พงศาวดารอาเซียน ในแบบเรียนประวัติศาสตร์มัธยมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ต้องตอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์ เพราะถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนตาบอดข้างหนึ่ง
แต่ถ้าเชื่อประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการก็ตาบอดสองข้าง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริiii
กล่าวไว้ในเดือนพฤษภาคม 2555
 

ในเวลาเพียงปีเศษ หากนับจากชาตินิยมในปราสาทเขาพระวิหาร-มรดกโลก มาถึง ชาตินิยมในเหรียญทองโอลิมปิกของไทย ความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ยืดอกอย่างงามสง่าอยู่บนเวทีนานาชาติ ยังไม่นับกับการท้าตีท้าต่อยของมวลชนไทยหัวใจรักชาติที่เข้าไปทำสงครามไซเบอร์ย่อยๆในเฟซบุ๊คที่ออนไลน์ไปทั่วโลกiv

สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมที่คุกรุ่นนี้ กลับเกิดขึ้นพร้อมๆกับ กระแสประชาคมอาเซียน 2558 โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาv ที่ตื่นตัวทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการที่มุ่งปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้รับกับขบวนรถไฟแห่งความฝันในอีก 3 ปีข้างหน้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ความพยายามที่จะ “รู้เขา” ผ่านการผลักดันให้เปิดวิชาอาเซียนศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าความพยายามที่จะ “รู้เรา” นั้นเรียกได้ว่ามีน้อยกว่าน้อย

กลุ่มนักวิชาการฝ่ายที่ตั้งคำถามกับ “ชาตินิยม” vi มักมองกันว่า ปัญหามีรากอยู่ที่การเรียนการสอนในห้องเรียน ในทางกลับกันอีกฝ่ายที่อยู่ข้าง “ชาตินิยม” เห็นว่าสังคมไทยยัง “ชาตินิยม” ไม่มากพอก็ยังเห็นว่า เพราะการศึกษาในห้องเรียนที่จะปลุกจิตสำนึกด้านนี้ยังน้อยไป และวิชาสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีปัญหาก็คือ วิชาประวัติศาสตร์

บทความนี้จึงมุ่งที่จะทำความเข้าใจการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในฐานะหน่วยทางการเมืองและการรวมตัวกันในฐานะองค์กร ผ่านความเปลี่ยนแปลงในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในฐานะของรากฐานอุดมการณ์ที่ถูกกระตุ้นเร้าขึ้นมาอย่างช้าในปี 2544 หรืออาจกล่าวได้ว่าคือ ประวัติศาสตร์ของแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง

ในเวลาและหน้ากระดาษอันจำกัด ผู้เขียนเลือกแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นตัวแบบในการทำความเข้าใจ ด้วยสาเหตุ 2 ประการนั่นคือ การศึกษาภาคบังคับปัจจุบันนับช่วงการศึกษาอยู่ 9 ปีvii นั่นคือตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากนั้นช่วงอายุนี้ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับนักเรียนที่อยู่ในภาวะที่เจริญพันธุ์ที่กำลังลอกคราบสู่วัยผู้รุ่นที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ซึ่งหลังจบการศึกษาภาคบังคับนี้ ก็จะนำไปสู่หนทางชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นออกไปทำงาน, เรียนต่อสายวิชาชีพ และเรียนต่อสายสามัญนอกจากนั้นในเชิงสถิติ ปี 2553 นักเรียนระดับมัธยมต้นมีจำนวน 2,636,288 คน เมื่อนับจากนักเรียนในระบบตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอกทั้งหมด 13,157,103 คนviii นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงชั้นการศึกษาทั้งหมด

 

1. แผนการศึกษาแห่งชาติ และการปรับปรุงช่วงชั้นเรียน 

ในแวดวงการศึกษาไทย นับว่าให้ความสำคัญกับแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2503 เป็นสำคัญเนื่องจากมันเป็นการวางนโยบายลักษณะเดียวกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่เริ่มโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมทั้งเหล่าเทคโนแครตที่ร่วมทำงานพัฒนาประเทศอย่างขะมักเขม้นในยุคนั้น การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาตินี้ยังมีขึ้นอีกในปี 2512 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร, ปี 2520 สมัยธานินท์ กรัยวิเชียร, ปี 2535 สมัยอานันท์ ปันยารชุน รวมถึงปี 2542 สมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในระดับโครงสร้าง นั่นคือ ทำให้เกิด หลักสูตรกระทรวงศึกษา พ.ศ. 2503 หลักสูตรกระทรวงศึกษา พ.ศ.2521 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544

ไม่เพียงเท่านั้นการเกิดขึ้นของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542ที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็พยายามสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบขึ้นในสภาพความเปลี่ยนแปลงมหาศาลทั้งในเมืองและชนบท อย่างที่เราทราบกันว่า ทศวรรษ 2540 เต็มไปด้วยหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ หลายเหตุการณ์ทำให้เราเห็นตัวละครจำนวนมากที่เผยโฉมออกมาทั้งในเมืองและชนบท

ที่ควรเข้าใจอีกประเด็นก็คือ พัฒนาการของระบบชั้นการศึกษา ระบบชั้นเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาix มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนมามีมาตรฐานแบบเดียวกับปัจจุบันก็คือ ปี 2521 กล่าวคือ ในปี 2503 มีการใช้ระบบ 4-3-3-2 นั่นคือ ประถมต้น 4 ปี-ประถมปลาย 3 ปี-มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (ม.ศ.1, ม.ศ.2 และม.ศ.3)-มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ปี (ม.ศ.4 และ ม.ศ.5) จนกระทั่งมีการเปลี่ยนไปสู่ระบบชั้นการศึกษาใหม่อันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ 6-3-3 นั่นคือ ประถมศึกษา 6 ปี-มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี-มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี

นอกจากนั้น ขณะที่มีการปฏิรูปการศึกษาในปี 2517 มีการประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2518 อีก 3 ปีต่อมาก็มีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ปรับปรุงในปี 2521

 

ตารางที่ 1 แสดงการประกาศหลักสูตรและระบบชั้นการศึกษา

 

ปี พ.ศ.

 

หลักสูตรใหม่

 

ประถมศึกษา

 

มัธยมศึกษา

2503 (4-3-3-2)

ประถมต้น-ปลาย/ม.ศ.ต้น-ปลาย

ป.1-ป.4

ป.5-ป.7

ม.ศ.1-ม.ศ.3

ม.ศ.4-ม.ศ.5

2518

มัธยมศึกษาตอนปลาย

ป.1-ป.4

ป.5-ป.7

ม.ศ.1-ม.ศ.3

ม.ศ.4-ม.ศ.5

2521 (6-3-3)

ประถมศึกษา/มัธยมศึกษาตอนต้น

ป.1-ป.6

ม.1-ม.3

ม.4-ม.6

2524

มัธยมศึกษาตอนปลาย

ป.1-ป.6

ม.1-ม.3

ม.4-ม.6

2533

ประถมศึกษา/มัธยมศึกษา

ป.1-ป.6

ม.1-ม.3

ม.4-ม.6

2544

ประถมศึกษา/มัธยมศึกษา

ป.1-ป.6

ม.1-ม.3

ม.4-ม.6

2551

ประถมศึกษา/มัธยมศึกษา

ป.1-ป.6

ม.1-ม.3

ม.4-ม.6

จากตารางที่ 1 ทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษาของไทยในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษานั้นพึ่งจะมาลงตัวอยู่ในโครงสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบชั้นการศึกษาและหลักสูตรก็ล่วงมาถึงปี 2533 แล้ว

 

2. พัฒนาการของหลักสูตรและแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์

นอกจากโครงสร้างช่วงชั้นการศึกษาแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยนั่นก็คือ หลักสูตรการเรียนการสอน พัฒนาการบางอย่างในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้หยุดนิ่งเป็นแบบเรียนที่ “ล้าหลังคลั่งชาติ” ไปเสียทั้งหมด ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจพลวัตของหลักสูตรและแบบเรียนวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ในที่นี้จะมุ่งเน้นศึกษาเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ผ่านโครงสร้างหลักสูตรและแบบเรียน ที่มีสันปันน้ำสำคัญก็คือ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเดียวในปี 2544 ในช่วงที่ชาตินิยมถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง

 

2.1 แบบเรียนประวัติศาสตร์ในฐานะหน่วยย่อยของวิชาสังคมศึกษา พ.ศ.2503-2544

1) หลักสูตรกระทรวงศึกษา พ.ศ. 2503

ทราบกันดีว่าทศวรรษ 2500 เป็นช่วงเวลาที่รัฐเร่งการพัฒนาของประเทศเพื่อให้สู่ความเจริญก้าวหน้าทันสมัยเพื่อเอาชนะทั้งคอมมิวนิสต์และยกระดับความสูงส่งของตนเอง ดังนั้นการพัฒนาจึงยังต้องการพยุงลักษณะความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยมไว้ด้วยx เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งก็คือ การให้การศึกษานั่นเอง การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องการให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ เพื่อที่จะเป็นหน่วยแรงงานที่สำคัญในสังคม

หลักสูตรชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.5-7) ในวิชาวิชาสังคมศึกษามีหัวข้อย่อยในการศึกษาคือ ศีลธรรม หน้าพลเมือง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยประวัติชนชาติไทย ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยมีเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเมืองระหว่างไทย พม่า ลาว และกัมพูชาxi นอกจากนั้นยังพบว่าคำว่า “เพื่อนบ้าน” นั้นถูกใช้ในแบบเรียนอย่างช้าในปี 2503xiiแสดงให้เห็นถึงการตระหนักถึงการที่จะต้องสัมพันธ์กับประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนั้นแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์จึงเป็นเครื่องมืออย่างดีที่จะทำให้เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น ในความรู้ระดับมัธยมปลายนั่น ใช้แบบเรียนภูมิศาสตร์ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2496 โดยสำนักพิมพ์คุรุสภาxiii

บริบททางการเมืองระหว่างประเทศและชายแดนที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็มีตั้งแต่ การทำรัฐประหารของนายพลเนวินในพม่าในปี 2505 xivขณะที่ลาวฝ่ายซ้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามก็เริ่มเคลื่อนไหวในประเทศซึ่งทำให้รัฐบาลไทยรู้สึกว่าถูกคุกคามxvปัญหากับชายแดนทางใต้นั้น เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถจะกลืนให้เป็นไทยได้สำเร็จ ในขณะที่บริบทแวดล้อมทางใต้ก็กำลังมีการรวม ชาติมาเลเซีย xvi รัฐก็พยายามที่จะแก้ปัญหาภายในด้วยการกลืนชาติด้วยประชาชนไทยพุทธ ดังที่มีนโยบายอพยพประชาชนไทยพุทธไปตั้งรกรากทำมาหากินในภาคใต้ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2500xviiและเรื่องใหญ่โตที่สุดอันเป็นความขัดแย้งขึ้นไปสู่ศาลโลกและเป็นมรดกความขัดแย่งส่งผลมาถึงปัจจุบันก็คือ กรณีปราสาทเขาพระวิหารxviii 

 

2) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งแรก

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2518 

การปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย มีมาก่อนหลักสูตรอื่นนั่นคือ ตั้งแต่ปี 2518 ยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าเหตุใดหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงได้รับการแก้ไขก่อน พบจากประวัติของหลายสถาบันพบว่า ปีนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่เกิดชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นทั่วประเทศ ช่วงนี้ความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคเริ่มเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ นั่นคือ ลาวในปี 2518 กัมพูชาในปี 2519 ที่สำคัญก็คือ ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเขม่นกันระหว่างประเทศ แต่มันซึมลึกเข้าไปในเนื้อในอุดมการณ์และวิธีคิดของผู้คนในประเทศด้วย ในไทยก็คือระหว่างรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเช้าตรู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

3) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2

ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524

หลักสูตรนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากการปรับระบบการศึกษาจาก 4-3-3-2 มาเป็น 6-3-3 ในปี 2521 แต่น่าสังเกตว่า แม้หลักสูตรจะประกาศในปี 2521 แต่กว่าจะถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบและครบทุกชั้นปีก็ลุไปถึงปี 2526xixการล่วงเวลาการบังคับใช้ออกไปนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ครอบคลุมถึงการปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2524 ไปด้วย

ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา อำนาจของการกำหนดความรู้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากมันได้เคลื่อนย้ายไปสู่การแต่งตำราโดยสำนักพิมพ์เอกชนที่ได้รับคัดเลือกจากภาครัฐ ซึ่งมีข้อแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ตรวจความถูกต้องจึงจะได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเป็นหนังสือเรียน จึงถือได้ว่าช่วงนี้ทำให้เกิดตลาดการแข่งขันของตำราเรียนเอกชนเจ้าใหม่ๆขึ้นไม่ว่าจะเป็น อักษรเจริญทัศน์ คุรุสภา วัฒนาพานิช ขณะที่เจ้าตลาดเดิมคือ ไทยวัฒนาพานิชxx

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตำราเรียนบางฉบับให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การเกษตรกรรม ทรัพยากร แร่ธาตุต่างๆ อารยธรรม สภาพสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง ภาษา ศาสนา นโยบายต่างประเทศ ตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่มีพัฒนาการมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม xxi ในระดับมัธยมศึกษา ได้แยกแบบเรียนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและเพื่อนบ้านออกเป็นระบบ โดยจัดเป็น 3 วิชาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นคือ ประเทศของเรา ในชั้นม.1, เพื่อนบ้านของเรา เป็นวิชาในชั้นม.2 และวิชา โลกของเรา เป็นวิชาในชั้นม.3xxiiที่น่าสนใจก็คือทัศนคติในแบบเรียน เพื่อนบ้านของเรา ที่เห็นว่าการรู้จักเพื่อนบ้านมีศักดิ์และฐานะเป็นเครื่องเปรียบเทียบให้รู้จักประเทศให้ดีขึ้นxxiii ด้วยความที่ไม่ได้มุ่งเน้นประวัติศาสตร์ไปในด้านเดียว การเรียนรู้เพื่อนบ้านผ่านแบบเรียนชุดนี้จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเพื่อนบ้านในมุมมองทั่วไปไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ ประชากร ทรัพยากร เมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองรวมถึงประวัติศาสตร์xxiv แม้แต่การกล่าวถึงพม่าศัตรูตัวฉกาจของไทยที่ถูกสร้างเป็นความทรงจำร่วมของสังคมตลอดมา ก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในทางเลวร้ายมากนักxxv

แบบเรียนวิชาประเทศของเรา ส 101 สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์

 

4) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3

หลักสูตรกระทรวงศึกษา พ.ศ.2521 (ปรับปรุง พ.ศ.2533)

การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเกิดขึ้นขณะที่นโยบายระหว่างประเทศของรัฐบาลต่อเพื่อนบ้านได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” xxvi ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (2531-2534) ซึ่งเป็นนโยบายที่ผ่อนคลายความตึงเครียดเดิมมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยอาศัยความสัมพันธ์พื้นฐานคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในยุคนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมากทั้งในเมือง ชนบท รวมถึงภาคการส่งออกและการออกไปขายแรงงานยังต่างประเทศ

สิ่งที่เห็นได้ชัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นคือ การเพิ่มสัดส่วนของวิชา ประเทศของเรา ให้ปรากฏในทุกปีการศึกษา คล้ายกับว่าต้องการจะให้เป็นแบบเรียนที่สร้างความรู้จักตัวเองพร้อมๆไปกับความรู้จักโลกภายนอก ในชั้นม.2 เปลี่ยนจาก เพื่อนบ้านของเรา ไปเป็น ทวีปของเรา (ส 203) คู่กับวิชา ประเทศของเรา 3 (ส 204) ขณะที่ชั้น ม.3 เปลี่ยนแปลงและวิชา โลกของเรา เป็นวิชาในชั้นม.3xxvii (ดูในตารางที่ 2) ขณะที่วิชาเพื่อนบ้านของเราถูกโยกไปเป็นวิชาในหมวดเลือกเสรี ว่ากันว่าในช่วงนี้สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ครองเจ้าตลาดของแบบเรียนระดับมัธยมศึกษาอยู่xxviii

 

2.2 แบบเรียนประวัติศาสตร์ในฐานะวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ.2544-ปัจจุบัน

หมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงวิชาประวัติศาสตร์ก็คือ ในปี 2544 ได้มีการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเดี่ยวอย่างเป็นระบบ เหตุผลของการแยกวิชานี้ก็คือ เพื่อเสริมสร้างความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติผ่านกระบวนการการเรียนรู้สาระประวัติศาสตร์ วิชานี้กลายเป็นวิชาที่บังคับเรียนอย่างยาวนาน กล่าวคือ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 xxix

หลักสูตรดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่ถูกโหมกระพือขึ้นด้วยสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจที่เคยถดถอยอย่างหนักอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งต้นทศวรรษ 2540 วงการต่างๆมีความตื่นตัวที่จะกลับไปสร้างคำอธิบายต่างๆบนฐานเศรษฐกิจที่ย่อยยับนั้น โดยเฉพาะการกลับไปหาคำอธิบายถึงตัวตน “ความเป็นไทย” และสิ่งที่ตอบโจทย์ได้ดีและยังเป็นตัวชี้วัดที่จับต้องได้ก็คือ กระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) ที่ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ภาพยนตร์ไทยยุคนี้ทำลายสถิติกันว่าเล่น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก (2542 ) ทำเงินกว่า 149.6 ล้านบาท บางระจัน (2543) 151 ล้านบาท มาถึงจุดสูงสุดก็คือ สุริโยไท (2544) ที่รายได้ 550 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์จนถึงทุกวันนี้xxx

ภาพยนตร์ปลุกกระแสชาตินิยม ตั้งแต่ นางนาก(2542) บางระจัน(2543) และ สุริโยไท(2544)

 

1) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 4 

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544

หลักสูตรดังกล่าวได้จัดโครงสร้างการเรียนรู้ขึ้นใหม่ในนามของ “กลุ่มสาระการเรียนรู้” โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ วิชาประวัติศาสตร์จัดอยู่ใน “กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม”

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม แบ่งเป็นสาระที่1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม, สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม, สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์, สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์ และสาระที่ 5 ภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่าสาระที่ 4 และ 5 จะเป็นวิชาที่เคยกระจัดกระจายอยู่ในวิชาประเทศของเรา เพื่อนบ้านของเรา ทวีปของเรา โลกของเรา สาระทั้งสองได้ถูกจัดระบบใหม่ ซึ่งในที่นี้จะเน้นสาระที่ 4 ประวัติศาสตร์เป็นหลัก

 

มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด เครื่องมือใหม่

สิ่งที่เป็นตัวกำหนดโครงเรื่องมีโครงสร้างคือ ทุกสาระวิชาจะต้องมีมาตรฐานการเรียนรู้ควบคุมอยู่อย่างชัดเจน ในแบบเรียนจะต้องระบุเรื่องนี้ไว้ภายในเล่มด้วย สาระประวัติศาสตร์มี 3 มาตรฐาน นับเป็นรหัสก็คือ ส 4.1, ส 4.2 และ ส 4.3 ซึ่งแต่ละมาตรฐานก็จะมีตัวชี้วัดเพื่อขยายรายละเอียดอีกชั้น และเพื่อตรวจทานกับเนื้อหาในแบบเรียนว่า หน่วยการเรียนรู้ (บทต่างๆในแบบเรียน) นั้นเข้าเป้า ตัวชี้วัดในมาตรฐานนั้นหรือไม่ มาตรฐานดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้น นั่นคือ ช่วงชั้นที่ 1 ป.1-3, ช่วงชั้นที่ 2 ป.4-6, ช่วงชั้นที่ 3 ม.1-3 และช่วงชั้นที่ 4 ม.4-6 อันเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในที่นี้เราจะมุ่งเน้นไปที่ ช่วงชั้นที่ 3 เป็นหลัก

สาระประวัติศาสตร์ แบ่งหน่วยการเรียนรู้เป็น 3 หน่วยxxxi ได้แก่ มาตรฐาน ส 4.1 เน้นสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวแนวคิดทางประวัติศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับเวลา ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในแบบเรียนที่มีการวางวิธีคิดเช่นนี้อย่างเป็นระบบในหลักสูตรxxxii ขณะที่มาตรฐาน ส 4.2 เน้นที่เนื้อหาของพัฒนาการในประวัติศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และมาตรฐานสุดท้าย ส 4.3 คือการเน้นให้เข้าใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งสำหรับผู้เขียนเห็นว่าเป็นส่วนที่มีปัญหา เมื่อนำเอาทั้ง 3 บทมาผสานและเชื่อมโยงกัน เนื่องจากในเชิงวิชาการประวัติศาสตร์แล้ว ไม่เน้นการตัดสินถูกผิดโดยง่าย ดังนั้นตามหลักการแล้วจึงหลีกเลี่ยงอคติจากความชังและความรัก การเน้นความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเป็นธงนำแต่ต้นนั้น อาจขัดกันกับรากฐานของวิชานี้ โดยเฉพาะเมื่อมองเลยไปถึง ตัวชี้วัดในระดับช่วงชั้นทั้ง 4 ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงชั้นที่ 4 ม.4-6 กล่าวถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ อคติดังกล่าวจึงบดบังสมรรถนะในการสร้างความรู้ใหม่ไปในตัว และในแบบเรียนที่จะกล่าวถึงต่อไป ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยนี้เองที่เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อนบ้านเบี่ยงเบนไปด้วย

 

ตัวอย่างแบบเรียน : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ และสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

แบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ยังพอจะหาต้นฉบับได้ก็คือ สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ ที่มีเครดิตผู้แต่งคือ ณรงค์ พ่วงพิศ, วุฒิชัย มูลศิลป์ และชาคริต ชุ่มวัฒนะ เท่าที่พบก็คือ แบบเรียนชั้นม.2-6 จำนวนพิมพ์อยู่ที่ 13 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2547 จุดเด่นของแบบเรียนชุดนี้ก็คือ เป็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้ประกอบการเรียนปีละ 1 เล่ม ซึ่งแตกต่างจากแบบเรียนก่อนหน้านี้ที่ส่วนใหญ่จะประกอบการศึกษาเทอมละ 1 เล่มแยกกันอย่างอิสระ เช่น วิชา ส 101 ประเทศของเรา 1, ส 102 ประเทศของเรา 2 ฯลฯ

สำหรับแบบเรียนชั้น ม.1 ที่หายไปนั้น ผู้เขียนได้เพิ่มเติมแบบเรียนของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชxxxiiiเข้ามา ข้อสังเกตก็คือ แบบเรียนนี้มีลักษณะที่รวมเอาทุกสาระการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พ.ศ.2544 ให้อยู่ในเล่มเดียว เป็นฉบับที่ตีพิมพ์ปี 2546 พิมพ์ถึง 50,000 เล่ม มีผู้แต่งร่วมหลายคน แต่นักวิชาการสายประวัติศาสตร์ก็คือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สาวิตรี เจริญพงศ์

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรปี 2544 ซ้ายมือสุดคือ ท.ว.พ. อีกสองเล่มคือ อจท.

 

2) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5 

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

"แต่เสียดายตอนนี้ท่านนายกฯ เขาไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ฉันก็ไม่เข้าใจ เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ไม่รู้ว่าใครมาจากไหน เป็นความคิดที่แปลกประหลาด

อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย"xxxiv 

พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
วันที่ 11 สิงหาคม 2551
 

จากพระราชเสาวนีย์ข้างต้น ได้ทำให้เกิดการตอบสนองจากผู้รับผิดชอบอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวว่าจะเน้นดำเนินการรื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์อย่างเร่งด่วน โดยเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือ และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นำมาสู่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ตามพระราชเสาวนีย์ xxxv ไม่เพียงเท่านั้นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.), อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร กศน.xxxviก็ไม่นิ่งเฉยมีท่าทีกระตือรือล้นอย่างสูงที่จะปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนระดับสูงที่รับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษาบางแห่ง รวมถึงการศึกษานอกระบบ

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในเดือนกรกฎาคม 2551 พบว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มาก่อนแล้วxxxvii ในรายละเอียดพบว่าการบังคับใช้หลักสูตรใหม่นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงโดยทันที แต่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อม อย่างเร็วที่สุดก็คือ กำหนดให้บังคับใช้โรงเรียนต้นแบบในปีการศึกษาปี 2552 และอย่างช้าที่สุดก็คือ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป นั่นหมายถึงการประกาศบังคับใช้กับทุกโรงเรียนและทุกชั้นเรียนโดยทั่วกัน ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่พบการใช้หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในหลักสูตรปี 2544 เลยมาจนถึงปี 2554 ในหลายโรงเรียน

