Skip to main content
sharethis

(21 มิ.ย.55) พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.54 แต่ปรากฏว่า ประกาศฯ ฉบับนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ว่าจะในแง่มุมของข้อกฎหมาย นโยบาย หรือแม้แต่การนำไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติ

 
บอร์ด กทค.ชุดนี้ จึงได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการและผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อปลายปี 2554 เพื่อนำข้อมูล ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ มาประมวลข้อดี ข้อเสีย โดยสำนักงาน กสทช.ได้ข้อสรุปว่า ควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ ดังกล่าว จึงได้เสนอให้บอร์ด กทค.พิจารณา และมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคมทำการแก้ไขและปรับปรุงร่างประกาศฯ เพื่อเสนอให้บอร์ด กทค.พิจารณา และต่อจากนั้นก็นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช. โดยมีมติเห็นชอบให้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ...                  
 
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผ่าน 2 ช่องทาง คือ นำร่างประกาศพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของสำนักงาน กสทช. โดยดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว จำนวน 31 ราย
 
สำนักงาน กสทช. จะนำความคิดเห็นเหล่านี้มาประมวลเข้ากับการรับฟังความคิดเห็นที่ได้จากเวทีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันนี้ (21 มิ.ย.55) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กทค. พิจารณา ซึ่งอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯ ตามข้อมูล เหตุผล ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะส่งไปขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. แล้วส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป
             
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านกฎหมายในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อแท้ของร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ไม่ได้ไปกำกับดูแลบริษัทต่างด้าว แต่มุ่งเน้นที่จะกำกับดูแลบริษัทไทยที่อยู่หรือจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ให้ไปกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว และให้รายงานว่ามีกรณีฝ่าฝืนข้อห้ามที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งการกำหนดข้อห้ามนั้นเป็นดุลพินิจของผู้ประกอบการเอง ในลักษณะเป็นการควบคุมตนเองและเป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดบรรษัทภิบาลในกิจการของผู้ประกอบการ โดยจะต้องทำตามแนวทางที่ กสทช. กำหนด
 
ในแต่ละปีผู้ประกอบการต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช.พิจารณา เมื่อ กสทช. พบว่าไม่ถูกต้องก็จะแจ้งให้แก้ไขให้เกิดความถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ต่อไป อีกทั้งร่างประกาศฯ นี้จะช่วยดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.ไปฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะหากมีการฝ่าฝืน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ก็จะมีโทษทางอาญาที่รุนแรง
 
สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างมาโดยตลอดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้น สืบเนื่องมาจากตัวประกาศเดิมได้เข้าไปกำกับดูแลเกินเลยกว่ากรอบอำนาจของกฎหมายแม่ ตามมาตรา 8 วรรคสาม (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศฉบับนี้ ดังนั้นร่างประกาศฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องตัดประเด็นเรื่องความมั่นคงและการขอความเห็นจากหน่วยงานด้านความมั่นคงออก เพราะหากยังคงไว้นอกจากจะเป็นการกำหนดกติกาเกินเลยไปจากกรอบของกฎหมายแม่บทแล้ว ยังไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการออกประกาศฯ ซึ่งต้องการป้องปรามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว อันเป็นคนละประเด็นกับเรื่องความมั่นคงของรัฐ
 
ทั้งนี้แม้จะเห็นว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติมีความสำคัญและมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายแม่บทที่ใช้เป็นฐานในการออกประกาศมิได้ครอบคลุมไปถึงประเด็นเรื่องความมั่นคง จึงเห็นว่าประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีหากมีประเด็นเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกิจการโทรคมนาคมและต้องการสนับสนุนในเรื่องความรู้เฉพาะทางด้านนี้ กสทช.ก็ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
 
“การแก้ไขประกาศฯฉบับนี้ เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสีย และจากภาคประชาชน อย่างตรงไปตรงมา ภายใต้กรอบการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม และที่สำคัญเมื่อมีการกำหนดกติกาตรงนี้ให้มีความชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาประมูลคลื่น 3 จี ในช่วงเดือนตุลาคมนี้มีแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวที่ชัดเจนอีกด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ร่างประกาศนี้จะมีคุณค่าอย่างมาก เพราะจะทำให้เราได้ กฎ กติกา ที่เป็นธรรม และเป็นกฎ กติกา ที่ทุกฝ่ายยอมรับ อันจะส่งผลดีต่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน” ดร.สุทธิพล กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net