Past-Present-Future : รวมความคืบหน้า-ตารางนัด คดี 112 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

ประชาไทนำเสนอตารางข้อมูล-การนัดหมายคดีในชั้นศาลที่เกี่ยวพันกับมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงบางส่วนของคำพิพากษาคดีที่สิ้นสุดแล้วแต่จำเลยยังคงต้องโทษอยู่ในเรือนจำ  ซึ่งอาจทำให้เห็นพลวัตร การเปลี่ยนแปลง หรือความแตกต่างในแง่การตีความบริบททางการเมืองบางประการ พร้อมทั้งข้อสังเกตในคดีใบปลิวที่ร้อยเอ็ดและคดีหุ้นตกซึ่งยังไม่เป็นที่รับทราบในทางสาธารณะมากนัก

 

0000000

คดีที่เพิ่งเสร็จสิ้น

 

1.คดีใบปลิวร้อยเอ็ด – จำคุก 3 ปี รอลงอาญา  บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ 18 ชั่วโมง

สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 22 พ.ย. มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งโดยปกติแล้ว สื่อมวลชนและผู้สนใจเรื่องนี้มักเข้าไม่ถึงข้อมูลในต่างจังหวัด

คดีนี้เป็นอีกคดีที่เป็นหมุดหมายใหม่ที่ดูจะแตกต่างจากเดิมพอควร เนื่องจากจำเลยได้รับการประกันตัว และศาลพิพากษารอลงอาญา 

คดีดังกล่าวคือคดีของ นายอุทัย (ขอสงวนนามสกุล)  มีอาชีพเป็นชาวนา ถูกกล่าวหาว่าขณะที่อยู่ที่เถียงนาได้นำเอกสารเข้าข่ายหมิ่น จำนวน 7-8 หน้า ให้ผู้อื่นอ่าน จำเลยให้การปฏิเสธ

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อราวเดือน กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคุกรุ่น หลังจากการชุมนุมของ นปช.เพิ่งสลายไปเมื่อเดือนเมษายน โดยเรื่องเริ่มต้นจากการที่กองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เข้าสอบถามหาต้นตอใบปลิวจากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง และเมื่อผู้ใหญ่บ้านสอบถามลูกบ้าน ก็มีคนนำใบปลิวดังกล่าวมามอบให้และซัดทอดว่าได้มาจากจำเลย โดยจำเลยนำมาจากใต้หลังคาเถียงนาแล้วนำมาให้อ่าน จากนั้นผู้ใหญ่บ้านได้นำเอกสารของกลางไปมอบให้ปลัดอำเภอ และปลัดอำเภอจึงแจ้งผู้บังคับบัญชาก่อนจะเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ

ตำรวจในพื้นที่เบิกความในศาลว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องดังกล่าวและส่งเรื่องต่อไปยังคณะ กรรมการพิจารณาคดีหมิ่นระดับภาค ไปจนถึงระดับชาติ

ขณะที่ฝ่ายจำเลย ปฏิเสธว่าในวันดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่เถียงนา ภรรยาไปงานวันเกิดหลานและตัวจำเลยก็กำลังสีข้าวอยู่ด้านหลัง ไม่ได้อยู่ที่เถียงนา ขณะที่เถียงนาก็มีธงเฉลิมพระเกียรติ มีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง พระราชินี อยู่ภายในด้วย  นอกจากนี้ในการต่อสู้คดียังมีการรวบรวมรายชื่อของชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวน 67 คนลงชื่อเพื่อรับรองความประพฤติของจำเลยว่าไม่เคยมีพฤติกรรมที่กระทบต่อความมั่นคง

สิ่งที่น่าสนใจปรากฏอยู่ในคำพิพากษา

ศาลระบุว่า

1.จำเลยผิดตามฟ้อง โดยให้เหตุผลหลักๆ ว่า ที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุนั้นไม่มีการนำพยานส่วนอื่นมายืนยัน และพยานโจทก์ก็เบิกความสอดคล้องกัน ประกอบกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอก็เป็นข้าราชการที่ทำตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

2.แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตใบปลิวดังกล่าว 

3.มีการอ้างถึงบริบททางการเมืองในคำพิพากษา โดยระบุว่า ในช่วงเวลานั้นมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนหลายกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จำเลยย่อมได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อต่างๆ

4.มีการอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ชี้ว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งจำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี

5. ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการตัดสินโทษขั้นนต่ำสุดคือ 3 ปี (โดยปกติเรามักจะเห็นการกำหนดที่ราว 5-6 ปีต่อหนึ่งกรรม) ทำให้สามารถกำหนดให้รอการลงโทษหรือรอลงอาญาได้ โดยกำหนดไว้ที่ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยและให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 18 ชั่วโมงภายในกำหนด 1 ปี

 

คดีที่กำลังดำเนินอยู่

2.คดีโพสต์ข่าวไม่เป็นมงคล ทำหุ้นตก –  สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว นัดพร้อม 19 ธ.ค.55

คดีนี้เป็นหนึ่งใน 4 คดีที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวลือที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงกราวรูด จำเลยเป็นโบรกเกอร์ในบริษัทแห่งหนึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าว และถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ทั้งหมด 2 กรรม แม้จำเลยได้รับการประกันตัวแต่ถูกให้ออกจากงานทันทีหลังถูกจับกุมตัว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ โดยปกติหลักฐานสำคัญที่มัดตัวผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือ IP Address แต่กรณีนี้ผู้ดูแลเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันรายหนึ่งยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าไม่มีการนำส่ง IP Address ของสมาชิกที่โพสต์ในบอร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ ประกอบกับเว็บนี้มี server อยู่ต่างประเทศทำให้เชื่อได้ว่ากรณีนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้หลักฐานความเชื่อมโยงจาก IP Address   

ในการสืบพยาน เจ้าหน้าที่จากไอซีทีระบุว่า ทราบว่าผู้กระทำผิดใช้อีเมล์อะไรจาก “หน่วยงานลับด้านความมั่นคง” โดยระบุเชื่อมโยงว่าคือ “สำนักข่าวกรอง” “สภาความมั่นคง” จากนั้นได้ส่งอีเมล์หลอกล่อไปยังอีเมล์ดังกล่าวเมื่อผู้รับปลายทาง คลิ๊กลิงก์ดูก็จะทราบไอพี IP Address ของผู้รับทันที

อย่างไรก็ตาม ในการสืบพยานโจทก์ไม่มีการเปิดเผยที่มาข้อมูลของหน่วยงานลับดังกล่าวซึ่งเป็นจุดแรกของการเชื่อมโยงไปสู่ตัวผู้กระทำผิดว่าได้มาได้อย่างไร อีกทั้งไม่มีการเบิกตัวพยานจากหน่วยงานดังกล่าวมายืนยัน แต่มีเพียงการเบิกตัวเจ้าหน้าที่จากธนาคารสองแห่งมายืนยันว่าอีเมล์ที่เชื่อว่าใช้กระทำผิดนี้ได้ทำธุรกรรมกับธนาคาร และธนาคารเป็นผู้มอบข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ว่าใครคือเจ้าของอีเมล์ดังกล่าว

วันที่ 19 ธ.ค.นี้ ศาลนัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากจำเลยยื่นคำร้องระบุว่า มาตรา 14(2) ขัดต่อ ม.40(3) ของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ปรากฏในเว็บไซต์ของศาลแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หลายคนจึงเชื่อกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องไปกับการพิพากษาคดีในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ 

เช่นเดียวกับกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งศาลนัดวันที่ 19 ธ.ค.เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญเช่นกัน และคำวินิจฉัยก็ปรากฏในเว็บไซต์ศาลแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่า วันที่ 19 ธ.ค.นี้อาจได้ฟังคำพิพากษาคดีของสมยศอีกคดีหนึ่ง

 

ชื่อ

สถานะคดี

โทษ

คำพิพากษา
(บางส่วน)

ข้อกล่าวหา

1.ดารณี /ดา ตอร์ปิโด
 

 

อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ชั้นจับกุม ก.ค.2551

ศาลอุทธรณ์

 

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี

ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีทีการร้องว่าการพิจารณาคดีลับขัด รธน.

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีลับไม่ขัด รธน.

ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาใหม่ ให้จำคุก 15 ป

แม้จำเลยจะเบิกความว่าไม่เจตนาจาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์ เพราะประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ และต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ให้ใครดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่จากการพิจารณาจากเนื้อหาการปราศรัยทั้งหมด มิใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าจำเลยกล่าวซ้ำหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำด้วยเจตนา ไม่ใช่พลั้งเผลอ จำเลยจึงกระทำผิดตามฟ้อง

ปราศรัยที่สนามหลวง

 

ฟ้องตามมาตรา 112

2.สมยศ

 

 

อยู่ในเรือนจำ ตั้งแต่ชั้นจับกุม เม.ย.2554

 

สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 19 ธ.ค.55 หลังจำเลยยื่นคำร้องว่า ม.112 ขัดรัฐธรรมนูญ

