Skip to main content
sharethis

นายกฯ แจงสรุปซักฟอกยันทุกนโยบายรัฐบาลทำเพื่อประชาชน-ชาติ ปัดเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง 'จุรินทร์' อภิปรายสรุป จี้นายกยุติเหตุแห่งความเสื่อม 5 ข้อ ก่อนปธ.สภาฯ นัดลงมติ 9.30 น. พรุ่งนี้

'สาธิต' อภิปรายรัฐใช้งบเยียวยาเสื้อแดงติดคุกทั้งที่ทำผิด กม.ร้ายแรง

27 พ.ย. 55 - การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวอภิปรายว่า กรณีการใช้งบประมาณกลางของรัฐบาลนั้นจะใช้ได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งหากเป็นการนำเงินงบประมาณไปใช้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเรื่องนี้สามารถใช้งบกลางได้ แต่การใช้เงินของรัฐบาลนี้ประชาชนรับไม่ได้ เพราะมติของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 มกราคม 2555 อนุมัติเงินกว่า 43 ล้านบาท และถัดมาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 อนุมัติอีก 67 ล้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ มีประชาชนมาประท้วงเพื่อขอรับเงินเยียวยากันทั่วทั้งประเทศ แต่รัฐบาลกลับเอาเงิน 43 ล้านบาท ไปประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญาในความผิดร้ายแรงจึงเกิดคำถามว่าความเร่งด่วนอยู่ที่ไหน

ทั้งนี้ นายสาธิต ได้เปิดคลิปวีดีโอ เป็นภาพการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดย พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกทางการจับกุมไปก่อนหน้านี้ เพราะคิดว่าเวลาผ่านมานานเกินไปแล้วที่คนเสื้อแดงต้องจำคุก

ภายหลังจากการเปิดคลิป ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ได้ลุกขึ้นประท้วงอย่างหนักถึงการนำคลิปของบุคคลภายนอกเข้ามาเปิดในที่ประชุมสภา แต่นายวิสุทธิ์ ​ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้วินิจฉัย ว่าคลิปดังกล่าวไม่มีอะไรเสียหาย จึงให้นายสาธิตอภิปรายต่อไป

นายสาธิต อภิปรายว่าว่า คลิปดังกล่าวส่อให้เห็นว่านายกฯมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะสอดคล้องกับการอนุมัติงบกลางประมาณในวันที่ 10 มกราคม 2555 โดยเป็นการอนุมัติตรงไม่ผ่านกองทุนยุติธรรม เพื่อนำไปช่วยพรรคพวกตัวเอง ซึ่งบุคคลที่ได้รับงบประมาณกลางไปประกันตัวนั้นเป็นพวกทำลายชาติ อาทิ พวกที่เผาศาลากลางจำนวน 14 คน, พวกทำลายศาสนาคนที่ยิงอาวุธอาร์พีจี ใส่วัดพระแก้ว

"คนเหล่านี้ที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรงไม่สมควรที่จะได้รับเงินงบประมาณไปช่วยเหลือ ไม่เข้าใจว่าจะปรองดองกลับพวกโจรที่ทำลายชาติหรืออย่างผู้ต้องหาหญิง ดา ตอร์ปิโด ที่หมิ่นสถาบัน ทั้งที่มีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกเยอะจากกองทุนยุติธรรม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้กลับได้เงินเยียวยาช่วยเหลือที่ไม่เป็นธรรม"นายสาธิตกล่าว

นายสาธิต กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ลอบยิงบ้านพักของตนที่ จังหวัดระยอง เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ก็ไม่อยากจะคิดว่าเป็นเรื่องทางการเมือง จึงขอให้นายกฯได้ตรวจสอบด้วย

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เรื่องการลอบยิงนั้น ขอให้ส่งหลักฐานมาและจะดำเนินการสอบสวนต่อไป ส่วนในเรื่องของกระบวนการเยียวยา ขอมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมตอบแทน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ได้รับฟังการอภิปรายตลอดทั้งวัน ในเรื่องอภิปรายก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหลาย ๆ คน ตนในฐานะประธาน ได้มีการมอบหมายให้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ผู้ต้องหาหญิง ดา ตอร์ปิโด นั้น ไม่ได้รับการประกันตัวและยังอยู่ในการควบคุมที่เรือนจำหญิงกลาง โดยการดำเนินการเยียวยาของรัฐบาล ได้ทำตามข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอว่า การชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐจึงมีหน้าที่เยียวยาอย่างเร่งด่วยและต่อเนื่อง รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมก็เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ

ส่วนการใช้งบกลางเป็นการดำเนินการงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาทนั้นเป็นการดำเนินการโดยผ่านกองทุนยุติธรรมทั้งหมด


'นิพิฏฐ์' อภิปรายชี้มีการทุจริตงบฟื้นฟูน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้าน

27 พ.ย. 55 - นายนิพิฏฐ์ อินทรสัมบัติ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์​ (ปชป.) อภิปราย ว่านายกฯ​ประกาศจะปราบปรามการทุจริตแต่กลับ ปล่อยปละให้หน่วยงานในการควบคุมดูแล มีการทุจริต ในงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด  โดยที่ผ่านมาหน่วยงานสำคัญในการป้องกันการทุจริตอย่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)​ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ อดีตเลขาฯ​ถูกย้ายเป็นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพราะเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ารถหรู​ของผู้มีบารมีนอกรัฐบาล หรือ "เจ๊แดง"

