Skip to main content
sharethis



กสทช.กำหนดให้ปี 2558 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านการยุติสัญญาณการแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือระบบอนาล็อค ที่ใช้เสาก้างปลา หรือ หนวดกุ้ง ไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่พัฒนา และเพิ่มประสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านทั้งหมด 8 ปี

จากนั้น กสทช. ได้มีมติในการแบ่งช่องรายการของโทรทัศน์ระบบดิจิตอลทั้ง 48  ช่อง เป็นช่องรายการในกลุ่ม ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง และในหมวดของช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง หรือ ไฮเดฟฟินิชัน 4 ช่องรายการ โดยในหมวดของช่องทั่วไปและเอชดี จะมีการกำหนดให้ต้องจัดรายการที่เป็นสาระประกอบอยู่เป็น 25% ของรายการทั้งหมด

แน่นอนการขยับปรับเปลี่ยนครั้งนี้สร้างความแรงสะเทือนไปทุกภาคส่วน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และแข่งขันในธุรกิจที่โดยมิติของการลงทุนจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ จากฝั่งฟรีทีวีกลุ่มเดิมที่ต้องการรักษาตลาด รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีขนาดใหญ่ เช่น ทรู แกรมมี่ และอาร์เอส ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า ขณะเดียวกันยังเห็นว่า จะมีครัวเรือนที่รับชมช่องดิจิตอลตามเมืองใหญ่มากถึง 80% อาจทำให้มียอดขายกล่องรับสัญญาณ หรือ Set-top box หรือการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่รองรับระบบนี้ เพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 7 ล้านเครื่อง

ในส่วนภาคประชาชน ภาคประชาสังคมก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน ประชาไท – ประชาธรรม ร่วมกันสัมภาษณ์จับสัญญาณความเคลื่อนไหว สำรวจตำแหน่งแห่งที่ และความพร้อม ความฝัน ความหวัง และความเป็นไปบนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

 

พรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล
กลุ่มรุ้งอ้วน จ.เชียงราย ในนามเครือข่ายทีวีดิจิตอลภาคประชาชนภาคเหนือ

 

“หากจะมีทีวีดิจิตอลที่ดำเนินการในลักษณะเครือข่ายของประชาชนจะต้องไม่พูดเรื่องการเมือง

เพราะต้องยึดเรื่องทางสังคมเป็นตัวตั้งไว้ก่อน

ถ้าเอาความต่างทางการเมืองเข้ามาก็จะผิดเพี้ยนไป

เหมือนวิทยุชุมชนหลายแห่งที่มีการโจมตีตอบโต้กันทางการเมืองไปมา”

 

เครือข่ายทีวีดิจิตอลภาคประชาชนภาคเหนือรวมตัวกันอย่างไร
เราเห็นว่ามีการกำหนดสัดส่วนของคลื่นความถี่ที่จะให้ภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 20% จากข้อความนี้กระตุ้นให้สนใจเพิ่มเติม ประสบการณ์ของตัวเองจากกลุ่มรุ้งอ้วนที่เชียงราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานพัฒนาด้านสื่อเพื่อการพัฒนาและเป็นโปรดักชันเฮ้าส์อิสระเพื่อสังคม ก็ยิ่งสนใจเรื่องนี้

เรามีเครือข่ายเยอะทั้งภาคเหนือ ซึ่งเพื่อนๆ ก็คิดว่าควรจะมาคุยกัน โดยเริ่มต้นจากคำถามและความไม่รู้ว่าทีวีดิจิตอลมันคืออะไร และความเปลี่ยนแปลงของระบบนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคประชาชนอย่างไร ก็เลยนัดประสานทางเฟซบุ๊กและอีเมล แจ้งแก่เครือข่ายว่าจะจัดเรื่องนี้โดยเชิญคุณสภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช.มาให้ความรู้ เพราะเรามองว่าคุณสุภิญญามีอีกสถานะหนึ่ง เหมือนเป็นเพื่อนเอ็นจีโอด้วยกัน

ปรากฏว่าคนก็สนใจมาเข้าร่วมกันราว 60 กว่าคน ซึ่งมาจากหลายจังหวัด หลายกลุ่มหลายเครือข่ายตั้งคำถามเยอะ ตั้งแต่ทีวีดิจิตอลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ภาคประชาชนต้องปรับตัวอย่างไร บางคำถามคุณสุภิญญาก็ตอบได้ บางคนถามก็ตอบไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วในส่วนของภาคประชาชนจะมีหลักเกณฑ์ปรับตัวอย่างไรบ้าง รู้แต่ว่ามันจะต้องเปลี่ยนแน่นอน และภาคประชาชนยังไงก็จะได้พื้นที่จะบอกเล่าเรื่องราวทางสังคมมากขึ้น ก็ให้เตรียมตัวไว้ พอจบการประชุมก็ยังงงว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ขณะที่พี่ชัชวาล ทองดีเลิศ ก็สนับสนุนอยากเห็นสถานีโทรทัศน์ ที่เป็นของท้องถิ่นจริงๆ ตอนนี้ตั้งชื่อไว้ก่อนว่าเป็น “ล้านนาแชนแนล” เราก็ชอบคำนี้มาก เพราะมันดูเป็นท้องถิ่น มีพลัง และไม่ได้เป็นของใครโดยเฉพาะ