(อย่างไรก็ตาม ในเว็บศาลรัฐธรรมนญปรากฏคำวินิจฉัยฉบับย่อแล้วว่า ม.112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ)

  รอคำพิพากษา

-

เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่น 2 บทความ เขียนโดยนามแฝง จิตร พลจันทร์

 

ฟ้องตามมาตรา 112

3.สุรชัย

 

 

อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ชั้นจับกุม ก.พ.2554

 

รับสารภาพ

ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

 

 

5 คดี

ตัดสินจำคุกคดีละ 5 ปี รับสารภาพลดเหลือคดีละ 2 ปีครึ่ง

รวมแล้ว 12 ปีครึ่ง

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามปอ.ม.112 จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามปอ.ม.78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติแล้ว เห็นว่าแม้ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 68 ปี แต่จำเลยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งจำเลยเป็นผู้มีการศึกษา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงนับว่าจำเลยเป็นผู้มีวุฒิภาวะและมีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากนี้ในช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง บ้านเมืองมีเหตุการณ์วุ่นวาย มีการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวย่อมเป็นการทวีความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลาดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิการชาวไทย มิได้มีพฤติการณ์ตามที่จำเลยกล่าวอ้างแม้แต่น้อย พฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเรื่องร้ายแรง นอกจากนี้จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่หลาบจำ จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย

อภิปรายในเวทีเสวนา / ปราศรัยยังพื้นที่ต่างๆ

 

ฟ้องตามมาตรา 112  

4.ธันย์ฐวุฒิ

 

 

อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ชั้นจับกุม เม.ย.2553

ถอนอุทธรณ์

ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

 

 

2 กรรม

จำคุกกระทงละ 5 ปี ตามมาตรา 112 และจำคุกตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 3 ปี รวมเป็น 13ปี

 

 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3),15 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามปอ.ม.90 จำคุก 10 ปี ฐานผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของตน จำคุก 3 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามปอ.ม.91 รวมจำคุก 13 ปี ริบของกลาง

ดูแลเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ ซึ่งปรากฏข้อความหมิ่น 2 ข้อความ

 

ฟ้องตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกากระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551

 

5.เสถียร

 

 

อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ชั้นจับกุม มี.ค.2554

รับสารภาพ ไม่อุทธรณ์

 

จำคุก 3 ปี

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามปอ.ม.112 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิด

หลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จำคุก 6 ปี ฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ปรับ 100,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ

ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท  หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง

ขายซีดีที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่น

 

ฟ้องตามมาตรา 112
 

6.วันชัย

 

 

อยู่ในเรือนจำ (ไม่ทราบวันจับกุมคุมขังแน่ชัด)

ศาลชั้นต้นพิพากษา

2 คดี คดีแรกจำคุก 10 ปี คดีที่สองจำคุก5 ปี รวมทั้งสิ้น 15 ปี 

คดีแรก

พิเคราะห์ว่าจำเลยมีความผิดตามปอ.ม. 112 พฤติการณ์ของจำเลย นอกจากจะเป็นความผิดร้ายแรงที่กระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุข และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประชาชนทั้งประเทศตลอด มาเป็นเวลาช้านานแล้ว การกระทำของจำเลยยังมีผลกระทบต่อความรู้สึกของปวงชนชาวไทยทั้งมวลอย่างรุนแรง สมควรต้องระวางโทษในขั้นสูง จึงกำหนดโทษจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบในชั้นพิจารณาก็ถือได้ว่าเป็นการรับว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดตามฟ้อง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาทางคดีอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี ริบของกลางทั้งหมด

 

คดีที่สอง

จำเลยมีความผิดตามปอ.ม. 112 จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี

-กรณีแจกเอกสารให้ประชาชนจำนวนหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สาม มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ (เม.ย.2552)

 

- กรณีนำเอกสารซึ่ง มีข้อความหมิ่นประมาทดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวไปวางไว้บริเวณอาคาร 5 โรงเรียนสาธิต (ก.พ.2552)

 

7.เอกชัย

 

 

อยู่ในเรือนจำ 9 วันหลังถูกจับกุม (มี.ค.2554) จากนั้นได้รับการประกันตัว

ระหว่างสืบพยาน

 

สืบพยานจำเลยนัดหน้าวันที่ 22 ก.พ.56 ปาก ส.ศิวรักษ์ และจิตรา คชเดช

 

