Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนานั้นเรียกได้ว่าเป็นประเด็นในหัวใจของชาวมลายูมุสลิมเกือบทุกคนที่ใส่ใจในความเป็นไปของสังคมการเมืองในชายแดนภาคใต้  บางคนมีจุดร่วมกับขบวนการเอกราชปาตานีในเรื่องเหล่านี้แต่ไม่เห็นด้วยกับการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และพวกเขาได้เลือกที่จะเคลื่อนไหวในระบบและบนหนทางสันติวิธี   คนเหล่านี้อยู่ในภาคส่วนที่เรียกกันว่าภาคประชาสังคมซึ่งได้เติบโตขึ้นอย่างมากภายหลังความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 
 
DSJ สนทนากับนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมซึ่งทำงานในประเด็นที่หลากหลาย  เพื่อให้พวกเขาสะท้อนการทำงานในบริบทที่อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการและสะท้อนถึงขบวนการจากมุมที่พวกเขายืนอยู่
 
 
 
 
 
นักต่อสู้เรื่องสิทธิ & ประชาธิปไตย
นักเคลื่อนไหวหนุ่มที่ทำงานรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมได้ลงไปทำงานในหมู่บ้านมากขึ้น  ซึ่งในแง่หนึ่งก็แสดงว่าขบวนการ “เห็นชอบ” หรือไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของพวกเขา   เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ขบวนการซึ่งเขาเชื่อว่า “เข้มแข็งมาก” จะไม่รู้เห็น
 
“เขา [ขบวนการ] จะทำอะไรก็ได้  เมื่อไหร่ก็ได้” เขากล่าว
นักเคลื่อนไหวผู้นี้สะท้อนว่าแม้ขบวนการจะไม่ได้โจมตีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมโดยตรงแต่ก็มีการตั้งคำถามในทำนองว่าพวกเขาไป “จับมือ” หรือ “ปรองดอง” กับรัฐซึ่งขบวนการมองว่าเป็นศัตรูหรือไม่  เขาเล่าว่าในวงพูดคุยในระดับหมู่บ้านมีการพูดเปรียบเปรยว่าทำไมเคลื่อนไหวแล้วไม่โดนจับและไม่ได้ถูกปราบปรามจากฝ่ายรัฐ  แล้วจะเป็นนักต่อสู้ที่แท้จริงได้อย่างไร
 
ชายหนุ่มผู้นี้ซึ่งเคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษามาก่อนกล่าวว่าขบวนการไม่เชื่อในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพราะคิดว่าจะต้องสู้ด้วยหนทางปฏิวัติเท่านั้น  ถ้าหากว่าไม่มีกองกำลังก็ไม่สามารถที่จะต่อกรหรือมีอำนาจต่อรองกับรัฐไทยได้
 
เขามองว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการนั้นใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้ในการปลุกให้คนลุกขึ้นสู้ และสิ่งที่ขบวนการยังคงตอบไม่ได้คือ “จะชนะได้อย่างไร”
 
เขามองว่าขบวนการนั้น “คลอดออกมาเป็นการทหาร”  และยังคงมีกองกำลังที่เข้มแข็งมาก ในขณะที่ฝ่ายการเมืองนั้นมีพัฒนาการตามมาทีหลัง   ซึ่งฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจและอิทธิพลอยู่สูง
 
“ในบางมัสยิดที่มวลชนเข้มแข็ง  มีการยืนถือปืนในการกล่าวคุตบะห์ วันศุกร์  [การบรรยายทางศาสนาหลังการละหมาดใหญ่วันศุกร์]” เขาระบุ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทนำของฝ่ายกองกำลัง 
 
นักเคลื่อนไหวผู้นี้อธิบายว่ากรอบคิดในการต่อสู้ของเขานั้นแตกต่างจากขบวนการ 
 
“ขบวนการคุมสภาพมวลชนด้วยคำอธิบายทางศาสนา  ใช้ความเชื่อในการขับเคลื่อน   เมื่อขบวนการเป็นนักรบทางศาสนา  หากว่าเขา [ชาวมลายูมุสลิม] ไม่สนับสนุนก็จะบาป” เขาอธิบาย 
 
