Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ “เมธาดล วิจักขณะ” ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ รวมทั้งคลิปวีดีโอการเสวนาสาธารณะ “จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...?” ต่อกรณีกระแสข่าวการสร้าง “ข่วงหลวงเวียงแก้วพุทธมณฑล” ที่ จ.เชียงใหม่

 

ปูมความเป็นมาของการย้ายคุกออกจากกลางเมืองเชียงใหม่นั้นสามารถย้อนดูกลับไปถึงอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2510 ที่มีนายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่อใช้พื้นที่เป็น “ข่วง” หรือสวนสาธารณะ ต่อมาใน พ.ศ.2539 ในโอกาสเมืองเชียงใหม่ครบ 700 ปี ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบัน - มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง) ได้รับช่วงรณรงค์ต่อโดยเรียกร้องเรื่อยมา ให้ย้ายเรือนจำออกจากพื้นที่ที่เคยเป็น “คุ้มเวียงแก้ว” หรือวังดั้งเดิมของเจ้าล้านนาและฟื้นฟูวัดสะดือเมือง ในปี 2541 กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ (ชาย) ออกไปอยู่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ อ.แม่ริม แต่ก็สับเปลี่ยนเอาทัณฑสถานหญิงเข้ามาไว้แทนที่ในคุกกลางเวียงนี้

จนกระทั่งในปี 2544 ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการรวมกลุ่มกันก่อตั้งสถาบันล้านนาร่วมกันกับมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง และองค์กรภาคประชาชนอีกจำนวนหนึ่งร่วมกันเรียกร้องอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นให้ย้ายคุกหญิงนี้ออกไปนอกเมือง ถัดมาในปี 2545 กรมราชทัณฑ์จึงมีโครงการสร้างเรือนจำแห่งใหม่ที่ ต.สันมหาพน อ.แม่แตง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่สำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทยอนุมัติหลักการของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ที่จะใช้พื้นที่ทัณฑสถานหญิงหลังจากย้ายออกไปแล้ว สร้างเป็นสวนสาธารณะ แต่หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา แผนงานในการย้ายคุกและสร้างพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองก็ถูกวางพักไว้ แม้ว่าการก่อสร้างอาคารเรือนจำแห่งใหม่จะดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น

สำนึกรับรู้ที่เพิ่มขึ้นของคนเชียงใหม่ต่อการรณรงค์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องผ่านเวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มองค์กรทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการท้องถิ่น รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งหลายนั้น ได้ส่งผลให้การย้ายคุกกลับมาเป็นที่ถกเถียงเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้ง เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ย้ายนักโทษชายจากเรือนจำกลางที่ อ.แม่ริมไปยังเรือนจำแห่งใหม่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ตามด้วยการย้ายนักโทษหญิงเข้าไปคุมขังแทน สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติมีแผนจะรื้อทุบอาคารเก่าทั้งหมดทิ้งและใช้พื้นที่ราว 22 ไร่ของทัณฑสถานหญิงเดิมนี้สร้างเป็น “ข่วงหลวงเวียงแก้วพุทธมณฑล” ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพันถึงปี 2557 ใช้ในการประดิษฐาน “พระพุทธชยันตี 2600 ปี” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี และปรับปรุงให้เป็นพื้นที่พุทธอุทยานและสวนสาธารณะ โดยในวันที่ 26 มกราคมนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ จะมาเป็นประธานในการทุบอาคารและกำแพงเรือนจำด้วยตนเอง

ความคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังข้อเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากนอกเวียงนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คุกนั้นเป็นสิ่งอัปมงคล เป็นเสนียดจัญไรอันอุจาดไม่เหมาะควรจะมีหน้าตาอยู่กลางเมืองอันเป็นแหล่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม อีกทั้งคุกนี้ยังเป็นเครื่องมือของสยามในอดีตในการแผ่อำนาจมาปกครองครอบงำล้านนา โดยตลอดมามีการเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านทางบทความในหน้าหนังสือพิมพ์และเล่าสู่กันมาในเชิงว่า การสร้าง “คอก” ทับลงบนคุ้มในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์ที่มุ่งกดทับความศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนของพระเจ้ากาวิละ ซึ่งเป็นเสมือนภาพแทนของอำนาจท้องถิ่นของชาวล้านนาทั้งหลาย จึงสมควรที่จะกำจัดทิ้งเสียให้ราบคาบ ย่อมไม่แปลกที่ขณะนี้ประชาชนผู้สัญจรผ่านและนักท่องเที่ยวจะได้เห็นพระสงฆ์ 29 รูป นำโดยพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ทำพิธี “สูตร (สวด) ถอน” ความอัปมงคลหรือ “ขึด” อยู่ภายในบริเวณอาคารเก่าตลอดระยะเวลา 9 วัน 9 คืนก่อนที่จะถึงวันรื้อทำลาย โดยมีนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นโต้โผ