-

-

กรณีขายซีดีสารคดีของสำนักข่าวเอบีซี ประเทศออสเตรเลีย และขายสำเนาเอกสารวิกิลีกส์

 

ฟ้องตาม ม. 112 และ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

8.คธา

 

 

 

ถูกจับกุม พ.ย.2552 ได้รับการประกันตัว

 

สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว

 

ศาลนัดพร้อม 19 ธ.ค.55 ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมหลังจำเลยยื่นคำร้องว่า ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ขัดรัฐธรรมนูญ

(อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญปรากฏคำวินิจฉัยฉบับย่อแล้วว่า ม.14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ)

-

-

กรณีถูกกล่าวหาเป็นผู้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข่าวไม่เป็นมงคลทำให้หุ้นตก

 

ฟ้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14(2), 14(3)

9. เจ๋ง ดอกจิก

 

 

ได้รับการประกันตัวแล้ว หลังจากถูกคุมขังราว 9 เดือน

 

 

อยู่ระหว่างสืบพยาน

 

(เจ๋งรับสารภาพในครั้งแรก แต่ตัดสินใจกลับคำให้การในภายหลังทนายแจ้งว่าเจ๋งเข้าใจผิดว่ารับสารภาพแล้วโทษจะน้อยหรือรอลงอาญา)

 

สืบพยานจำเลยนัดหน้า 11, 12 ธ.ค.55

-

-

กรณีปราศรัยบริเวณสะพานผ่านฟ้า (29 มี.ค.53)

 

ฟ้องตาม ม. 112 พร้อมๆ กับข้อหาก่อการร้าย

10.อุทัย (ร้อยเอ็ด)

 

ศาลชั้นต้นพิพากษา

 

 

 

จำคุก 3 ปี รอลงอาญา

 

บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ 18 ชั่วโมง

 

พิเคราะห์แล้วขณะเกิดเหตุปี 52 มีการชุมนุม มีความขัดแย้งหลายกลุ่มจำเลยย่อมได้รับข้อมูลหลายทาง อีกทั้งความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตำรวจก็มี ความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับจำเลยมีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยมีประวัติเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุข ไม่พบหลักฐานว่าจำเลยทำใบปลิวขึ้นมา จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็น พลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 18 ชม. ภายใน 1 ปี

กรณีถูกกล่าวหานำเอกสารเข้าข่ายหมิ่นให้ผู้อื่นอ่าน

 

 

ฟ้องตาม ม.112

11.นาวาอากาศตรีชนินทร์

 

 

 

เข้ารายงานตัวต่อตำรวจและได้รับการประกันตัว พ.ย.2553

อยู่ระหว่างสืบพยานในศาลทหาร

 

สืบพยานโจทก์นัดหน้า ก.พ.56

 

(ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้)

ถูกพักราชการจนถึงปัจจุบันราว 2 ปี

-

กรณีถูกกล่าวหาโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นในเฟซบุ๊ก จำนวน 24 ข้อความ

 

ฟ้องตาม ม.112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 

12.อัศวิน (เชียงใหม่)

 

อยู่ระหว่างสืบพยาน

 

สืบพยานจำเลย เดือน ก.พ.56 ที่ศาลเชียงใหม่

-

-

กรณีถูกคนรู้จักร้องทุกข์กล่าวโทษกล่าวหาว่าพูดจาเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน

 

13.ชาวไทยเชื้อสายมลายู (ปัตตานี)

 

 

ระหว่างสืบพยาน ศาลจังหวัดปัตตานี

-

-

กรณีถูกกล่าวหาว่านำแผ่นป้ายผ้าสองผืนซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเหตุการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ในประเทศไปปิดไว้บนสะพานลอยคนข้ามถนน พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

จำเลยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าทีทหารและแจ้งว่าถูกบังคับ ทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน

 

ฟ้องตาม ม.112

 

อ่านรายละเอียดที่

http://freedom.ilaw.or.th/th/case/120#detail

*นำเสนอเฉพาะ 1.ข้อมูลคดีที่อยู่ในชั้นพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่รวมคดีในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ 2.ข้อมูลคดีที่สิ้นสุดไปแล้วแต่ผู้ต้องขังยังอยู่ในเรือนจำ 3.เป็นข้อมูลเท่าที่กองบก.จะสามารถเข้าถึงได้

**คำพิพากษาที่คัดลอกมานั้นบางส่วนนำมาจากเอกสารชั้นต้นซึ่งได้รับจากทนายจำเลย บางส่วนนำมาจากเว็บไซต์ศาลอาญา บางส่วนนำมาจากเว็บศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท