Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
จากในอดีตการลุกขึ้นสู้ของลูกจ้างชั่วคราว หรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันจนติดปากว่า “Sub Contract” หลายคนคงจำกันได้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2550 ลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี คุณคณาพันธุ์ ปานตระกูล ได้กระทำอัตวิบาตกรรมโดยการแขวนคอตาย โดยที่เขาหวังว่า การตายของเขาในครั้งนั้นจะไม่สูญเปล่า มันจะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้สังคมได้รับรู้และหันกลับมาให้ความสำคัญกับลูกจ้างชั่วคราวบ้าง นั่นคือคำสั่งลาของเขาในจดหมายที่เขียนขึ้นก่อนตาย แต่จากวันนั้นถึงวันนี้กว่าห้าปี สังคมกลับไม่เคยให้ความสำคัญกับคนงานในระบบเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างชั่วคราวและยิ่งซ้ำร้ายกว่านั้นการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และรูปแบบการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงนี้ยิ่งมีความซับซ้อนและยากต่อการตรวจสอบรวมทั้งมีการละเมิดกฏหมายทุกรูปแบบ
           
หลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ในมาตรา 11/1 ที่เขียนไว้อ่านแล้วเหมือนจะเข้าใจได้ว่า นายจ้างต้องจัดให้พนักงานเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกันกับพนักงานประจำ แต่จนถึงวันนี้ผ่านไปแล้วกว่าสี่ปีคุณภาพชีวิตของคนงานในระบบเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างชั่วคราวก็ยังเป็นอยู่ไม่ได้แตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มันเป็นเพราะอะไร? ยังเป็นคำถามที่ติดคาอยู่ในใจผมมาโดยตลอด ปัญหามันเป็นเพราะตัวกฏหมายหรือปัญหามันอยู่ที่การบังคับใช้กฏหมาย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฏหมายฉบับนี้หลายฝ่ายมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของนายจ้างก็เป็นกังวลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของตนเองสูงขึ้นหรือเปล่าและถ้าเป็นเช่นนั้นจะจ้างพนักงานเหมาค่าแรงไปทำไม
 
ในส่วนของลูกจ้างเหมาค่าแรงเองก็มีการคิดว่าจะมีอะไรบ้างที่เขาจะได้รับเช่นเดียวกับพนักงานประจำ และมีการคิดฝันเฟื่องไปว่าแล้วคนงานในระบบเหมาค่าแรงสามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่ตนเองทำงานได้หรือไม่ แต่จนถึงวันนี้อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าก่อนแก้ไขกฏหมายเป็นอย่างไรวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น สรุปว่าคนงานในระบบเหมาค่าแรงฝันสะลาย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร? เคยมีพนักงานในระบบเหมาค่าแรงหลายแห่งตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาแต่สุดท้ายไม่สามารถรักษาองค์กรไว้ได้เนื่องจากนายจ้างได้เปลี่ยนตัวปิดกิจการหนีไปเปิดเป็นนิติบุคคลใหม่แล้วเลิกจ้างพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด หรือบางแห่งมีความพยายามที่จะให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานประจำได้มีการรวมตัวกันใช้สิทธิ์ตามกฏหมายยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้ตนเองและเพื่อนพนักงานเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานและที่สำคัญคือความมั่นคงในการทำงานไม่มี เมื่อมีการรวมตัวกันของคนงานเหมาค่าแรงถ้าไม่ถูกเลิกจ้างก็จะถูกย้ายสถานที่ทำงานจากสถานประกอบการที่อยู่แห่งหนึ่งไปอีกสถานประกอบการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งอย่างชัดเจนแต่หน่วยงานของรัฐก็ออกมาบอกว่า นายจ้างสามารถทำได้ จึงทำให้ลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรงไม่กล้าจะออกมารวมตัวเพื่อต่อรองอย่างเป็นรูปกระธรรมอย่างชัดเจน แต่ลูกจ้างเองก็ไม่ได้หมดความพยายาม ได้มีสหภาพแรงงานหลายแห่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามของสหภาพแรงงานต่อนายจ้างเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพนักงานเหมาค่าแรงเหล่านั้น แต่นายจ้างก็จะอ้างว่า ไม่ใช่สภาพการจ้าง ไม่ยอมเจรจาด้วย
 
ฟังแล้วน่าจะเป็นเรื่องตลกแต่ขำไม่ออก ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศเดียวและเป็นประเทศแรกของโลกที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานออกมายื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน คือ ขอให้นายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 วรรค 2 ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ กฏหมายนี้บังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฏคม 2551 เป็นต้นมา ต้องย้ำอีกครั้งว่า สภาพการจ้างงานของคนงานเหมาค่าแรงยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างไปจากเดิมเลยจนบัดนี้ และที่มันตลกแต่ขำไม่ออกคือลูกจ้างต้องมายื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฏหมาย
 
วันนี้เรารู้แล้วว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานใดที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนงานเหมาค่าแรงอย่างแท้จริง ฉะนั้นเราทุกคนที่อยู่ในโรงงานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทใด ลูกจ้างประจำของบริษัท ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาค่าแรง ลูกจ้างสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา หรือจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อเราทำงานอยู่ในสถานประกอบการเดียวกันเราต้องร่วมมือและสามัคคีกัน รวมกลุ่มกันโดยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่มีอยู่ในสถานประกอบการที่เราทำงานอยู่ ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานเองมักจะวิตกและไม่กล้ารับลูกจ้างเหล่านั้นเข้าเป็นสมาชิกของตนเองเพราะเกรงปัญหาข้อกฏหมาย แต่ถ้าทุกคนมองย้อนกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 วรรค แรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่นฯ ดังนั้นสิทธิของลูกจ้างทุกคนจึงได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะมาแยกพวกเราออกจากกันได้
 
เหตุผลที่ผมคิดว่า ทำไมลูกจ้างทุกคนต้องสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพราะว่า ณ วันนี้ สหภาพแรงงานยังเป็นองค์กรของชนชั้นของกรรมาชีพหรือเครื่องมือเพียงอันเดียวที่ลูกจ้างมีอยู่ ที่สามารถเป็นองค์กรนำในการรักษา และปกป้องสิทธิ์ รวมทั้งเรียกร้องสิทธิประโยชน์และความเป็นธรรมที่ลูกจ้างทุกคนพึงมีพึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อทุกคนร่วมมือรวมพลังกันแล้วผมเชื่อว่าอำนาจในการต่อรองกับนายจ้าง หรือแม้แต่กับรัฐบาล มันจะเป็นรูปกระธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ วันนี้ถ้าเราไม่ลุกออกมารวมตัวกันในอนาคตเราจะถูกแบ่งแยกแล้วทำลาย ขบวนการแรงงานก็จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะเหลือเพียงเรื่องเล่าให้กับลูกหลานของเราฟังว่า กาลครั้งหนึ่งเราเคยมีสหภาพแรงงาน
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net