หลักสูตรปี 2551 ในช่วงแรกๆ จึงยังไม่เข้ารูปเข้ารอยกับการเรียนการสอนจริงตามช่วงเวลาที่เหลื่อมล้ำ บรรยากาศดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆกับการฉายไปพลาง ถ่ายทำไปพลางของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เริ่มฉายตั้งแต่ปี 2550 ในภาคแรก จนล่าสุดคือ ภาคที่ 4 ปี 2554 และมีกำหนดการฉายภาคที่ 5 ตอน ยุทธหัตถีซึ่งน่าจะเป็นจุดสุดยอดของภาพยนตร์ชาตินิยมปลายปีนี้ และที่พึ่งจบไปก็คือ ละครอิงประวัติศาสตร์ ขุนศึก(2555) ที่เผยแพร่ทางช่อง 3 นอกจากนั้น สงครามชาตินิยมดังกล่าวยังยืนอยู่บนฐานของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สุมขอนมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อีกด้วย

 

ความเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด 

มาตรฐานการเรียนรู้ 3 ส่วน ของสาระประวัติศาสตร์นั้น หากดูเพียงผิวเผินแทบจะไม่ต่างกัน แต่พบว่าในมาตรฐาน ส 4.1 มีการตัดคำว่า “บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล” ออกไปจากรูปประโยคซึ่งเป็นที่น่ากังขาว่า ผู้จัดทำหลักสูตร ตั้งใจจะออก ด้วยเหตุผลว่าเป็นคำที่ฟุ่มเฟือย หรือมีความหมายตรงตามนั้นกันแน่ว่า ความเป็นเหตุเป็นผลในวิชาประวัติศาสตร์นี้ไม่สำคัญนัก

ดูข้อความเปรียบเทียบกันระหว่างหลักสูตร 2544 และ 2551 ได้ดังนี้ 

“เข้าใจความหมาย ความสำคัญของเวลา และยุคสมัยของประวัติศาสตร์ สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ” (รูปประโยคเดิม 2544 เน้นโดยผู้เขียน ส่วนที่เน้นคือ ข้อความที่ถูกตัดออกไป)

“เข้าใจความหมาย ความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ” (รูปประโยคใหม่ 2551)

นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่ชัดเจนมากอีกประการก็คือ ในระดับช่วงชั้นที่ 1, 2 และ 3 ได้แยกมาตรฐานออกมาเป็นตัวชี้วัดระดับชั้นปี จะเหลือเพียงช่วงชั้นที่ 4 ที่ยังคงตัวชี้วัดรวบม.4-6 ดังนั้นตัวชี้วัดจึงมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่มาก สิ่งที่ตรงกับบทความนี้อย่างมากก็คือ ตัวชี้วัดระดับ ม.1 ที่บรรจุเนื้อหาว่าด้วย “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีเนื้อหาคล้ายกันนี้ปรากฏในวิชาเพื่อนบ้านของเรา หัวข้อนี้ถือว่าเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนโดยตรง แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่มีเรื่องนี้โดยตรงอีกเลยในชั้นปีอื่นๆ

 

ตัวอย่างแบบเรียน : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ และสำนักพิมพ์สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ

ในที่นี้ได้ยกตัวอย่างแบบเรียนมา 2 แห่งเพื่อชดเชยข้อมูลที่อาจไม่ครบถ้วนทุกชั้นปี และเพื่อเปรียบเทียบเนื้อหาระหว่างสำนักพิมพ์ จุดเด่นของแบบเรียนชุดนี้ก็คือ เป็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้ประกอบการเรียนปีละ 1 เล่ม ตั้งแต่ม.1-3 แต่ช่วงชั้นที่ 4 จะมี 2 เล่มแบ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล และทั้งคู่ได้รับอนุญาตให้ใช้สอนได้ตั้งแต่ปี 2553-2557 จำนวน 5 ปีตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ

ตัวอย่างแรกคือแบบเรียน สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) ดังทีทราบมาแล้วว่า อจท.เป็นสำนักพิมพ์เจ้าตลาดแบบเรียนมัธยมอยู่ ในเวลาอันจำกัดสามารถพบต้นฉบับคือ แบบเรียนชั้นม.1-2 (ขาดเล่ม ม.3) จำนวนพิมพ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 7 ครั้ง เนื้อหาส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ไทยผู้แต่งคือ ณรงค์ พ่วงพิศ และวุฒิชัย มูลศิลป์ และหากเป็นส่วนประวัติศาสตร์สากล จะมีสัญชัย สุวังบุตร, ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และวุฒิชัย มูลศิลป์ ซึ่งสัญชัย สุวังบุตรและอนันต์ชัย เลาหะพันธุ เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญโลกตะวันตกอย่างยุโรป ออสเตรเลีย

สำนักพิมพ์สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เมื่อเทียบกับ อจท.แล้ว ถือว่าเป็นน้องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นในปี 2531 ต้นฉบับที่ค้นพบก็คือ แบบเรียนชั้นม.1-3 เรียบเรียงโดย วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาครักษ์

 

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรปี 2551 สามเล่มบนคือ พว. อีกสองเล่มล่าง คือ อจท.

 

3. พงศาวดารอาเซียนในแบบเรียน 

"คนลาวบ่เคยที่ไปเว้า หรือเฮ็ดอิหยังใส่ไผ คือกับคนไทยจั่งซี้ เป๋นต้นแม่นเรื่อง เขมร เว้าเรื่องใหญ่ๆ หรือว่าเรื่องน้อยๆ เป๋นต้นแม่นก๋ารเว้าด่า เสียดสี ดูถูกคนลาวอยู่ตามวิดีโอ มิวสิคเพลง หนัง ฮูปภาพ เว็บไซต์ต่างๆ สิเป๋นเฟซบุ๊คหรือไฮไฟว์"

คลิปลาวด่าคนไทย ช่วงเดือนมีนาคม 2554xxxviii

 

"ผมและคณะนำประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมรดกโลกแล้วครับ"

สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย กรณีปราสาทเขาพระวิหาร
กล่าวผ่าน Twitter เดือนมิถุนายน 2554xxxix

 

"ขอให้แรงงานพม่ารู้จักการให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย อย่าได้สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ต้องทำงานให้ดีๆ เป็นคนดี ถ้ามีอะไรก็ขอให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย อยู่เมืองไทยต้องรู้รักษาความสงบภายในบ้านเมืองของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ขอให้รักประเทศไทยเหมือนกับรักประเทศพม่า"

อองซานซูจี กล่าวขณะที่มาเยือนมหาชัย จ.สมุทรสาคร เดือนพฤษภาคม 2555xl

 

"สถานการณ์มาถึงขนาดนี้แล้ว ผมคันไม้คันมือ ดูคลิปทหารที่โดนจ่อยิงยิงดูก็ยิงแค้น จับใครก็ไม่ได้ เป็นไปได้อย่างไร ถ้าไม่เริ่มทำเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ประชาชนจะตายอีกเป็นหมื่นคน ...การข่าวของผมทราบมาว่ากองกำลังติดอาวุธไปฝึกจากประเทศอินโดนีเชีย ใช้เวลาฝึก 8 เดือน"

พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) กล่าวถึงการจัดการปัญหาภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2555xli

 

จากข่าวภายใน 2 ปีมานี้ เราพบว่าความตึงเครียดเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ชายแดน และระหว่างประเทศในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันอย่างมาก และแทบทั้งหมดมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของปัญหา ความเข้าใจผิดในหน้าข่าวปัจจุบันดำเนินไปพร้อมๆกับ การเรียนการสอนและนโยบายภาครัฐที่เป็นประชาคมอาเซียน 2558 เป็นเส้นชัย ในแบบเรียนระดับมัธยมศึกษานั้น ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนหนึ่งแฝงอยู่กับวิชาประวัติศาสตร์ ในนามของวิชานี้เอง ถือว่าได้กุมอำนาจความจริงเกี่ยวกับอดีตและความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายอันมีลักษณะเฉพาะต่างจากศาสตร์อื่น ดังนั้นจึงมีโอกาสอย่างยิ่งที่ชุดความรู้เหล่านี้จะเป็นผู้สถาปนา “ความจริง” แบบที่ไม่ต้องตั้งคำถาม แต่กลับจะสร้างปัญหาขึ้นมาได้อีก ความจริงครึ่งๆกลางๆ ที่อาศัยความรู้ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมนี้เองที่ผู้เขียนจึงขอเรียกความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ว่า “พงศาวดารอาเซียน”

 

3.1 สิ่งที่อยู่ภายในแบบเรียน

เราอาจมองเนื้อหาของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 2 มิติ คือ มิติแรกคือ เนื้อหาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตัวของมันเอง และมิติที่สองคือ การตีความผ่านประวัติศาสตร์ไทย

 

มิติแรก : เนื้อหาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตัวของมันเอง

ในประเด็นนี้จะกล่าวถึง แบบเรียนประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ 2 หลักสูตร นั่นคือ ปี 2544 และปี 2551 ซึ่งหากมองจากหลักสูตรแล้ว ในปี 2544 ไม่ปรากฏการระบุถึงประวัติศาสตร์หรือพัฒนาการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปี 2551 ระบุชัดใน มาตรฐานการเรียนรู้ ส 4.2 ในตัวชี้วัดระดับชั้น ม.1 นั่นคือ

1) อธิบายพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2) ระบุความสำคัญของแหล่งอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่หากเปรียบเทียบในแบบเรียนแล้ว ในแบบเรียนปี 2544 ยังคงให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ ซึ่งปรากฏในหน่วยการเรียนรู้ “ประเทศรอบบ้านของไทย” xlii ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก นั่นคือ มีจำนวน 12 หน้าเพียงเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 สำนักพิมพ์ในหลักสูตรปี 2551 จึงถือว่าเทียบกันไม่ได้เลยกับจำนวน 45 และ 60 หน้า

ข้อสังเกตก็คือ เนื้อหาส่วนนี้อาจนับได้ว่ามีความเป็นเอกเทศ และระแวดระวังอยู่มากในการให้คุณค่าและอคติกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่าสนใจก็คือ การใช้แผนที่แสดงอาณาจักรโบราณของสำนักพิมพ์ สถาบันพัฒนาคุณภาพ วิชาการ (พว.) xliiiที่สร้างจินตนาการรัฐโบราณเข้ากับแผนที่ และใช้ในแผนที่อธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์บ่อยครั้ง เช่น แผนที่แสดงเส้นทางการค้าของประเทศตะวันตก ขณะที่สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) มีความโดดเด่นอยู่ที่การจัดทำตารางที่ย่อยข้อมูลมหาศาลให้เข้าใจได้ง่าย เช่น ตารางบอกแหล่งอารยธรรมอินเดียที่มีผลต่อพัฒนาการของประเทศต่างๆ, ตารางแสดงการครอบครองดินแดนของประเทศตะวันตก, ตารางบอกข้อมูลประชากร เมืองหลวงและเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรในปี 2544 หรือ 2551 ลักษณะร่วมกันของเนื้อหาก็คือ โครงเรื่องที่ทำให้เห็นว่า ภูมิภาคนี้เผชิญหน้ากับการคุกคามของประเทศตะวันตกมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ยุคอาณานิคมสมัยเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส อังกฤษ ในประเทศที่เป็นหมู่เกาะ จนกระทั่งรุ่นหลังอย่างการเข้ามามีบทบาทของฝรั่งเศส ในประเทศภาคพื้นทวีป นัยเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นการตอกย้ำถึง พล็อตเรื่องของประเทศใต้อาณานิคมตะวันตก ที่ทำให้ประเทศต่างๆถูกครอบงำทางการเมือง กลายเป็นแหล่งทรัพยากรและที่ระบายสินค้าของประเทศเจ้าอาณานิคม และสุดท้ายสามารถปลดแอกประกาศอิสรภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนั้นต่างออกไป กล่าวคือไม่ได้อยู่ในพล็อตเรื่องเช่นนี้ ลักษณะเฉพาะตัว ก็คือ การเน้นว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมตะวันตก จะมีก็เพียงการเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงการเมืองร่วมสมัยไม่ปรากฏเนื้อหานี้ในหลักสูตรปี 2544 แต่ปรากฏอย่างชัดเจนในหลักสูตร 2551 ที่ทำให้เห็นสงครามที่ต่อเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือ สงครามเย็นและเหตุการณ์ร่วมสมัย ไม่เพียงเท่านั้นในหลักสูตรปี 2544 มีการพูดถึงอาเซียนในฐานะองค์กรน้อยมาก ขณะที่ในหลักสูตรใหม่เรื่องอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะของ อจท.ให้ความสำคัญมากที่สุด และมีการกล่าวถึงการประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ จ.เพชรบุรีที่นำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558xlivในที่สุด 

 

ตารางที่ 2 แสดงเปรียบเทียบเนื้อหาเฉพาะ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างหลักสูตรปี 2544 และ 2551

