Skip to main content
sharethis

ปะทุขึ้นของความความรุนแรงในภาคใต้ หากนับจากปี 2547 ที่พรากชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 5,206 รายและ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 9,137 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 2555).....สิ่งที่ยังคงดำเนินต่อไปในวันนี้ คือการตรึงกำลังของทหารกว่าสามหมื่นนาย ขณะที่จำนวนของหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าก็ยังคงมีตัวเลขเพิ่มขึ้น เรื่องเล่าจากต่างมุมมอง ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

Fine Tune Production and Friends คืออีกพยายามในการทำความเข้าใจและสื่อสารถึงสถานการณ์ในปลายสุดของแผ่นที่ประเทศไทยครั้งล่าสุด ผ่านสารคดีชุด 2 ตอนจบ ที่ชื่อ "ความตายในพื้นที่สีเทา" และ "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"

นวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม Fine Tune Production บอกว่านี่คือผลงานร่วมกันระหว่าง Fine Tune Production ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตงานข่าวผ่านรูปแบบวิทยุและมัลติมีเดีย, South Peace Media และ INSouth Media โดยลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เรื่องราวของสารคดีชุดนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะช่วยทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยนำเสนอผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปานาเระ

2 เดือนผ่านไป เป็นที่คาดหมายว่า ปลายเดือนกรกฏาคมนี้ ผลงานทั้งสองชิ้นจะสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้

ที่มาอันยาวนาน และการผสมผสานของทีมที่แตกต่างหลากหลาย

มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ

เวลา 2 เดือนอาจจะฟังดูรวดเร็ว แต่ที่มาที่ไปของการทำสารคดีชุดนี้ถือว่ายาวนานยิ่ง “บรี” มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ จาก South Peace Media ผู้ทำหน้าที่ช่างภาพและตัดต่อ บอกเล่าให้เราฟังว่า เขาได้พบกับ “พี่น้อย” นวลน้อย ธรรมสเถียร ซึ่งขณะนั้นทำงานกับ Internews ซึ่งมีโครงการฝึกอบรมการทำสารคดีให้กับนักข่าวพลเมืองในภาคใต้ร่วมกับไทยพีบีเอส นั่นก็คือย้อนเวลาไปปีครึ่ง

“ตรงนั้นแหละที่ทำให้เราได้เจอกับพี่น้อย จากปีครึ่งทีผ่านไป เราเห็นการทำงานของพี่ๆ ตอนทีพี่น้อยทำโครงการกับไทยพีบีเอส ผมก็ได้เป็นฟิกเซอร์ของทีพีบีเอสทีมหนึ่ง ก็คิดว่าเรามั่นใจว่างานฝีมือของเราหลังจากที่เราอบรมและดูจากคนที่ทำงานแบบมืออาชีพ เราก็คิดว่าฝีมือของเราใกล้เคียง ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าเราทำสารคดีได้ แต่ก็ต้องมีโปรดิวเซอร์ที่มีประสบการณ์ช่วยหนุนเสริมในเรื่องประเด็นเพราะเรายังอ่อนในเรื่องประเด็น เพราะต้องใช้เวลา แต่ในเรื่องเทคนิคนี่คิดว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้”

บรี กล่าวว่า เมื่อเริ่มทำงานชิ้นนี้ในเดือนพฤษภาคม พวกเขาลงพื้นที่เก็บข้อมูล และก็ลงพื้นที่ถ่ายทำทุกอาทิตย์ แต่ไม่ใช่ว่าการเป็นคนในพื้นที่เองจะเป็นจุดแข็งสำหรับการทำงาน เขาพบจุดอ่อนเช่นกัน

“การที่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ จุดอ่อนคือเราไม่สามารถเข้าพื้นที่คนไทยพุทธ บางทีเราเข้าไปยาก เหมือนคนไทยพุทธที่จะเข้าในพื้นที่มุสลิม จะมีปัญหาและเข้าไปไม่ถึง การเข้าถึงเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ เพราะว่าความเป็นมลายูถูกเพ่งเล็งอยู่แล้ว

“สองคือ เราไม่ใช่สื่อกระแสหลัก จะถูกถามว่าจากไหน แหล่งข่าวมักจะบอกไม่ว่าง ถ้าเป็นคนที่เคยทำงานมีประสบการณ์ในการเข้าหาเจ้าหน้าที่ ก็จะมีทักษะที่จะเข้าหาเจ้าหน้าที่ได้”

มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ

การผสมผสานทีมที่แตกต่าง ทั้งผู้สื่อข่าวมืออาชีพที่มาจากส่วนกลาง และนักข่าวพื้นที่ ทั้งพุทธและมุสลิมนั้น ทำให้งานของทีมเป็นไปได้มากขึ้น และนี่คือสิ่งที่บรี ประทับใจมากที่สุดสำหรับการทำงานต่อเนื่องมาตลอด 2 เดือน

“ความประทับใจ การที่ทำงานกับคนที่อาวุโส เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่เหมือนทำงานกับเจ้านาย หรือคนที่เจ้ากี้เจ้าการ เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน มีอะไรก็หยอกล้อกันได้ แม้พี่เขาจะอายุแตกต่างกับเรา ไม่เครียด สองคือเราได้ทำงาน พี่น้อยสามารถเติมเต็มส่วนที่เราขาดไป เราไม่ซีเรียสเรื่องเทคนิค เพราะเรามั่นใจ แต่ที่เราขาดคือเรื่องของเนื้อหา คิดไม่เป็นเพราะเราคิดเป็นมลายู แต่พอมาเป็นภาษาไทยเราคิดไม่ออก เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้งานของเราได้รับการยอมรับ หรือออกไปสู่สถานะที่ทุกคนรู้สึกว่าลำเอียง ไม่มีการถ่วงดุล ทำให้ทุกคนดูแล้วรู้สึกว่าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายทุกประเภท จากที่เราทำมา ก็เพื่อที่จะไปถ่วงดุลข้อมูลแต่เราทำได้ฝ่ายเดียว ด้านเดียว เพราะเราเข้าหาได้ด้านเดียว เช่นมุสลิม หรือผู้ได้รับผลกระทบเราไม่มีข้อมูลจากไทยพุทธ หรือคนที่คิดเห็นต่างกัน พี่น้อยเติมเต็มในส่วนนี้”

เบื้องหลังการทำงาน

ดูแล้วได้อะไร

“สิ่งทีเราทำสารคดีชุดนี้มันคล้ายๆ เป็นโมเดล ถ้าจะรู้เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มันเกิดอะไรขึ้น เกิดอย่างไร มีบริบทอย่างไร สารคดีชุดนี้มันจะบอกถึงเรื่องนั้นได้ครอบคลุม และผมเอาโมเดลของปานาเระที่มีความขัดแย้งและเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะมีตั้งแต่การที่ฝ่ายก่อการ และฝ่ายขบวนการถูกวิสามัญฆาตกรรมซึ่งหลังจากเสียชีวิตไปสามวัน ก็มีหลักฐานว่าเป็นอดีตนักเรียนจากโรงเรียน แห่งหนึ่ง ก็มีการปิดล้อมและจับกุมอุซตาซ และยิงคนไทยพุทธ มุสลิม มีการยิงในมัสยิด มันทำให้เห็นว่าปานาเระที่เราเลือกนั้นครอบคลุม เป็นตัวแทนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในใต้ได้ส่วนหนึ่ง

แต่มันทำให้เห็นถึงความกลัว ความสงสัย เหตุที่เจ้าหน้าที่สงสัย เพราอะไรคนจึงไม่ไว้ใจกัน ต่างคนต่างกลัว ต่างคนต่างก็ระแวง”

“ธีมของเรื่องจริง จะนำไปสู่การที่เหตุการณ์ที่เกดขึ้นแล้วต้องมีตัวกลาง ผู้นำที่จะเป็นตัวกลางสำหรับการเชื่อมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน มันจะเชื่อมอย่างไรเพราะบางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ในสารคดีชิ้นนี้ก็ไม่ได้เข้าไปดูแลหรือเยียวยา หรือเขาเข้าไปไม่ถึง แต่มันก็มีตัวผู้นำหรือตัวกลางที่เข้ามาเชื่อมกับเจ้าหน้าที่ด้วย”

บรีตอบ เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เขาคิดว่าคนดูจะได้รับ

พร้อมฉายทั่วประเทศ ปลายเดือนนี้

เมื่อถามถึงความพร้อมในการนำเสนอ บรีบอกว่า อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ สารคดีสองตอนจบชุดนี้ก็จะพร้อมออกสู่สาธารณะ โดยการตระเวนฉายพร้อมจัดเวทีเสวนาวิชาการ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏาคมนี้ เริ่มจากที่ ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ ขอนแก่น และ เชียงใหม่ ส่วนสถานที่จะเป็นที่ไหนบ้างนั้น กำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน รอติดตามรายละเอียดกันอีกครั้งได้ที่ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net