รายงานพิเศษ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชฯ (5)” : แผ่นดินปาตานีเป็นดารุลฮัรบี...หรือไม่?

ดารุลฮัรบีเป็นแนวคิดรัฐศาสตร์เชิงดินแดนในกรอบของศาสนาอิสลามที่ขบวนการได้หยิบยกมาใช้เป็นตรรกะเหตุผลในการต่อสู้  แต่ความเข้าใจว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้เป็น ดารุลฮัรบี หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่แม้แต่คนมลายูมุสลิมในพื้นที่เองก็อาจไม่ได้มีความเห็นร่วมกัน 

ผู้รู้ทางศาสนามักจะหลีกเลี่ยงที่จะถกเถียงประเด็นซึ่งเป็นใจกลางของความขัดแย้งนี้อย่างเปิดเผยเพราะเกรงว่าอาจสร้างความไม่พอใจ ไม่ว่าจากฝั่งของรัฐหรือฝ่ายขบวนการก็ตาม  

 
 
          DSJ ได้พูดคุยกับผู้นำทางศาสนาและนักวิชาการด้านอิสลามในพื้นที่ 3 ท่านเพื่อสอบถามทัศนะในประเด็นดังกล่าว 
  
 
ท่านที่ 1
 
                รศ. อับดุลเลาะ อับรู  อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีให้ความเห็นว่าเรื่องการแบ่งดินแดนที่มีนัยในเชิงการเมืองเป็นดารุลฮัรบีและดารุลอิสลามนี้เป็นเรื่องใหม่ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในหลักเทววิทยาอิสลาม (Islamic theology) ไม่ได้มีปรากฏในแหล่งอ้างอิงปฐมภูมิอย่างคัมภีร์อัลกุรอ่านหรือฮาดีษ        
 
นักวิชาการผู้ที่ศึกษาความคิดทางการเมืองของอิสลามมายาวนานท่านนี้อธิบายว่าเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดสภาวะที่เป็นดารุลฮัรบีมี 2 ส่วน คือ หนึ่ง ชาวมุสลิมไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการของอิสลามได้อย่างครบถ้วน สอง  ชาวมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหงไม่ว่าในประเด็นใดก็แล้วแต่  ซึ่งเขาก็มีความชอบธรรมที่จะต่อสู้ ถ้าหากว่าเขามีกำลัง  แต่ถ้าหากว่าไม่มีกำลัง  พวกเขาก็มีสิทธิที่จะอพยพไปอยู่ในดินแดนอื่นที่ให้ความเป็นธรรมต่อพวกเขา  หากผู้นำปกครองด้วยความไม่เป็นธรรม  ใช้มาตรฐานที่ต่างกันในการปกครองพลเมือง มีนโยบายบางอย่างที่เห็นได้ว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของคนมุสลิม  เมื่อมีคนอาสาว่าจะไปสู้ ในความหมายว่าเป็นดารุลฮัรบี “ก็เป็นเรื่องที่เป็นความชอบธรรม”
 
เมื่อถามว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นอาณาจักรปาตานีมาก่อนนี้เป็นดารุลฮัรบี หรือไม่ รศ. อับดุลเลาะกล่าวว่า “มันใช่เลย ไม่มีผู้รู้ไหนที่จะไปบอกว่ามันไม่ใช่นะ นอกจากว่าคุณไม่อยากจะบอกและคุณเอาใจคนถาม”
 
เขาอธิบายว่าปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นความขัดแย้งซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์  การก่อตัวของสังคมซึ่งมีการใช้หลักอิสลามในการปกครองในอดีต เรื่องชาติพันธุ์และความยุติธรรม  โดยประเด็นเรื่องความยุติธรรมนี้เป็นเรื่องที่ขบวนการสามารถหยิบไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมได้มาก เขายกตัวอย่างกรณีผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่  25 ตุลาคม 2547  ซึ่งเป็นกรณีที่คนมุสลิมรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมอย่างมาก   เขาชี้ว่าปมความขัดแย้งในภาคใต้นี้ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนาโดยตรง 
 
เมื่อถามถึงว่าในปัจจุบันมีเรื่องการห้ามปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่  รศ.อับดุลเลาะตอบว่า  “ก็ขึ้นกับว่าเอาประเด็นอะไร  ถ้าเอาประเด็นละหมาดก็ง่ายเกินไป  หยาบเกินไป ... ถ้าดีแล้วเขาจะรบทำไม  แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่คุณจะต้องทำดีกว่านั้น”
 
เขายกตัวอย่างเรื่องการปกครองตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่คนมลายูมุสลิมได้เคยเรียกร้องตั้งแต่สมัยที่หะยีสุหลง  อับดุลกอเดร์ได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อกับรัฐบาลซึ่งประเด็นนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐไทยยากที่จะยอมรับ
 
“สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้วไปกระทบกับศูนย์อำนาจ  ไม่ว่าคุณจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม คุณทำไม่ได้  แต่ถ้าไม่กระทบ คุณทำไปเถอะ”  รศ.อับดุลเลาะกล่าว   
 
 ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากในการต่อสู้คือเรื่องการทำร้ายผู้บริสุทธิ์  เขาอธิบายว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์นั้นกระทำไม่ได้อยู่แล้ว  เขาไม่เห็นด้วยกับตรรกะที่สะท้อนผ่านการบอกเล่าของคนในขบวนการว่าคนพุทธมีสถานะเป็นกาฟิรฮัรบี (คนที่ปฏิเสธอิสลามที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งสงคราม) ฉะนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะโจมตีได้  
 
“การฆ่าผู้บริสุทธิ์ผิดอยู่แล้ว  แต่ว่าใครคือผู้บริสุทธิ์ต้องเถียงกันยาว”  รศ.อับดุลเลาะอธิบาย “ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ฆ่าไม่ได้ …  คนพุทธไม่ได้ถูกเหมาว่าเป็นกาฟิรฮารบีทั้งหมด นอกจากว่าคนนั้นจะเป็นเครื่องมือจริงๆ เป็นไส้ศึก เป็นอะไรที่เป็นการทำลายฐานของขบวนการ”
 
รศ.อับดุลเลาะกล่าวว่าขบวนการก็มีอูลามะของเขาในการฟัตวาเรื่องต่างๆ เหล่านี้   ซึ่งเขาก็เห็นว่าในหลายๆ ครั้งขบวนการก็ทำผิดพลาดแต่ก็ได้มีการปรับตัว  ซึ่งในช่วงหลังก็มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นและมีการเตือนก่อน
 
“อย่าลืมว่ากองทัพมีหลักการ  แต่ว่าคนที่อยู่ในกองทัพบางคนอาจจะไม่มีหลักการ  ทหารที่ทำผิดหลักการก็ต้องถูกพิจารณา  ผมไม่ได้หมายความว่าขบวนการทำอะไรถูกหมด  ขบวนการทำผิดพลาดก็เยอะ”  เขากล่าว
 
                รศ.อับดุลเลาะมองว่าคนที่เข้าไปร่วมต่อสู้นั้นอาจจะไม่ได้มุ่งที่เป้าหมายสุดท้ายมากนักว่าพวกเขาจะได้เอกราชหรือไม่
 
“เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องแพ้หรือชนะ  เขาพูดถึงเรื่องของภารกิจที่ต้องทำ   ไม่ใช่ชนะหรือแพ้  เพราะนั่นเป็นเรื่องของพระเจ้า  อันนี้เป็นความรับผิดชอบ เป็นพันธะ  อย่าไปถามว่าแล้วคุณคิดว่าจะแบ่งแยกดินแดนได้ไหม  นั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณได้ทำหน้าที่ของคุณแล้วหรือยัง”  เขากล่าว
 
นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาผู้นี้อธิบายว่าจริงอยู่ว่าไม่มีประเทศใดในโลกในปัจจุบันที่เป็นดารุลอิสลามเต็มร้อย แต่ในอดีตเคยมีดารุลอิสลาม ระบบที่ว่านี้จึงไม่ใช่แค่จินตนาการในทางสังคมการเมือง  ในปัจจุบันประเทศที่มีระบบที่ใกล้เคียงกับดารุลอิสลามมากที่สุด คือ อิหร่าน ซึ่งได้ใช้หลักการอิสลามในนิกายชีอะห์มาเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ  รศ.อับดุลเลาะห์ระบุว่าเมื่อประเทศใดประกาศจะเดินนโยบายเช่นนี้  เขาก็จะต้องพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น  แม้ว่าในวันนี้จะยังคงไม่สมบูรณ์ก็ตาม  ในแง่หนึ่งก็เหมือนความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์  สังคมคอมมิวนิสต์ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นเป้าหมายที่จะไปถึง
 
ในการแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้ เขามองว่ารัฐบาลควรที่จะมุ่งแก้ไขประเด็นที่ขบวนการนำไปใช้สร้างความชอบธรรมในการต่อสู้
 
“เราต้องพยายามอย่าให้เขามีความชอบธรรมในการต่อสู้  เพราะว่าถ้ามันไม่มีความชอบธรรมในการต่อสู้ มันก็มีคำๆ หนึ่งในสารบบความคิดเชิงดินแดน คือ ดารุลอามานซึ่งหมายถึงประเทศที่มีสันติสุข ซึ่งไม่เกี่ยงว่าจะมีผู้ปกครองแบบไหน  ถ้าคนอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม”  รศ.อับดุลเลาะกล่าว
 
          เขาทิ้งท้ายว่าการหาทางออกจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุย  ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนยังไม่มีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายอยากจะคุยกันอย่างจริงจังนัก 
 
 
 
ท่านที่ 2
 
               ผู้รู้ทางศาสนาท่านที่สองเป็นผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  เพื่อให้การสนทนาเป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา  ท่านได้ขอสงวนนาม
 
เมื่อถามว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  ท่านผู้นี้กล่าวว่า “มันขึ้นอยู่กับการตีความ  ถ้าอยากให้เป็นก็ตีความโยงไป แต่ว่าเราไม่เห็นด้วย  เพราะมันไม่ใช่”
 
                เขาอธิบายว่าดินแดนใดจะเป็นดารุลฮัรบีนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ ชาวมุสลิมในดินแดนนั้นถูกห้ามประกอบศาสนกิจและถูกห้ามเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าจะโดยรัฐหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม 
 
      “ถ้าเรามองดูในปัจจุบัน เงื่อนไขตรงนั้นไม่มี รัฐบาลก็สนับสนุนให้ไปฮัจญ์ การเรียนศาสนาก็ได้รับการสนับสนุน  อิหม่ามก็มีเงินเดือน  ตามที่เราคิด  มันไม่สามารถจะโยงไปได้  แต่ว่าเขาจะโยงกับประวัติศาสตร์” ผู้นำศาสนาท่านนี้กล่าว    ในเรื่องของการอธิบายประวัติศาสตร์ว่าสยามเข้ามายึดครองอาณาจักรปาตานีซึ่งขบวนการตีความว่าเคยเป็นดารุลอิสลาม  ในทัศนะของเขา มองว่า “ถ้าเอาแค่ครึ่งหนึ่งก็ใช่  แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็เป็นฮินดู เขาจะเอาส่วนที่เจ็บปวดมาใช้   ซึ่งมันก็น่าฟังอยู่  แต่ว่ามันจะเกิดกับคนที่อิน [ซาบซึ้ง] กับประวัติศาสตร์เต็มที่  เขาจะใช้ประวัติศาสตร์บาดแผลในการปลุกคน”
 
      “นึกถึงสภาพความเป็นจริง ถ้าถูกเจาะเอ็นร้อยหวายจริงๆ  เลือดคงออกหมดตายก่อนที่จะไปถึงกรุงเทพฯ”  เขาให้ความเห็นต่อเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานีตอนหนึ่งที่มีการเล่ากันอย่างกว้างขวางในหมู่ขบวนการ   โดยมักเล่ากันว่าสยามได้ยึดครองปาตานีและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยและให้เดินทางไปขุดคลองแสนแสบที่กรุงเทพฯ  ในการเดินทาง เชลยเหล่านี้ถูกเอาเชือกเจาะเอ็นร้อยหวายและบังคับให้เดิน
 
     เขาตั้งคำถามกับวิธีอธิบายทางศาสนาของขบวนการที่ว่าเป็นหน้าที่ที่คนมลายุมุสลิมจะต้องต่อสู้ให้ปาตานีกลับมาเป็นดารุลอิสลามอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าเคยเป็นมาในอดีต
 
      “รัฐบาลอิสลามที่ต้องการแปลว่าอะไร  รัฐที่ปกครองด้วยชารีอะห์เต็มรูปแบบ ไม่มีในโลก แม้แต่ซาอุ [ดิอาราเบีย] ก็ไม่ใช่  แล้วคุณจะเอาอะไร” เขาตั้งคำถาม 
 
               สำหรับประเด็นเรื่องญิฮาดนั้น เขาอธิบายว่าในการประกาศญิฮาด อูลามาจะต้องประชุมร่วมกันและลงมติเอกฉันท์ว่าจะต้องสู้  แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “มติ” เป็นแต่เพียง “แนวคิด” นอกจากนี้  เขามองว่าการญิฮาดไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนประเภทใดก็ตาม  นักรบไม่สามารถฆ่าผู้บริสุทธิ์ได้
   
ผู้นำศาสนาท่านนี้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง 
 
“ชาวบ้านก็เป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ต้องการอำนาจ โดยใช้ประวัติศาสตร์มาชง”  เขากล่าว “รัฐไม่ได้กดขี่อะไร  พวกเราเองที่เลอะเทอะ เหมือนคนพุทธที่ไม่เข้าวัด”
 