นายนิพิฏฐ์  กล่าวว่า ​จากการตรวจสอบ​การก่อสร้าง ซ่อมแซม ถนน ที่ได้รับความเสียหาย โดยรับงบประมาณจากงบกลาง 1.2 แสนล้าน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี  หนองคาย บึงกาฬ ที่เบิกจ่ายเงินงบประมาณไป แต่ไม่ดำเนินการตามสัญญา บางแห่งมีเพียงใช้รถมาเกลี่ยดิน​ให้เรียบเท่านั้น ไม่มีการลาดยาง ​ พบการเรียกเก็บค่าหัวคิว ​ 30 % ของราคาก่อสร้างโดยคน "คนหัวขาว" ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบข้อมูลของป.ป.ท.ในสัญญาการก่อสร้างถนน 56 สัญญา มีการทุจริตทั้ง 56 สัญญา ​ และเมื่ออดีตเลขาฯ ป.ป.ท.ถูกย้ายเรื่องก็เงียบ

นอกจากนี้โครงการก่อสร้างฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ 21 สัญญา เฉพาะใน จ.ขอนแก่นเพียงจังหวัดเดียว ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบว่ามีการทุจริตถึง 20 สัญญา  ในพื้นที่ 6 จังหวัดวงเงิน 2,566 ล้านบาท มีการทุจริตถึง 1,000 ล้านบาท ดังนั้นคำนวณแล้ว​ 1.2 แสนล้านบาท จะมีการทุจริตไม่ต่ำกว่า  3 – 4 หมื่นล้านบาท​ โดยเงินนี้ไปอยู่ที่ คือเจ๊แดง คนที่สอง คือคนหัวขาว ไม่รู้ว่านายกฯ รู้หรือไม่ แต่นายกฯ ไม่ตรวจสอบ ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่กำกับดูแล ออกมาบอกว่าไม่พบการทุจริต ทั้งๆ ที่ ป.ป.ท.และ​สตง.​ระบุว่ามีการทุจริต

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า การย้าย พ.ต.อ.ดุษฎี เป็นการย้ายตามวาระ และทำตามกฎระเบียบถูกต้อง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการนำเข้ารถหรู พร้อมเปิดคลิปคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ. ยืนยันว่าการโยกย้ายไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง ส่วนประเด็นเรื่องกาตรวจสอบโครงการ 1.2 แสนล้านบาท ของ ป.ป.ท.พบการทุจริตนั้น การจะชี้มูลเรื่องทุจริตจะต้องผ่านความเห็นของกรรมการ ป.ป.ท.

อย่างไรก็ตามในการประชุม ​จ.ส.อ.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยก็ลุกขึ้นมาประท้วงว่า นายนิพิฏฐ์ ไม่ควร​พูดถึง "เจ๊แดง" หรือ "คนหัวขาว" ​


'นิพนธ์' อภิปรายระบุ 'ชัชชาติ' รับงานกรมทรัพยากรน้ำ 43 โครงการ ในภาคอีสาน

27 พ.ย. 55 - เมื่อเวลา 12.40 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลไม่ดำเนินการเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยทำเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการรับรองประกาศของ ป.ป.ช.เพื่อให้หน่วยงานที่จะดำเนินโครงการต่างๆ เปิดเผยวิธีการและรายละเอียดการคำนวณราคากลางเพื่อที่จะเปิดให้สามารถตรวจสอบและป้องกันการทุจริตได้ แต่ ครม.กลับไม่ดำเนินการ จนทำให้เกิดความไม่โปร่งใส เห็นได้จากโครงการฟื้นฟูเยียวยา อุทกภัยในงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท เช่น ราคากลางในโครงการซ่อมแซมคลอง แม่น้ำ แค่ จ.สุพรรณบุรีจังหวัดเดียว ราคากลางก็แตกต่างกัน โดยราคาต่ำสุดอยู่ที่ 33.49 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และสูงสุดอยู่ที่ 54.80 บาท นอกจากนี้ในการตรวจสอบโครงการของกรมทรัพยากรน้ำภาค 3 พื้นที่ 7 จังหวัดในภาคอีสาน ในส่วนของงบ 1.2 แสนล้านบาท มีโครงการที่เกี่ยวข้อง 171 โครงการ แต่พบว่าห้างหุ้นส่วน พิตรพิบูลย์ จำกัด ได้รับเป็นผู้ดำเนินการ 43 โครงการ ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเพียงแค่ 1 ล้านบาท โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ จ.มุกดาหาร แต่กลับได้รับทำโครงการถึง 43 โครงการ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

นายนิพนธ์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าใน 43 โครงการ เป็นโครงการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร 26 โครงการ จ.เลย 8 โครงการ จ.อุดรธานี 5 โครงการ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม อย่างละ 2 โครงการ จึงน่าสงสัยว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาดำเนินงาน 2-5 เดือนได้อย่างไร และห้างหุ้นส่วนแห่งนี้เพิ่งมาจดทะเบียนกับกรมทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2555 แต่พอเดือน ก.พ. 2555 ก็ได้งานทันที 43 โครงการ ห้างหุ้นส่วนนี้มีผู้ถือหุ้นสองคนคือ นางนิลรัตน์ สิทธิพันธุ์ และ น.ส.ชนิตา บุญชื่น ถือหุ้นคนละ 5 แสนบาท ซึ่งนางนิลรัตน์ยอมรับในชั้นกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นญาติกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ซึ่งนายกฯปล่อยปละละเลยให้คนใกล้ชิดเอื้อพวกพ้อง เอื้อให้เกิดการทุจริต


'วิรัช' แฉเลขาฯ 'ชัชชาติ' มีเอี่ยวรับงานซ่อมถนน ทั้งที่ไม่ถูกน้ำท่วม

27 พ.ย. 55 - เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ในงบประมาณเยียวยาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบรับหลักกฎหมายตามมาตรา 103/7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กฎหมาย ปปช. 103/7) ที่กำหนดให้มีการเปิดเผยราคากลาง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดแบบราคากลาง และวิธีคิดคำนวณราคากลาง โครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ เมื่อ ครม.ไม่เห้นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ทำให้เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการทุจริต โดยตนตรวจสอบพบการทุจริตในโครงการของกระทรวงมหาดไทย ในการปรับปรุงถนนสาย นย.2011 แยกทางหลวง 33 อ.เมือง จ.นครนายก ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร ราคา 47,285,600 บาท ซึ่งมีการกำหนดราคากลางที่สูงกว่าวิธีอีออคชั่นปกติกว่าเท่าตัวคือ กม.ละ 5.9 ล้านบาท จากวิธีอีออคชั่นปกติ อยู่ที่ราคา 2.7 ล้านบาทต่อ กม. โดยใช้งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท แต่ต่อมากระทรวงมหาดไทยโยนเรื่องให้กรมทางหลวงชนบทรับไปดำเนินการ ด้วยเรื่องความชำนาญหรืออะไรก็ไม่ทราบ

นายวิรัชกล่าวว่า บริษัทที่ได้รับประมูลงานดังกล่าวคือ หจก.วิสิทธิชัย จ.นครนายก โดยประมูลไปในราคา 47,338,000 บาท แต่เมื่อเห็นว่าประมูลสูงกว่าราคาจริง กรมทางหลวงชนบท จึงได้ลดราคาให้เท่ากับราคาตั้งต้น โดยบริษัท วิสิทธิชัย ดังกล่าวมีนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร หรือเสี่ยแหมะ ส.ส.นครนายก พรรคเพื่อไทย และนายเกรียงไกร กิติธเนศวร เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งตรวจสอบพบว่านายเกรียงไกรเป็นเลขานุการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในระหว่างที่นายชัชชาติเป็น รมช.คมนาคม ซึ่งตนยังพบความผิดปกติ เพราะว่า ถนน นย. 2011 แยกทางหลวง 33 ไม่ได้ถูกน้ำท่วม จึงไม่เข้าข่ายที่จะถูกซ่อมแซม อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามอนุมัติให้แต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏชื่อของนายเกรียงไกรอยู่ในนั้นด้วย


'รังสิมา' อภิปราย รัฐบาลใช้งบน้ำท่วมซ่อมบ่อบาดาลสูงผิดปกติ สภาวุ่นฝ่ายค้านชี้ 'จ่าประสิทธิ์' คุกคามทางเพศ

27 พ.ย. 55 - การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในช่วงบ่ายวันนี้ (27 พ.ย.) เป็นการอภิปราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการติดตามโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบความผิดปกติความแตกต่างของงบประมาณในการขุดเจาะน้ำบาดาล ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า โครงการเชื่อมต่อระบบประปาหมู่บ้าน โครงการเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล ฯลฯ  โดยงบประมาณเดิมที่ตั้งขอไว้กับงบประมาณที่โอนให้ผู้ทำโครงการจริงแตกต่างกัน งบที่โอนไปจริงสูงกว่างบที่ตั้งไว้ครึ่งต่อครึ่ง เมื่อดูเอกสารพบว่าแต่ละโครงการลงนามในสัญญาวันเดียวกันทั้งหมด

“แต่เมื่อตรวจสอบหลายจังหวัดพบว่ามีโครงการที่ชาวบ้านไม่ได้ขอให้ทำ เช่น การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล แต่กลับมาทำให้ทั้งที่ไม่จำเป็น บางโครงการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้น้ำไหลดีขึ้น ที่สำคัญงบประมาณดังกล่าวเป็นงบประมาณเยียวยาซ่อมแซมผลกระทบจากอุทกภัยรวมมูลค่า 1,648 ล้านบาท โครงการทั้งหมดทำเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วจนน่าสงสัย เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะกรมนี้มีข้าราชการเพียง 757 คน มีงบประมาณปกติปีละ1,434 ล้านบาท ลำพังทำโครงการของตัวเองตามงบประมาณปกติยังทำไม่ทัน และมีโครงการเพิ่มขึ้นมา แต่ทำไมจึงดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ บางที่น้ำไม่ท่วมยังไปทำให้เขาอีก คนอุดกลบบ่อเป็นคนกลุ่มเดียวกันหมดกับคนเป่าล้างบ่อ บางโครงการทำวันเดียวเสร็จ แต่มีรายการเบิกค่าที่พัก บ่อน้ำบาดาลบางบ่อจุดอุดปิดถาวรแล้วยังไปเป่าล้างบ่ออีก ที่พูดมาทั้งหมดอยากให้ดีเอสไอ สตง.และ ป.ป.ช.ไปตรวจหน่อย” น.ส.รังสิมา กล่าว

นอกจากนี้นางสาวรังสิมายังได้พาดพิงถึงพื้นที่จังหวัดเลยของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั้นไม่ได้มีการเป่าบ่อเลยแต่ได้เบิกงบประมาณไปหมดแล้ว และกระทำในที่ส่วนบุคคลไม่ใช่ที่สาธารณะ ถือเป็นการเอางบประมาณรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้พื้นที่เอกชน ทั้งยังมีการใช้งบประมาณไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้เชิญ รัฐมนตรีเข้ามาตอบข้อซักถามในชั้นกรรมาธิการแล้วแต่รัฐมนตรีก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ ดังนั้นตนจึงไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถควบคุมกำกับดูแลคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมได้

ทั้งนี้ ระหว่าง​การอภิปราย น.ส.รังสิมา ​ได้ดำ​เนิน​การอภิปราย​โดย​เล่าข้อมูลสลับกับ​การ​เล่า​ความฝัน ​ทำ​ให้ จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ​ไชยศรีษะ ส.ส.พรรค​เพื่อ​ไทย ลุกขึ้นมาประท้วงว่า นำ​ความฝันมาอภิปรายถอดถอน​ไม่​ได้ ​และบอกว่า ถ้าผมฝันว่า​ได้นอนกับคุณรังสิมาบ้างจะว่าอย่าง​ไร? ​ทำ​ให้​เกิด​การประท้วง ประธาน​จึงสั่ง​ให้ จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ถอนคำพูด ​แต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ​ได้ยืนยัน​ให้มี​การกล่าวขอ​โทษด้วย ​เนื่องจาก​เป็น​การคุกคามทาง​เพศ ​และมี​การถ่ายทอดสด​ไปทั่วประ​เทศ

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนอง​เตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงขอ​ให้ประธานวินิจฉัย​ให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ถอนคำพูด ​เพราะอยู่​ในสภามา 17 ปี​ไม่​เคยมีพฤติกรรมของ ส.ส.ราย​ใดคุกคามทาง​เพศ​ผู้อื่นอย่าง​โจ่ง​แจ้งขนาดนี้ พร้อม​ทั้งระบุว่าคำพูดของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ขัดต่อประมวลจริยธรรมสภา​ผู้​แทนราษฎร ข้อ 28 ​เพราะ​เป็น​การ​แสดงพฤติกรรมคุกคาม​หรือระรานทาง​เพศควร​ให้คณะกรรม​การจริยธรรม สภาฯสอบสวน​เรื่องนี้ ต่อมานาย​เจริญ จรรย์​โกมล รองประธานสภา​ผู้​แทนราษฎรคนที่ 1 ​ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมวินิจฉัยถอนคำพูด จนจ.ส.ต.ประสิทธิ์ยอมถอนคำพูดดังกล่าว ​จึง​ทำ​ให้​การอภิปรายดำ​เนินต่อ​ไป​ได้

ในช่วงการตอบโดยรัฐมนตรี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบการอภิปรายเรื่องน้ำบาดาลว่า เดิมมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแยกกันไป 4 หน่อยงาน ต่อมาจึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทางชุมชนได้ขอมา จึงได้เข้าไปตรงนี้ โดยการตรวจรับและมีคณะกรรมการดูแล ทุกโครงการไม่ใช่ภัยพิบัติอยู่ตรงนี้ไปนอกพื้นที่แต่เพราะชาวบ้านเขาขอมา ในส่วนพื้นที่ที่ ส.ส.รังสิมาลงไปตรวจเอง ก็เป็นพียงแผนที่เขาขอมา ซึ่งทุกโครงการต้องอยู่ในการประกาศภัยพิบัติแห่งชาติ ถ้าผิดพร้อมให้ดำเนินคดี ในส่วนที่ลงไปถ่ายคลิปนั้นไปลงพื้นที่ตรงไหน ให้เอาตนลงไปด้วยจะได้ไปชี้แจง เรื่องนี้พร้อมไปพิสูจน์ด้วย


'วิลาศ' อภิปรายแฉขบวนการโกงจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช

27 พ.ย. 55 - นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีเคยแถลงว่ามียุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ความจริงการทุจริตยังคงมีมาก และทำกันอย่างเอิกเกริก อาจเป็นเพราะที่นายกรัฐมนตรีพูด ไม่ได้ทำด้วยความจริงใจ ข้าราชการจึงไม่ได้เกรงกลัว โครงการที่ผ่านตาไม่มีโครงการไหนไม่ทุจริต จนเรียกว่าโกงทุกเม็ด การทุจริตถ้าผู้มีอำนาจไม่รู้เห็นเป็นใจ คนทำคงไม่กล้าทำ จึงต้องการรู้ว่าโครงการที่โกงกันมากมีการปัดเศษเงินเข้าพรรคกันบ้างหรือไม่

