Skip to main content
sharethis

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงหลังอยู่ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนมา 15 ปี ขณะที่การประท้วงของชาวฮ่องกงนับแสนท่ามกลางการมาเยือนของหู จิ่นเทา มีความหมายอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 

นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน เดินทางถึงเกาะฮ่องกงเมื่อ 29 มิ.ย. 55 ในวาระครบรอบ 15 ปีการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับจีนจากอังกฤษและเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงสมัยที่ 4 (ที่มา: CCTV)

นายหู จิ่นเทา ตรวจกำลังพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ซึ่งประจำการที่เกาะฮ่องกง เมื่อ 29 มิ.ย. 55 ทั้งนี้ที่เกาะฮ่องกงมีทหาร PLA ประจำการอยู่ราว 6 พันนาย โดยเข้ามาประจำการนับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 (ที่มา: CCTV)

พิธีเชิญธงชาติจีน และธงเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อ 1 ก.ค. 55 โดยพิธีการดังกล่าวมีการใช้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนกวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ (ที่มา: TVB)

รายงานข่าวการประท้วงของชาวฮ่องกงในวันที่ 1 ก.ค. 55 คัดค้านวิธีการแต่งตั้งผู้บริหารเกาะฮ่องกง และคัดค้านผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนใหม่ (ที่มา: TVB) (รายงานข่าวภาคภาษาจีนกวางตุ้ง คลิกที่นี่)

การประท้วงของชาวฮ่องกงในวันที่ 1 ก.ค. 55 (ที่มา: Itishappeninghk/youtube)

 
 

ผู้ชุมนุมนับแสนเดินขบวนค้านระบบแต่งตั้งผู้บริหาร
ในวันฮ่องกงคืนจีนครบ 15 ปี

การเยือนฮ่องกงเป็นเวลาสามวันของประธานาธิบดีจีนนายหู จิ่นเทาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 15 ปีการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับจีนจากอังกฤษและเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงสมัยที่ 4 กลับต้องเผชิญกับการชุมนุมของประชาชนชาวฮ่องกงนับแสนคน ในขณะที่สื่อจีนรายงานถึงความสำเร็จของปกครองเกาะฮ่องกงภายใต้ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" นักวิเคราะห์มองว่า จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายของประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองในฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลต่อท่าทีของรัฐบาลต่อประชาชนผู้ที่เห็นต่างภายในประเทศเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนจากอังกฤษ มีรายงานว่า ประชาชนชาวฮ่องกงราวแสนคนได้ร่วมเดินขบวนในกลางกรุงฮ่องกง เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนใหม่ นายเหลียง เจิ้นอิง รวมถึงเสรีภาพที่ประชาชนมองว่าลดลงหลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของปักกิ่ง

ทั้งนี้ เหลียงถูกมองจากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงว่าเป็น "หมาป่าในคราบลูกแกะ" เนื่องจากท่าทีที่ใกล้ชิดกับปักกิ่ง อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมากขึ้น ซึ่งเหลียงปฎิเสธข้อกล่าวหาเช่นนั้น

การชุมนุมดังกล่าว คาดการณ์ว่ามีคนราว 400,00 คนเข้าร่วม นับว่าเป็นการประท้วงของประชาชนชาวฮ่องกงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 โดยการชุมนุมในครั้งนั้นนำมาสู่การลาออกของผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนแรก คือนายต่ง เจี้ยนหัว

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. หู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เดินทางตรวจพลค่ายทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ประจำฮ่องกง และได้เข้าพบกับผู้ว่าการคนใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. รวมถึงผู้รับผิดชอบองค์กรบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ด้วย

นายหู จิ่นเทา กล่าวว่า จีนจะยังคงยึดมั่นระบบหนึ่งประเทศ สองระบบ และระบุด้วยว่า ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนต่อไปจะมาจากการเลือกตั้งเสมอภาคของชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนประกาศว่าจะใช้ในปี 2560 หลังจากที่ไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีในสภาประชาชนแห่งชาติในปี 2550

โดยในระหว่างการกล่าวปราศรัยของนายหู จิ่นเทา ได้มีผู้ประท้วงตะโกนเพื่อเรียกร้องให้ยุติระบบพรรคเดียวของจีน ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นสมาชิกของพรรคซีวิค และถูกตำรวจควบคุมตัวออกจากบริเวณดังกล่าว

มีรายงานว่า นักข่าวเองก็ถูกปิดกั้นในเหตุการณ์นี้ โดยตำรวจได้นำตัวนายเร็กซ์ ฮอน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แอปเปิ้ล เดลี่ออกจากงานดังกล่าว หลังตั้งคำถามกับนายหู จินเทาเรื่องการเยียวยาในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่เทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532