แต่เรื่องราวดูท่าจะไม่จบลงง่ายดายเพียงแค่การทุบทำลายคุกเก่าเพียงเท่านั้น ยังคงมีเสียงเรียกร้องถึงความเหมาะสมชัดเจนในแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ ไม่ว่าตัวละครต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้จะมีจุดยืนสถานะทางการเมืองอยู่ฝั่งแดงหรือเหลืองอย่างไร ประเด็นปัญหาร้อนที่กำลังจะผุดขึ้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องสีเสื้อเสียแล้ว เมื่อมีเรื่องงบประมาณผูกพันหลักพันล้านมาเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ซึ่งย่อมส่งผลต่อทั้งชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไปเป็นแน่

ก่อนหน้านี้เราได้หาโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการและผู้มีอำนาจจัดการที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น เพื่อลองมองหาหนทางคลี่คลายให้พอกระจ่างขึ้นบ้างเสียก่อน ก่อนที่รอยแยกของความขัดแย้งในทางเลือกระหว่าง คุ้ม คอก ขึด ข่วง หรือพุทธอุทยาน ในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ลงบนพื้นที่สาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่จะปริห่างเกินสมาน (หรือจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว ?)

อ่านตอนแรก: คุ้ม คอก ขึด ข่วง พุทธอุทยาน: รอยปริบนทางเลือกพื้นที่สาธารณะเชียงใหม่ (1)

0 0 0

 

(ที่มาภาพ: www.finearts.go.th)

เมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2555)

 

ในทางประวัติศาสตร์ที่ทางกรมศิลป์รับรู้ พื้นที่คุกหญิงเดิมนี้เป็นอย่างไร

เมธาดล : พูดง่ายๆ ว่าเป็นวังหลวงตั้งแต่สมัยพญามังรายไล่ลงมา มาปรากฏอีกทีสมัยรัชกาลที่ 5 มาสร้างทัณฑสถาน เดิมเป็นคุกชายมาก่อน คล้ายๆ กับที่พระนครศรีอยุธยาที่สร้างคุกทับวังหน้าของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น นักประวัติศาสตร์เชียงใหม่หลายกลุ่มก็มีการรณรงค์ให้ย้ายทัณฑสถานออกไปนอกเมือง แล้วก็เพื่อความปลอดภัยด้วย มีมติครม.รองรับ พื้นที่เดิมเป็นที่ราชพัสดุก็ต้องคืนกรมธนารักษ์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะขอใช้ต่อว่าจะเอาไปทำอะไร แต่เดิมทางเทศบาลก็อยากจะได้ ตอนนี้มีแนวโน้มว่าทางจังหวัดน่าจะเป็นผู้ขอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (นายธานินทร์ สุภาแสน) ก็ให้นโยบายเบื้องต้นว่าน่าจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตให้รื้อฟื้นความเป็นวังเวียงขึ้นมา ใช้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เกี่ยวข้องไปรื้อฟื้นว่าของเดิมมีแค่ไหน ว่ามีโครงสร้างฐานอาคารอะไรตรงไหน หมายความว่าคงจะต้องรื้ออาคารสมัยใหม่ที่เป็นทัณฑสถานออกไปก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าไปขุดดู

ในส่วนการฟื้นฟูตามแผนของผู้ว่าฯ ซึ่งเราสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ก็คือ เมื่อได้หลักฐานว่าเป็นวังแท้ๆ แล้วมีพื้นที่เพียงใดก็มาศึกษาสถาปัตยกรรมล้านนาว่าคุ้มหลวงหรือเวียงเดิมรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เราสามารถที่จะสร้างใหม่ (reconstruct) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (living museum) ได้ ให้เป็นศูนย์กลางของขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม การแสดง อาหาร การแต่งกาย ความเชื่อ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภาคกลางคืนก็ได้ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำเป็นวังเวียงแบบล้านนาให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคม เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โปรโมตเชียงใหม่ได้ เหมือนวังสุลต่านที่ยอกยากาต้าร์ อินโดนีเซีย มีห้องโถงสำหรับจัดการแสดงด้วย

 

