Skip to main content
sharethis

หลายคนเชื่อว่าเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่หล่อเลี้ยงปัญหาในภาคใต้ให้ขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้  ก็คือปัญหาของประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรมโดยเฉพาะเมื่อมีปัญหากับจนท.รัฐ

เรื่องราวของคดีอัสฮารี สะมาแอ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือเรื่องราวของนางแบเดาะ สะมาแอ แม่ที่ดิ้นรนเรียกร้องแสวงหาความเป็นธรรมให้กับลูกที่ตายไปโดยใช้เวลาร่วมห้าปี จึงเป็นเรื่องราวที่หาได้ยากยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  มันไม่ใช่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงชาวบ้านธรรมๆคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาติดตามคดีของลูกชายอย่างไม่ลดละในท่ามกลางอุปสรรคนานัปการเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของการแหวกวงทัศนะถอยตัวออกห่าง สวนทางกับความหวาดกลัวที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในหมู่ชาวบ้านซึ่งมีบทสรุปของพวกเขาเองว่า “ตายแล้วก็แล้วกันไป”

ที่ชัดเจนก็คือ กรณีของอัสฮารี สะมาแอ ยังมีเรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนที่เป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่ต้องพลิกตำราและใช้ทุกวิถีทางเท่าที่พวกเขาจะทำได้ เพื่อให้กลไกยุติธรรมทำงานอย่างที่มันควรจะเป็น

 

คลิกอ่านรายละเอียด ลำดับเหตุการณ์คดี อัสฮารี จากไฟล์แนบด้านล่าง

 

เส้นทางของศพไร้ชื่อ

กลางดึกคืนวันที่ 21 กรกฏาคม 2550 ที่โรงพยาบาลปัตตานี มีผู้นำส่งร่างของชายหนึ่งในอาการบาดเจ็บปางตาย ไม่มีรายละเอียดอื่นใดให้ มีแค่ว่ามาจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลปัตตานีจึงระบุเพียงว่า ชายผู้นี้เป็น “ชายไม่ทราบชื่อ” อาการเจ็บหนัก

ทั้งสมองบวม มีรอยช้ำตามลำตัวและมีบาดแผลที่ปาก รพ.ปัตตานีตัดสินใจส่งตัวไปยังรพ.สิโรรสเพื่อเอกซเรย์ หลังจากนั้นเขาถูกส่งต่อไปยังรพ.ศูนย์ยะลาเพื่อเข้ารับการรักษาตัวต่อ “ชายไม่ทราบชื่อ” คนนี้เสียชีวิตลงในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

ย้อนหลังไปวันที่ 21 กค. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังกันเข้าปิดล้อมและจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยนับสิบคนที่บ้านจาเราะซีโป๊ะ กรงปินัง ยะลา หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคืออัสฮารี สะมาแอ วัย 25  ทางครอบครัวบ้านไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกจับ และยิ่งไม่มีใครรู้ว่าอัสฮารีเจ็บหนัก พวกเขามารู้เอาก็ต่อเมื่อมีคนในรพ.ที่บังเอิญจำได้ว่าหน้าของชายหนุ่มรายนี้คลับคล้ายใบหน้าของลูกชายเพื่อนบ้าน ไม่อย่างนั้นแบเดาะ สะมาแอ อาจจะต้องลงเอยด้วยการไปแจ้งความว่าลูกชายสูญหาย

 “กรณีนี้ก็จะกลายเป็นกรณีคนหายอีกกรณีหนึ่ง” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมย้อนความห้าปี เธอท้าวความถึงกรณีปัญหาคนหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นปมปัญหาหนึ่งที่แก้ไขกันไม่ค่อยได้

ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดอัสฮารี ซึ่งเดินทางไปทำงานที่หาดใหญ่เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวจึงไปลงเอยที่กรงปินัง “ตอนแรกๆก็เคยถามตัวเองเหมือนกันในเรื่องนี้ และรู้สึกว่าติดพันประเด็นนี้อยู่พักใหญ่” ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเล่า  “แต่หลังจากนั้นก็บอกตัวเองว่า ประเด็นในเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาความเป็นธรรม ไม่ว่าเขาจะเป็นใครทำอะไร เขาก็มีสิทธิที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย”  ภาวิณีซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงทนายฝึกหัดแต่เข้ามาติดตามกรณีนี้เช่นเดียวกันกับนักกฎหมายและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหลายคน

ความมึนงงทำให้ครอบครัวอัสฮารีไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหน แม้จะเห็นศพลูกในอาการบอบช้ำอย่างหนักในสภาพ “สมองนิ่ม หน้าอกช้ำหลายจุด" ความไม่รู้ที่มาที่ไปของเรื่องทำให้แพทย์ลงความเห็นในเบื้องต้นว่า อัสฮารีอาจบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุ  และนำไปสู่บันทึกของจนท.ตร.ที่สรุปผลในลักษณะว่าเป็นการตายแบบ “ผิดธรรมชาติ” และไปไม่ถึงข้อมูลที่ว่า ก่อนเสียชีวิตนั้นอัสฮารีอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่จนกระทั่งมาลงเอยที่โรงพยาบาลในสภาพที่แพทย์ระบุว่า “ไม่ตอบสนองการกระตุ้นใดๆ” บันทึกผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจฉบับนี้เองกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาต่อมาที่ทำให้กลไกการทำงานของกระบวนการยุติธรรมหยุดชะงักอยู่เนิ่นนาน

แต่นักรณรงค์เรื่องสิทธิและนักกฎหมายที่เข้าช่วยเหลือนางแบเดาะได้พรายกระซิบที่บอกข่าวมาแต่ต้นว่าอัสฮารีนั้นถูกนำส่งตัวจากรพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อตรวจสอบข่าวการปิดล้อมจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 21 กค.ที่กรงปินัง พวกเขาก็คาดเดาได้เสียหลายส่วนว่าต้องเป็นเรื่องเดียวกัน  และเชื่อว่าอัสฮารี น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับ  จึงได้นำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีนี้ จากนั้นคณะกรรมการฯแต่งตั้งตัวแทนลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ทันทีเพียงสามวันหลังเกิดเหตุ การขยับตัวอย่างรวดเร็วของกลไกการตรวจสอบดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ เพราะกลุ่มคนที่ถูกจับพร้อมอัสฮารีและยังอยู่ในการควบคุมตัวของจนท.ยังเต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลตามตัวที่ยังสดใหม่ บางคนในจำนวนนั้นอาการค่อนข้างหนักเช่นเดียวกันและต้องพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผล ทำให้มีบันทึกแพทย์ในกรณีเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้แทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าเยี่ยมบุคคลที่ถูกสอบปากคำในค่ายทหาร แม้ว่าจะเอาความอะไรมากนักไม่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งอยู่ด้วยในระหว่างการสัมภาษณ์ แต่อย่างน้อยก็ได้ข้อมูลจำนวนหนึ่ง และได้เห็นบาดแผลต่างๆที่ยังไม่จางหายไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ในชั้นศาลในเวลาต่อมา ทั้งเป็นหลักฐานที่ทีมทนายความเชื่อมั่นว่ามีน้ำหนักในสายตาของศาลเพราะว่ามาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

“ถ้าเป็นองค์กรในพื้นที่คงยากที่จะมีคนรับฟัง น้ำหนักในสายตาของศาลก็คงจะไม่ดีเท่า” ภาวิณีแสดงความเชื่อมั่น บาดแผลจากผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆที่คล้ายกันกับบาดแผลจากภาพถ่ายศพของอัสฮารีเพิ่มน้ำหนักว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเรื่องอุบัติเหตุ

ทีมนักกฎหมายจึงค่อนข้างเชื่อมั่นแต่แรกว่า ต้นเหตุของการเสียชีวิตของอัสฮารีคือการถูกทำร้ายในระหว่างที่มีการจับกุม และในเมื่อชัดเจนว่า อัสฮารีเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกจับกุม ตามกฎหมายจะต้องมีการไต่สวนเพราะเป็นกรณีที่มีการตายในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  มาตรการนี้มีระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ให้ต้องดำเนินการทุกครั้งที่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างที่บุคคลอยู่ในการควบคุมตัวหรือในระหว่างการปฏิบัติงานของจนท.