"เรายังไม่สามารถเลือกผู้บริหารของเราเองได้ และนั่นก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย" แอนดรูว์ ชุม วัย 25 ปีซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการจัดประท้วงดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับ นสพ. นิวยอร์กไทมส์ "ประชาชนไม่ไว้ใจผู้ว่าการฯ เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียงในการเลือกเขา"

ทั้งนี้ ที่มาของผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 1,200 คน โดยตัวแทน 1,044 คนมาจากภาคเอกชนต่างๆ 60 คนมาจากภาคศาสนา และอีก 96 คนมาจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง

 

15 ปีและช่องว่างทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่า 15 ปีหลังจากที่ฮ่องกงถูกส่งคืนสู่จีน ฮ่องกงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย อาทิ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่มากที่สุดในเอเชีย และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้แทนของตนเองได้โดยตรง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ปักกิ่งจะเคยกล่าวว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการได้โดยตรงภายในปี 2560 แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใด มารับประกันเรื่องดังกล่าว

ดิ อิโคโนมิสต์ ตีพิมพ์บทวิเคราะห์โดยมองว่า การปฏิรูปในฮ่องกงที่จะมาถึงในอนาคตอาจส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยเฉพาะสิทธิการเลือกตั้งเสมอภาคที่จะนำมาปฏิบัติใช้ในฮ่องกงปี 2560 ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็คงจะหาวิธีเพื่อควบคุมรายชื่อผู้สมัครในฮ่องกง อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุด สาธารณชนก็จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ซึ่งต่างจากในปัจจุบัน ซึ่งผู้ว่าได้รับการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลจีน

นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีของจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนในปีหน้า น่าจะพบกับการเมืองฮ่องกงที่น่าหนักใจมากกว่าสมัยของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า นายเหลียงในฐานะผู้ว่าการคนใหม่ ได้แสดงความห่วงใยต่อกลุ่มคนยากจนในฮ่องกงมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากความนิยมที่ตกต่ำของเหลียงยังคงอยู่ มันก็อาจนำมาสู่วิกฤติการณ์แบบเดียวกับที่สามารถโค่นล้มนายตงได้เช่นเดียวกัน

หากนายสี จิิ้นผิงมีแนวโน้มที่จะปฏิรูปการเมืองในจีนมากกว่าหู จินเทา ในปักกิ่งเองก็คงจะเผชิญกับแรงกดดันที่น้อยกว่าเดิม การลงจากตำแหน่งของป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง (จุงกิง) ซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและไร้ความอดกลั้นต่อผู้ที่เห็นต่าง แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มอาจจะเป็นไปในทางที่ดี แต่จากนั้นมา ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการเปิดเสรีทางการเมืองในจีน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากกรณีพิพาทต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้เริ่มผ่อนปรนตามการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา อำเภอชีฟาง ในจังหวัดเสฉวนของจีน มีการประกาศว่าโรงงานคอปเปอร์-อัลลอยที่เดิมมีแผนจะสร้าง ถูกยกเลิกแล้วเนื่องจากเผชิญการคัดค้านจากชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางก็ตระหนักถึงอันตรายหากปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมรุนแรงเกินไป นอกจากนี้ สื่อของทางการจีน ยังได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ของจีนควรจะเรียนรู้จากสถานการณ์ในชีฟาง อย่างไรก็ตามก็ยังมีรายงานว่านักเคลื่อนไหวยังคงถูกข่มขู่และคุมขัง

ทั้งนี้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2384 หลังจีนพ่ายแพ้กับอังกฤษในสงครามฝิ่น โดยอังกฤษได้เซ็นสัญญาในสนธิสัญญานานกิงเพื่อปกครองเกาะฮ่องกงในฐานะอาณานิคม ต่อมา หลังจากที่จีนพ่ายแพ้อังกฤษในการทำสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ก็ได้ขยายเขตปกครองไปยังบริเวณคาบสมุทรเกาลูนและเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ในปี 2412 และ 2441 ตามลำดับ โดยอังกฤษมีสิทธิเช่า 99 ปี และมีกำหนดส่งมอบคืนจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

In Hong Kong, Frustration 15 Years After Return to Chinese Rule, By KEVIN DREW, June 29, 2012 http://www.nytimes.com/2012/06/30/world/asia/in-hong-kong-frustration-after-return-to-chinese-rule.html?pagewanted=all

A city apart, The Economist, Jul 7th 2012 http://www.economist.com/node/21558267

Mass protests as Hong Kong marks 15 years under China, BBC, 1 July 2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-18664132 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net