เขากล่าวถึงกลุ่มคนในระดับนำของขบวนการอย่างประชดประชันว่า “ระดับบน ต้องการอำนาจ ไม่ถูกยิง ไม่ตาย นั่งเครื่องบินตลอด  ระดับล่างต้องการสวรรค์ พวกนี้ตาย ติดคุก พิการ”
 
เขาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐที่ไม่เจาะเข้าไปที่ใจกลางของปัญหา  เขาเห็นว่ารัฐควรที่จะแก้ปัญหาด้วยการเชิญอูลามาจากปอเนาะต่างๆ มาถกกันว่า แผ่นดินนี้เป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  และจะต้องให้พวกผู้นำในระดับท้องถิ่นเหล่านี้เป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา  นอกจากนี้ ยังควรที่จะให้ผู้นำธรรมชาติในระดับหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะว่าคนเหล่านี้ได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้าน  แต่ที่ผ่านมารัฐกลับไปไล่จับกุมและดำเนินคดีคนเหล่านี้   
 
                “ขบวนการมี 2 อย่างที่รัฐไม่มี คือ ความต่อเนื่องและเอกภาพ” เขาสรุปทิ้งท้าย
 
 
 
ท่านที่ 3
 
               ผู้รู้ท่านสุดท้ายที่ DSJ ได้ไปสนทนาด้วยเป็นผู้นำศาสนาในสายเก่าซึ่งมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  เขาได้ขอสงวนนามเช่นกัน  เขาอธิบายความคิดเรื่องดินแดนในหลักการของอิสลามว่า ดารุลอิสลามและดารุลฮัรบีเป็นดินแดนสองประเภทซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน  ดารุลอิสลามเป็นดินแดนที่มีการใช้อัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญในการปกครองและมีชาวมุสลิมเป็นผู้ปกครอง ส่วนดารุลฮัรบี เป็นดินแดนที่ไม่ได้ใช้ชารีอะห์ในการบริหารประเทศซึ่งอาจใช้ธรรมนูญที่มนุษย์ร่างขึ้นเองและมีผู้บริหารที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม 
 
               เมื่อถามว่าดินแดนในชายแดนภาคใต้มีสภาวะเป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  เขากล่าวว่า “ถูกต้องแล้ว เป็นดารุลฮัรบี เพราะธรรมนูญในการปฏิบัติในชีวิตไม่ใช่อัลกุรอ่าน”
 
           เขากล่าวว่าอาณาจักรปาตานีในอดีตนั้นไม่ได้เป็นดารุลอิสลามอย่างที่ขบวนการได้กล่าวอ้าง  คำที่ใช้เรียกอาณาจักรในอดีตคือ ปาตานีดารุลสาลาม (Patani Darulsalam)   คำว่า ดารุลสาลามนี้หมายถึงดินแดนแห่งสันติสุข ไม่มีการสู้รบ  คำนี้เป็นชื่อของสวรรค์ชั้นหนึ่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่าน 
 
                เขาอธิบายเช่นเดียวกับผู้รู้อีกสองท่านว่า ดารุลอิสลามที่สมบูรณ์ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน   ซึ่งในดินแดนดารุลอิสลามจะต้องยึดคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นหลัก  หากกฎหมายใดขัดแย้งก็ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักในอัลกุรอ่าน  เขาคิดว่าขบวนการต่อสู้เพื่อต้องการเอาหลักอิสลามมาปกครองในดินแดนที่อดีตเคยเป็นอาณาจักรปาตานีนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
เขากล่าวว่าหลักการของอิสลามนั้นเปิดโอกาสให้มีการต่อต้านหรือสู้รบ  ในกรณีที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาทำลายศาสนา  ทรัพย์สิน ชีวิต วัฒนธรรมประเพณีและสติปัญญา พวกเขาจะต้องปกป้องและต่อสู้
 
“ศาสนาเปิดโอกาสให้ญิฮาดได้  ถ้ามีคนจะมาทำลายชาติของเรา ตระกูลของเรา ก็เป็นวาญิบที่จะต้องทำ” เขาอธิบาย
 
เมื่อถามว่าข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ในชายแดนภาคใต้เข้าข่ายนี้หรือไม่  เขากล่าวว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต  ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ  เช่น  ในอดีต มีการห้ามพูดภาษามลายู  ถ้าพูดก็จะถูกลงโทษ   การห้ามสวมหมวกแบบมุสลิม  ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่จะต้องปกป้องอัตลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งนโยบายเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการต่อต้านและเกลียดชังรัฐไทยและส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่ต้องการส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ เพราะกลัวว่าอัตลักษณ์และศาสนาของเขาจะถูกลบล้าง  ความรู้สึกเหล่านี้ถูกสะสมมาเรื่อยๆ
 