“เราก็รอว่าเมื่อไหร่มันจะเริ่ม” อติวัณณ์ จันทร์ช่วย ทนายความที่เข้ามาช่วยเดินเรื่องในเวลานั้นย้อนความเมื่อห้าปีที่แล้ว พวกเขาเฝ้ารอให้กลไกเรื่องนี้เดินหน้าเพราะเชื่อมั่นว่าต้องมีการไต่สวนแน่นอน แต่ก็ปรากฏชัดในเวลาต่อมาว่าไม่มี หลังจากเดินเรื่องหาข้อมูล พวกเขาพบว่าที่ไม่มีเพราะอัยการจังหวัดยะลาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ขอให้ศาลไต่สวน ไม่ได้ยื่นเรื่องร้องขอแต่อย่างใด ในที่สุดทีมทนายความในคดีนี้พบว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่บันทึกการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดอยู่แค่ข้อเท็จจริงที่ว่า อัสฮารีตายด้วยสาเหตุที่ “ผิดธรรมชาติ” และไปไม่ถึงจุดที่ว่า ก่อนที่จะไปลงเอยที่รพ.ศูนย์ยะลานั้น อัสฮารีอยู่ในการจับกุมของจนท. เมื่อไม่มีองค์ประกอบสำคัญดังว่าก็ไม่มีสาเหตุให้ต้องไต่สวน

 “ตามขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย มันต้องมีสเตปหนึ่ง ไม่มีสเตปหนึ่งมันก็ไม่มีสอง ไม่มีสาม กฎหมายมันเขียนไว้แบบนั้น ดังนั้นต่อให้เราร้องแรกแหกกระเชอแค่ไหน มันก็ไม่เกิด” อติวัณณ์อธิบาย

ทีมทนายความจึงต้องจับมือกับนางแบเดาะ มารดาอัสฮารีทำเรื่องร้องเรียนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ลงมาตรวจสอบกรณีนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าเรื่องอยู่ในอำนาจของอัยการที่จะทำได้  เดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนางแบเดาะ สะมาแอ ทำหนังสือร้องเรียนส่งถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอให้สั่งการให้มีการสอบสวนใหม่ 

การผลักดันอันนั้นประสบผล ต้นปี 2552 เห็นได้ชัดว่ากระบวนการทางด้านอาญาเริ่มตั้งต้นนับหนึ่งด้วยการที่จนท.ตำรวจสภอ.กรงปินังอันเป็นพื้นที่ที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเมื่อปี 2550 เริ่มสอบสวนกรณีอัสฮารีใหม่ สำนวนการสอบสวนใหม่ของจนท.ที่ระบุว่าอัสฮารี สะมาแอถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและอยู่ในการจับกุมโดยตลอดก่อนที่จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กลายเป็นที่มาของการที่อัยการยะลาขอให้ศาลยะลาไต่สวนการตายของอัสฮารีได้

“คือถ้าเป็นคนพุทธเขาก็เรียกว่าเอาใส่โลงเตรียมเผาแล้ว แต่เราไปงัดออกมา” อติวัณณ์เปรียบเทียบ เธอบอกว่า การใช้ประโยชน์จากกระบวนการไต่สวนการตายเพื่อให้เป็นกลไกแสวงหาความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับนักกฎหมายหลายคนที่ทำงานในพื้นที่ในช่วงนั้น แม้แต่ตัวเธอเองก็ต้องพลิกตำราอ่านกว่าจะรู้ว่าเงื่อนไขให้มีการไต่สวนการตายนั้นมีอะไรบ้าง และเมื่อเรื่องนี้มีบัญญัติไว้ตามกฎหมายก็เป็นความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อให้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าจะต้องทำตามขั้นตอน “ถ้าเราไม่ทำตามขั้นตอน มันก็ไม่เกิด จะไปโทษเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้เพราะว่าเขาทำไม่ได้”

แต่ระยะเวลาอันเนิ่นนานของการรอคอยการไต่สวนการตาย สร้างความเหนื่อยหน่ายให้กับครอบครัวอัสฮารีอย่างมาก เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าลูกชายเสียชีวิตในขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ พวกเขาเชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่ทำให้ลูกบาดเจ็บและต่อมาสิ้นชีวิต การขอความเป็นธรรมที่เดินหน้าเต็มสูบตั้งแต่ปีแรกหลังจากที่ลูกตายก็ไม่ได้ผล บรรดาหน่วยราชการต่างๆระบุว่ากรณีของพวกเขาไม่เข้าหลักเกณฑ์ในอันที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยา เนื่องจากในช่วงนั้น ทางการยังเยียวยาเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกกระทำโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล การเจอคำปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่ายิ่งสร้างความอึดอัดและคับข้องใจเป็นทวีคูณ

“แกถามเราว่า ทำไมล่ะ ลูกมะตายทั้งคน ทำไมเขาบอกว่าช่วยไม่ได้” ภาวิณีเล่า

ในเมื่อเห็นแล้วว่ากระบวนการร้องขอความช่วยเหลือและความเป็นธรรมไม่ประสบผล ทีมทนายความก็แนะนำให้นางแบเดาะ สะมาแอ ฟ้องศาลแพ่งเมื่อ 16 กค. 2551 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย สี่หน่วยงานรัฐคือสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้าและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลย

กระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกินเวลามากพอๆกับการไต่สวนการตาย เพราะศาลแพ่งไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาล และขอให้ไปฟ้องกับศาลปกครองแทน บุคลากรในวงการยุติธรรมใช้เวลาไปนานโขในการคลี่คลายประเด็นนี้รวมทั้งพิจารณาคำร้องของทีมทนายความของครอบครัวอัสฮารีที่ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล กว่าที่ศาลปกครองจะได้นั่งพิจารณาคดีก็คือหนึ่งปีหลังการยื่นฟ้อง

ต้นปี 2555 ศาลปกครองที่สงขลาจึงได้สรุปผลการพิจารณาคดี ศาลเห็นว่าการทำงานของจนท.เป็นเหตุให้อัสฮารีบาดเจ็บจนเสียชีวิตจริง จึงพิพากษาให้หนึ่งในจำเลยสี่รายที่ถูกฟ้องคือสำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินค่าเสียหายชดเชยให้กับครอบครัวอัสฮารีเป็นจำนวนห้าแสนบาท 

แม้ว่าจะห่างไกลจากจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไปหนึ่งล้านสามแสนบาท แต่นางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของอัสฮารีก็ค่อนข้างจะพอใจเพราะถือว่าตอบโจทก์ในใจตัวเองที่รู้สึกติดค้างกับกลไกรัฐไปได้ระดับหนึ่ง

แต่ที่พวกเขารอคอยอย่างยาวนานก็คือเรื่องของการไต่สวนการตาย สองปีหลังจากที่อัสฮารีตาย อัยการยะลาจึงได้ยื่นขอต่อศาลให้เริ่มกระบวนการไต่สวนการตายของอัสฮารี สะมาแอ ครอบครัวอัสฮารีตั้งทนายเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาจะทำได้

การไต่สวนการตายนั้น นักกฎหมายทั้งหลายมักชี้ว่า มีไว้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลที่ตายในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนั้น เป็นใคร ตายอย่างไร การไต่สวนการตายจึงไม่ใช่การหาทางลงโทษผู้กระทำผิด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการทางคดีได้หากพบว่าบุคคลคนนั้นตายเพราะการกระทำโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาทนายความหลายคนในพื้นที่มักแสดงความผิดหวังกับผลของการทำคำสั่งไต่สวนการตายเพราะอึดอัดใจในความไม่ชัดเจนของคำสั่ง โดยเฉพาะในกรณีตากใบ

กระบวนการไต่สวนการตายของกรณีอัสฮารีเองก็กินเวลาถึงสามปี ทนายความในทีมชี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องเกิดขึ้นนานแล้วก่อนที่จะเริ่มการไต่สวน ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ต่างโยกย้ายกันออกจากพื้นที่ไปแทบจะหมดทำให้ต้องใช้เวลาในการตามหาตัว หลายคนต้องเรียกสอบปากคำที่อื่น นอกจากนี้ทีมทนายความชุดนี้ยืนยันว่าจะต้องเรียกสืบพยานให้ครบ ทั้งนี้เพื่อจะได้พิสูจน์กันอย่างหมดข้อสงสัย ดังนั้นทั้งแพทย์โรงพยาบาล ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมและรับควบคุมตัวต่อ ทั้งหมดถูกเรียกไปให้ปากคำจนแทบจะหมดเกลี้ยง พวกเขาบอกว่า ที่ทำดังนี้เพื่อให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับกรณีของการซ้อมทรมาน

“ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่เคยยอมรับว่ามีการซ้อมทรมาน จะมีภาพถ่ายมีใบรับรองแพทย์ ไม่ จนกว่าจะมีคำสั่งศาลออกมานั่นแหละ” ภาวิณีเล่า ดังนั้นทีมทนายความในคดีนี้จึงร้องขอต่อศาลให้เรียกพยานผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

เมื่อดูจากคำสั่งไต่สวนจะพบว่า ศาลให้น้ำหนักกับข้อมูลในหลายส่วนด้วยกัน ประการแรกคือเรื่องของพยานซึ่งถูกจับกุมพร้อมกับอัสฮารี บาดแผลบนร่างกายของพวกเขา ที่มีลักษณะคล้ายของอัสฮารีเป็นประเด็นหนึ่ง ถัดมาคือการที่บาดแผลเหล่านั้นผ่านการตรวจสอบของแพทย์โดยเฉพาะแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ตอกย้ำว่าคนจำนวนไม่น้อยมีบาดแผลคล้ายคลึงกันและในเวลาใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเวลาที่พวกเขาบาดเจ็บได้บาดแผลเหล่านั้นมาก็คือในเวลาที่ถูกจับกุม เห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งสำคัญในสายตาของศาล การที่มีตัวแทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบบาดแผลเหล่านั้นและถ่ายภาพมาแสดงเป็นการช่วยยืนยันอีกทางหนึ่งว่ามีจริง เมื่อเจ้าหน้าที่อ้างว่า อัสฮารีลื่นล้มในลำธาร สำหรับศาลมันจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก

จนท.ชุดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไม่มีใครยอมให้สัมภาษณ์ บางรายระบุว่าเพราะเป็นคู่กรณีดังนั้นไม่ต้องการพูดอะไรในเรื่องนี้ ในขณะที่จนท.ทหารระดับสูงหลายรายระบุว่าปัจจุบันการซ้อมทรมานแทบจะไม่ปรากฏเพราะกองทัพและหน่วยเหนือทุกฝ่ายเข้มงวดในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกองทัพนั้นกล่าวว่ามีทั้งวินัยทหารและยังต้องเผชิญหน้ากับมาตรการทางกฎหมายเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป พอ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้ายืนยัน พร้อมกับเสริมอีกว่า การปรับปรุงและให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นยุทธศาสตร์หลักประการหนึ่ง บวกกับการวางกฎเหล็กในการปะทะ เช่นห้ามใช้กำลังก่อนและต้องใช้จากเบาไปหาหนัก ทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นและการร้องเรียนในเรื่องการละเมิดสิทธิลดลงมากโดยเฉพาะในปี 2554-2555 แต่ก็ยอมรับว่า ในช่วงแรกๆเจ้าหน้าที่คงจะได้ผิดพลาดไปแล้วเพราะความไม่รู้

คดีอัสฮารี สะมาแอ กลายเป็นอีกคดีหนึ่งที่จะเป็นเรื่องเล่าขานกันไม่รู้จบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่กันไปกับอีกหลายๆกรณีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความอึดอัดใจของคนในพื้นที่  เพียงแต่ว่า ส่วนหนึ่งของเรื่องราวอัสฮารี โดยเฉพาะในแง่ของการต่อสู้คดีมันกลายเป็นเรื่องราวของความสำเร็จในการต่อสู้แม้ว่าจะยาวนานและยากลำบาก มันกลายเป็นเรื่องที่เพิ่มความรู้สึกด้านบวกให้กับระบบ แต่ปัญหาก็คือ จะมีสักกี่รายที่ทำได้แบบนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net