นายวิลาศ กล่าวว่า กรณีเงินทดรองราชการอยู่ในงบกลาง ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ปรากฏว่ามีการปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดปัญหาการทุจริต พร้อมยกตัวอย่างกรณีภัยพิบัติด้านพืช ปี 2552 มีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคอีสานจัดให้มีการซื้อยาปราบศัตรูพืชอย่างมาก มีการประมูลขายในราคาแพงกว่าตลาด มูลค่ายาปราบศัตรูพืชในโครงการนี้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท และยังได้เลื่อนตำแหน่ง

“เรื่องการซื้อยาปราบศัตรูพืชทำกันอย่างเป็นระบบ  มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอยู่ทั้งในฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย โดยฝ่ายที่อยู่กับผู้ซื้อโทรศัพท์ไปบอกให้จังหวัดซื้อ เรื่องนี้มีนักการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมไม่ขอเปิดเผยชื่อตอนนี้ เมื่อใดเรื่องนี้ถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผมจะพูด” นายวิลาส กล่าวและว่า ที่ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลงบกลางซึ่งเป็นที่มาของงบประมาณทดรองราชการ นายกรัฐมนตรีไม่ใส่ใจในการทำหน้าที่ ปล่อยปละละเลย ทั้งที่ควรออกมาตรการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต


'เจะอามิง' อภิปรายชี้นายกลอยแพชายแดนใต้ 'ผุสดี' ถามภาวะผู้นำ-ปรองดองทำอะไรบ้าง

27 พ.ย. 55 - นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในประเด็นปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกฯ มีพฤติกรรมลอยตัวจากปัญหาของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่เคยเห็นกรอบความคิดในการแก้ไขปัญหาหรือมันสมองของนายกรัฐมนตรีเลย กรณีเหตุการณ์ระเบิดใหญ่ที่จังหวัด ยะลา นราธิวาส และล่าสุดวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาที่จังหวัดปัตตานี มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย แต่นายกฯไม่เคยแสดงความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของประชาชนภาคใต้เลย ทั้งที่นายกฯมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตนรู้ดีว่าสถานการณ์ภาคใต้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะแก้ไขปัญหา แต่ตนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบว่า เหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจาก นายกฯ เคยไปพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามที่ต่างประเทศแล้วไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่นายกฯได้แถลงเอาไว้เมื่อวานนี้ เพราะจากสถิติ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึง 22 พ.ย.55 ระยะเวลา 327 วัน พื้นที่ชายแดนภาคใต้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นทุกวัน ยกเว้นเพียงแค่ 38 วันเท่านั้นที่ไม่มีเหตุความรุนแรง ทั้งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จนมาถึงปัจจุบัน จะพบว่า สถานการณ์ในปี 55 นั้นมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นถี่ที่สุด
       
นายเจะอามิง กล่าวต่อว่า ถ้าให้นายกฯ แก้ไขปัญหาให้กับคนภาคใต้ จะต้องมีคนเจ็บคนตายมากขึ้นอีกกี่คน แทนที่นายกฯหรือรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะลงไปดูแลพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีใครให้ความสนใจครูที่อยู่ในพื้นที่ จนสมาพันธ์ครูจะต้องขึ้นมาเรียกร้องเองในอีก 2-3 วันข้างหน้า ถ้าวันนี้นายกฯจะลงไปแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ นายกฯรู้หรือไม่ว่ากำลังเล่นอยู่กับอะไร เพราะในตอนนี้ฝ่ายก่อเหตุ ต้องการแสดงให้เห็นว่ามีอำนาจเหนือกว่า และสามารถต่อกรกับอำนาจรัฐได้ ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นธงชาติ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการคือ ดินแดน การดำเนินการตอนนี้ฝ่ายก่อเหตุกำลังทำงานจะสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีการทำงานเป็นขั้นตอน และถ้าเข้าถึงขั้นตอนที่ 7 คือซึ่งตนคิดว่าตัวนายกฯไม่รู้เรื่องตรงนี้ และอาจจะทำให้ด้ามขวานทองของประเทศหัก เพราะรัฐบาลอ่อนแอ และปล่อยปะละเลย ลอยแพคนภาคใต้ ซึ่งนายกฯ เป็นนายกฯของประเทศไทย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่เพราะเหตุใดนายกฯ ถึงไม่มีความใส่ใจต่อปัญหา แถมเวลาไปตาม 3 จังหวัดภาคใต้ยังมีอาการปล่อยไก่หลายๆ ครั้ง แบบนี้ตนคงไม่คิดว่าไม่มีมันสมอง แค่คิดว่าน่าจะใช้คำพูดว่า กวง ตนจึงไม่สามารถไว้ใจนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้อีกต่อไป
       
ด้านนางผุสดี ตามไท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขาดวุฒิภาวะในการบริหารราชการแผ่นดิน การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดในรายการนายกฯพบประชาชน ในวันที่ 24 มีนาคม ที่ระบุว่า “ท่านเป็นผู้หญิง แต่อยากจะให้มองที่ผลงานมากกว่า” ถือเป็นคำมั่นสัญญาว่า นายกฯ จะให้ความสำคัญต่อการทำงานมากกว่าความเป็นเพศหญิง แต่เมื่อนายกฯ ทำหน้าที่ไปสักพักหนึ่ง นายกฯ พยายามเน้นที่จะบริหารประเทศด้วยความปรองดอง เห็นได้จากการไปกล่าวสุนทรพจน์ในหลายๆ ประเทศ ว่าจะใช้ความเป็นผู้หญิงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตนจึงอยากเรียนถามว่า มาถึงขณะนี้นายกฯ ทำอะไรได้บ้าง
       