 เขาคิดว่าในปัจจุบัน  รัฐไทยมีการปรับตัวมากและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น 
 
“ถ้าดูรัฐบาลในอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็มีความแตกต่างกัน  รัฐบาลในปัจจุบันปรับปรุงแก้ไข ให้โอกาสและให้สิทธิกับคนมุสลิม  ในเรื่องศาสนา รัฐบาลก็สนับสนุนการสร้างมัสยิด  เรื่องการศึกษาก็มีการเปิดโอกาสแล้ว  สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถ ก็เปิดโอกาสให้มาทำงานข้าราชการ  แต่ว่าบาดแผลที่อยู่ในใจ  จะหาย มันก็ต้องใช้เวลา  คนก็ถามว่า  ทำไมเหตุการณ์มันไม่จบสักที” เขากล่าว
 
ผู้รู้ท่านนี้มองว่าขบวนการไม่ควรที่จะทำร้ายผู้บริสุทธิ์   หากว่าจะสู้รบกับคู่ต่อสู้ที่ถืออาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ ก็ทำไป  เขาบอกว่าการญิฮาดไม่อนุญาตให้ทำร้ายเด็ก ผู้หญิง และคนชรา   เขาเห็นว่าการต่อสู้ในปัจจุบัน  “อยู่นอกกรอบภาวะสงครามตามหลักการของอิสลาม”  และมีลักษณะเป็น “terrorists” (ผู้ก่อการร้าย) แต่การที่ผู้รู้ทางศาสนาจะออกมาพูดเรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายขบวนการไม่พอใจ
 
เขาให้ความเห็นว่าสภาวะในปัจจุบันนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ด้วยอาวุธ  “วันนี้ เราจะต้องดูเหตุผลว่ากาฟิรฮัรบีทำอะไรกับเรา …  ถ้าเขาให้ความเป็นธรรม ปฏิบัติกิจศาสนาได้ ก็อยู่อย่างสันติได้เหมือนกัน  เพราะว่ากาฟิรฮัรบีก็ดูแลเราอย่างดี  ถ้าให้สิทธิก็อยู่กันได้”
 
ผู้รู้สายเก่าท่านนี้มองว่าเรื่องการปกครองตนเองจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เกิดสันติสุขได้  ซึ่งจะต้องมีการวางรูปแบบให้ชัดเจนว่าจะมีรายละเอียดการบริหารอย่างไร  จะมีผู้นำที่เข้าใจอิสลามมาปกครองได้อย่างไร  ในขณะนี้ ผู้นำศาสนามีความกังวลในเรื่องของอบายมุข เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส เรื่องยาเสพติด  เมื่อไม่ได้มีการใช้หลักอิสลามเป็นกฎหมายของประเทศก็ไม่สามารถที่จะลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดในเรื่องเหล่านี้ได้ 
 
“เราอยู่อย่างนี้ มันบาป เราก็ต้องรับผิดชอบ” เขากล่าว    
 
เขาทิ้งท้ายว่าความขัดแย้งต้องจบด้วยการพูดคุยกัน  ถ้ารัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ได้เร็วที่สุด การสูญเสียก็จะเบาลง  ที่ผ่านมาคุยแล้วไม่เกิดผล ก็อาจจะแสดงว่ารัฐยังคุยไม่ถูกคน 
 
 เขาเชื่อมั่นว่าขบวนการนั้นมีแกนนำที่จะสามารถทำให้การก่อเหตุรุนแรงยุติได้ 
 
“ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่กลุ่มย่อย ต้องมีหัวหน้าที่สั่งการได้  เมื่อเปิดสวิตช์ได้ ก็ปิดสวิตช์ได้” เขากล่าวทิ้งท้าย
 
                 จากทัศนะของผู้รู้ทางศาสนาทั้งสามท่าน  ดูเหมือนว่าเรื่องความเป็นธรรมของผู้ปกครองจะเป็นประเด็นที่สำคัญในการกำหนดว่าการต่อสู้ของเหล่านักรบฟาตานีนี้จะมีความชอบธรรมหรือไม่  และดินแดนแห่งนี้เป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  ณ วันนี้ เรื่องนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่หลายคนมองต่างมุม
 
 
หมายเหตุ     รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group    ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 5 “ภาคประสังคมกับขบวนการเอกราชปาตานี  : จุดร่วมและจุดต่าง” ได้ในวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท