Skip to main content
sharethis

คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม จัดงาน “หน้าร้อน – กรุงเทพฯหนาว?!”  ในหัวข้อเสวนา “กรุงเทพฯ – เย็นกำลังดีได้อย่างไร”  และค้นหาแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เย็นขึ้น น่าอยู่ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 เวลา 15.00 – 21.00 น. ที่ The Jam Factory (คลองสาน) โดยมีวิทยากรคือ ดวงฤทธิ์ บุนนาค, ยรรยง บุญหลง, พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ วิรัช ตันชนะประดิษฐ์  ดำเนินรายการโดย ดร. สุปรียา หวังพัชรพล 

กิ่งกร  นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเสวนาเพื่อเปิดประเด็นให้คนเมืองหันมาสนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของตนที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว  ประเด็นเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาที่มีมานานและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การบริโภคในภาคเมืองและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้พลังงานในปริมาณที่สูงมาก  เป้าหมายสำคัญของคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรมคือการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนเมือง ให้เกิดความสนใจและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเปิดเวทีโดยการเริ่มต้นพูดคุย ให้เกิดการตั้งประเด็นคำถามว่า ตัวเราเองมีส่วนแค่ไหนในปัญหาดังกล่าวและเราสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง  

เริ่มต้นการเปิดเสวนาในหัวข้อ Urban Transformation and Architecture: เปลี่ยนเมืองด้วยสถาปัตยกรรมและผังเมืองโดย ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ กล่าวว่า งานสถาปัตยกรรม เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในมุมมองที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการสร้างความน่าอยู่ในด้านสภาพแวดล้อม โดยเสนอว่ากรุงเทพฯควรจะมีแนวคิดเรื่องผังเมืองที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ โดยให้มีผังเมืองแบบหลายจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นการกำหนดความหนาแน่นของการใช้ที่ดิน  ปัจจุบันผังเมืองในกรุงเทพฯ เป็นแบบวางผังเข้าสู่ศูนย์กลางทำให้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ใจกลาง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของการพัฒนา ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหารถติด  ชุมชนแออัด น้ำเสีย  การกระจุกตัวของประชากรและที่อยู่อาศัย

ขณะที่นโยบายของรัฐก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดผังเมือง โดยดวงฤทธิ์กล่าวว่าการเลือกผู้ว่าฯ ก็มีส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาดังกล่าว พร้อมชี้ว่า สภาพปัจจุบัน นโยบายของต่างๆ ในช่วงหาเสียงเป็นเพียงนโยบายที่ชูขึ้นมาเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริงหลังเข้าสู่ตำแหน่ง กลายเป็นเพียงนโยบายที่อยู่ในบริบทที่เอาตัวรอด ส่งผลให้ผังเมืองอยู่ในบริบทที่เอาตัวรอดแต่ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงตามความต้องการและประโยชน์ที่สมควรเกิด และยังฝากไว้ว่าเราสามารถลดการใช้พลังงานได้ด้วยการเปลี่ยนหรือลดความต้องการของเราเอง

ด้าน ยรรยง บุญหลง สถาปนิกชุมชน พูดในหัวข้อแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับชุมชนเมือง โดยเสนอเรื่องปัญหาโซลาร์รูฟท็อป หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน  ในชุมชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน สามารถที่จะติดโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในครัวเรือนได้ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม ยรรยงกล่าวว่า มีปัญหาในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จะต้องขอ “ร.ง.4” (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) มิเช่นนั้น จะเข้าข่ายติดตั้งเครื่องจักรไม่เหมาะสม ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าในระดับครัวเรือนแต่ละเดือนนั้นน้อยกว่าที่ใช้ในโรงงานอย่างมาก

หัวข้อต่อไปเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบ โดยพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักแสดงผู้สนใจการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเขากล่าวว่า การเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบมันสามารถเป็นไปได้ในแง่ของการ “ทำ” ในสิ่งที่เราสามารถทำได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนที่เราจะไปเปลี่ยนระบบ และกล่าวอีกว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนเมืองลดใช้พลังงาน อาจจะต้องเกิดจากผลกระทบที่เกิดกับตัวบุคคลโดยตรง เช่น กรณีน้ำท่วม

นอกจากนี้ ในงานยังมีการพูดถึง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” หรือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยวิรัช ตันชนะประดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครได้กล่าวถึงโครงการของกทม.ที่มีส่วนเข้ามาจัดการลดใช้คาร์บอน โดยเริ่มต้นจากในพื้นที่โรงเรียนนำร่อง และมีโครงการ กรุงเทพฯสูง คาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นโครงการลดการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งจะเสนอใช้ในกลุ่มที่ใช้พลังงานจำนวนมาก อย่างห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงานเช่า ซึ่งดวงฤทธิ์ ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีการซื้อจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อเป็นการทดแทนการสร้างคาร์บอนหรือทำลายสภาพแวดล้อมในแต่ละวันซึ่งถือเป็นการสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม  แต่ก็เป็นเพียงแค่ธุรกิจที่ไม่ได้รักษาสมดุลระบบนิเวศเท่าที่ควร

หน้าเพจ Thai Climate Justice ให้ข้อมูลว่ารูปแบบการใช้พลังงานของเมืองใหญ่ในปัจจุบันเป็นสาเหตุหลักหนึ่งของโลกร้อน นั่นคือ ใช้มากเกินความจำเป็น ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากพฤติกรรมของบุคคล ความไม่ตระหนัก และระบบของเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก วิถีชีวิตของคนเมืองที่เชื่อมโยงกับการบริโภคอย่างล้นเกินและภาวะโลกร้อน

ในระดับนโยบายที่ส่งผลต่อการวางผังเมือง เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่สีเขียวกลับมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ควรมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง  แต่อีกด้านพลังของผู้บริโภค พลังของคนเมืองเอง สามารถที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้เช่นกัน  โดยการเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง รวมตัวกัน ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อคุณภาพชีวิตเรา  วิถีชีวิตที่เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและต้องหาทางแก้ไขทั้งระดับปัจเจกบุคคลและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net