 
แต่ว่าในบทบาทของนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคม เขาคิดว่ามุสลิมไม่จำเป็นต้องสู้ด้วยวิถีทางเดียว  คนที่มาจากเบ้าหลอมจากการศึกษาในตะวันออกกลางจะเน้นหนักในเรื่องศาสนา  แต่ว่าถ้าเป็นคนมลายูมุสลิมที่ไปศึกษาต่อในที่อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย กรุงเทพฯ ก็อาจจะต่อสู้บนฐานคิดอื่นๆ เช่น หลักการประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน  สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์  สิทธิในการจัดการตนเอง (Right to Self-Determination)
 
เขาเห็นว่าการใช้สันติวิธีในการต่อสู้นั้นไม่ได้หมายถึงการยอมจำนน  การสู้ด้วยสันติวิธีนั้นต้องสามารถที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้วย
“เราต้องยืนยันว่าเราทำงานให้กับประชาชนและทำให้เกิดพื้นที่ทางการเมือง” เขากล่าว  และระบุว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องอธิบายกับขบวนการซึ่งพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับพวกเขาได้ตลอดเวลา
 
นักขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจ      
นักเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยอมรับว่าการรณรงค์ของพวกเขาก็ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงสงสัยจากฝ่ายขบวนการบางส่วนเช่นกัน
 
เขาระบุว่ามีการกล่าวหาว่าพวกเขานั้นเป็น “opportunists” (พวกฉวยโอกาส)  และมีการวิจารณ์ว่าการขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจนี้เป็นเทคนิคของพวกซีแย (สยาม) ที่จะขัดขวางการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานี
 
นักรณรงค์เรื่องกระจายอำนาจผู้นี้บอกว่าการโต้เถียงกันนั้นเกิดขึ้น  การวิพากษ์วิจารณ์ก็มีความเข้มข้นซึ่งบางส่วนก็ปรากฏให้เห็นในโลกออนไลน์  แต่ว่าไม่ได้มีการข่มขู่ทำร้าย   เขาเล่าว่ามีบุคคลนิรนามโทรศัพท์มาถึงเขาเพื่ออธิบายว่าการกระจายอำนาจนั้นไม่สอดคล้องกับหลักฟิกซ์(กฎหมายอิสลาม) อย่างไร  
 
เขาอธิบายว่าข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเคลื่อนไหวของเขากับขบวนการคือ  การขับเคลื่อนของเขานั้นมีฐานมาจากความคิดประชาธิปไตยซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด  ในขณะที่การต่อสู้ของขบวนการนั้นมาจากฐานคิดทางศาสนาซึ่งมาจากพระเจ้า
 
เขาเห็นด้วยกับทัศนะของขบวนการว่าปาตานีเป็นดินแดนที่ถูกสยามรุกรานและแผ่นดินแถบนี้เป็น ดารุลฮัรบีและขบวนการ “มีสิทธิที่จะต่อสู้” ซึ่งรวมถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธด้วย   แต่เขาก็วิจารณ์ว่าขบวนการมีลักษณะที่เป็น “fanatic” (สุดโต่ง)  เขาไม่เห็นด้วยกับการโจมตีคนไทยพุทธที่ไม่เกี่ยวข้องในการต่อสู้  ซึ่งบางทัศนะจากคนในขบวนการสะท้อนว่าคนไทยพุทธถูกนิยามว่าเป็นกาฟิรฮัรบี [ผู้ปฏิเสธอิสลามที่อยู่ในดินแดนแห่งสงคราม] จึงมีความชอบธรรมที่จะโจมตีได้  
 
เขาตั้งคำถามเรื่องเป้าหมายในการมุ่งไปสู่เอกราชของขบวนการด้วยเช่นกัน  ประเด็นแรก  เขาวิพากษ์ว่าขบวนการจะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้อย่างไร  ยังไม่มีความชัดเจน  และสอง เป้าหมายดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกับบริบททางการเมืองในโลกยุคปัจจุบันที่ความสำคัญของรัฐชาติกำลังลดน้อยถอยลงหรือไม่  และประการสุดท้าย หากได้เอกราช ดินแดนแถบนี้จะมีการปกครองอย่างไร  ใครจะขึ้นมามีอำนาจและจะมีความเป็นธรรมในการปกครองหรือไม่ 
 
