Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้าสี่บท เป็นการอธิบายคร่าวๆถึงความยุติธรรมในบริบทเศรษฐศาสตร์ซึ่งวางอยู่บนฐานความคิดในการกระจายทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคม และชนิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทางการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรม ปัจจุบันทฤษฎี Egalitarisme liberale เป็นกลุ่มความคิดที่เด่นชัดสุดในสภาพสังคมโลก นโยบายบริหารประเทศหลายๆประเทศส่วนใหญ่ที่เห็นความสำคัญด้านการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมดัดแปลงแนวความคิดมาใช้เป็นรูปธรรม ซึ่งแล้วแต่ว่าประเทศไหนจะเลือกใช้แนวความคิดของสำนัก Equalizing of resources เช่นแนวความคิดของ รอว์ล หรือ ดวอ์กิน หรือของสำนัก Equalizing of opportuinty เช่นแนวความคิดของ เซน หรือ โรเมอร์ อย่างไรก็ตามในแง่วงการวิชาการปัจจุบันแล้วแนวความคิดของโรเมอร์ได้รับความสนใจและนักวิชาการคนอื่นๆนำมาพัฒนาต่อเนื่องมากกว่า ส่วนในทางปฏิบัตินั้นผู้วางแผนนโยบายนั้นดูจะสนใจแนวความคิดEqualizing of resources มากกว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุจากการกระจายทรัพยากรภายนอกอย่างเท่าเทียมเป็นนโยบายที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า และมีการวัดได้เห็นภาพชัดเจน มากกว่าแนวความคิด Equalizing of opportunity ที่ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมกันของสวัสดิภาพหรือแสดงผลซึ่งเป็นเรื่องที่วัดได้ยากและขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลอย่างมาก

ทั้งนี้นโยบายการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมในประเทศส่วนใหญ่วางอยู่บนแนวคิด Egalitarisme liberale ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากแนวความคิดเสรีประชาธิปไตย กลไกที่จะส่งผลสัมฤทธิ์ได้นั้นจึงต้องประกอบด้วย เสรีภาพของปัจเจกชนในการเลือกที่จะทำเลือกที่จะเป็น หรือเลือกที่จะแสดงออกมา และในขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นนิติรัฐเพื่อรับประกันว่าการที่รัฐแทรกแซงกรรมสิทธิของปัจเจกชนได้นั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดชัดเจนและเท่าเทียมกันกับคนทุกคนในสังคม รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือบังคับความคิดของประชาชนให้ชอบในสิ่งที่รัฐอยากให้ชอบ

ดังนั้นในประเทศที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยและไม่มีระบบนิติรัฐย่อมมีแนวโน้มสูงที่จะล้มเหลวในการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน

ในส่วนต่อจากนี้จะอธิบายถึงการนำแนวความคิดปรัชญาของการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะ และเปรียบเทียบสถานการณ์ความยุติธรรมในสังคมไทยและนโยบายของรัฐไทยที่เกี่ยวกับความยุติธรรม

เพื่อที่จะทราบว่ามีการกระจายกันอย่างเท่ากัน(equality)หรือไม่ โดยไม่ได้เป็นแค่ความรู้สึกแต่ต้องการให้เห็นเป็นรูปธรรมนั้น เราจึงต้องอาศัยเครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อวัดการกระจายตัวของทรัพยากรในสังคม เครื่องมือที่คลาสสิคและนิยมคือ Lorenz curve และ Gini index

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์ (5)

การกระจายรายได้ (income) เป็นตัวชี้วัดที่นิยมใช้ เพราะเนื่องจากมีมูลค่าชัดเจนแสดงออกมาเป็นตัวเลขและสามารถเปรียบเทียบค่าเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้และไม่มีขอบเขตซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เหมาะกับการใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ Lorenz curve อย่างไรก็ตามนอกจากรายได้แล้วเราสามารถวัดการกระจายตัวของทรัพยการอื่นๆได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดเฉพาะทรัพยากรที่สามารถเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้เท่านั้น จากรูปข้างบนเป็นตัวอย่างของ Lorenz curve เพื่อแสดงการกระจายตัวของทรัพยากรที่เราต้องการวัดในสังคมในที่นี้คือ รายได้ แกนนอนแสดงถึงเปอร์เซนต์การสะสมของจำนวนประชากรโดยทำการเรียงลำดับจากประชากรที่มีรายได้น้อยไปผู้ที่มีรายได้มาก (cumulative share of people from lowest to highest incomes) ส่วนแนวตั้งแสดงถึงเปอร์เซนต์การสะสมของรายได้ (cumulative share of income earned) ส่วนเส้นทแยงมุมแสดงถึงการกระจายตัวที่เท่าเทียมกัน (line of equality) และเส้นโค้งที่ทอดยาวนั้นคือ Lorenz curve ซึ่งแสดงถึงการกระจายตัวของรายได้ในสังคมปัจจุบัน

ถ้าการกระจายตัวเป็นอย่างเท่ากัน(equality distribution)แล้ว Lorenz curve จะทับเส้น line of equality แต่จากรูปตัวอย่างข้างบนcurve อยู่ใต้เส้นทแยงมุมแสดงว่ามีความไม่เท่ากันเกิดขึ้น เช่น ในรูป ประชาชนที่จนที่สุดสิบเปอร์เซนต์กลับครอบครองรายได้เฉพาะห้าเปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมดในสังคม ในขณะที่ประชาชนรวยที่สุดสิบเปอร์เซนต์ของสังคมกลับครอบครองรายได้สี่สิบเปอร์เซนต์ของสังคม

พื้นที่ระหว่าง Lorenz curve และ line of equality แสดงถึงการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่ากันยิ่งมีพื้นที่มากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความไม่เท่ากัน (inequality) มากเท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวนี้สามารถแปลงเป็นค่าดัชนีชี้วัด Gini index โดยค่านี้มีค่าเท่ากับสองเท่าของพื้นที่ ค่า Gini index มีค่าได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหนึ่ง โดยที่ศูนย์แสดงถึงไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ และเท่กับหนึ่งแล้วแสดงถึงการกระจายรายได้ที่มีความไม่เท่าเทียมกันสมบูรณ์แบบ

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์ (5)

จากรูปข้างบน (JETIN B., « Le développement de la Thaïlande est-il socialement soutenable ? ») เส้นสีม่วงแสดงถึงค่า Gini index ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 1962 ถึง 2006 ซึ่งมีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จำนวนประชากรในประเทศไทยที่พ้นจากเส้นความยากจนจะลดลงเรื่อยๆก็ตาม

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์ (5)

จากแผนภาพข้างบน ( http://www.unescap.org/stat/data/syb2011/I-People/Income-poverty-and-inequality.asp ) แสดงถึง Gini indexในการกระจายรายได้ ของประเทศต่างๆในเอเชียปิฟิค ประเทศไทยมีค่าสูงถึงประมาณ0.43 ในรายงานยังระบุด้วยว่า ยี่สิบเปอร์เซนต์ของคนไทยที่จนที่สุดมีรายได้เพียงแค่หกเปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมดในสังคม และเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วยกัน ความไม่เท่าเทียมกันนี้มีค่าสูงกว่าประเทศ ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์ตะวันออก อินโดนิเซีย แต่ความไม่เท่าเทียมกันด้านกระจายรายได้ของไทยกลับน้อยกว่าของประเทศภูฎาณที่เชื่อว่ามี ความสุขมากที่สุดในโลก หรือว่าสำหรับประเทศที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย เช่นภูฏาณแล้ว ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้เป็นค่านิยมเฉพาะตัวที่ฝังอยู่ในรากลึกของประเทศ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net