“ถ้าจะถามว่าความล้มเหลวของรัฐบาลมาจากสาเหตุอะไร ตนคิดว่าส่วนหนึ่งต้องมาจากการขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของนายกฯ เช่น เรื่องของความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและต่อประชาชน ใน 1 ปีที่ผ่านมา นายกฯ ไม่ซื่อสัตย์ โดยการปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริต การให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ทันต่อเหตุการณ์ เห็นได้จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เพิ่งผ่านมา จนสร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างมาก หรือภารกิจลับที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ได้สร้างความสงสัยให้กับประชาชน ด้วยความที่เป็นผู้นำหญิงการปิดบังเรื่องแบบนี้ ยิ่งทำให้เกิดผลเสียหาย ซึ่งการที่นายกฯ มีพฤติกรรมที่ปิดบังและโกหก ประชาชนจะเชื่อผู้นำได้อย่างไร” นางผุสดี กล่าว และว่า เวลาถามนอกสภา บอกให้ไปพูดในสภา เวลาถามในสภา บอกออกไปเปิดงานข้างนอก จะเอายังไงกัน
       
ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า สำหรับเรื่องภาวะผู้นำที่ได้อภิปรายไปนั้น คำว่าภาวะผู้นำ อยู่ที่คนตีความ สำหรับตนภาวะของผู้นำอยู่ที่ผลของงาน และภาคประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ก่อนให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อ

นายกฯ แจงสรุปซักฟอกยันทุกนโยบายรัฐบาลทำเพื่อประชาชน-ชาติ ปัดเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง

เมื่อเวลา 21.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงสรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยยืนยันว่านโยบายทั้งหมดของรัฐบาลไม่ได้มีการทุจริต ล้มเหลว เอื้อพวกพ้อง และทำตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสร้างรายได้ให้กับประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนข้อห่วงใยเรื่องทุจริตได้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด

ขณะที่การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมาบูรณาการ พร้อมจัดจัดสรรงบประมาณในส่วนงานพัฒนาเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว 2 เท่า ด้านงานมั่นคงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองทัพ ตำรวจ และแม่ทัพภาคที่ 4 ทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และศอ.บต. ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีร่วมมือสร้างกระบวนการร่วมกับป.ป.ช. เพื่อปราบปรามการทุจริตให้หมดไปจากประเทศไทย ส่วนข้อเท็จจริงตามมีการร้องหรือทักท้วง ก็ยินดีร่วมมือกับภาคเอกชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ส่วนการโยกย้ายนายทหารในกระทรวงกลาโหมนั้น ได้ยึดตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และการที่เข้ามาทำงานการเมือง ก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และทำงานยึดประโยชน์ประเทศและประชาชน ไม่เคยคิดทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงเพื่อใคร

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ทำตัวลอยอยู่เหนือปัญหา ในฐานะนายกฯเรื่องการแทรกแซงการปฏิบัติงาน ยืนยันว่าไม่มี ทั้งนี้ ตลอดเวลาการอภิปราย 3 วันที่ผ่านมา ไม่ได้อภิปรายเรื่องนโยบาย แต่เป็นเนื้อหาที่ลงไปรายละเอียดในเนื้องานของรัฐมนตรี และข้าราชการ

"ผู้นำฝ่ายค้านก็เคยเป็นนายกฯ ก็เห็นเช่นกันว่านายกฯไม่ได้รู้ทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม แม้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ได้ชี้แจงทุกคน แต่ดิฉันจะให้ชี้แจงต่อประชาชนต่อไป ยืนยันนโยบายที่ดำเนินการไป ตามหลักวิชา แก้ปัญหาเป็นรูปธรรม เน้นประโยชน์ประชาชน มุ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทยและต่างชาติ ยินดีที่เห็นคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรลืมตาอ้าปาก มีชีวิตที่ดีตามความใฝ่ฝัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี"

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กลไกรัฐสภา ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ และรัฐบาลยินดีเปิดใจรับฟัง 3 วันที่ผ่านมามีข้อถกเถียงต่างๆ ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ก็ขอขอบคุณประธานฯ ฝ่ายค้าน และสส.ทุกคน การถกเถียงภายใต้การเคารพในกติกา และอยากเห็นการเมือง การเลือกตั้งเหมือนเกมกีฬา มีแพ้ ชนะ มีจบ

"สมัยท่านเป็นส.ส.บอกว่าเมื่อจบในสภา ฝ่ายค้านและรัฐบาลเดินคุยกันได้ ไปเดินถนนก็คุยกัน อยากเห็นสิ่งนั้นกลับคืนมา เราทั้ง 2 ฝ่ายทำงานเพื่อประชาชน หาทางออกให้ประเทศ ยืนยันด้วยเกียรติและจิตวิญญาณคนไทยที่รักชาติ จะมุ่งมั่นทำงานแก้ปัญหาประเทศ นำประเทศก้าวผ่านวิกฤติ เสริมสร้างประชาธิปไตยแท้จริง ธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์"น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว


'จุรินทร์' อภิปรายสรุป จี้นายกยุติเหตุแห่งความเสื่อม 5 ข้อ ก่อนปธ.สภาฯ นัดลงมติ 9.30 น. พรุ่งนี้

27 พ.ย. 55 - ในช่วงท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้รับมอบจากผู้นำฝ่ายค้านและส.สพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครักประเทศไทยจำนวน 157 รายชื่อ เพื่อสรุปการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา 159

โดยก่อนการอภิปราย ฝ่ายค้านเจอปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่การพยายามลดความน่าเชื่อถือจากรัฐมนตรี ทำให้การอภิปรายเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ทั้งที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายบริหารแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีการพยายามทำให้เข้าใจว่าเป็นฝ่านค้านที่ค้านทุกเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เพราะจากการเสนอกฎหมายเข้าสภาฯ ของรัฐบาลทั้งหมด 59 ฉบับ ฝ่ายค้านยกมือให้ 57 ฉบับ ไม่เห็นด้วยแค่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการออกพ.ร.ก. ที่รัฐบาลอ้างว่าเร่งด่วน ซึ่งความจริงก็พิสูจน์แล้วว่า มีการเบิกเงินแค่ 2-3 หมื่นล้าน แต่รัฐบาลต้องการรอให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปก่อน เพื่อความคล่องในการดำเนินการ ต่อมาคือร่างพระราชกฤษฎีกาโอนหนี้จากกระทรวงการคลังไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับการทำสัญญาผูกพันระหว่างไทยกับต่างประเทศทั้งหมด 31 เรื่อง ฝ่ายค้านก็สนับสนุนทั้งหมด และที่ว่ามีการพยายามจับมือกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้น ขอทำความเข้าใจว่าฝ่ายค้านยื่นญัตติก่อนที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามจะชุมนุมด้วยซ้ำ ตรงนี้คือความจริง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามลดความน่าเชื่อถือผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อให้ญัตติที่ตรวจสอบมีปัญหา

ทั้งนี้ เดิมไม่คิดอภิปรายร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ตรงกันข้ามกลับชื่นชมความกล้าหาญ ที่ยอมรับความจริงว่า เป็นขี้ข้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่มีประเด็นที่อภิปรายคือ การไม่ไม่ถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 ครั้ง ได้คำตอบตรงกันว่า คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเกณฑ์การถูกถอดยสทุกประการ หรือถูกถอดยศเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุด (จำคุก) ต่อมารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ร.ต.อ.เฉลิม ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ตอบสื่อ 2 ข้อ คือ ไม่ถอดถอนและจะเพิ่มยศให้ด้วย ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่าที่ศาลตัดสินจำคุกคดีที่ดินรัชดานั้น ไม่ใช่การทุจริต ทั้งที่กฎหมายของสำนักงานป.ป.ช. ก็บอกชัดเจนว่า มีความผิดรวมถึงคู่สมรส และกฎหมายก็ออกมาเมื่อปีพ.ศ.2542 ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สรุปได้ 3 เรื่อง คือ การแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยมิชอบ โดยมีเป้าหมายในการเข้าไปแทรกแซง พร้อมกับพบว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ทั้งที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมต้องเป็นผู้เสนอ แต่พล.อ.อ.สุกำพล ล้วงลูกผิดกฎหมาย และการที่นายกฯ ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อทั้งที่มีปัญหาก็เป็นการไม่บังควร ส่อไปในทางมิชอบ หรือไม่ทำตามจริยธรรม ซึ่งผิดอย่างร้ายแรง ต่อมาคือ เรื่องจัดซื้อเรือลาดตระเวน 3 ลำ มูลค่า 558 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบข้อร้องเรียนปรากฎว่ามีการฮั้วกัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกลับเซ็นยกเลิกการชะลอ เรื่องที่ 3 คือการเปลี่ยนระบบยิงลูกหลอกจรวจนำวิธีเรือรบ ที่เปลี่ยนจากแท่นหมุนได้รอบทิศทาง มาเป็นแท่นที่ยึดอยู่กับที่ ซึ่งไม่ถูกต้อง

ด้านพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นั้น มีเหตุผล 3 ประเด็นหลักๆ คือ การทำผิดกฎหมายฮั้วประมูล ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้รัฐเสียหาย โดยเฉพาะงบฯ เยียวยาน้ำท่วม 1.2 แสนล้าน ใน 26 โครงการ ที่ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการ สุดท้ายผลงานขุดลอกแม่น้ำ 7 สายแม่น้ำเละเทะ อีกทั้ง ทำบัญชีเท็จ เรื่องที่ 2 คือเรื่องตลาดนัดจตุจักร ตอนยึดที่ของการรถไฟฯ มาจากกทม. ก็บอกว่าจะตั้งบริษัทลูกมาดูแล กลายเป็นการยึดแล้วมายกให้บริษัท ที เอ เอ็ม แมเนจเมนท์ฯ จัดการ ซึ่งตอนนี้แผงก็ยังว่าง สุดท้ายคือการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อสำนักงานป.ป.ช. กรณีเป็นเจ้าหนี้นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 232 ร้อยล้าน และเรื่องนี้ภริยาของพล.ต.ท.ชัจจ์ ก็ฟ้องนายสุริยา ด้วยว่าเงินส่วนหนึ่งนั้นเป็นเงินของพล.ต.ท.ชัจจ์ และพล.ต.ท.ชัจจ์ ก็รู้เป็นอย่างดี เพราะได้เชิญนายสุริยา มาตกลง ซึ่งเรื่องนี้พล.ต.ท.ชัจจ์ จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป

คนสุดท้ายคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อกล่าวหา 3 ประเด็นใหญ่ คือ นายกฯ เบียดบังอำนาจและงบประมาณของประชาชน เพื่อประโยชน์ตนเองและครอบครัว พฤติกรรมที่ชัดเจนคือ ค่าแรง 300 บาท ที่ต้องรอถึงเดือนถึงม.ค. 2556 ทั้งที่บอกว่า ทำได้ในปี 2555 จากการหาเสียงที่ผ่านมา อีกทั้ง เงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ก็ปรากฎว่า ไม่ใช่เงินเดือนแต่เป็นค่าครองชีพ ที่หลายๆ รัฐบาลให้อยู่แล้ว สุดท้ายคือ การให้บริการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย แต่ประเด็นที่เอื้อพวกพ้องกลับทำทันที โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น การร้องขอให้ประเทศญี่ปุ่นออกวีซ่าให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมกับตอบแทนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ให้กับผู้ที่ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังลักไก่ออกพ.ร.บ.พระราชทานอภัยโทษ อีกทั้ง ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผ่านพ.ร.บ.ปรองดอง มากกว่านั้น คือการเอางบฯ ฉุกเฉินจำนวน 100 ล้านบาท ไปประกันตัวผู้ต้องหาที่มาชุมนุมแล้วถูกศาลตัดสินจำคุก

ประการที่ 2 คือ นายกรัฐมนตรี บริหารงานล้มเหลว โดยเฉพาะการบริหารประเทศและปากท้องของประชาชน เช่น การแก้ปัญหาเกษตรกร โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งที่สุดท้ายแล้ว เจ้ง เพราะต้นทุนสูงฝีมือต่ำ เกิดการทุจริต และประชาชนจนเหมือนเดิม มากกว่านั้นคือ ทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์การส่งออกข้าว

ประการสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรีปล่อยให้มีการทุจริต ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะงบเยียวยาน้ำท่วม 1.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง ตรวจสอบยาก พฤติกรรมก็คือว่า นายกรัฐมนตรี สร้างภาพด้วยการเปิดงานต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น แต่ต่อมามีการสั่งย้ายเลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และแก้ตัวทั้งๆ ที่รู้ว่า เลขาฯ ป.ป.ท.กำลังแฉ 3 เรื่อง คือการนำเข้ารถหรู ไซฟ่อนเงิน และทุจริตงบฯ น้ำท่วม

สุดท้ายนายจุรินทร์ เชื่อว่า แผนบันได 5 ขั้น ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้อยู่แล้ว ลงมติเมื่อไหร่ก็มีการอุ้มกันไว้ แต่สิ่งที่จะล้มรัฐบาลได้ก็คือ ตัวของนายกรัฐมนตรี และการบริหารงานที่ล้มเหลว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ต้องยุติเหตุแห่งความเสื่อม 5 ข้อ ดังนี้

1.หยุดทำผิดกฎหมาย หรือปล่อยให้มีการทุจริต

2.ต้องมีวุฒิภาวะในการเป็นนายกรัฐมนตรี ในสภาฯ ซึ่ง 1 ปีกว่า นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแสดงได้โดยชัดเจน มาปรากฏตัวน้อยมาก หรือมาปรากฎตัววันแรกที่ขอให้เป็นนายกรัฐมนตรี นอกนั้นเลี่ยงสภาฯ มาโดยตลอด ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ใน 3 สมัยประชุมทั้งหมด 74 กระทู้ แต่นายกรัฐมนตรี มาตอบด้วยตัวเอง 2 กระทู้

3.เลิกการบริหารประเทศแบบลอยตัว หนีปัญหาและความรับผิดชอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ต้องรักษาคำมั่นสัญญา โดยเฉพาะที่บอกว่าจะแก้ไข ไม่แก้แค้น อย่าปล่อยให้คำพูดเหล่านี้เป็นวาทะกรรมสร้างภาพอีกต่อไป

4.อย่าปล่อยให้คนอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่มาล้วงลูก โดยเฉพาะการแต่งตั้ง ตรงนี้ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรี เท่านั้นที่จะตกต่ำ เพราะสถาบันนายกรัฐมนตรี จะตกต่ำไปด้วย

5.นายกรัฐมนตรี ต้องก้าวข้ามผลประโยชน์ของพวกพ้อง หรือทำเพื่อคนคนเดียว เพราะเรื่องนี้จะทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปราย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งปิดประชุมสภาฯ ในเวลา 23.45 น. และนัดลงมติในวันที่ 28 พ.ย. เวลา 09.30 น.


ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน, โพสต์ทูเดย์, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net