หลักสูตรปี
2544
2551
2551
สำนักพิมพ์
ไทยวัฒนาพานิช
อักษรเจริญทัศน์
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ
จำนวนหน้า
15 (หน้า 207-221)
46 (หน้า 125-170)
61 (หน้า 30-90)
เนื้อหาโดยตรง
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ประวัติศาสตร์ เรื่องที่ 4 ประเทศรอบบ้านของไทย
1. ชุมชนดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. การรับอิทธิพลอารยธรรมอินเดีย จีน อิสลาม
3. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญหน้าตะวันตก
หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 พัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. พัฒนาการของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. ความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 แหล่งอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. แหล่งอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. แหล่งมรดกโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. อิทธิพลของอารยธรรมโบราณในดินแดนไทยที่มีผลต่อพัฒนาการของไทยในปัจจุบัน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 พัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. ปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. แหล่งอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
เรื่อง/หน่วยการเรียนรู้ก่อนหน้า
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 เรื่องที่
1. วิธีการทางประวัติศาสตร์ความเกี่ยวเนื่องของเวลา
2. ความเป็นมาของชนชาติไทย
3. อาณาจักรสุโขทัย
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
เวลาและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2
วิธีการทางประวัติศาสตร์
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
สมัยก่อนสุโขทัยในดินแดนไทย
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4
พัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
ประวัติศาสตร์ กาลเวลา และวิธีการทางประวัติศาสตร์
 
 
เรื่อง/หน่วยการเรียนรู้ตามหลัง
ไม่มี
ไม่มี
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3
ความเป็นมาและการตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทย
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4
อาณาจักรสุโขทัย
การแบ่งยุค
1. ชุมชนดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. การรับอิทธิพลอินเดีย จีน และอิสลาม
3. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญตะวันตก
1. พัฒนาการในสมัยโบราณ
2. พัฒนาการสมัยใหม่
(เริ่มพุทธศตวรรษที่ 21 นับการเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก ที่มีผลต่อบริเวณหมู่เกาะ)
3. พัฒนาการสมัยปัจจุบัน
(นับหลังจากสงครามโลกครั้งที่2)
1. รัฐและอาณาจักรโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยอาณานิคม
(นับที่พุทธศตวรรษที่ 21 เช่นกัน)
3. รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภูมิศาสตร์การเมือง
. แบ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น
1) คาบสมุทร
2) หมู่เกาะ
 
.แสดงแผนที่คาบสมุทร ลายเส้นเห็นประเทศง่ายๆ
.ไม่แบ่งอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เนื้อหาจะให้น้ำหนักกับบริเวณคาบสมุทร
.แสดงแผนที่ระบุตำแหน่งและเขตแดนของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.แสดงตารางย่อยข้อมูลที่น่าสนใจได้แก่
 
1) ตารางบอกแหล่งอารยธรรมอินเดียที่มีผลต่อพัฒนาการของประเทศต่างๆ
2) ตารางแสดงการครอบครองดินแดนของประเทศตะวันตก
3) ตารางบอกข้อมูลประชากร เมืองหลวงและเศรษฐกิจ
.แบ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น
1) คาบสมุทร
2) หมู่เกาะ
.แสดงแผนที่ประกอบดังนี้
1) แผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงความสูงชันของพื้นที่ แยกเป็นคาบสมุทรและหมู่เกาะ
2) แผนที่แสดงอาณาจักรโบราณ
(ไม่ปรากฏอาณาจักรล้านนา)
3) แผนที่เส้นทางการค้ายุคทอง
เรื่องอาเซียน ในฐานะองค์กรความร่วมมือ
หน้า (ประมาณ 7 บรรทัด)
5 หน้า
1. ความร่วมมือด้านความมั่นคง
2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
3. ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม
4. ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
5. ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ
มีการเสริม การประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 ปี 2552 ที่ชะอำ เพชรบุรี ลงนามปฏิญญาชะอำ-หัวหินเพื่อเป้าหมายจัดตั้งประชาคมอาเซียนปี 2558
2 หน้า
1. ความร่วมมือทางการเมือง
2. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
3. ความร่วมมือทางวัฒนธรรม
ผู้นำอาเซียน
ไม่มี
ไม่มี
ผู้นำชาตินิยม
อินโดนีเซีย ซูการ์โน
มลายู จินเป็ง
พม่า อูอองซาน
ฟิลิปปินส์ โฮเซ่ ริซาล
เวียดนาม โฮจิมินห์
ผู้นำยุคใหม่
พม่า อองซานซูจี
มาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด
สิงคโปร์ ลีกวนยิว
บูรไน สุลต่างโบลเกีย
กัมพูชา เจ้านโรดม สีหนุ
ฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินาน มาร์กอส
ติมอร์ตะวันออก โจเซ รามอส

 

แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของ พว.ที่แสดงให้เห็นการแยกภูมิภาคนี้เป็นภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ

ตารางแสดงการยึดครองดินแดนฯของสำนักพิมพ์ พว.
ตอกย้ำให้เห็นความเป็นเมืองขึ้นของเพื่อนบ้าน และความเหนือกว่าของไทย

 

มิติที่สอง : พงศาวดารอาเซียน การตีความผ่านประวัติศาสตร์ไทย

มิติแรกปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยการเรียนรู้ แต่การจะเข้าใจมิติที่สองนี้ เราต้องอ่านประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบเรียนและที่ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยยุคต่างๆ อย่างไรก็ดีข้อจำกัดก็คือ ในประวัติศาสตร์ไทยมักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์กับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่บนพื้นทวีปแทบจะทั้งหมด และอีกประการคือ ด้วยมาตรฐานการเรียนรู้ 4.3 ที่ว่า “เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความภาคภูมิใจและธำรงความเป็นไทย” ที่กล่อมเกลามาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษายิ่งฝังลึกอคติชอบ-ชังได้อย่างแนบเนียน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์แบบที่ธงชัย วินิจจะกูลนำเสนอนั่นคือ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” การเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กษัตริย์ที่กลายมาเป็นแม่บทในการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลักxlv

การวิเคราะห์ในส่วนนี้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบรัฐที่ต่างกันไป จึงมุ่งเน้นไปอภิปรายในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบเรียนซึ่งได้แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกคือ ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐจารีต และประเภทที่สองคือ ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐชาติสมัยใหม่ และประเภทที่สาม ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตย

 

ก. ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐจารีต

ความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบรัฐจารีตของภูมิภาคนี้ ต่างก็พยายามสร้างเมืองของตนให้เป็นศูนย์กลางและแผ่อิทธิพลของตนให้เมืองต่างๆยอมรับอำนาจจนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่อิทธิพลแนวคิด “พระเจ้าจักรพรรดิ” หรือ “พระราชาธิราชผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง” อันเป็นแนวคิดที่ปรากฏในพุทธศาสนาและฮินดู หลักคิดนี้ก็จะผลักดันให้อาณาจักรเล่านั้นครอบงำอาณาจักรอื่นๆต่อไป แต่อำนาจแท้จริงนั้นมิได้มีอิทธิพลครอบงำมากนัก ต้องปล่อยให้ประเทศราชมีอิสรภาพในตัวเองอย่างสูงxlvi และเป็นเรื่องปกติที่รัฐขนาดกลางและขนาดเล็กจะเป็นเมืองประเทศราชของรัฐใหญ่กว่ามากกว่าหนึ่งxlvii ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง การนำเอากรอบคิดการปกครองในยุคสมัยนี้ไปเทียบเคียงแบบที่ประวัติศาสตร์ในแบบเรียนทำจึงผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง

ความรู้ ข้อมูล หลักฐานจนถึงปัจจุบัน ระบุอย่างชัดเจนว่า พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นยุคสมัยที่อาณาจักรขนาดกลางก่อตัวขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในดินแดนของประเทศไทยปัจจุบัน แต่ในแบบเรียนกลับให้ความสำคัญเฉพาะอาณาจักรสุโขทัยเป็นหัวข้อหลัก ความรู้ใหม่ที่ขัดกับภาพตัวแทนของรัฐในอุดมคติยังไม่มีพลังมากพอที่จะล้มล้างความเชื่อนี้จากหลักสูตร ด้วยโครงเรื่องเดิมที่แข็งแรงด้วยพลังการอธิบายแบบชาตินิยมที่คาบเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าคนไทยถอยร่นมาจากทางเหนือเข้ามาขับไล่เขมรที่ครองครองดินแดนนี้แล้วจึงตั้งอาณาจักรของคนไทยเป็นแห่งแรกนั่นก็คือ สุโขทัย ดังนั้น อาณาจักรสุโขทัยจึงยังมีฐานะเป็นราชธานีแห่งแรกของสยามต่อไป ดังที่เราพบการอ้างอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยอันกว้างขวางตั้งแต่เหนือจดใต้ ในยุคทองนั่นคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงxlviii นั่นคือ

ทิศเหนือ ถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลั่ว (อ.ปัว จ.น่าน) เลยฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง)

ทิศตะวันออกถึงเมืองสระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย (หล่มเก่า) สระคาถึงข้ามฝั่งแม่น้ำโขง ถึงเวียงจันทน์และเวียงคำ

ทิศตะวันตกถึงเมืองฉอด หงสาวดีจนสุดฝั่งทะเลเป็นอาณาเขต

ทิศใต้ถึงเมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราชจนสุดฝั่งทะเล

ขณะที่พุทธศตวรรษที่ 20-21 ราชอาณาจักรเล็กน้อยถูกรวมเข้าสู่อาณาจักรที่ใหญ่กว่า และเติบโตขึ้นพร้อมๆกับยุคทองแห่งการค้าขายของภูมิภาค ความมั่งคั่งของการค้าและแสนยานุภาพในการรบที่ขยายตัว จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์น้อย 2 ประการ ได้แก่ การแสวงหาทรัพยากรในมิติทางเศรษฐกิจและการแข่งขันในเชิงบุญญาบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิราชตามคติพุทธในมิติทางการเมือง และแน่นอนว่า มันได้นำมาสู่ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามในภูมิภาค เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่แบบเรียนและประวัติศาสตร์ไทย ไม่ทำให้เราเห็นถึงเบื้องหลังและเงื่อนไขของสงครามมากไปกว่าคราบเลือดและรอยน้ำตา อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนบางฉบับเรายังพบคำอธิบายที่ถือว่าแหวกกระแสชาตินิยมอยู่บ้าง

แผนที่อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงยังใช้อธิบายตัวตนของเรามาจนถึงทุกวันนี้

 

ความสัมพันธ์กับพม่า

ไม่ว่าแบบเรียนไหนก็ล้วนพบว่า พม่าเป็นชาติที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด พม่าเป็นชาติที่เป็นคู่สงครามมหายุทธกัน ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแล้ว เริ่มจากศึกเชียงกราน หัวเมืองมอญ (พ.ศ.2081) ต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาล่มไปแล้ว ตั้งกรุงใหม่ก็แล้ว ก็ยังทำสงครามพัวพันยืดเยื้อไปจนถึงสงครามครั้งสุดท้าย นั่นคือ สงครามเชียงตุง ในสมัยรัชกาลที่ 4 แม้ว่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์จะเราเขียนถึงพม่ามากที่สุด ปรากฏในรูปของตัวบทที่เป็นคำบรรยาย ภาพประกอบที่เป็นตัวแทนทางประวัติศาสตร์ สื่อภาพผ่านอนุสาวรีย์ ละคร แสงสี เสียง ฯลฯ นั่นยิ่งตอกย้ำและทำให้เรารู้จักพม่าเพียงซีกเดียวเท่านั้น นอกจากคมหอก และกลิ่นดินปืนในสงครามระหว่างกันแล้ว เราแทบจะไม่มีฐานให้เห็นความเชื่อมโยงกันด้วยระบบเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันเลย ทั้งยามสงบและยามสงคราม

ยังดีที่แบบเรียนของ พว.เริ่มมีการอธิบายถึงเหตุผลในการทำสงครามระหว่างกันบ้าง นั่นคือ หากมองจากฝ่ายอยุธยาก็คือ ชนวนสงครามก็คือการชิงเมืองเชียงกรานอันเป็นหัวเมืองมอญที่เป็นเมืองยุทธศาสตร์ หากมองจากพงศาวดารพม่าก็คือ การชิงความเป็นจักรพรรดิราชตามคติพุทธศาสนา แต่ในมุมมองเศรษฐกิจ นี่อาจเป็นการแย่งชิงอำนาจเพื่อควบคุมเมืองทางสำคัญทางฝั่งเบงกอลตะวันออกxlix

อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนไม่ได้ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่คลี่คลายในยุคหลัง โดยเฉพาะการที่อูนุ นายกรัฐมนตรีของพม่าที่ได้ทำการขอขมาแทนคนพม่า ในกรณีที่มาร่วมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี 2500 หลังจากที่ไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่กรุงศรีอยุธยาl ดังนั้นสิ่งที่ยังติดฝังความทรงจำของเราผ่านแบบเรียนเสมอมาก็คือ ความหยุดนิ่งของความเป็นศัตรูคู่แค้นสงคราม ทั้งที่สงครามนั้นเป็นสงครามระหว่างชนชั้นนำ ไม่ใช่การสร้างความบาดหมางกันในระดับไพร่ ชาวบ้าน ดังที่กระแสชาตินิยมอาศัยความรู้สึกนี้เป็นเชื้อเพลิง

 

ความสัมพันธ์กับเขมร

ผิดกับเขมรที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนมากบ่งบอกถึงอิทธิพลของเขมรที่มีต่อราชสำนักอยุธยา ในด้านความสัมพันธ์อารยธรรมเขมรเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคมาก่อน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่รัฐแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงหยิบยืมทั้งในด้านภาษา ราชาศัพท์ สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์จากราชสำนักเขมรli

แต่อย่างไรก็ตามมิติทางวัฒนธรรมนี้ กลับถูกเบียดบังด้วยประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกัน จุดเริ่มต้นนั่นคือ การพูดย้อนไปถึงการปกครองของเขมรในยุคก่อนสุโขทัย การขับไล่เขมรออกจากดินแดนจึงเป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนของยุคเริ่มต้นของราชธานีแห่งแรก ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ตอกย้ำไปมากกว่านั้นก็คือ การปราบเขมรที่เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ลงได้ในสมัยอยุธยาตอนต้น ในปี 1975 และทำให้เขมรต้องย้ายเมืองหลวง ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองแล้วเขมรเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างสยามกับญวน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายในยามเข้มแข็งก็พยายามที่จะมีอำนาจเหนือเขมรเสมอมา และนั่นก็ทำให้เขมรถูกแทรกแซงทางการเมืองจากทั้งสองรัฐ จึงไม่แปลกที่ราชสำนักเขมรเลือกที่จะรับไมตรี และโจมตีอยุธยาสลับกันไปมา แต่ทัศนคตินี้ไม่ถูกทำให้เห็นชัดเจนในแบบเรียน แต่มักจะเสนอข้อมูลที่ชี้ชวนให้เห็นว่า เขมรเป็นประเทศที่ไว้ใจไม่ได้ ความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ยังไม่นับมิติทางวัฒนธรรมที่มักจะปฏิเสธว่าเขมรในปัจจุบันเป็นคนละพวกกับเขมรโบราณที่เคยมีอารยธรรมรุ่งเรือง ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงการเหยียดหยาม และยกตนเหนือกว่าของคนไทยต่อเขมร

 

ความสัมพันธ์กับญวน

ญวนหรือเวียดนามในปัจจุบัน เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับไทยในปัจจุบัน ในแบบเรียนได้บรรยายว่า ญวนเป็นประเทศคู่สงครามที่มีเขมรเป็นรัฐกันชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาlii สงครามที่รู้จักกันดีในยุครัตนโกสินทร์ ก็คือ อันนัมสยามยุทธในสม้ยรัชกาลที่ 3 liiiความสัมพันธ์กับญวนจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีอะไรต่อกันมากนัก แต่อาศัยเขมรเป็นสมรภูมิทางการเมืองระหว่างกันตั้งแต่จักรวรรดิอันเรืองรองของเขมรร่วงโรย

 

ความสัมพันธ์กับลาว

ปัญหาใหญ่ของแบบเรียนก็คือ การสร้างภาพให้ลาวล้านช้างตกเป็นของอยุธยาโดยเบ็ดเสร็จในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ในยามที่พม่าลดภาวะคุกคามในภูมิภาคลง ในแบบเรียนเสนอว่าทางเวียงจันทน์ยอมขึ้นกับอยุธยาในยุคนี้liv แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์เฉพาะเวียงจันทน์เช่นนี้ทำให้เกิดความตีความว่าดินแดนลาวเคยเป็นของไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว โดยเฉพาะการอ้างถึงภาษาตระกูลไท-ลาว เช่นเดียวกับที่ไทยมักจะอ้างกับคนต่างๆทั่วภูมิภาค เพื่อใช้อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ

ข้อมูลเช่นนี้ก่อความเข้าใจผิดมาถึงปัจจุบัน เพราะอยุธยาเองก็ไม่ได้มีอำนาจควบคุมลาวอย่างเบ็ดเสร็จเลยแม้แต่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร การครอบครองและมีอิทธิพลเหนือลาวที่รวมถึงดินแดนอีสานของไทยในปัจจุบันแทบทั้งหมด พึ่งเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ที่กินเวลาเพียงสองร้อยปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามการนำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่างพระแก้วมรกตมาไว้ที่ดินแดนสยาม ก็เป็นการทำลายขวัญกำลังใจของลาวอย่างมาก ไม่นับว่าแบบเรียนไม่ระบุถึงวีรกรรมของกองทัพไทยที่เผาปล้นเวียงจันทน์ในปี 2360lv

 

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู

หัวเมืองมลายูเป็นดินแดนที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจ ทั้งในด้านระยะทางและทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อบริเวณนี้ได้รับอารยธรรมและศาสนาอิสลามเข้าไว้ด้วยแล้ว สิ่งหนึ่งเป็นแรงผลักดันทางการเมืองของรัฐสยามก็คือ ผลประโยชน์ทางการค้า นั่นทำให้สยามพยายามเข้าไปควบคุมดินแดนเหล่านี้ จึงปรากฏในแบบเรียนว่า เกิดความขัดแย้งสลับกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันตลอดมาlvi ตั้งแต่สมัยจารีตมาถึงต้นร้ตนโกสินทร์ ดังที่พบว่าหลังจากสงครามเก้าทัพ ก็ปรากฏว่า สยามได้ยกทัพที่เหลือไปปราบหัวเมืองมลายู และครั้งนี้เข้าไปจัดการแบ่งแยกเมืองให้อำนาจการปกครองตนเองด้อยลง ขณะที่กระชับอำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ มากขึ้น

ที่น่าสังเกตก็คือ ความขัดแย้งของหัวเมืองมลายูผิดกับความขัดแย้งอื่น นั่นคือ มันลงลึกไปถึงความเชื่อ ศาสนา ความเข้มแข็งของหัวเมืองมลายูไม่ได้อยู่ที่อำนาจที่เข้มแข็งของชนชั้นนำปกครองอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับเครือข่ายความสัมพันธ์ทางศาสนาและการเมืองด้วย ดังนั้นความขัดแย้งของสยามกับหัวเมืองมลายู จึงล้ำเส้นจากการทะเลาะกับชั้นนำด้วยกันเหมือนกับรัฐจารีตอื่นๆ ไปสู่หน่วยการเมืองระดับพื้นฐานด้วย

 

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง

เงื่อนไขของสงครามในยุคจารีตนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสังคมในยุคสมัยด้วย กาลเวลาช่วงนี้เป็นยุคที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือชนชั้นนำ และกษัตริย์ โลกทัศน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนภาคพื้นทวีปนั้นเป็นโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียนั่นคือ โลกทัศน์แบบพุทธ-ฮินดู ไพร่ กษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนางเป็นผู้ปกครอง ขณะที่ไพร่และทาสเป็นคนใต้การปกครอง อาจถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าด้วย ในยุคนี้การเขียนประวัติศาสตร์แทบจะทั้งหมดให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ ที่สถาปนาสถานะอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีศาสนาและนักบวชเป็นพันธมิตรเพื่อเครื่องมือสร้างความชอบธรรมและขับกล่อมสังคมให้อยู่อย่างสงบและเป็นเอกภาพ ดังนั้นจึงไม่แปลกว่า ผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ก็คือชนชั้นนำทั้งหลาย สงครามที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดเป็นมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำ

สำหรับยุคจารีตแล้ว ดินแดนที่แน่นอนตายตัวไม่ใช่เครื่องแสดงบารมีและความมั่งคั่งเท่ากับอำนาจการควบคุมคน เราจึงพบการทำสงครามและกวาดต้อนเชลยไปมากกว่าที่จะยึดพื้นที่แล้วส่งคนไปปกครองเพื่อขยายดินแดน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การเอาชนะกันด้วยการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ การทำลายล้างดังกล่าว ยังเป็นการยังไปสู่ ความเสื่อมของผู้มีบุญญาธิการด้วย ดังนั้นการปล้นชิงเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากดินแดนต่างๆมาเป็นของตนเองจึงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นการเสริมบารมีให้กับผู้ชนะสงครามเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นการเผาทำลายเมืองที่ไม่ใช่เฉพาะพม่าเท่านั้นที่ทำกับกรุงศรีอยุธยา แต่สยามยังเคยใช้วิธีนี้กับเวียงจันทน์ด้วย การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อทำลายไม่ให้เมืองเป็นศูนย์กลางการปกครองและความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมันคือสงครามที่เกิดขึ้นจากชนชั้นนำที่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างไพร่ ทาส อันเป็นชนกลุ่มใหญ่ในสังคม ทั้งหมดนี้คือ การจัดความสัมพันธ์แบบรัฐจารีตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อุดมคติของพระเจ้าจักรพรรดิที่เป็นศูนย์กลาง ปัญหาก็คือ ในยุคปัจจุบันเรานำเอาโลกทัศน์ที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้มาใช้อธิบายตัวตนของเราด้วย

 

ข. ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐชาติสมัยใหม่

ในพุทธศตวรรษที่ 24 ต่อ 25 จักรวรรดิจีนแบบจารีตได้หมดอำนาจลง และถูกแทนที่โดยความเฟื่องฟูของจักรวรรดินิยมตะวันตกแทน จักรวรรดิใหม่นี้มากพร้อมกับวิทยาการความก้าวหน้าในยุโรปทั้งในด้านระบบคิด การปกครอง วิทยาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามเป็นอย่างสูง ในทางกลับกัน แบบเรียนมักทำให้เราตระหนกต่อภัยคุกคามจากตะวันตกมากกว่า ในตัวบทได้แสดงให้เห็นถึงทัศนะระแวงภัยตะวันตกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากดัทช์ หรือกระทั่งจากฝรั่งเศส ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างสูง จนถึงกับยกย่องกษัตริย์อย่างสมเด็จพระเพทราชา เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถจะกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศส ตลอดจนชาติตะวันตกออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้lvii และแน่นอนว่าหลังจากยุคนี้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับตะวันตกก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว

การก่อเชื้อดังกล่าวไว้กลับมาเชื่อมกับจุดเปลี่ยนสำคัญในยุครัฐชาติสมัยใหม่ก็คือ ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส รวมไปถึงการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การทำสนธิสัญญาฉบับต่างๆ แต่ที่เป็นรูปธรรมที่สุดและเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่สุดก็คือ ความทุกข์ระทมจากการเสียดินแดน ในแบบเรียนแสดง แผนที่แสดงการเสียดินแดน ตั้งแต่ปี 2410-2452lviiiผลิตซ้ำภาพตัวแทนของดินแดนที่สยามต้องสูญเสียไปและนี่เองที่ทำให้สยามที่สำนึกที่แตกต่างจากเพื่อนบ้านอื่นๆ

ประวัติศาสตร์เช่นนี้ได้สร้างความรับรู้ของชาติผ่านมุมมองของชนชั้นนำ แต่กลับสร้างความรู้สึกร่วมของคนในปัจจุบันได้มาก มีอย่างน้อย 2 ประการ นั่นก็คือ ความรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียดินแดน ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกในการบำบัดความเจ็บปวดนั้น ซึ่งก็คือ การสร้างสำนึกใหม่ในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ ความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครlix

หากเปรียบเทียบกับข้อเสนอทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นชี้เห็นว่า อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ต้องการจะยึดครองสยามทั้งหมดแต่ต้องการเหลือเป็นพื้นที่รัฐกันชนระหว่างกัน ดังนั้นการบำบัดตัวเองด้วยวิธีนี้จึงกลายเป็นการนำเอาตัวตนของชาติที่ดีเลิศกว่า ไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ด้วยความสัมพันธ์ของชาติที่มีอิสรภาพ กับ ชาติที่เป็นเมืองขึ้น

 

