Skip to main content
sharethis

ฟังเสียงเด็กชายชาวโรฮิงยา ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาและเพื่อนร่วมชะตามกรรม 103 คน ส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าคือ หลังถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม พวกเขาถูก “ขาย” ให้กับนายหน้า รายงานโดยกลุ่มเอฟทีมีเดียและเพื่อน ซึ่งลงพื้นที่ไปยังบ้านพักพิงของเด็กชาวโรฮิงยา ใน จ.ปัตตานี

 

บ้านพักเด็กบนถนนโรงเหล้าสาย ก.ในปัตตานีมีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก แต่ก็เป็นที่พำนักของเด็กๆ โรฮิงญาราวยี่สิบกว่าคนได้สบายๆ คืนที่พวกเราได้ข่าวและเข้าไปเยี่ยมนั้นพวกเขากำลังเตรียมตัวจะนอน กลุ่มที่เราพบมีแต่เด็กและวัยรุ่นผู้ชายเพราะพวกผู้หญิงอยู่ข้างบนบ้านหมดแล้ว  พวกเขามีท่าทีตื่นเต้นดีใจที่เห็นคนไปหา เพื่อนร่วมงานที่เป็นมุสลิมตรงเข้าไปทักทายพลางสวมเข้ากอดเด็กๆซึ่งอายุเฉลี่ยคงไม่เกินสิบห้า กำแพงใดๆ ที่อาจจะมีระหว่างคนแปลกหน้ากับพวกเขาดูจะละลายไปฉับพลัน

เราพยายามพูดคุยกับพวกเขาด้วยทุกวิธีและภาษาเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย มลายู อังกฤษ แต่ก็สื่อสารกันไม่ได้ เด็กๆ โรฮิงญาถามพวกเราว่าพูดอุรดู และภาษาพม่าได้ไหม พูดมาถึงตรงนี้ก็ให้นึกอยากเขกหัวตัวเองเป็นกำลังในฐานะที่อุตส่าห์เรียนภาษาพม่าอยู่เป็นปีแต่ดันส่งคืนครูไปหมด แม้จะมีเด็กหนุ่มสองคนบอกพวกเราว่าพวกเขาพูดอังกฤษได้แต่ถึงที่สุดแล้วก็ยังสื่อสารกันได้แค่คำสองคำ เจ้าหน้าที่ในบ้านพักบอกว่า พวกเขาเองก็หวังพึ่งล่ามซึ่งจะมีมาก็เฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น  ล่ามเหล่านี้มีค่าตัววันละสองร้อยบาท จัดหามาโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

การสื่อสารที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทำให้เราได้ข้อมูลมาแบบกระท่อนกระแท่นจากการสัมภาษณ์ประหนึ่งเล่นเกมยี่สิบคำถาม เช่นกว่าจะรู้ว่ามาจากเมืองซิตตะเวในพม่าก็เล่นเอาเหงื่อตก ในที่สุดบทสนทนากลายเป็นการเก็บ key words เสียมากกว่า เช่น No Myanmar. เด็กที่พูดภาษาอังกฤษได้นิดๆบอกเราว่า พวกเขาจะไปมาเลเซีย แต่ต้องการไปอยู่ออสเตรเลีย

เมื่อจนแต้มมากเข้าและไม่รู้จะทำอย่างไรในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ต้องการให้เด็กเข้านอน พวกเราก็เลยเอาไมค์ให้พวกเขาพูดอะไรก็ได้แล้วก็อัดเสียงมา แต่เสียงที่ได้มานั้นก็ตกหล่นหายไปอีกกว่าครึ่งเพราะความผิดพลาดทางด้านเทคนิคของพวกเราเอง  เราเอาคลิปที่ถ่ายมาส่งไปให้เพื่อนประชาไทช่วยหาคนแปล เนื่องจากมีนักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาในกรุงเทพฯเตือนมาว่า ไม่ให้ไปเที่ยวสุ่มหาล่ามตามที่ต่างๆเพราะโรฮิงญาที่หักหลังขายพวกเดียวกันเองมีอยู่ถมถืดและบ่อยครั้งล่ามเจตนาแปลชนิดหน้ามือกลายเป็นหลังเท้าได้อย่างง่ายๆ ทำให้เหยื่อตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าที่เราจะหาคนแปลกันได้ คลิปนี้ต้องเดินทางผ่านประเทศจากปัตตานีไปกรุงเทพฯ ไปอินเดีย บังคลาเทศกว่าจะลงเอยด้วยการหาคนที่เข้าใจมันได้ ทั้งนี้เพราะภาษาที่พวกเขาใช้มันเป็นภาษาแบบบังคลาเทศที่มาพร้อมกับสำเนียงแบบจิตตะกอง – เขาว่า

ก่อนจากพวกเขามาคืนนั้นเราก็เลยพยายามเก็บภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลุ่มผู้หญิงนอนบนบ้าน กลุ่มผู้ชายกางมุ้งครอบนอนกันเป็นกลุ่มๆอยู่ข้างล่าง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังหาอุปกรณ์ต่างๆรองรับพวกเขาได้ไม่เต็มที่ เจ้าหน้าที่ในบ้านพักบอกเราว่าที่บ้านพักแห่งนี้เคยรับคนต่างชาติที่ชะตากรรมส่งให้พวกเขาไปตกหล่นอยู่แถวชายแดนมาแล้วหลายรายแต่ไม่เคยมีครั้งใดที่จะมากเท่านี้ เด็กวัยรุ่นกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรฮิงญาที่”ได้รับความช่วยเหลือ” ออกมาได้จำนวนกว่าแปดร้อยคนและถูกนำตัวกระจายไปฝากไว้ในที่ต่างๆเพราะไม่มีสถานที่ใหญ่พอจะรองรับพวกเขาได้หมด  ในกลุ่มที่อยู่ที่ปัตตานีนี้เจ้าหน้าที่บอกว่ามีเพียงคนเดียวที่อายุมากกว่าสิบแปด

ข่าวโรฮิงญาในช่วงต้นๆแม้ว่าจะไม่ค่อยมีสื่อลงรายงานมากนักแต่ในพื้นที่กลายเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากแพร่สะพัดถึงกันอย่างรวดเร็ว ชะตากรรมของโรฮิงญาเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่นี้ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม  และทำให้บรรดากลุ่มและองค์กรต่างๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตื่นตัวระดมทุนช่วยเหลือพวกเขา มีการตั้งกล่องและเต้นท์รับบริจาคตามที่ต่างๆ ค่ำคืนนั้นก็เช่นกัน มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมเด็กๆโรฮิงญาที่ปัตตานีกลุ่มนี้ด้วย และก็เหมือนพวกเรา คือทุกคนได้แต่ทักทายกันสั้นๆแล้วก็มองหน้ากันไปมา  

ในส่วนของพวกเขาเองก็คงฉงนฉงายไม่แพ้เราจากสายตาของพวกเขาที่มองมาดูจะเต็มไปด้วยคำถาม เด็กหนุ่มเกือบสิบคนที่มานั่งล้อมวงพยายามสื่อสารกับเราคืนนั้นฝากคำพูดลงในไมโครโฟนยาวเหยียดราวกับต้องการจะฟ้องชาวโลกเรื่องอะไรสักอย่าง  สองวันถัดมาเพื่อนๆหลายคนในเฟสบุคแชร์ข่าวของบีบีซีที่ระบุว่าโรฮิงญาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือมาแล้วแต่ถูกจนท.ขายต่อ ไม่ต้องสงสัยว่าคำเตือนเรื่องไม่ให้ไว้ใจใครนั้นมันมีที่มาและที่ไปอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ

เสียงสัมภาษณ์ในคลิปวิดีโอแปลจากภาษาเบงกาลีสำเนียงจิตตะกองเป็นภาษาอังกฤษ โดย มูฮัมเหม็ด มามุน ออ ราชิด ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตย ศูนย์พัฒนาชุมชน จากเมืองจิตตะกอง ประเทศบังคลาเทศ

แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดย ทีมข่าวประชาไท

Translated from Chittaong accent Bengali by Mohammed Mamun Or Rashid

Project Coordinator, Promoting Democratic Institutions and Practices (PRODIP) Project

Community Development Centre (CODEC). Chittagong, Bangladesh

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net