“คนที่อยากได้ merdeka ก็อยากจะได้อำนาจเพื่อจัดการสังคมตามอุดมคติของตัวเอง ... แต่ถ้ามลายูปกครองแล้วกดขี่กันเอง เราก็ไม่ยอม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรากังวล” เขากล่าว
 
เขาคิดว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องกระจายอำนาจนั้นเป็นการต่อสู้ในระบบที่ผ่านช่องทางซึ่งรัฐธรรมนูญไทยนั้นเปิดโอกาสให้ ซึ่งหากว่าการขับเคลื่อนมีพลวัตรมากขึ้น  ก็จะเป็นสิ่งที่ “ตอบโจทย์” ในสิ่งที่ขบวนการเรียกร้องได้ด้วยเช่นกัน
 
เสียงจากผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรง
ในท่ามกลางห่ากระสุน  มีผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย ถูกจับ ถูกคุมขัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วยอาวุธนี้ก็ตาม   นางโซรยา  จามจุรี  หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในชายแดนใต้และนักวิชาการสำนักส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มทำงานกับกลุ่มผู้หญิงเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี 2547  เธอสะท้อนการทำงานของกลุ่มผู้หญิงว่า
 
“ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยได้รับ feedback [เสียงสะท้อน] ในด้านที่เป็นลบจากทั้งสองฝ่าย [รัฐและขบวนการ] ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจและรับได้กับงานที่ผู้หญิงทำ  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่สื่อสารเรื่องนี้เป็นเหยื่อโดยตรงที่เป็นผู้ถูกกระทำ ... ถ้าเป็นเหยื่อ  ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจ  แม้ว่าจะไปกระทบกระทั่งเขาด้วย  มันก็จะมีความรู้สึกตรงนี้ต่อเหยื่อ  มันจะต่างจากคนที่ไม่ได้รับผลกระทบเป็นคนขับเคลื่อนหรือสื่อสารเรื่องนี้”  โซรยากล่าว
 
เธออธิบายว่ากลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคมต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเป็นคนกลางๆ จริงๆ ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงในการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง  ในกลุ่มก็มีทั้งพุทธและมุสลิม ซึ่งพวกเขาต้องการที่จะสื่อสารให้เห็นว่าความรุนแรงนั้นกระทบกับทุกฝ่าย  
 
งานของเธอมีสองส่วนหลักๆ คือ งานด้านเยียวยากับการส่งเสริมให้ผู้หญิงสื่อสารและแสดงความคิด งานด้านเยียวยานั้นเป็นงานที่เธอคิดว่าทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการเองยอมรับ  เพราะเป็นงานด้านมนุษยธรรมที่เป็นบวกต่อทุกๆ ฝ่าย ส่วนงานส่งเสริมให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงสื่อสารและแสดงความคิดเห็นนั้น  เป็นงานที่เธอเรียกว่าเป็น “การยกระดับ” การรณรงค์   ซึ่งเธอก็เคยได้รับคำเตือนว่างานในลักษณะนี้อาจจะไปกระทบกับฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันอยู่ได้  
 
“มันเหมือนกับเราไปบอกเขา [ขบวนการ] ให้ยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะยุติผลกระทบที่ผู้หญิงต้องแบกรับ   ในอีกด้านเหมือนกับว่าเราก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง  แล้วก็ไปบอกให้เขายุติ ในขณะที่ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของเขา   มันก็เหมือนกับว่าให้เขาหยุดใช้เครื่องมืออันนั้น ซึ่งมองอีกด้านมันก็ไปกระทบกับขบวนการ”  เธอกล่าว
 
แต่โซรยาบอกว่าการสื่อสารนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง   เป็นการยกระดับการเยียวยาให้ไปสู่การสร้างสันติภาพ  ซึ่งเธอไม่อาจที่จะทำแต่เฉพาะการเยียวยาเหยื่ออย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะมิฉะนั้นการเยียวยาก็จะไม่สิ้นสุด
 
“เราต้องพูด ไม่งั้นก็จะมี actor [ผู้เล่น] แค่สองฝ่าย   ระหว่างคนที่ต้องการเอกราชและคนที่ให้เอกราชไม่ได้  แล้วเหยื่อไปไหน   เราก็ต้องส่งสารไปให้เขาฉุกคิด” เธอกล่าว
 
เธอกล่าวว่าในช่วงวันสตรีสากลและวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ในเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการ “จำกัดขอบเขตและเป้าหมายการใช้อาวุธ โดยไม่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือพลเรือน และยุติการก่อเหตุที่ใช้วัตถุระเบิดซึ่งนำไปสู่การสังหารและทำลายล้างชีวิตประชาชน โดยไม่เลือกเพศ เลือกวัย”   ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่อาจจะเป็นจริงได้มากกว่าที่จะขอให้หยุดใช้ความรุนแรงโดยสิ้นเชิงในขณะนี้   เธอคิดว่าข้อเรียกร้องนี้จะทำให้ขบวนการมีความชอบธรรมมากขึ้นด้วย หากทำได้
 
การเป็นคนกลางที่ต้องทำงานช่วยเหลือชาวบ้านทำให้กลุ่มของเธอจะต้องประสานงานกับภาครัฐซึ่งการวางตัวในสถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
 
“มันก็เป็นศาสตร์และศิลป์ที่เราจะต้องวางตัวแค่ไหนอย่างไรกับฝ่ายเจ้าหน้าที่  แม้ว่าเราจะต้องปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เราช่วยเหลือชาวบ้านได้  ในขณะเดียวกัน มันก็ต้องมีระยะห่างระหว่างเรากับเจ้าหน้าที่อยู่   ไม่ให้เราถูกเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับเจ้าหน้าที่   แต่ว่าเราไปหาเจ้าหน้าที่เพราะว่าเราต้องการช่วยเหลือประชาชน  มันยากนะ มันไม่ใช่ง่ายเลย  มันยาก อยู่อย่างไร โดยเฉพาะคนที่เป็นแกนนำชาวบ้าน” เธอกล่าว
 
ในประสบการณ์ทำงานของเธอ  เธอเห็นปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างชาวบ้านกับรัฐมาก    โดยเฉพาะชาวบ้านที่ใกล้ชิดหรือเป็นสมาชิกของขบวนการ
 
“เขาห่าง เขาไม่รู้จัก ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์มาก่อนในชีวิต   ตอนมีปฏิสัมพันธ์ก็คือโดนจับ....เขาจะมองว่าตัวเอง ต้อยต่ำไร้ค่า  เหมือนกับเป็นหมาจรจัด”   เธอกล่าว และเน้นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดบทสนทนาระหว่างรัฐกับประชาชนให้มากๆ
 
นอกจากนี้ เธอยังพยายามที่จะสื่อสารผ่านรายงานวิทยุภาคภาษามลายูซึ่งเป็นโครงการใหม่หลังจากได้เริ่มทำรายการวิทยุภาคภาษาไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว  โดยกลุ่มของเธอต้องการสื่อสารว่าในการต่อสู้นั้นมันมีทางออกที่จะสู้อย่างสันติวิธี  โดยไม่ยอมจำนนอย่างไรบ้าง
 
นี่ก็เป็นเสียงสะท้อนจากมุมของภาคประชาสังคมที่มีความคิดร่วมบางอย่างกับขบวนการเอกราชปาตานี  แต่ก็มีข้อแย้งและข้อวิพากษ์ต่อวิธิคิดและรูปแบบการต่อสู้ของขบวนการเช่นกัน
 
 
 
หมายเหตุ  รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group    ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 7 “ปัจฉิมบท : สันติภาพที่ปลายอุโมงค์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร” ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ได้ในวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555
 
 
อ่านย้อนหลังรายงานพิเศษชุด “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net