ในช่วงเวลาราวสิบปีที่มีการรณรงค์ให้ย้ายคุกออกนอกเมืองนี้ ทางกรมศิลป์หรือสำนักศิลปากรมีการเตรียมจัดการรับมืออย่างไรบ้าง

เมธาดล : หน้าที่ย้ายไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เรื่องการฟื้นฟูเป็นหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำกับจังหวัดได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของนโยบายรัฐบาลและความเห็นของนักวิชาการท้องถิ่นที่รณรงค์กัน เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม เอาความเป็นคุกออกไปเสีย รื้อฟื้นความเป็นเวียงเป็นวังขึ้นมา

 

เอาความเป็นคุกออกไปนี่หมายความว่าต้องรื้อทำลายสถาปัตยกรรมคุกออกไปเลยใช่ไหม

เมธาดล : ต้องไปนั่งคุยกันในรายละเอียดว่าตรงไหนที่เป็นอาคารที่ไม่เกี่ยวข้องก็รื้อไป เราอยากให้มีประวัติศาสตร์ของคุกอยู่สักนิดหนึ่งหรือไม่ จะเอามุมไหน อย่างอยุธยาจะมีบางมุมที่ไม่ได้รื้อทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการออกแบบและแนวความคิดของกรรมการที่จะรื้อออกหมดหรือไม่ เพราะว่าเชียงใหม่ถือว่า “ขึด” ที่เอาคุกมาทับ เป็นความเชื่ออย่างที่ไม่ต้องมีความเห็นเลย สืบทอดกันมาก็ต้องเดินตาม ในเมื่อมีประเพณี มีการสูตรถอนขึด รื้อก็รื้อ แต่ว่าวังยังเอาขึ้นมาได้ ประเด็นสำคัญคือให้ความเป็นคุกหมดไป แต่ว่าเราสามารถถ่ายภาพ จัดแสดงเป็นประวัติศาสตร์ไว้ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ได้

 

การรื้อหรือไม่รื้อในทางการขุดค้นต่างกันอย่างไร

เมธาดล : ถ้าเป็นที่ว่างๆ ก็ขุดค้นง่าย การรื้ออาคารไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เราจะเข้าไปประสานงานไม่ให้กระทบกับหลักฐานที่อยู่ใต้ดิน ถ้าหลักฐานอยู่ภายใต้อาคารเราก็เข้าไปขุดไม่ได้ ถ้าอยากจะดูทั้งหมดก็ต้องเอาอาคารที่มีอยู่ปัจจุบันออกไป มีสมมติฐานว่าข้างใต้น่าจะเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างที่เป็นวังเป็นเวียง เป็นแนวกำแพงสัดส่วนของวัง เอาแค่ในสมัยประวัติศาสตร์ ยังไม่มีความคิดที่จะไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ยังไม่มีการเข้ามาระดมความคิดว่าจะทำอะไรในระดับจังหวัด ยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะยังไม่ได้ประชุมกัน เพียงแต่ว่าเดินตามแนวที่เขาอยากให้รื้อคุกออกไปก็ทำได้ กรมศิลป์ไม่มีความเห็นขัดแย้งอยู่แล้ว แต่เราจะไปรื้อฟื้นทางวิชาการโบราณคดีให้

 

จากประสบการณ์ในการจัดการพื้นที่อื่นเป็นอย่างไร

เมธาดล : อยู่ที่จังหวัดจะคุยอย่างไรกับท้องถิ่น อย่างพระนครศรีอยุธยาก็ทุบกำแพงบางส่วนทิ้ง บางส่วนก็เหลือไว้ บางส่วนราชทัณฑ์ขอไว้ขายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ แล้วก็รื้อฟื้นโบราณสถาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ของคุกส่วนหนึ่ง

ถ้าของใหม่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว จริงๆ สิ่งที่ควรจะทำคือรื้อฟื้นของเดิมขึ้นมา แต่ต้องใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดในเรื่องของวัฒนธรรม เราจะเป็นอาเซียนแล้ว แต่เชียงใหม่ตอนนี้เป็นเมืองเก่าที่มีการทำให้เป็นสมัยใหม่ (modernization) มากเสียจนมีสิ่งของใหม่ๆ มาสร้างทับซ้อนไว้จนแทบจะมองไม่เห็นของเก่า ดังนั้นคนมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ได้เห็นแต่แจ่ง เห็นแต่ข่วง แล้วก็คูเมืองซึ่งไม่ชัดเจน มีตึกสมัยใหม่ขึ้นมาหมด คุ้มเจ้าเมืองวัดวาอารามโดนสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่บังทับไปหมด ความเป็นของเก่าไม่มีแล้ว เราต้องรื้อฟื้นศูนย์กลางของเมืองขึ้นมาให้ชัดเจนตามประวัติศาสตร์ดั้งเดิมให้ได้ ทำให้มีชีวิตและใช้สอยทางวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งที่ตามมาคือการต่อยอดทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ

 

เห็นด้วยหรือไม่ว่าจะต้องมีพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการเสียก่อน ก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบาย

เมธาดล : ต้องเดินไปด้วยกัน เพราะเรามีข้อมูลทางวิชาการอยู่แล้ว เพียงแต่ขุดให้มันชัดเท่านั้นเอง เพราะเวลาเป็นตัวจำกัด ไปรอไม่ได้ คุณต้องมีฐานข้อมูลในการคิด ถ้าคิดแบบไม่มีฐานข้อมูลก็สะเปะสะปะ

 

อาคารเรือนจำอายุ 110 ปี เข้าเกณฑ์โบราณสถานหรือไม่

เมธาดล : ขึ้นอยู่กับว่าประวัติตรงนี้มีแค่ไหน จริงๆ แล้วคือเขาก็ไม่ได้ซีเรียสกับมัน โบราณสถานอยู่ในอำนาจของกรมศิลป์ ขึ้นทะเบียนหรือไม่ขึ้นทะเบียนอย่าไปแตกประเด็น เพราะตอนนี้มีประเด็นเรื่องศาลฎีกาอยู่ ตรงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องเอกราชและประชาธิปไตย แต่ตรงนี้เป็นเรื่องคุกและเรื่องขึด ในเมื่อท้องถิ่นต้องการเอาขึดออกก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าเราอนุรักษ์ไว้ส่วนหนึ่งได้ ไม่ใช่อนุรักษ์ไว้แล้วทำประโยชน์ไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่อาคารสถาปัตยกรรมดีเด่น ไม่ใช่ว่าร้อยปีต้องเป็น ห้าสิบปีก็เป็นได้ถ้ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมากพอ

0 0 0

ทั้งนี้ในการเสวนาสาธารณะ “จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...?” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่จัดขึ้นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหาแนวทางบริหารจัดการทัณฑสถานหญิงกลางเมืองเชียงใหม่นี้ หนึ่งในผู้ร่วมสนทนา เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อดีตข้าราชการสังกัดกรมศิลปากรระดับหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีผลงานวิชาการและบทความด้านศิลปวัฒนธรรมจำนวนมาก ได้แสดงความห่วงใยไว้ว่า “ไม่ทราบว่าการขุดค้นจะอยู่ในขั้นตอนใดของแผนงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี หรืออาจจะถึงสามปี ทำไมจึงตัดสินใจเร่งด่วนเช่นนี้ แล้วเมื่อเข้าสู่การรื้อแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งอยากเก็บอาคารบางหลังไว้เป็นตัวแทนคุก ก็ควรต้องประสานหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้มาทำ full documentation คือการบันทึกอย่างละเอียดในทางวิชาการ แม้วันนี้เรามีมติเอกฉันท์ว่าสมควรทุบทิ้งทั้งหมด แต่อย่างไรก็สมควรต้องบันทึกไว้”

บันทึกเสวนา “จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...?”

(ที่มาช่องยูทูป: Ram Dhama)

 

0 0 0

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายบัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้เขียนบทความต่อเนื่องลงในบล้อกส่วนตัว (http://storify.com/bunnaroth/2?utm_campaign&awesm=sfy.co_bDDX&utm_content=storify-pingback&utm_source=t.co&utm_medium=sfy.co-twitter) แสดงความเห็นด้วยและเห็นแย้งกับธเนศวร์ เจริญเมือง และโพสต์ในหน้าเฟซบุคของตนย้ำข้อสงสัย 6 ประเด็นว่า

“1. คนเชียงใหม่ยังไม่เห็นเอกสารรายละเอียดโครงการ ที่รู้ชัดคือ ครม.มีมติ 18 ม.ค.อนุมัติงบกลางเป็นกรณีพิเศษตามสำนักพระพุทธศาสนา(นิวัฒน์ธำรง)เสนอ รายละเอียดคือ ข่วงหลวงเวียงแก้วพุทธมณฑลเชียงใหม่ // การขออนุมัติงบได้ต้องมีรายละเอียดและแผนก่อสร้าง ขอถามว่า ไอ้รายละเอียดนั้นน่ะอยู่ไหน มีใครที่เป็นชาวบ้านธรรมดาหรือสื่อท้องถิ่น/สื่อส่วนกลางเห็นและรายงานมาบ้างว่า แบ่งเป็นรายการอะไรใน 150 ล.นั้น

2. ตามหลักการเมื่อเข้าครม. อนุมัติมาแล้ว ที่ดังกล่าวก็ต้องเป็นพุทธมณฑลและเดินตามกรอบที่เสนอไป ดังนั้นหากมีคนบอกว่าจะมีการหารือปรับเป็นลานกิจกรรม เป็นฯลฯ ต้องดูว่าคนที่พูดเป็นใคร มีตำแหน่งแห่งที่เกี่ยวข้องยังไง หรือเป็นแค่ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงที่ไม่เกี่ยวกันเลย หากจะคุ้มครองผลประโยชน์เชียงใหม่กันจริงๆ แล้ว คนเชียงใหม่ต้องเรียกดูรายละเอียดที่แท้จริงเสียก่อนว่าใช่ function แบบที่ต้องการจริงหรือไม่

3. ดร.เพ็ญบอกว่าจะเสนอผู้ว่าเรื่องการขุดค้นฯ ช้าไปแล้วครับ ... เพราะโครงการเดินหน้าไปแล้ว การสัมมนาครั้งนั้นก็แค่เครื่องเคียงประกอบเท่านั้น

4.ผมไม่ค้านทุบคุก แต่ค้านการยกคุกของหน่วยงานส่วนกลางหนึ่งไปให้หน่วยงานส่วนกลางอีกแห่งหนึ่งกำกับ งบประมาณและการจัดการขึ้นกับเขา ไม่ใช่ที่สาธารณะเพื่อประโยชน์สูงสุดคนเชียงใหม่แท้จริง

5. การออกแบบที่ดินกว้างๆ เป็น LandMark ของเมือง ต้องดูความเชื่อมโยงกับกิจกรรมทั้งหมด คนที่ได้ประโยชน์ต้องเป็นพื้นที่ก็ได้ทุกกลุ่มทุกศาสนาอาชีพ (ไม่ใช่แค่พุทธ) นักท่องเที่ยวก็ได้ ก็เหมือนกับลาน/สนามใหญ่ๆ ของเมืองอื่นๆ ที่มีกิจกรรมของคน เป็นลานที่มีชีวิต และเป็นกิจกรรมด้านบวก

6. เอาแค่เบื้องต้นก่อน ขอถามคนเกี่ยวข้องว่า เมื่อครม.อนุมัติให้สำนักงานพุทธศาสนาเป็นเจ้าภาพแล้ว กระบวนการขั้นตอนต่อไปจะทำยังไง...ขอถามลอยๆ ใครตอบได้ช่วยที”

หากวางการเมืองเรื่องสีเสื้อลงเสียก่อนเราอาจมองเห็นความพยายามในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการตัดสินใจใช้พื้นที่สาธารณะที่จะส่งผลต่อประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กลุ่มอนุรักษ์บางส่วนเริ่มก่อหวอดคัดค้านการสร้างพุทธมณฑลนี้ จนเมื่อถึงวัน “ทุบทำลาย” จากเดิมที่กำหนดตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานในพิธี ก็กลับมีการเปลี่ยนตัวเป็นนายธานินทร์ สุภาแสน ผวจ.เชียงใหม่เป็นประธานแทนอย่างฉุกละหุก แต่จนบัดนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการประท้วงคัดค้านเป็นทางการแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ไม่ว่าจะอย่างไรเสีย การจัดการพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ยังคงต้องการเสียงจากทุกฝ่ายในการพูดคุยหาข้อยุติที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะลบล้างผลพวงของอะไรก็แล้วแต่ออกไปได้ แต่ข้อมูลทางวิชาการซึ่งจะเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ไม่ใช่หรือ.

 

 

(หมายเหตุผู้สัมภาษณ์เรียบเรียง : ข้อมูลเบื้องต้นสรุปเรียบเรียงจากรายงานลำดับเหตุการณ์ของมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และบทความที่น่าสนใจ เช่น "คุก" ของใคร ครอบทับไว้เหนือ "หอคำ" โดย เพ็ญสุภาสุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 75 http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/blog-post_04.html, ได้เวลาขับเคลื่อน คุ้ม คอก ข่วง! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 76 http://botkwamdee.blogspot.com/2012/05/ptn-khuang.html รื้อเรือนจำเก่า เพื่อ (จอง) จำประวัติศาสตร์ใหม่ โดย มนวัธน์ พรหมรัตน์http://www.prachatai.com/journal/2013/01/44898)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net