กรอบแนวทางของสถานี “ล้านนาแชนแนล” จะเป็นอย่างไร
จริงๆ ยังไม่มีกรอบ มีการตั้งประเด็นพูดคุยกันอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อจะหาเวทีพูดคุยกันเรื่องนี้ว่า ล้านนาแชนแนลคืออะไร และเราจะทำอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ กสทช. เริ่มโยนรายละเอียดมาบ้างแล้วว่า ภาคประชาชนก็ต้องส่ง Beauty contest ให้กรรมการของ กสทช.พิจารณา ไม่ใช่มาโยนให้ง่ายๆ เพราะถึงแม้จะมีเพิ่มขึ้นมาถึง 48 ช่องโดยประมาณ แต่ก็ต้องกระจายให้กับหลายฝ่าย ดังนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ในการคัดกรอง ซึ่งมันก็เริ่มมีการคุยกันแล้วว่าในส่วนของภาคประชาชนจะปะหน้าทาแป้งประมาณไหน ซึ่งต่อไปก็จะคุยกัน เพื่อเตรียมโครงการ Beauty Contest เข้ามานำเสนอ รวมถึงการพูดคุยเรื่องโครงสร้าง

มองเรื่องความพร้อมอย่างไรถ้าเทียบเคียงผ่านประสบการณ์ของวิทยุชุมชน
เป็นความห่วงกังวลโดยส่วนตัว หากจะมีทีวีดิจิตอลที่ดำเนินการในลักษณะเครือข่ายของประชาชนจะต้องไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะต้องยึดเรื่องทางสังคมเป็นตัวตั้งไว้ก่อน ถ้าเอาความต่างทางการเมืองเข้ามาก็จะผิดเพี้ยนไปเหมือนวิทยุชุมชนหลายแห่งที่มีการโจมตีตอบโต้กันทางการเมืองไปมา จริงอยู่ที่แต่ละคน แต่ละกลุ่มจะมีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกันไป เราก็เคารพความต่างนี้เพียงแต่ไม่เอามาพูด เพราะการเอามาพูดในสถานการณ์ปัจจุบันมันจะเจ๊ง ขอให้ใจกว้าง เอาเรื่องความดี ความงามของสังคมเป็นตัวตั้ง อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่คนอื่นก็ไม่ได้คิดต่างไปจากนี้เท่าที่พูดคุย

เท่าที่ศึกษามาทีวีดิจิตอลลักษณะหลายอย่างก็เหมือนวิทยุชุมชนที่ทำมา เพียงแต่ว่าเนื้อหามันจะสอดคล้องกับท้องถิ่นมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยด้านบวกคือใน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ มันระบุไว้ชัดเจนว่านอกจากการแบ่งพื้นที่คลื่นความถี่ให้กับภาคประชาชน กสทช.ยังต้องเป็นพี่เลี้ยง เทรนนิ่งเรื่องการบริหารจัดการ และจัดตั้งกองทุนสนับสนุนให้ภาคประชาชน ภาคชุมชนดำเนินการ

โมเดลการทำงานจะออกแบบอย่างไรให้ทำงานกับทุกกลุ่มและเครือข่ายได้
ส่วนตัวไม่ได้มองเป็นเรื่องยากมาก เพราะถ้าเห็นตรงกันในเรื่องความดีความงามมันก็น่าจะมี แค่แบ่งบทบาทหน้าที่กันทำ ใครทำอะไรได้ก็ทำ มันไม่มีโครงสร้างชัดเจนอะไรทั้งนั้น แค่ต้องเอาจิตใจที่เสียสละเข้ามา แล้วค่อยทำโครงการว่าสถานีของล้านนา แชนแนลจะนำเสนออะไร ตั้งแต่เป้าหมายของสถานี  วัตถุประสงค์ ภารกิจ กิจกรรม ที่ต้องคิดให้ชัด ตอนนี้ยังไม่เห็นใครทั้งนั้น หลักการคือเน้นเรื่องการกระจายบทบาทอย่างเท่าเทียมทุกจังหวัด เพราะเรื่องนี้มันอ่อนไหว เพราะนอกจากจะไม่พูดถึงเรื่องการเมืองแล้ว เรื่องของบทบาทของแต่ละจังหวัดจะต้องมีความเป็นเจ้าของ

เท่าที่ศึกษาร่างข้อบังคับต่างๆ มีข้อกังวลอะไรในการทำทีวีดิจิตอล ทีวีชุมชน
จะกังวลเรื่องการครอบงำมากกว่า คิดว่าภาคธุรกิจที่เขาทำเรื่องทีวีดาวเทียมหรือประเภทอื่นๆ จะเข้ามาเป็นตัวเล่นในทุกส่วน เมื่อมีช่องทางบริการชุมชน เขาก็จะแปลงรูปทีวีของเขาให้คล้ายทีวีบริการชุมชน แต่จริงๆ เขามีภาคธุรกิจอยู่เบื้องหลัง ซึ่งลักษณะนี้มีการจัดตั้งอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลาภาคประชาชนจะทำจริงๆ จะไม่ทันเขา อย่างตัวกฎหมายเรื่องนี้ ภาคประชาชนหลายส่วนก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่ เราก็ต้องทำให้เขารู้ และเตรียมตัว

ความกังวลส่วนตัวคือ ต้องจับตาให้ได้ว่าเรื่องนี้มันเป็นผลประโยชน์ ต้องรู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้มันคือการแข่งขัน รู้เขารู้เรา แม้เราจะทำรายการไม่เก่งเหมือนเอกชน แต่เราก็มีเนื้อหาที่หนักแน่น เพราะมีฐานสังคมกว้างขวาง และรู้ว่าปัญหาของชุมชนท้องถิ่นคืออะไรต้องนำเสนออะไร เป็นต้น

สำหรับเรื่องเทคนิค การบริหารสถานี การทำรายการ ก็หวังว่า กสทช.จะมีเรื่องการอบรมตามหน้าที่ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว อีกส่วนก็คือการฝึกฝนทำรายการเอง อย่างรุ้งอ้วนเป็นโปรดักชันเฮ้าส์ก็มีศักยภาพของตัวเองระดับหนึ่งที่จะทำรายการได้ คือ องค์กรจะเตรียมความพร้อมเรื่องทางเทคนิคไว้สูง  ก็วางตัวเองไว้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรายการ ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่ายได้ เพราะเมื่อเกิดสถานีขึ้นมาก็ต้องทำรายการ หลายองค์กรจะวางตัวเองอยู่ในระดับของคนให้เนื้อหา (Content) แต่จะไม่ร่วมในส่วนของการผลิตรายการ เขาก็คาดหวังกับหลายๆ ที่ทำเรื่องนี้อยู่ ทั้งการอบรม การใช้กล้อง การตัดต่อ การทำรายการ

ภาคเอกชนก็เนียน หลักเกณฑ์ กสทช.ก็ยังไม่ชัด ก็ส่ออยู่เหมือนกันว่าอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิผู้บริโภคในบางประเด็นได้ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครอง 100% เหมือนเวลาสร้างถนน ยังไงก็ต้องมีเลนจักรยาน เป็นสิ่งที่โครงการเขียนไว้อย่างสวยหรู แต่พอทำเสร็จก็ไม่เห็นจะคุ้มครอง รถจอดขวางเลน ไม่เห็นจะได้ใช้

คาดหวังว่าโทรทัศน์ช่องนี้จะทำอะไรให้กับสังคม
เชื่อว่าเมื่อมีพื้นที่มันจะสร้างความตระหนักเองในเรื่องการมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของและร่วมกันพัฒนา เชื่อว่าเวลาเราซึมซับเนื้อหาจากสื่อกระแสหลักเขาก็จะไม่คิดอะไร เพราะมันเพลิดเพลินจะไม่คิดว่าสังคมมีปัญหา พอมีพื้นที่เราก็เล่าเรื่องในสังคมและสร้างความตระหนักให้คนท้องถิ่นสนใจ โจทย์ของเราที่คุยกับเครือข่าย คือ เวลาเราทำเรื่องท้องถิ่นของเราเองซึ่งส่วนกลางไม่สนใจ ต้องทำให้ดูสนุก ไม่น่าเบื่อ ต้องมาอบรมทักษะการสร้างสรรค์ ทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นสาระเป็นเรื่องที่สนุกได้ มันก็มีตัวอย่างเยอะในต่างประเทศและหลายรายการในประเทศไทยที่เราต้องมาพิจารณาดูว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร



เจริญลักษณ์  เพ็ชรประดับ 
บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์อีสานบิซวีค
และ ผู้จัดรายการ “เก็บตกอีสาน” ที่ KKU Channel มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

“ประชาชนเขาตื่นตัวมากขึ้นอย่างมาก ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง

เราเห็นชัดว่าสื่อมีพลัง และประชาชนก็ตื่นตัว

เราไม่ได้มองว่าต้องการใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เราเห็นพลังของมัน

และทีวีนั้นก็เป็นเครื่องมือที่สร้างอิมแพ็คได้มากกว่าอะไร

ท้องถิ่นก็จะสร้างความเข้มแข็งและสอดคล้องกับแนวเคลื่อนของสังคมไทย

ที่มุ่งไปสู่เรื่องการ กระจายอำนาจ เรื่องท้องถิ่นจัดการตนเอง”
 

ข้อกังวลเกี่ยวกับการเข้าสู่ทีวีดิจิตอล?
วิทยุชุมชนน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ กสทช.ต้องตระหนักถึงอย่างมาก เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือนแบบล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้กระทั่งขบวนที่อยู่ในองค์กรที่บอกว่าขับเคลื่อนวิทยุชุมชนก็ยังมีการแฝงตัวและไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์เดิม ที่ให้เป็นของประชาชน ทำโดยประชาชน เพื่อประชาชน ความวุ่นวายต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับทีวีชุมชน ตอนนี้มีการปรับตัวชัดเจนแล้ว เห็นปัญหา เห็นบทเรียนมา ต้องเริ่มต้นได้ดีกว่า แต่ว่าก็อย่างที่บอกว่าถ้าจะทำ ต้องสร้างการรับรู้ในวงกว้างให้มากกว่านี้ หรือกระทั่งวิธีที่จะออกระเบียบก็ไม่ควรเป็นลักษณะจากบนลงล่าง (top down) ลงไป ทำนิยามของทีวีชุมชนให้ชัดเจน รวมถึงควรระบุให้ชัดว่าทีวีชุมชนนั้นจะมีขอบเขต พื้นที่ระดับไหน

สำหรับรูปร่างหน้าตาของนิยาม อยากให้เริ่มต้นจากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่ม กสทช.ควรลงไปเปิดพื้นที่ให้กับคนในภูมิภาค คนในท้องถิ่นได้ยกร่างข้อเสนอขึ้นมาว่าต้องการอย่างไร แล้ว กสทช.ค่อยมาประยุกต์กับเรื่องเทคนิค ความเป็นไปได้ มันอาจจะเป็นอุดมคติเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบ แต่การอ้างเรื่องเทคนิคแล้วทำแบบ top down มันก็ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าเจตนารมณ์ต้องการให้เป็นของ ประชาชน ก็ต้องให้เขาร่วมคิด ร่วมสร้าง แล้วเขาจะร่วมทำ แต่ถ้าเขาไม่ได้ร่วมคิด ไม่ได้ร่วมสร้าง แล้วจะบอกให้เขาทำ มันก็เป็นโจทย์ปัญหาเดิมๆ ที่สุดท้ายเปิดมาอาจบอกว่า เปิดแล้ว ไม่มีศักยภาพทำเอง ก็โทษประชาชนอีก

ประชาชนเขาตื่นตัวมากขึ้นอย่างมาก ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองเราเห็นชัดว่าสื่อมีพลัง และประชาชนก็ตื่นตัว เราไม่ได้มองว่าต้องการใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เราเห็นพลังของมัน และทีวีนั้นก็เป็นเครื่องมือที่สร้าง impact ได้มากกว่าอะไร ท้องถิ่นก็จะสร้างความเข้มแข็งและสอดคล้องกับแนวเคลื่อนของสังคมไทยที่มุ่งไปสู่เรื่องการ กระจายอำนาจ เรื่องท้องถิ่นจัดการตนเอง ฉะนั้นสื่อจะเป็นพลังให้เขา สื่อในความหมายของทีวีชุมชน ยกตัวอย่าง ที่ผมเคลื่อนเรื่องขอนแก่นในทศวรรษหน้า ชวนคนมาคุยเรื่องเมืองในอนาคต สื่อหลักไม่สนใจ สื่อชุมชนก็เข้าไม่ถึง ถ้าเรามีโทรทัศน์แล้วมีเวทีแบบนี้เราก็รายงานไป ใส่เทคนิคให้น่าสนใจ ตรงนี้เป็นโอกาสให้ประชาชนรับรู้
 
ถ้าจริงใจเราก็ควรช่วยหนุนเขาให้ทำตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเรียนรู้