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง

เมื่อ 100 ปีที่แล้ว รัฐสยามปรับตัวสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีระยะห่างของเหล่าหัวเมืองประเทศราชให้มามีระยะที่ใกล้ชิดเพื่อที่จะควบคุมได้อย่างสะดวก ขณะที่ศึกอีกด้านหนึ่งก็คือ การต่อสู้ช่วงชิงทรัพยากรและดินแดนกับประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสในดินแดนหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้นนั่นเอง ไม่ว่าจะโดยวิธีทางการทูต หรือสงคราม หากมองในแง่นี้สยามจึงเป็นผู้เล่นหนึ่งในเกมแย่งชิงดินแดนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้เสียดินแดนที่แท้จริง นั่นคือรัฐขนาดเล็กที่ถูกกลืน หรือกล่าวได้ว่าในแง่นี้ก็คือปฏิบัติการของจักรวรรดินิยมสยามนั่นเองlx เช่น หัวเมืองล้านนา หัวเมืองมลายู หัวเมืองทางอีสาน

ระบอบนี้มีรากฐานการทำลายศูนย์อำนาจท้องถิ่นให้อ่อนแอ จากการดึงดูดทรัพยากรเข้าส่วนกลางรวมถึงอำนาจทางการเมือง พร้อมไปกับการสร้างระบบการปกครองเพื่อควบคุมท้องถิ่นและให้บริการไปตามอัตภาพ ทั้งยังปลูกฝังความผูกพันความจงรักภักดีให้ตรึงอยู่กับศูนย์กลางของระบอบโดยเฉพาะเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้เองได้เกิดเหตุจลาจลเนื่องจากความไม่พอใจ จากนโยบายที่รัฐสยามได้ทำการรวมศูนย์อำนาจ อันส่งผลให้ท้องถิ่นต่างๆ สูญเสียผลประโยชน์แต่เดิมด้วย ปัญหาที่สั่งสมจนประทุออกมาอย่างสุดขั้วก็คือ กรณีปัญหาหัวเมืองมลายู ซึ่งกลายมาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันนั่นเอง

ในยุคนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างประสบความยากลำบากของการครอบครองดินแดนของจักรวรรดินิยมตะวันตกlxi ได้แก่ อังกฤษที่ยึดครอง พม่า มลายู สิงคโปร์ บรูไน, ฝรั่งเศสที่ยึดครอง เวียดนาม กัมพูชา ลาว, ฮอลแลนด์ ยึดครองอินโดนีเซีย, สหรัฐอเมริกายึดครองฟิลิปปินส์ และโปรตุเกสยึดครองติมอร์ตะวันออก การเป็นผู้เล่นในสงครามแย่งชิงดินแดนนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าในระบอบใหม่ที่ผูกอยู่กับกษัตริย์สยามนี้ ทำให้สยามไม่ได้ปกปิดถึงความพยายามยกระดับตัวเองมีฐานะที่ทัดเทียมกับประเทศเจ้าอาณานิคมอื่นๆ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ความพ่ายแพ้ในการแย่งชิงดินแดน ก็เป็นเพียงช่วงขณะแห่งความพ่ายแพ้ที่ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำ หาใช่ประชาชนไม่

 

ค. ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตย

การปฏิวัติสยาม 2475 น่าจะนำมาสู่ความคิดและความสัมพันธ์ที่เสมอภาค เท่าเทียมกัน มากกว่ายุคที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า สิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรล้ำเส้นออกไปก็คือ การเน้นชาตินิยมชาติเชื้อไทยที่สืบเนื่องมาจากต้นกำเนิดชาตินิยมไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 แบบเรียนได้เขียนไว้ว่า ในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐบาลได้ปลุกกระแสชาตินิยมเรียกร้องดินแดนที่เคยเสียให้แก่ฝรั่งเศสจนเกิดปะทะกัน ในเวลาต่อมาญี่ปุ่นมาช่วยไกล่เกลี่ยทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เป็นดินแดนของประเทศลาว และดินแดนเขมรบางส่วนกลับมา ไม่เพียงเท่านั้นหลังจากที่ไทยร่วมกับฝ่ายอักษะ และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยยังได้รับดินแดน 4 รัฐในมลายูพร้อมกับเชียงตุงด้วย แต่ในที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น ดินแดนดังกล่าวก็ต้องส่งกลับคืนไปสู่สถานะเดิมก่อนสงครามทั้งหมดlxii

ความสัมพันธ์ดังกล่าวยิ่งทำให้เห็นถึงบทบาทของไทยที่สร้างความตึงเครียดให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ได้ระบุในแบบเรียนก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านในเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือความสัมพันธ์กับคณะราษฎรอีกฝ่ายหนึ่งที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ ที่พยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปสู่การปลดแอกจากประเทศเจ้าอาณานิคม โดยการปรึกษาหารือกับผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันตั้งสมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์ ขึ้น เพื่อให้ประเทศอย่างเวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย จะได้รวมความเป็นเอกราชเข้าด้วยกันlxiii

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏว่าประเทศแทบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปลดแอกประเทศเจ้าอาณานิคมได้สำเร็จ ซึ่งแต่ละแห่งก็ใช้เครื่องมือทางการเมืองที่แตกต่างกันไป พร้อมๆไปกับการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์กำลังเริ่มขับเคี่ยวกัน ในแบบเรียนแสดงให้เห็นถึงการเลือกข้างของรัฐบาลไทยที่อยู่กับฝ่ายแรกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ โดยส่งทหารเข้าไปร่วมรบกับสงครามเกาหลีในปี 2493 ไปจนถึงการร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ในปี 2497 และในปี 2505 ก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมอาสา เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในหมู่ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์lxiv

ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แทนที่ว่า วาระการปลดแอกตนเองจากประเทศอาณานิคมในภูมิภาคจะเป็นภาวะแห่งการเฉลิมฉลองและสร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน แต่กลับเป็นว่า กลายเป็นว่า อุดมการณ์ทางการเมือง ได้เปลี่ยนสนามทางวัฒนธรรม กลายเป็นสนามรบ ภูมิภาคนี้จึงถูกชักใยโดยมหาอำนาจทั้งและแยกเป็นสองค่าย สมรภูมิที่รู้จักกันดีชื่อว่า สงครามเวียดนาม เป็นสนามรบที่ก่อให้เกิดความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ในแบบเรียนได้ระบุว่า ไทยได้ลงนามสิ่งที่เรียกว่า ข้อตกลงถนัด-รัสก์ ในปี 2505 เพื่อเป็นสัญญาร่วมมือทางการทหาร ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในอินโดจีน และมีส่วนทำให้ไทยเข้าไปมีส่วนปฏิบัติการทางทหารในลาว กัมพูชาและเวียดนามlxv ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ไทยประกาศตัวเป็นศัตรูกับลาว กัมพูชาและเวียดนามโดยอ้อมนั่นเอง

แม้จะมีการจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ขึ้นในปี 2510 แต่ก็เป็นเวทีเพื่อการรวมตัวของประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นหลัก สมาชิกก่อตั้งได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ องค์กรนี้จึงไม่ผิดอะไรกับเสือกระดาษและของเล่นของการเมืองระหว่างประเทศ จนกระทั่งสงครามเย็นคลี่คลายด้วยการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษ 2530 ไทยได้เสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรี เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จากนโยบาย “แปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ในปี 2534 lxviซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงบวกเช่นนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เน้นย้ำในแบบเรียนที่ผ่านมานัก

 

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่ามีการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองค่าย คือ โลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ การเมืองอุดมการณ์จึงขยายฐานไปยังระดับภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ในที่นี้คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้างภูมิภาคนี้ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการรวมประเทศในภาคพื้นทวีปและประเทศในหมู่เกาะ ให้อยู่ในกรอบของพื้นที่เดียวกัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเกิดขึ้นมาในด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคสงครามเย็นโดยแท้ กว่าจะถึงทศวรรษ 2530 กล่าวได้ว่า ภูมิภาคนี้เป็นสมรภูมิสงครามเย็นที่ร้อนระอุอยู่ระหว่างเส้นขนานที่ 17 ณ ประเทศเวียดนาม ประเทศที่อยู่ฝ่ายโลกเสรี ก็ต่างกลายเป็นฐานทัพของกองทัพสหรัฐอเมริกา เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และความตึงเครียดนี้นำไปสู่การตั้งอาเซียนดังที่ทราบกันดี สงครามอุดมการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเป็นปิศาจมากไปกว่าใครการทำลายล้างพลเรือนโดยมิได้ตั้งใจของกองทัพฝ่ายขวาอย่างอเมริกัน กับ การทำลายล้างชีวิตคนร่วมล้านของเขมรแดงในกรณีทุ่งสังหาร เป็นความหายนะของมนุษยชาติที่เราต้องจดจำ อย่างไรก็ตามการเดินหน้าสู่สันติภาพและเปิดตลาดค้าขายแก่กันในทศวรรษ 2530 จึงเป็นทางออกหนึ่งที่น่ายกย่อง

อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์แบบรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตยในกระแสหลักกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ยังห่างไกลกับความเข้าใจถึงแนวคิดของความเสมอภาคระหว่างกันในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ อันเนื่องมาจากปัญหาแนวคิดแบบอาณานิคมสำหรับสังคมไทย และแนวคิดอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันในสงครามเย็นที่ยิ่งแยกฝ่ายออกอย่างชัดเจน จึงยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักที่อย่างน้อยสังคมไทยจะยอมรับความเสมอภาคระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียน พอๆกับที่พวกเขา ยังถกเถียงอยู่ด้วยซ้ำว่า ความเสมอภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

ตารางที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบเนื้อหาและลำดับเนื้อหาของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช (ท.ว.พ.) สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) และสำนักพิมพ์สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) พร้อมทั้งการ เปรียบเทียบหลักสูตรปี 2544 และ 2551

สำนักพิมพ์/ชั้นปี
เนื้อหาแบ่งตามหน่วยการเรียนรู้ (บท) ในแบบเรียนแต่ละเล่ม
... (เฉพาะ ม.1)
อจท. (.2-6) ปี 2544
อักษรเจริญทัศน์ (อจท.)
ปี 2551
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ปี 2551
.1
1) วิธีการทางประวัติศาสตร์และความเกี่ยวเนื่องของเวล
2) ความเป็นมาของชนชาติไทย
3) อาณาจักรสุโขทัย
4) ประเทศรอบบ้านของไทย
1) เวลาและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
2) วิธีการทางประวัติศาสตร์
3) สมัยก่อนสุโขทัยในดินแดนไทย
4) พัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย
5) พัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6) แหล่งอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1) ประวัติศาสตร์ กาลเวลา และวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3) ความเป็นมาและการตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทย
4) อาณาจักรสุโขทัย
.2
1) การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในเอเชียและวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการความเป็นมาของเอเชีย
3) พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของไทยสมัยอยุธยา
1) ความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา
3) พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี
4) ประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญในการสร้างสรรค์ชาติไทย
5) ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีปเอเชีย
6) แหล่งอารยธรรมในทวีปเอเชีย
1) หลักฐานทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของภูมิภาคเอเชีย
3) พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา
4) พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี
.3
1) การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์สากล ไทยและวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการความเป็นมาของมนุษยชาติในภูมิภาคต่างๆของโลก
3) พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
ไม่มีข้อมูล
1) วิธีการทางประวัติศาสตร์กับการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของภูมิภาคต่างๆของโลก
3) พัฒนาการของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์
4) บทบาทของชาติไทยในสมัยประชาธิปไตย
5)
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

 

3.2 เครื่องมือแกะรอยพงศาวดารอาเซียน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แบบเรียนในปัจจุบันได้ออกแบบให้สะดวกต่อการอ่าน สบายตา และมีแทรกเสริมเครื่องมือต่างๆเพื่อการรับรู้ที่ง่ายขึ้น แต่ในความง่ายนั้นก็แฝงไปด้วยสารบางประการให้เราเสพอย่างไม่ระวังด้วย เครื่องมือในแบบเรียนใหม่ๆนี้ได้แก่ แผนที่, เส้นเวลา (Timeline) และภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการรับรู้เพื่อนบ้านจากตัวตนของตนเอง

1) แผนที่

เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างภาพตัวแทนและถูกใช้มาอย่างยาวนาน ที่รู้จักกันดีก็คือ แผนที่ของทองใบ แตงน้อย ดังที่ ธงชัย วินิจจะกูลได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า แผนที่นี้ทำงานอย่างไรในฐานะที่แผนที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตัวตนของประวัติศาสตร์ชาตินิยมและความเป็นไทยขึ้นมาlxvii ในแบบเรียนที่ทำการศึกษาอาจแบ่งตามยุคสมัย เราอาจเริ่มที่อาณาจักรโบราณก่อน แบบเรียนของ พว. แสดงให้เห็นอาณาจักรโบราณที่เกิดขึ้นก่อนสุโขทัย ได้แก่ อาณาจักรศรีเกษตร จักรมอญ พุกาม ทวารวดี ฟูนัน จามปา นามเวียด เขมร ล้านช้าง ศรีวิชัย รัฐบนเกาะชวาlxviii

แบบเรียนบางเล่ม ยังเสนอว่านอกจากสุโขทัยแล้ว ในเวลาใกล้เคียงกันมีรัฐอื่นๆกำเนิดขึ้นจำนวนมากก็ตามที่ร่วมสมัยกับอยุธยาทั้งยังมีแผนที่ประกอบด้วยได้แก่ โยนกเชียงแสน ล้านนา ศรีโคตรบูร ศรีจนาศะ ล้านช้าง ละโว้ อโยธยา สุพรรณภูมิ นครศรีธรรมราชlxix อย่างไรก็ดี อาณาจักรสุโขทัย ในแบบเรียนมัธยมก็ยังกินพื้นที่หลักในฐานะราชธานีแห่งแรก ดังนั้นการปรากฏตัวของสุโขทัย จึงอยู่ในภาพของแผนที่มหาอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล ภาพตัวแทนนี้จึงผนึกแน่นความทรงจำเกี่ยวกับสุโขทัยอันเป็นรูปธรรมพอๆกับ หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง งานเผาเทียนเล่นไฟ พระพุทธรูปและเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย

แผนที่แสดงอาณาเขตนอกจากเป็นจินตนาการถึงความจริงชุดหนึ่งไปเป็นข้อสนเทศบนแผ่นกระดาษแล้ว มันยังเป็นเพียงการเลือกแสดงเสี้ยวหนึ่งของเวลาที่รัฐมีอำนาจไปถึง เนื่องจากว่า อำนาจที่เข้มแข็งของรัฐมักขึ้นอยู่กับระบบขนส่งและข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการจัดการกำลังทหารที่มีประสิทธิภาพมากพอ สำหรับแผนที่อาณาจักรอยุธยา lxx ที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งก็คือ อาณาจักรอันเกรียงไกรของกษัตริย์นักรบอย่างสมเด็จพระนเรศวร ที่กินดินแดนหัวเมืองมอญ หงสาวดี เชียงตุง เชียงรุ้ง ล้านนา ล้านช้าง เขมร นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอาณาเขตที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา สร้างความอิ่มเอมใจอันเป็นเชื้อที่หล่อเลี้ยงอุดมการณ์ชาตินิยมให้เติบโตกันต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ แผนที่ในสมัยธนบุรีที่ตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นการรวบรวมดินแดนจากอยุธยากลับมา และยังสามารถผนวกดินแดนเพิ่มเติมได้อย่างกว้างขวางตามหลักของพระเจ้าจักรพรรดิราช แต่ก็พบว่าแบบเรียน อจท. มีเพียงแผนที่ชุมนุมทางการเมืองที่ปรากฏด้วยกลุ่มก๊กต่างๆlxxi ในทางกลับกันของ พว.lxxiiทำให้เห็นอาณาจักรธนบุรีที่กินดินแดนล้านนา ล้านช้าง เขมร หัวเมืองมลายู ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ที่เต็มไปด้วยแผนที่รัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับสืบทอดมาจากสมัยธนบุรีlxxiii หรือกระทั่งแผนที่ระบุสมรภูมิและการเดินทัพในสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328 lxxivแผนที่นี้ใช้อาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันเพื่อแสดงตำแหน่งการเดินทัพ ด้านหนึ่งก็เพื่อสื่อความหมายกับคนในปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นความลักลั่นของการกำหนดเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจนก่อนสมัยรัฐชาติที่ไม่สามารถระบุและกำหนดได้ตายตัว

นอกจากนั้นแผนที่ฉบับที่ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการความรู้สึกสูญเสียของชาติอันใหญ่หลวงที่จับต้องได้จริง

ก็คือ แผนที่แสดงการเสียดินแดนให้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก เหล่านี้คือการประมวลการใช้แผนที่เพื่อสร้างความรับรู้ตัวตนของชาติไทย ไปพร้อมๆ กับการขีดเส้นแบ่งตัวตนออกจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

 

แผนที่แสดงดินแดนของประเทศไทย
ในยุคทองของกษัตริย์องค์ต่างๆ
แผนที่ของสำนักพิมพ์ อจท.

 

2) เส้นเวลา (Timeline)

เส้นเวลา (Timeline) เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับทำความเข้าใจลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์สำคัญ เป็นเทคนิคที่นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาย่อยให้ง่าย พบว่าในแบบเรียนรุ่นหลังถูกนำมาใช้บ่อยครั้งมากขึ้น อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่เกณฑ์ในการเลือกเหตุการณ์ต่างๆมาบรรจุในเส้นเวลานี้ ในแบบเรียนพบว่ามีการใช้อธิบายเหตุการณ์ในหลายระดับ เช่น เส้นเวลาของอาณาจักร, เส้นเวลาของเหตุการณ์สงคราม, เส้นเวลาของประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเส้นเวลานี้ส่วนใหญ่ผูกอยู่กับชนชั้นนำ และการทำสงครามทั้งสิ้น

เส้นเวลาที่แสดงให้เห็นถึงสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า 24 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2081-2310 lxxvเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งได้ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงปริมาณอย่างชัดแจ้ง น่าเสียดายที่ว่า แทบจะไม่พบการใช้เส้นเวลาในฐานะความสัมพันธ์นอกจากสงคราม ระหว่างสยามกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่ความสัมพันธ์ทางการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมยังมีข้อมูลอีกมาก

เส้นเวลา ที่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์ อจท.

 

3) ภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญ

เพื่อความสมจริงสมจัง พบว่าแบบเรียนได้บรรจุภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญlxxvi ภาพแทนดังกล่าวมักจะเป็นส่วนเสริมให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นเต็มไปด้วยตัวอักษรมีความเป็นมิตรกับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ ภาพจากหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดาร พร้อมบทขยายความและบทวิเคราะห์ที่เขียนตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เป็นภาพที่เขียนขึ้นในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งประกอบด้วยภาพที่บรรยายพระราชพงศาวดารถึง 92 เรื่องlxxvii ภาพที่ถูกใช้กันบ่อยในแบบเรียนก็คือ ภาพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้างlxxviii การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรlxxix สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงฯlxxx สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมรlxxxi ฯลฯ ภาพเหล่านี้ถูกเขียนด้วยจิตรกรรมใส่กรอบกระจก ซึ่งไม่ใช่ขนบจิตรกรรมฝาผนังหรือจิตรกรรมบนสมุดไทยเหมือนเดิม แต่เป็นจิตรกรรมที่ใช้เพื่อจัดแสดงตามแบบจิตรกรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามรูปแบบที่ผลิตออกมาโดยภาพรวมแล้วยังเป็นจิตรกรรมแนวประเพณีอยู่ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้คนทั่วไปยังรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเก่าแก่สมจริงของภาพ

ขณะที่ภาพพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเขียนในยุคหลังลงมาอีก ได้แสดงให้การเขียนจิตรกรรมสมัยใหม่ ที่ยึดการเขียนตามแบบตะวันตกที่เขียนให้แสงเงา ตามหลักทัศนียภาพแบบตะวันตก โดยเฉพาะการเขียนคนที่มีมัดกล้ามเทียบเคียงได้กับหลักกายภาพแบบตะวันตก การเขียนจิตรกรรมแบบนี้ แสดงให้เห็นพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่ทรงพระเยาว์ไปจนถึงการแห่พระบรมศพกลับมาจากพม่า แบบเรียนได้นำมาใช้ในหลายภาพเช่น ทรงประกาศอิสรภาพlxxxii ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชlxxxiii

 

หนังสือรวมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง

โบสถ์วัดสุวรรณดารามและจิตรกรรมฝาผนังตอนพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

 

เครื่องมือเหล่านี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความจริงชุดหนึ่ง ในขณะเดียวกันภาพตัวแทนทั้งหลายยังสร้างความทรงจำร่วมที่ไม่มิติ แบนราบทำให้เห็นแต่ความสัมพันธ์เฉพาะด้านความขัดแย้ง และการทำสงครามที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น

 

4. ส่งท้าย

ไม่ถึงกับมืดบอดทั้งสองข้าง เพียงแต่ว่า

ตามที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้ปรามาส ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการไว้ว่า “ถ้ารู้ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการตาบอดสองข้าง” นั้น อาจไม่ตรงกับลักษณะของแบบเรียนที่ผู้เขียนได้ศึกษาเท่าใดนัก เพราะด้านที่ก้าวหน้าของแบบเรียนนี้ก็ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับซากความล้าหลังอันเป็นมรดกของความทรงจำร่วมของสังคมไทยที่ยังออกฤทธิ์อยู่ ร่วมไปกับข้อด้อยและปัญหาของแบบเรียนในปัจจุบัน

ความก้าวหน้าที่ค้นพบก็คือ เนื้อหาในหลักสูตรได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นวิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่เป็นเพียงแต่ประวัติศาสตร์ของไทยอย่างเดียว มีการบทการเรียนรู้เชื่อมโยงกับภูมิภาคจากเล็กไปใหญ่ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชีย และโลก นอกจากนั้นก็คือ เทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจขึ้นมากกว่าแบบเรียนในอดีต

สิ่งที่ยังมีปัญหาอยู่ก็อาจแบ่งได้คือ ในส่วนของโครงสร้าง แม้เนื้อหาแต่ละส่วนจะมีความน่าสนใจมากขึ้นแต่ ปัญหาอยู่ที่การไม่ได้บูรณาการบทต่างๆเข้าหากัน ไม่ว่าจะส่วนวิธีการทางประวัติศาสตร์, การเชื่อมโยงกับภูมิภาค และส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ไทย ราวกับว่าแต่ละหน่วยแยกกันเขียนอย่างอิสระตามทัศนคติของผู้เขียน ดังนั้นจึงพบข้อกังขาจำนวนมากที่เป็นคำถามอันลักลั่นกัน เช่น ข้อเขียนถึงประวัติศาสตร์สุโขทัยที่กล่าวรัฐขนาดกลางที่เติบโตพร้อมกัน แต่ในแผนที่ยังเป็นอาณาเขตของสุโขทัย หรือกรณีที่อธิบายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยท่าทีที่ระแวดระวังอคติระหว่างกัน แต่ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยกลับเน้นไปที่ความสัมพันธ์เชิงสงครามมากกว่าทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในด้านอื่นๆ ในส่วนของเนื้อหา เช่น การที่ยังเชิดชูอาณาจักรสุโขทัยว่ามีความกว้างขวางมหาศาล, การสอนประวัติศาสตร์ที่ยังเน้นการสงครามระหว่างรัฐ และการเชิดชูบุคคลที่มีความเป็นชนชั้นนำอย่างเดียว

คำถามก็คือว่า ทุกวันนี้ที่สังคมไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เราตั้งใจจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตนอยู่ที่ไหน และเป็นใครในโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของคนจำนวนมากที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน จนก่อเหตุพิพาทขนาดย่อมผ่านสงครามออนไลน์ในเฟซบุ๊ค การเยาะเย้ยถากถางเพื่อนบ้านด้วยท่าทีขาดความเคารพกัน ผู้เขียนเห็นว่าความไม่เชื่อความเสมอภาคภายในประเทศ ย่อมส่งผลต่อเนื่องถึงความเชื่อความเสมอภาคกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย

แบบเรียนประวัติศาสตร์ในสายตาของผู้เขียนจึงไม่ใช่เพียงแค่ เรื่องราวของว่านวงศ์คนแคบๆ ว่าทำอะไรไม่ทำอะไรในประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร หรือพงศาวดาร โดยความหมาย แต่ควรจะเป็นการอธิบายถึงการกระทำของกลุ่มคนที่กว้างขวาง โดยการเคลื่อนย้ายคำอธิบายจากประวัติศาสตร์สงคราม มาสู่ ประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์ภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น ที่จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ดี นอกจากการเรียกร้องความเสมอภาค และความเห็นอกเห็นใจกันและกันแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญที่ไม่แพ้กันด้วยนั่นคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการส่งเสริมทัศนวิพากษ์ระหว่างกัน เพราะถึงแม้ว่าในสักวันหนึ่งจะมีแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้นักประวัติศาสตร์ชั้นยอดมาเขียนตำรา แต่เขาเหล่านั้นก็ล้วนมีจุดยืนและโลกทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป การตั้งคำถามและสงสัยจึงเป็นการตรวจสอบความรู้นั้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอด โต้แย้ง หรือกระทั่งล้มล้างแนวคิดนั้นๆ เพราะว่าการเขียนประวัติศาสตร์นั้น ก็มีพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องไปกับยุคสมัยในตัวของมันเองอยู่ด้วย.

 

เชิงอรรถ

iนำเสนอครั้งแรกในงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กับการชำระประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้าน วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
iiอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
iii ประชาไท. "เสวนาปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ ถึงเวลาสามัญชนลุกยืนตัวตรง". http://prachatai.com/journal/2012/05/40703 (27 พฤษภาคม 2555)
iv ดูตัวอย่างได้ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ . "สถานทูตมะกันวอนชาวเฟซฯ หยุดข่มขู่-หยาบคาย หลังโดนถล่มหนักแส่ ม.112 ". http://www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000159704 (15 ธันวาคม 2554) และ หนังสือพิมพ์ แนวหน้า . "เฟซบุ๊ค "ไอบ้า" โดนถล่มยับ ปล้นเหรียญทอง "แก้ว" ". http://www.naewna.com/sport/17954 (12 สิงหาคม 2555)
v สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. "วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ?" ใน มติชนออนไลน์. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344931316 (14 สิงหาคม 2555)
vi หากผลงาน ชุมชนจินตกรรม(Imagined Community)ของเบน แอนเดอร์สันจะทำให้เราเห็นการก่อตัวของชาตินิยมอันตื่นตาตื่นใจทั่วโลกแล้ว ซี่รีย์ผลงานของธงชัย วินิจจะกูล อันเนื่องมาจาก Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation ก็เป็นข้อเสนอชาตินิยมไทยอันโดดเด่น ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจการจัดการของภูมิศาสตร์และแผนที่ สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ของแบบเรียนที่มีผลต่อการหล่อหลอมพลเมืองของรัฐเป็นสิ่งที่มีคนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย ประเด็นที่ใกล้เคียงกับบทความนี้ที่สุดก็คือ ชุดงานวิจัยของ สุเนตร ชุตินธรานนท์และคณะอยู่ 2 เล่ม นั่นคือเล่มแรกที่ถูกตีพิมพ์ชื่อว่า ชาตินิยมในแบบเรียนไทย(2551) และเล่มที่ 2 คือ งานวิจัย โครงการไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน (2552) งานชิ้นแรกมองทำให้เห็นว่าเรามองเพื่อนบ้านอย่างไร ขณะที่ชิ้นที่สองทำให้เห็นว่าเพื่อนบ้านมองเราอย่างไร
vii "พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 119 ตอนที่ 128 ก, 31 ธันวาคม 2555, น.11-14
viii กระทรวงศึกษาธิการ. "จำนวนนักเรียน นักศึกษา จำแนกรายชั้น รายสังกัด ประจำปีการศึกษา 2553" ใน ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ. http://www.moe.go.th/data_stat (16 สิงหาคม 2555)
ix ธิบดี บัวคำศรี. “กัมพูชาในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.202
x อ่านเพิ่มเติมได้ใน บทที่ 5 การผลิตความหมาย “พื้นที่ประเทศไทย” เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทางความคิด ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. การผลิตความหมาย "พื้นที่ประเทศไทย" ในยุคพัฒนา (พ.ศ.2500-2509) วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552
xi นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. “พม่าในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.98-99
xii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.155
xiii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552น.136 และ 157
xiv ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่า : ขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันระทึกใจ(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2533, น.87-88
xv ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียน พรรณี ฉัตรพลรักษ์และคณะ แปล. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จ การ(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2548, น.284-285
xvi ดี.จี.อี. ฮอลล์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2549, น.825-833
xvii กระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าจะอพยพประชาชนไทยพุทธให้ได้จำนวนสมดุลกับไทยอิสลามต้องอพยพประมาณ 80,000 ครอบครัว หรือประมาณ 400,000 คน ใช้พื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่เศษในจังหวัดสตูล ยะลา และนราธิวาส ดูใน“ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 16/2509 วันที่ 19 เมษายน 2509 เรื่องที่ 16 เรื่อง การอพยพประชาชนจากภาคต่างๆ ไปทำกินใน 4 จังหวัดภาคใต้” ดูใน สบ.5.1.1/416
xviii คำพิพากษาของศาลโลก แยกออกเป็น 3 ประเด็นคือ
ตุลาการออกเสียง 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”
 
โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”
 
โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ.1954
 
ดูใน กระทรวงต่างประเทศ, แปล. คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคดีปราสาทพระวิหาร(พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี), 2505, น.51-52
xix กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.138
xx "ไทยวัฒนาพานิช ราชสีห์เขี้ยวหักแห่งวังวนสนธยา " ใน นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2531) ตีพิมพ์ออนไลน์ใน http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31242 (18 กันยายน 2555)
xxi นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. “พม่าในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.121
xxii นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.99
xxiii นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.101
xxiv นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.107
xxv นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.108
xxvi อดิศร หมวกพิมาย. "นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. สถาบันพระปกเกล้า (6 ตุลาคม 2554 )
xxvii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.148
xxviii "ไทยวัฒนาพานิช ราชสีห์เขี้ยวหักแห่งวังวนสนธยา " ใน นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2531) ตีพิมพ์ออนไลน์ใน http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31242 (18 กันยายน 2555)
xxix กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.150 อย่างไรก็ตามจากการบรรยายในวันที่ 21 สิงหาคม 2555 มีผู้ฟังท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า เคยมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์มาก่อนแล้วในช่วงปี 2518 ผู้เขียนจึงค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่า มีแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่เช่นกันได้แก่ หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 4, หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 5, และ หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 6, 2496,หนังสือประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2514, แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์สำหรับมัธบยมศึกษาปีที่ 1 (ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2503) , 2518
 
แต่ผู้เขียนเห็นว่า ยังไม่สามารถปฏิเสธหรือยอมรับได้ขณะนี้ว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่มีนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และเริ่มเรียนอย่างครอบคลุมทุกชั้นปีหรือไม่ ที่ชัดเจนก็คือว่า แบบเรียนดังกล่าวอยู่ในการศึกษาก่อนระบบ 6-3-3 ที่เริ่มต้นในปี 2521 ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างยังมีความลักลั่นและไม่เป็นเอกภาพกันอยู่
xxx "100 อันดับ หนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาล !!! (รวบรวมถึงปี 2552) ". http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=1505087 (5 เมษายน 53)
xxxi มาตรฐาน ส 4.1 เข้าใจความหมาย ความสำคัญของเวลา และยุคสมัยของประวัติศาสตร์ สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบ
 
มาตรฐาน ส 4.2 เข้าใจพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในแง่ความสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงความสำคัญและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น”
 
มาตรฐาน ส 4.3 เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความภาคภูมิใจและธำรงความเป็นไทย
ในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 ก็สามารถดูได้ใน วิชาการ, กรม, กระทรวงศึกษาธิการ. สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่ม
 
สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)), 2545, น.22-24 และดูเพิ่มเติมได้ในรวิวรรณ ภาคพรต, บรรณาธิการ. เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ครู แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์(กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ), 2554
xxxii เคยมีการจัดทำหนังสือประกอบการสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น นิธิ เอียวศรีวงค์ และ อาคม พัฒิยะ. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย(กรุงเทพฯ : บรรณกิจ), 2525 และ สุจิตต์ วงษ์เทศ, ศรีศักร วัลลิโภดม และ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. หนังสือคู่มือครูสังคมศึกษารายวิชา ส 021 หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, พิมพ์ครั้งที่ 8), 2534.
xxxiii ผ่องศรี จั่นห้าวและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและ
วัฒนธรรม สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2546
xxxiv ประชาไท. "พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 สิงหาคม 2551. http://prachatai.com/journal/2008/08/17689 (12 สิงหาคม 2551)
xxxv ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“สมชาย” สนองพระราชเสาวนีย์รื้อวิชาประวัติศาสตร์". http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000095629 (13 สิงหาคม 2551)
xxxvi ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“สมชาย” สนองพระราชเสาวนีย์รื้อวิชาประวัติศาสตร์". http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000095629 (13 สิงหาคม 2551)และ มติชนออนไลน์. "ศธ.ยกเครื่องวิชา"ประวัติศาสตร์" ไทยเรียนน้อยกว่าเขมร". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1218627767 (13 สิงหาคม 2551)และ มติชนออนไลน์. "กศน.ฟื้นประวัติศาสตร์สนองพระราชเสาวนีย์"ราชินี"". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1219234417 (20 สิงหาคม 2551)
xxxvii คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ 293/2551 เรื่อง ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2551
xxxviii Youtube. "คนลาวด่าคนไทย". http://www.youtube.com/watch?v=l1wtTD13lY8 (17 มีนาคม 2554)
xxxix มติชนออนไลน์. "นานาชาติตะลึงไทยถอนตัวภาคี "มรดกโลก" สุวิทย์ทวีต "ไม่มีประโยชน์ที่เราจะอยู่ในสังคมแบบนี้"". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309022254 ( 26 มิถุนายน 2554)
xl มติชนออนไลน์. ""อองซาน ซูจี"เยือนมหาชัยฟังปัญหาแรงงานพม่า ย้ำให้เกียรติประเทศไทย" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1338354567 (30 พฤษภาคม 2555)
xli ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“พัลลภ” ชี้ไฟใต้สงครามกองโจร แฉโจรใช้ “อินโดฯ” ฝึกอาวุธ 8 เดือน-ทบ.โยนเคอร์ฟิวให้ มทภ.4 ตัดสินใจ". http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000096511 (6 สิงหาคม 2555)
xlii ผ่องศรี จั่นห้าวและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช), 2546, น.209-221
xliii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป., น.31-73
xliv ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์), ม.ป.ป., น.150
xlvธงชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 56-65.
xlviอาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์. รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์ ศรีรามเทพนคร (กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2), 2545, น.19-21
xlvii ธงชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน” ใน อยู่เมืองไทย : รวมบทความทางสังคมการเมือง เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2530, น.158-164
xlviii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.95 และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.129-130 เราสังเกตพบข้อเขียนบางตอนที่ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้เช่นกัน
xlix วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป., น.129
l “ประมวลข่าว” ใน การพระศาสนาภาค5 , 6 , 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500) : 53-54
li ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, พิมพ์ครั้งที่3), ม.ป.ป., น.39-40
lii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.39-40
liii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป.,น.133
liv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.127-128
lv มาร์ติน สจ๊วต-ฟอกซ์, จิราภรณ์ วิญญรัตน์ และคณะแปล. ประวัติศาสตร์ลาว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2553, น.21
lvi วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.128
lvii ณรงค์ พ่วงพิศและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ ม.2 ช่วงชั้นที่ 3 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, พิมพ์ครั้งที่ 17), 2552, น.44-48 และ 99
lviii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.137-142
lixธงชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 59-60
lx ธงชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 60-61
lxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.140
lxii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.143-145
lxiii ส.ศิวรักษ์. "60 ปีแห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย" บรรยายในงานฉลอง 60 ปี วันสันติภาพไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. http://prachatai.com/journal/2005/08/5285 (17 สิงหาคม 2548)
lxiv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.157
lxv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.158
lxvi วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.160
lxvii อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องรัฐชาติ เขตแดนและแผนที่สมัยใหม่ที่เพิ่งก่อตัวเมื่อ 100 กว่าปี ได้ใน ธงชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน” ใน อยู่เมืองไทย : รวมบทความทางสังคมการเมือง เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2530
lxviii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.40-55
lxix วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.103-110 และ 121
lxx ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.38
lxxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.69
lxxii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.133
lxxiii ณรงค์ พ่วงพิศและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ ม.3 ช่วงชั้นที่ 3, น.131
lxxiv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.135
lxxv มีบทความศึกษาเปรียบเทียบการเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวร ผ่านภาพตัวแทนและมีการยกตัวอย่างจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม ใน วารุณี โอสถารมย์. “เมื่อประวัติศาสตร์ชาติ เล่าเรื่องผ่านชีวิตประจำวัน จากกรณีเรื่องเล่าพระนเรศวรในภาพเขียน” ใน หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์12 (มิถุนายน 2551-พฤษภาคม 2552)
lxxvi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.40
lxxvii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.40
lxxviii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.93และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.129
lxxix ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.50
lxxx ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.39
lxxxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.110 และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.91
lxxxii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.50และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.130
lxxxiiiณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.96และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.130

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท