Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากอธิบายคร่าวๆในทางด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมและ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ในตอนนี้เราจะมาดูนโยบายสาธารณะในประเทศไทยที่ผ่านมาที่เกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆนิยมใช้นโยบายของสำนัก Equalizing of resoureces หรือ Equalizing of opportunity โดยในประเทศภาคพื้นยุโรปที่เป็นรัฐสวัสดิการมักนิยมใช้นโยบายบนฐานของ Equalizing of opportunity มากกว่า

เครื่องมือของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันคือ ภาษีอากรและงบประมาณนโยบายสาธารณะ โดยภาษีอากรทำหน้าที่เก็บเกี่ยวทรัพยากรในรูปตัวเงินจากเอกชนซึ่งถ้ามีนโยบายภาษีที่ดีแล้วการกระจายรายได้ย่อมมีความเท่าเทียมกันสูง เมื่อเก็บภาษีได้แล้วจะถูกแปรเป็นวบประมาณนโยบายสาธารณะเพื่อกระจายทรัพยากรต่างๆให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมโดยอาจเป็นรูปตัวเงิน เช่นเงินช่วยเหลือ หรือในรูปไม่ใช่ตัวเงิน เช่นการบริการสาธารณสุขเป็นต้น

สำหรับประเทศไทยในอดีตการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันวางอยู่บนฐานความคิดเสรีนิยม(liberalisme) เป็นหลักและมีผลต่อสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน การกระจายทรัพยการอย่างเท่าเทียมกันอาศัยการกระทำโดยเอกชนและรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง เราจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยนิยมการทำบุญกันมาก ทั้งนี้อาจมีผลมาจากความเชื่อทางศาสนาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการกระทำโดยเอกชนอาจไม่เพียงพอต่อการกระจายรายได้อย่างยุติธรรมและจำเป็นต้องให้รัฐมีนโยบายต่างๆ แต่ถึงกระนั้นนโยบายรัฐหลายๆอย่างก็ดูจะเหมือนไม่ได้อิงแนวความคิด Egalitarisme แต่เป็นนโยบายเพื่อจูงใจให้เอกชนทำบุญบริจาคมากขึ้น เช่น นโยบายการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล การลดหย่อนภาษีให้บริษัทต่างๆที่บริจาคเงินเพื่อการกุศล นโยบายการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลกรณีที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวที่แก่ชรา เป็นต้น นโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นการบริจาคของเอกชนไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะให้เกิดความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากรได้ดีขึ้น เราไม่สามารถทราบได้ว่าเงินที่เอกชนบริจาคไปให้เอกชนรายอื่นนั้นเป็นคนที่ลำบากจริงๆหรือมีรายได้น้อยจริงๆ ซึ่งถ้าคนที่ได้รับไม่ได้เป็นผู้รายได้น้อยจริงย่อมจะเกิดผลเสียหายมากกว่า เพราะ 1.)รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามปกติกับผู้บริจาค จากการลดเว้นภาษีทำให้รัฐขาดรายได้เพื่อใช้จ่ายนโยบายสาธารณะอื่นๆเพื่อให้ผู้ลำบากเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น 2.) เกิดการสะสมเงินบริจาคมาขึ้นของผู้รับโดยผู้รับไม่ต้องเสียภาษีจาการรับบริจาคอีกด้วย ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนในสังคมกว้างขึ้น

นอกจากการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการบริจาคแล้ว การที่สังคมไทยไม่มีกฎหมายภาษีมรดกนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญของฐานความคิด Equalizing of opportunity เลย โดยฐานคงามคิดของ Equalizing of opportunityนั้นปัจเจกชนจะได้ทรัพยากรหรือสวัสดิภาพมากกว่าคนอื่นๆได้ก็ต้องมาจากตัวแปรที่ชอบธรรม เช่นการทำงานจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง แต่กลายเป็นว่าคนที่ร่ำรวยจากการสืบทอดความมั่งคั่งนี้ต่อไปได้เพียงแค่โชคดีเกิดมาในครอบครัวมีอันจะกิน และการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อๆไปเรื่อยๆย่อมเกิดการสะสมทุนความมั่งคั่งและก่อให้เกิดกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมที่ผูกขาดกันแค่ไม่กี่ตระกูลในสังคมไทย ดังนั้นในประเทศที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันมากกว่าจึงมีกฎหมายภาษีมรดกซึ่งรวมถึงประเทศเสรีนิยมเข้มข้นอย่างอเมริกาก็มีภาษีมรดกเช่นกัน

ในด้านนโยบายสาธารณะเพื่อการกระจายทรัพยากร ในอดีตก็วางอยู่บนฐานเสรีนิยมเช่นกัน ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือนโยบายบริการสาธารณะสุข ก่อนที่มีนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบต่อความเจ็บป่วยของตนเอง คนป่วยต้องจ่ายเงินรักษาเองไม่ว่าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐ สำหรับคนยากจนที่ไม่มีปัญญาจ่ายค่ารักษาก็ไม่ได้รับการดูแล ต้องนอนรอความตายหรือรอความเมตตาจากเอกชนรายอื่นๆ เช่นจากองค์กรการกุศล หรือจากความช่วยเหลือทางวัดวาอาราม ซึ่งการรอความใจบุญก็เหมือนซื้อลอตเตอรี ต้องรอจนกว่ามีผู้ใจบุญมาพบเจอ
และเนื่องจากหลายๆรัฐบาลจากอดีตถึงปัจจุบันมุ่งเน้นแต่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าความเท่าเทียม นโยบายสาธารณะหลายๆอย่างจึงวางอยู่บนรากฐานของ Utilitarisme รัฐบาลมองเฉพาะผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศกว้างๆโดยไม่มองรายละเอียดของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย รัฐบาลพร้อมที่จะแทรกแซงสิทธิเอกชนในนามของผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อเปลี่ยนประเทศจากภาคเกษตรเป็นหลักให้กลายเป็นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักอย่างรวดเร็ว นโยบายภาษีต่างๆให้อานิสงค์แก่ภาคอุตสาหกรรม ภาคตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ นโยบายการงดเว้นภาษีต่างๆในภาคอุตสาหกรรม เช่น การงดเว้นภาษีปัจจัยการผลิต เครื่องจักรบางอย่าง การงดเว้นภาษีช่วงระยะแรกๆ การไม่มีภาษีรถยนต์ส่วนบุคคลที่เกินความจำเป็น นโยบายด้านการตลาดการเงิน เช่นการงดเว้นภาษีซื้อขายหุ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นการเก็บภาษีที่ดินในอัตราต่ำ การไม่มีอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับผู้ถือครองที่ดินมากกว่าอยู่อาศัย เป็นต้น ผลของการลดเว้นภาษีข้างต้นทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการได้กำไรมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเก็บภาษีได้น้อยลงและมีงบประมาณจำกัดเพื่อใช้จ่ายนโยบายสาธารณะอื่นๆ รัฐจึงต้องเก็บภาษีทางตรงอื่นๆเพิ่มขึ้นแทน เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาระต่างๆจึงตกมาที่ประชาชนมากกว่าผู้ประกอบการ

ในด้านนโยบายสาธารณะที่วางรากฐานอยู่บนUtilitarismeนั้น นโยบายสาธารณสุขในอดีตก็เห็นภาพได้ชัดเจน รัฐบาลไทยให้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลแก่กลุ่มข้าราชการเป็นอันดับแรกก่อนกลุ่มอื่นๆในสังคม สวัสดิการข้าราชการเริ่มมีตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งข้าราชการเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากสวสดิการนี้แต่กลับนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาเป็นค่าใช้จ่าย การใช้ภาษีสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลเลือกที่จะอุ้มกลุ่มคนข้าราชการในสังคมไทยมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ประชาชนทั้งประเทศต้องเสียสละเพื่อให้ข้าราชการได้ประโยชน์

ส่วนประกันสังคมเพิ่งเริ่มมีเมื่อปี 1992 และเฉพาะลูกจ้างที่มีเงินเดือนเท่านั้นที่มีสิทธิประโยชน์ พวกแรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และนี่ก็สะท้อนอีกเช่นกันว่านโยบายสาธารณะให้ความสำคัญกับพวกทำงานในระบบมากกว่าคนทำงานนอกระบบตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างคือเงินจากกองทุนประกันสังคมไม่ได้มาจากภาษีอากรร้อยเปอร์เซนต์แต่มาจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

ในปัจจุบันสังคมไทยเริ่มมีนโยบายสาธารณะบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรม หลายๆนโยบายที่ถูกตราว่าเป็นนโยบายประชานิยมนั้นเมื่อวิเคราะห์แล้ว กลับเป็นนโยบายสาธารณะที่วางอยู่บนฐานความคิด Equalizing of resoureces

นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายที่ชัดเจนที่สุด รัฐบาลทำหน้าที่จัดหาบริการสาธารณสุขเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อสินค้าสาธารณสุขเป็นสินค้าพื้นฐานสำหรับทุกๆคนในฐานะมนุษย์เพื่อซ่อมแซมและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ทุกๆคนจะได้รับแพกเกจการรักษาขั้นพื้นฐานที่เหมือนกันทุกคนตามสภาพความเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ไม่ได้ห้ามประชาชนที่มีความพยายามขวนขวายมากกว่าในการหาประกันสุขภาพเอกชนเพิ่มเติมที่ถูกใจกับรสนิยมของคนซื้อประกันนั้นๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่านโยบายสามสิบบาทวางอยู่ยนรากฐานของ Equalizing of resoureces มากกว่า Equalizing of opportunity คือ การเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างยากลำบาก นโยบายสามสิบบาทให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนเฉพาะเป็นแพกเกจที่กำหนดให้โดยส่วนกลางของรัฐ สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากบัญชีที่กำหนดไว้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ถึงแม้จะมีความจำเป็นมากเท่าใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น บัญชียาจะกำหนดรายชื่อยาที่โรงพยาบาลสามารถขอเบิกจ่ายเงินคืนจากส่วนกลางได้ สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนั้นโรงพยาบาลไม่สามารถเบิกเงินคืนได้ แต่ถ้ามีคนป่วยที่ร่างกายไม่ตอบสนองกับตัวยาในบัญชีดังกล่าวและต้องใช้ตัวยาอื่นราคาแพงที่อยู่นอกบัญชียาจึงสามารถส่งผลดีต่อร่างกายได้ และถ้าผู้ป่วยเป็นคนยากจนไม่มีปัญญาจ่ายค่ายาแพงๆแล้ว คนป่วยย่อมไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องกับความจำเป็นของตนเอง และไม่มีโอกาสเท่ากับคนอื่นๆในการมีสุขภาพดีขึ้น

ส่วนนโยบายสาธารณะที่วางรากฐานอยู่บนฐาน Equalizing of opportunity ซึ่งเป็นที่นิยมในรัฐสวัสดิการนั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะปรากฏในสังคมไทย ซึ่งความคิดนี้มุ่งเน้นเพื่อให้คนทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะได้สวัสดิภาพอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ตามสถานที่สาธารณะต่างๆยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นทางลาด บันไดเลื่อน หรือลิฟท์ต่างๆหรืออุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้คนพิการไปไหนมาไหนได้ตามใจตนเองเหมือนคนอื่นๆ โดยที่พึ่งตนเองได้และไม่ต้องพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

ถ้าสังคมไทยมีความเท่าเทียมกันทางโอกาสกันทุกคนจริง คงไม่มีรายการประเภท คนจน คนพิการ ออกมาร้องขอความสงสารอย่างที่ปรากฏอยู่ในรายการโทรทัศน์เช่นปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net