,000 บาท รวม 3 บริษัทก็ตกเดือนละ 9 ล้านบาท แต่บริษัทก็อุทธรณ์ เพราะการไม่ทำตามคำสั่งได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า ผู้บริโภคที่ร้องเรียน ถูกยึดเงินไปเฉลี่ยคนละ 517 บาท หากคิดว่าถูกยึดเงินเพียงร้อยละ 1 จากจำนวน 70 ล้านเลขหมาย บริษัทจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

 

ถาม องค์กรอิสระที่ว่านี้ ใช่ สคบ. หรือเปล่า?

ตอบ ไม่ใช่หรอก สคบ.หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังเป็นหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิมที่ทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคในเรื่องสัญญาซื้อขาย และการโฆษณาสินค้าและบริการทั่วๆไปเป็นหลัก รวมทั้งยังมีอำนาจปรับ สั่งจับ บริษัทเหมือนเดิม แต่ก็มีปัญหาของผู้บริโภคอีกมากมายเกินกำลังของ สคบ. จะดูแลได้ อย่างเรื่องการขึ้นค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าทางด่วน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่งสคบ. มีข้อจำกัดที่จะตรวจสอบนโยบาย หรือหน่วยงานรัฐกันเอง ที่มักมีปัญหาความไม่โปร่งใสหรือผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐธรรมนูญก็เลยเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และคนทำงานให้มาจากตัวแทนผู้บริโภคเท่านั้น ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่พ่อค้านักธุรกิจ เพราะรัฐธรรมนูญเชื่อว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวผู้บริโภคไงล่ะ

 

ถาม ว้าว...อย่างนี้ผู้บริโภคในประเทศไทยก็ไฉไลเลิศประเสริฐสุดแล้วสิ ที่มีองค์กรอิสระนี้มาช่วยเหลือ แถมยังมาจากตัวแทนผู้บริโภคทั้งหมดด้วย

ตอบ ยังหรอก...อย่าเพิ่งดีใจ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ แต่ก็ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับด้วย ที่ผ่านมาประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนได้ช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา

ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  คณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว รอบรรจุวาระให้สภาผู้แทนราษฎร(สส.) และวุฒิสภา(สว.) พิจารณาเห็นชอบจากทั้งสองสภา

 

ถาม เดี๋ยว ๆๆๆ ตอนนี้กฎหมายนี้ก็สำคัญมากเลยซิ

ตอบ ใช่ เพราะหากสส. หรือ สว. ไม่เห็นชอบกฎหมายก็จะตกไปเลย ที่ทำๆกันมา 15 ปี ก็จะต้องไปนับหนึ่งใหม่ หลับตาไม่ได้เลย ต้องช่วยกันบอกสส.สว. ที่เรารู้จักให้ช่วยออกกฎหมายเพื่อผู้บริโภค

ถ้าเห็นชอบทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป

 

ถาม เอ๊ะ แต่ถ้าสส. เห็นชอบแล้วสว. ไม่เห็นชอบจะเป็นอย่างไร

ตอบ  ถ้าสส.เห็นชอบและวุฒิสภาไม่เห็นชอบ วุฒิสภาจะต้องดำเนินการส่งร่างพระราชบัญญัติคืนให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร สามารถนำร่างกฎหมายองค์การอิสระนี้ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน และถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ให้ถือว่าร่าง พรบ.ได้รับความเห็นชอบ

 

ถาม แล้วมีเหตุที่สส.จะไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้มั้ย ซึ่งจะทำให้กฎหมายตกไปเลย

ตอบ มีหลายเหตุผลทีเดียว เช่น

1. ไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจเอกชน ไม่ให้เปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค เพราะอ้างว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ตรวจสอบหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค (ซึ่งแปลว่า สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและบริการที่กระทำการละเมิดผู้บริโภคได้?) ซึ่งการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นการตรวจสอบธุรกิจเอกชนหรือรัฐที่ให้บริการเพราะเป็นผู้ละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ ซึ่งมีความสำคัญต้องเปิดเผยชื่อเพื่อให้ข้อมูลเพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็ความจริง หากตรวจสอบแล้วพบความจริงผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับทราบ

2. ไม่อนุญาตให้ส่งเรื่องฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินคดี โดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจทำหน้าที่ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ข้อโตแย้งเหล่านี้เคยได้รับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ผู้แทนอัยการสูงสุดเป็นผู้แนะนำ หรือแม้แต่ผู้บริโภคในฐานะปัจเจกชน องค์กรผู้บริโภคต่างมีสิทธิในการฟ้องคดีซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง แต่องค์การอิสระ กลับทำหน้าที่ฟ้องแทนผู้บริโภคไม่ได้  หรือหากพูดให้ถึงที่สุดการส่งเรื่องฟ้องคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชี้ถูกหรือผิด เพราะศาลย่อมเป็นผู้วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

3. ไม่เห็นด้วยกับการออกแบบงบประมาณต่อหัวประชากร โดยต้องการให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดงบประมาณ เพื่อให้เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ออกแบบให้มีงบประมาณที่แน่นอนทุกปี โดยรับประกันงบประมาณขั้นต่ำในการทำงานไว้ไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อประชากร 1 คน หากคิดคำนวณจาก 65 ล้านคน องค์กรนี้ควรได้งบประมาณขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 195 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ว่าได้เงินมาโดยอัตโนมัติ องค์การนี้ก็ต้องทำโครงการแผนงานขององค์กรเหมือนหน่วยงานอื่น ๆ และรวมทั้งต้องรายงานผลงานต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสาธารณชนทุกปี รวมทั้งทุก 3 ปี จะต้องมีนักวิชาการประเมินผลการทำงานของหน่วยงานนี้

น่าห่วงว่าถ้าประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยไม่มีองค์การอิสระฯ นี้เป็นเกราะกำบัง สงสัยผู้บริโภคไทยเละแน่ ต้องขอแรงผู้บริโภคไทยส่งเสียเชียร์ดังๆ ให้สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้แล้ว

 

ถาม หากเป็นเช่นนี้ พลเมืองไทยในฐานะผู้บริโภค จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง?

ตอบ ทำได้หลายอย่างเลย ลองดูกันมั้ย ?

1.สื่อสารกับ สส.ในเขตของท่าน (แปะลิงค์ชื่อ สส.เขต)

2. ให้ load badge ไปแปะที่ FB

3. เขียนความเห็นสนับสนุนแปะลิงค์ไปที่ FB ของ รมต.สำนักนายกฯ

4. ลงชื่อสนับสนุนออนไลน์ F มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือที่ www.consumerthai.org

5. ติดตามร่วมกิจกรรมหากทำได้และมีโอกาสนะจ๊ะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net