ในพื้นที่อีสาน กลุ่มที่น่าสนใจเข้าสู่ทีวีชุมชนนั้นมีเยอะมาก ในแง่การขับเคลื่อนของภาคประชาชนในพื้นที่มันมีแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว ถ้าพูดเฉพาะขอบเขตจังหวัด ตัวแอคติวิสต์เขาสรุปบทเรียนว่าต้องมีสื่อเป็นเครื่องมือถึงจะขับเคลื่อน แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง เขาเรียกร้องแล้ว แต่ถ้ามีคนที่เข้าใจเรื่องนี้เข้ามาหนุน กสทช.เอาทีมไปพูดคุยในภูมิภาคเลย ผมคิดว่ามันเกิดได้ 

เรื่องทีวีชุมชน อย่าไปผลักให้เป็นภาระของประชาชนในแง่การบริหารจัดการ มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหนุนเสริม มันเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น ภาคประชาชนตื่นตัวแล้ว แต่ในทางเทคนิคมีข้อจำกัด คนจะมีทักษะทางสื่อมันต้องสะสมและเรียนรู้ แม้แต่สื่ออาชีพ จบนิเทศมาไม่ใช่จะทำได้เลยต้องไปเรียนรู้ คนที่ตื่นตัวและอยู่กับประเด็นอยู่แล้วเขาทำได้อยู่แล้ว แต่เติมในทางทักษะ เทคนิคให้เขา ทั้งนี้ ในการจัดการจริงนั้นไม่ใช่เอาเทคนิคมาจับ เหมือนการทำ "นักข่าวพลเมือง" ที่ล้มเหลว เท่าที่ทราบคือ บางทีเอามุมเทคนิคไปจับแล้วมองว่าไม่ผ่าน ไม่ได้ ด้านหนึ่งก็บั่นทอนพลัง บั่นทอนความตั้งใจของเขาแล้วก็หายไป

ในพื้นที่อีสานมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง สื่อนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ไหม? 
การมีส่วนร่วมของทุกส่วนเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมีความหลากหลาย ความเป็นเจ้าของ ต้องเป็นของประชาชน และประชาชนต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนไว้วางใจ เชื่อมั่น เข้ามาในพื้นที่นี้ได้ ไม่เกี่ยวกับค่ายหรือสีใดเลย แต่เป็นพื้นที่สะท้อนปัญหาหรือเรื่องราวในท้องถิ่น เดี๋ยวนี้ประชาชนเขามีวุฒิภาวะ เรื่องความเชื่อความศรัทธาทางการเมืองต้องเคารพ มันคือเสรีภาพ แต่ถ้าคุณจะเป็นพื้นที่สาธารณะ คุณต้องเป็นสื่อที่เขาเชื่อมั่น  การที่สื่อเลือกข้างมันเกิดจากความไม่เชื่อมั่น การเกิดขึ้นของเอเอสทีวี ของเอเชียอัพเดทก็เกิดจากความไม่เชื่อมั่นในสื่อของรัฐ ถ้าเป็นสื่อของประชาชนต้องให้เขามีส่วนร่วม ให้เป็นเจ้าของ และหลากหลายจริงๆ

ผมมองในแง่ดี ตอนนี้คนต้องการพื้นที่ตรงกลาง แต่ไม่มีใครสร้าง อย่างผมทำรายการวิทยุในพื้นที่ที่ขอนแก่น  รายการผมทั้งเหลืองและแดงเข้า เราสร้างความเชื่อมั่นว่าคุณจะคิดยังไงก็ได้ ผมไม่ห้าม แต่เรามีกติการ่วมบางอย่าง มันทำได้ ทำมาแล้ว และโมเดลแบบนี้ทำได้ทุกที่ ถึงบอกว่าโมเดลแบบนี้ทำได้ทุกที่ แต่ถ้าคนที่ถูกสรุปแล้วว่าเป็นใคร ไปทำอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ แต่มันจะสร้างพื้นที่ตรงนี้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่สังคมต้องช่วยกันคิด

นอกจากนิยามที่ยังไม่ชัด มีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องนี้อีกไหม?
ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนเขาเร็วกว่า แม้ว่า กสทช. เองก็เริ่มที่ภาคเอกชนก่อน โลกทุกวันนี้เอกชนไปเร็วกว่าอยู่แล้ว ถ้า กสทช. มีเจตนา มีความตั้งใจดี เราไม่ได้ปฏิเสธเอกชน แต่รากของประเทศจริงๆ อยู่ที่ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง คุณต้องมาสร้างความข้มแข็งให้เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน เหมือนกับทำฐานรากให้มันเข้มแข็ง ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่การรวมศูนย์อำนาจ ถ้าจะเริ่มต้น ต้องกระจายออกไป สื่อก็ต้องกระจาย อัตลักษณ์ ความงามในพื้นที่มีอยู่แต่ถูกทุนบั่นทอน



ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง
สำนักงานประสานการจัดการความรู้ภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ในฐานะเครือข่ายสื่อพลเมืองปักษ์ใต้

 

“มันเหมือนภาพฝันมากเกินไป เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าหน้าตาที่เราทำจะเป็นยังไง

แต่ถ้าเราร่วมออกแบบ เราจะออกแบบในสิ่งที่เราทำได้ เราจะเสนอในระดับที่เรารับได้

เราจะไม่เสนอในสิ่งที่เกินขอบเขตที่เราจะทำได้

ฉะนั้น ความเป็นไปได้ที่ช่องทีวีชุมชนจะเกิดจริงก็จะมีสูง ถ้าคนอื่นออกแบบ อาจจะเหลว”

 

ในนครศรีธรรมราช มีการขับเรื่องทีวีชุมชนแล้ว?
จริงๆ ก็ทุกพื้นที่ ไปที่ไหนเราก็เห็นทีวีที่เป็นเคเบิล ซึ่งมีมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในภาพของนครฯ ที่อยู่ในทีมที่ขยับเรื่องภัยพิบัติก็รับงานสื่อด้วย เขาก็ทำงานสื่อป้อนให้กับเคเบิลทีวี ป้อนให้สำนักข่าวกระแสหลักอื่นๆ ด้วย การขยับเรื่องทีวีดิจิตอลในพื้นที่ เราก็คุยกันอาทิตย์ที่แล้ว มีการจอง มีการระดมทีมแล้วว่าใคร สามารถมาผลิตงานได้บ้าง ในพื้นที่เองก็หาคณะทำงาน ต้องหาผู้ผลิตรายย่อย ระดมเป็นทีมใหญ่ พอทาง กสทช.เริ่มปล่อยข้อมูล ทางพื้นที่ก็ตั้งรับแล้ว จริงๆ มีการระดมทีมกันก่อนด้วยซ้ำ
 
เรื่องทีวีช่องใหม่ที่จะเกิดในทีวีดิจิตอล คนก็เห็นแล้วว่าพื้นที่เขาจะเยอะขึ้น เมื่อก่อนไม่มีพื้นที่ที่เขาจะเป็นเจ้าของรายการเองได้ ต้องป้อนให้ช่องกระแสหลัก 5-6 ช่อง  ยังไม่สามารถใช้โลโก้ทีมข่าวของตัวเองด้วยซ้ำ แต่ต่อไปนี้เราสามารถสร้างแบรนด์ สร้างตัวตนได้ และยกประเด็นในพื้นที่ให้เป็นกระแสหลักได้บ้าง ความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของก็กระตุ้นพวกเขา

หลายคนมองคล้ายกันว่าต่อไปเราสามารถเป็นผู้ผลิตเองได้ คล้ายๆ กับที่ทีวีไทย ประชาไท พยายามทำให้ผลิตกันเองได้ และอาจยกระดับให้ดีขึ้นได้ อาจไม่ดีมากแต่มีพื้นที่ให้ออกได้ ประกอบกับทีวีดิจิตอล จำนวนช่องดูแล้วมันน่าจะได้สักช่องแหละ ถ้าเป็นฟรีทีวีนี่ไม่ต้องคิดหวังแล้ว สำหรับทีวีดิจิตอล โอกาสที่เขาจะได้เป็นผู้ผลิตรายย่อยและมีแบรนด์ตัวเองได้มันสูง ขึ้น และมันก็เป็นเหมือนต้นน้ำ ทุกอย่างเริ่มต้นพร้อมๆ กัน ถ้าเขาเตรียมทีมตั้งแต่แรกๆ โอกาสยึดหัวหาดได้ก็อาจจะมี แม้ว่าเขาจะยังไม่ค่อยเห็นภาพเท่าไรว่าไอ้ทีวีช่องใหม่ๆ ไม่รู้กี่ช่อง ของชุมชนด้วย ของสาธารณะด้วย จะทำงานกันยังไง พื้นที่ทางธุรกิจจะทำงานกันยังไงก็ไม่รู้ แต่มันมีพื้นที่เยอะ

ถ้ามองในภาคประชาสังคม ก็คงใช้ช่องทีวีดิจิตอลในส่วนของสื่อชุมชน เราคงเข้าไปในส่วนนี้ แม้ตอนนี้เรายังไม่เห็นภาพว่าต้องทำ ยังไงกันแน่ ต้องใช้ทุนเท่าไร แต่ถ้ามันสามารถทำได้ง่ายพอๆ กับที่เราสร้างสถานีวิทยุชุมชน ที่เราพอจัดการกันเองง่าย ถ้าทำได้แบบนั้น ภาคใต้ที่มีประเด็นร้อนเยอะ แต่ละพื้นที่ก็จะสามารถยึดพื้นที่สื่อมาสร้างช่องทางของตัวเอง และเป็นช่องทางการเรียนรู้ของเราได้ด้วย  เพราะโจทย์มันอาจไม่ใช่แค่จะทำให้คนทั่วไปรู้ แต่คนในพื้นที่เอง คนในอำเภอ ในจังหวัดเองบางทีก็ยังไม่รู้ เราต้องทำให้เขารู้ด้วย เพราะคนส่วนมากก็ดูสื่อกระแสหลัก แค่เรื่องหมู่บ้านติดกันก็ไม่ค่อยรู้แล้ว แต่นั่นก็เพราะว่ามันไม่มีพื้นที่นำเสนอด้วย

เดือนหน้าเตรียมจะทำทีวีออนไลน์ เราพอมีเครื่องไม้เครื่องมือและมันก็ไม่ได้ยาก ไม่มีเทคนิคอะไรซับซ้อน เราก็จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ก่อน ทีวีออนไลน์ วิทยุออนไลน์ การใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น ยูทูป รายการเดียวกันสามารถนำเสนอได้ในทุกพื้นที่ เพราะแต่ละช่องก็มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ฉะนั้น การสร้างพื้นที่ให้มากที่สุด หรือการเข้าไปใช้สื่อต่างๆ เป็นโจทย์ของเราเหมือนกัน เพราะชุมชนต้นทุนน้อยอยู่แล้ว เพราะถ้าพูดถึงข้อมูลเราไม่ได้ด้อย ข้อมูลมีเยอะมากแต่การกระจายข้อมูลต่างหากที่เป็นข้อจำกัด

จากข้อมูลของ กสทช. ตอนนี้ ประเมินว่าอย่างไร ?
ยังบอกได้ไม่มาก เรายังไม่เห็นกรอบชัดเจน กสทช.ยังตอบได้ไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรกับทีวีชุมชน การเปิดโอกาสให้เรามาร่วมออกแบบก่อนที่มันจะเป็นรูปเป็นร่าง ก็คิดว่าน่าสนใจมาก เพราะถ้าบอกว่า กสทช.จะจัดสรรทีวีชุมชนให้ ก็ต้องถามชุมชน ให้เขาได้ออกแบบ อีก 80% ที่ให้ภาคธุรกิจ ทั้งประสบการณ์ ความรู้ เขามีอยู่แล้ว มันมีวิธีการอยู่แล้ว แต่ของภาคชุมชน อันนี้เป็นเหมือนกันเริ่มต้นนับหนึ่งเลย ก่อนขั้นตอนจะเสร็จควรชวนชุมชน หรือภาคการศึกษามาร่วมออกแบบ ถ้ารอให้บันไดขั้นสุดท้ายออกมาแล้วบอกว่าขั้นตอนเป็นแบบนี้ ทุนเป็นแบบนี้ แล้วชุมชนไม่มีศักยภาพจะทำได้มันก็จบ เราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ทีวีที่บอกว่าให้เราตั้งเกือบ 40 ช่องย่อย เราอาจจะผลิตจากพื้นที่ท่าศาลาแต่ไปออกช่องอีกเขตก็ได้ อาจเป็นประเด็นร่วมกัน แต่มันเหมือนภาพฝันมากเกินไป เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าหน้าตาที่เราทำจะเป็นยังไง แต่ถ้าเราร่วมออกแบบ เราจะออกแบบในสิ่งที่เราทำได้ เราจะเสนอในระดับที่เรารับได้ เราจะไม่เสนอในสิ่งที่เกินขอบเขตที่เราจะทำได้ ฉะนั้น ความเป็นไปได้ที่ช่องทีวีชุมชนจะเกิดจริงก็จะมีสูง ถ้าคนอื่นออกแบบ อาจจะเหลวและต้องนั่งแก้ปัญหาอีก 5 ปี 10 ปี แต่ตอนนี้ทุกคนพูดตรงกันว่ายังไม่เห็นหน้าตาชัดเจน อาจใช้โอกาสนี้เชิญเข้ามาเดินร่วมกันเสียก่อน เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าอยู่ที่บันไดขั้นที่เท่าไหร่แล้ว

ข้อกังวลต่อการทำทีวีชุมชน? 
ก็คงต้องมองบทเรียนที่ผ่านมา สื่อเป็นเครื่องมือที่ดี แต่ก็สร้างความเสียหายได้เยอะเหมือนกัน จากการถูกคุกคามด้วยภาคธุรกิจ สื่อเกือบทุกประเภทรับใช้ภาคธุรกิจ การเมืองก็เป็นการเมืองที่อิงธุรกิจ มีความพยายามใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่างๆ ในภาคธุรกิจ เพื่อกำไรทั้งนั้น จากกรณีวิทยุชุมชน เราเห็นบทเรียนแล้วว่า แม้หน้าตายังไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ยังถูกภาคธุรกิจซื้อไปเสียเยอะแล้ว

มีคำแนะนำในการป้องกันปัญหานี้ไหม?
ยังพูดยาก เพราะยังไม่เห็นหน้าตาว่าจะเป็นยังไง ถ้าเรากังวลว่ามันอาจถูกซื้ออีก เพื่อกำหนดทิศทางทีวีชุมชน ก็อาจต้องมีกติกาที่ปรามหรือห้ามในเรื่องนั้น แล้วให้ชุมชนกำหนดทิศทางเองได้ เช่น เรื่องกองทุนที่จะสนับสนุน เพราะเรื่องเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าจะต้องบริหารสถานี ต้องใช้ทุนทำอะไรต่างๆ ก็ควรสนับสนุน ไทยพีบีเอสอยู่รอดได้ ก็เพราะมีงบประมาณให้เลย ไม่ต้องดิ้นรนหาเงิน สสส.ก็เช่นกัน คุณแค่ทำงาน ทีวีชุมชนถ้าจะให้ชุมชนทำงานด้วย หารายได้ด้วย อาจเป็นเรื่องลำบาก เขาไม่เก่งภาคธุรกิจอยู่แล้วแน่นอน อาจจัดสรรงบประมาณลงไปแบบรายปี โดยใช้ภาษีเหล้าบุหรี่ซึ่งที่ผ่านมารัฐก็ยังจัดสรรได้มากมาย หรือธุรกิจภาครัฐที่ไม่ส่งเสริมจริยธรรม เช่น หวย ก็สามารถนำมาจัดสรรตรงนี้ได้ แม้โดยส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับเงินบาปพวกนั้น แต่เมื่อรัฐเก็บอยู่แล้วก็เอามาจัดสรรได้ เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้จัดสรรให้มากเท่าไร

การเกิดขึ้นของสื่อตรงนี้หลักการและเหตุผลก็คงเป็นประมาณว่าเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ดังนั้นการลงทุนของภาครัฐ ผ่านการสนับสนุนกองทุนส่วนนี้ก็ไม่สูญเปล่าแน่ ถ้าทีวีชุมชนเกิดแล้วไม่มีประโยชน์ต่อประเทศ ก็ไม่ต้องให้เกิด แต่ถ้ามันเกิดแล้วเป็นประโยชน์ก็ควรจะหนุน

นอกจากในนครศรีธรรมราช ได้เตรียมจับมือกับเครือข่ายอื่นไหม? 
ชาวบ้านก็ยังไม่รู้เรื่องนี้ นอกจากผู้ผลิต อาจได้ยินข่าวบ้างว่ามีทีวีดิจิตอล แต่ทีวีชุมชนก็ขอสารภาพตรงๆ ว่าเพิ่งได้ยินในเวทีเท่านั้น แต่ก็ยังไม่เห็นรายละเอียด เข้าใจว่าชุมชนเองยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอนาคต ปลายปี 56 เขาอาจมีช่องทางของเขาเองได้ มีเวลาเตรียมตัวแค่ปีเดียวเท่านั้น การเปลี่ยนจากชาวบ้านมาเป็นผู้ผลิต หนึ่งปีมันน้อยมาก แบ่งไว้หลายช่องมากมาย ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้สักเท่าไร ทำได้กี่รายการ  เวลาเตรียมตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่ง กสทช.ตอนนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหน้าตาเป็นยังไง มันอาจมีโอกาสล้มเสียมากกว่าที่เราจะยืนได้ก็ได้

ถามว่าตอนนี้ชุมชนจะมีส่วนร่วมได้ยังไง ก็เรายังนึกไม่ออกว่าตอนนี้เขาทำอะไรกัน เราจะบอกได้ยังไงว่าเราจะมีส่วน ร่วมได้ตรงไหน แค่ไหน เราพูดมากๆ ในเวที ถึงที่สุด ในเวทีนี้ไม่มีกรรมการ อนุกรรมการสักคน พูดไปก็ไม่ถึงคนที่ตัดสิน คนที่ออกแบบ มันต้องรีบเปิดหน้าตักแล้ว แค่ตำบลในไทยก็มีกว่า 7,000 ตำบลแล้ว ถ้าเชิญมาตำบลละคน คนก็มหาศาล ความคิดต่างๆ ที่จะร่วมออกแบบก็น่าจะมีค่า ต้องเร่งตรงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net