Skip to main content
sharethis
เช้าวันนี้ผมได้มีโอกาสอ่านร่าง พรบ.ว่าด้วยความปรองดอง (ต่อไปจะแทนด้วย "ร่าง พรบ.ปรองดอง") ฉบับเต็ม[1] แล้วก็เกิดความกระอักกระอ่วนใจ แต่ด้วยความที่ธรรมชาติของตัวผมเองไม่ได้ถูกฝึก และเรียนมาในฐานะนักกฎหมาย จึงต้องขอละเว้นไม่เข้าไปพูดในประเด็นด้านกฎหมาย และการตีความทางกฎหมายของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ กระนั้นต่อให้เราตัดประเด็นเรื่องทางกฎหมายออกไปตัวเนื้อหาโดยรวมๆ และการมีอยู่ของ พรบ.ปรองดองนี้โดยตัวมันเองนั้นก็นับว่ามีปัญหามาก และในระดับรากฐานที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยก็ว่าได้ นั่นคือ "การทำให้ความเป็นคน ของคนแต่ละคนในสังคมไม่เท่ากัน"
               
คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าการเขียนถึงท่าทีต่อการ "ปรองดอง" และการ "สร้างบรรยากาศของความปรองดอง" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์, ทักษิณ และ นปช. ว่า ปรองดองโดยจงใจหลงลืมผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง และครอบครัวของเขาเหล่านั้น ให้ลืมไปเถิด แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ มีการเขียนถึงมาไม่น้อย โดยเฉพาะจากอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และอีกหลายท่าน แต่แน่นอนว่า ร่าง พรบ.ปรองดอง มันมีนัยยะสำคัญเกินกว่าการเป็น "ท่าที และการสร้างบรรยากาศ" อย่างที่ผ่านๆ มา ในทางหนึ่งมันย่อมหมายถึงการหักหลังความเชื่อใจทั้งหมดทั้งมวลที่มีต่อรัฐบาล ของเหล่าผู้ซึ่งสูญเสีย และครอบครัว สองมันคือการเรียกร้องอย่างไร้ยางอายต่อผู้ที่เสียสละมามากจนเกินกว่าจะเสียสละอะไรต่อไปได้อีก สามมันเสมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงความหวังอันริบหรี่ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้ความจริงปรากฏ และสี่มันคือการยัดเยียดมาตรฐานของความเป็นคนอันไม่เท่ากันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งไม่ใช่ลักษณะใหม่ในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง ที่ผู้มีใจใฝ่ประชาธิปไตยควรเกิดอาการคลื่นเหียนทุกครั้งที่พบเจอเสียด้วยซ้ำ)
               
ความผุพังทางความคิด และท่าทีที่มีต่อการเมืองสามประการแรกนั้นคงไม่ผิดที่จะกล่าวได้ว่า มันตอบอธิบายตัวมันเอง (self-explanatory) อยู่แล้ว เพราะผู้ซึ่งสละชีวิตให้กับการต่อสู้ทางการเมือง และครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้นนั้น เป็นผู้ที่เสียสละเกินกว่าที่จะมีใครหน้าไหนมีสิทธิมาขอให้พวกเขาเสียสละอะไรเพิ่มเติมได้อีกแล้ว แต่ในขณะนี้ทางรัฐบาล และ นปช. กลับขอให้พวกเขาเสียสละยิ่งขึ้นไปอีก ขูดรีดให้พวกเขา "สละความทรงจำ และความเป็นธรรมทั้งปวงที่มีต่อการสูญเสียนั้น" อนึ่งหากนี่เป็นท่าที่ของรัฐบาล และรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย มันก็คงเป็นระบอบประชาธิปไตยในนัยยะที่ "ประชา" ไม่ได้สื่อถึง "ความเป็นคน" หากแต่สื่อถึง "วัตถุทางการเมือง (Political subject)" อันมีค่าต่ำกว่าคนเสียมากกว่า เป็นวัตถุทางการเมืองที่พวกเขา (รัฐ) สามารถเรียกร้อง และขูดเค้นทุกคุณค่าเหนือตัวตนนั้นๆ ออกมาเพื่อประโยชน์ขอพวกเขาได้อย่างเต็มที่
               
ในแง่นี้เองที่ความฟอนเฟะของ ร่าง พรบ.ปรองดอง นี้นำมาสู่ข้อสรุปข้อที่สี่ ที่ว่ามันกำลังยัดเยียดมาตรฐานของความเป็นคน ว่าตัวตนของผู้ซึ่งสูญเสีย และครอบครัวนั้นไม่ได้เป็นคนดั่งเช่นที่พวกเขาเป็น มันเป็นการบอกกล่าวอย่างทื่อมะลื่อ ผ่านตัวอักษรว่า เฉพาะตัวตนที่มีอำนาจในการลิดรอนสิทธิของผู้อื่นเท่านั้นจึงนับได้ว่าเป็นคน ส่วนตัวตนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็จงอยู่ในกองของฝุ่นผงต่อไป ที่มีหน้าที่ (function) เพียงแค่รับเงินไปเมื่อลูกตาย แล้วก็เงียบๆ หายๆ ไปเสีย อย่าได้มาปรากฏตัวอย่างเป็นปฏิปักษ์ใดๆ อีก หากจะปรากฏก็อนุญาตให้ทำได้แต่ในเพียงบทบาทของการเชิดชูเท่านั้น ไม่สู้ต่างจากการเป็นเทพยดาที่ล่องลอยอยู่เหนือสามัญสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดี และการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นัก
               
ปัญหาสำคัญที่ ร่าง พรบ.ปรองดองก่อร่างภาวการณ์ดังกล่าวขึ้นมานั้น เห็นได้จากการ "กราดเกลี่ย (Generalise)" ให้เกิดการนิรโทษกรรม (ลบทิ้งกรรมอันเป็นโทษ ว่าเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น) ของทุกๆ ฝ่าย นับแต่19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 หรือพูดง่ายๆ คือ "เก็บทุกอย่างไว้ใต้พรมเสีย เหมือนทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้น ทุกฝ่ายต่างหวังดีกับสังคมด้วยกันหมด"
               
การกราดเกลี่ยที่ว่านี้เองที่เป็นปัญหามากเพราะมันมีค่าเท่ากับการจัดวางโครงสร้างของความเป็นคนขึ้นมาใหม่ กล่าวคือ ความเป็นคนนั้น หาได้เกิดมีขึ้นตามธรรมชาติ มันต้องผ่านกระบวนการก่อสร้าง ลบทิ้ง ต่อเติมชุดคุณค่ามากมายบนตัวตนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ คนจึงไม่ได้มีความหมายถึงมวลสารของเลือดเนื้อและกระดูก แต่มันต้องหมายรวมไปถึงคุณค่าอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับในสังคม ความยุติธรรม เป็นอาทิ ที่หลอมรวมเป็นตัวคนๆ นั้นขึ้นมาบนพื้นที่ของสังคมโลก ซึ่งการกราดเกลี่ยของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้เองมีนัยยะที่พิเศษอยู่ คือ โดยปกติการกราดเกลี่ย มักจะให้ภาพของการกระจายๆ ตัวออกไปอย่างเท่าๆ กัน แต่กับกรณีของ ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ มันกลับตรงกันข้าม มันเป็นการกราดเกลี่ยที่ปัดคุณค่าของความเป็นคนให้กองไว้กับฟากหนึ่ง โดยที่ลดทอนอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ปราณีปราศรัย เพราะมันเป็นการฉาบหน้าให้เท่ากัน จากฐานของความไม่เท่ากันแต่เดิมอยู่แล้ว
               
ร่าง พรบ.ปรองดองนี้ ทำตัวดัดจริตเสมือนว่า คณะรัฐประหาร (คปค./คมช.) และผู้สังหารประชาชน กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเป็นผู้ซึ่งเสียหายอย่างเท่ากัน ในระนาบเดียวกันแต่ต้น จึงจะมาสามารถ "เกลี่ยทุกอย่าง" (นิรโทษกรรม) ได้เหมือนๆ กันไปหมด ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งก่อความผิดระดับโทษประหารชีวิต แต่กลับได้กินดี อยู่ดี รับตำแหน่งสูงๆ ทั้งทางการเมือง และสังคม โดยไม่เคยต้องรับโทษในทางกฎหมายใดๆ เลย ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในการชุมนุม และครอบครัวนั้นแม้จะไม่ได้กระทำผิดอะไร (หรือหากจะผิด ก็เป็นความผิดที่มีโทษเล็กน้อยกว่าการรัฐประหาร หรือการสั่งปราบปรามประชาชนมากอย่างเทียบไม่ได้) แต่พวกเขานั้นกลับได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจจะประเมินได้อยู่แล้วแต่ต้น นี่มันคือระนาบของความต่างที่เกิดขึ้นแต่แรกอยู่แล้วที่หากตาไม่มืดบอดย่อมมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามแต่อย่างใด ฉะนั้นการจะมาฉาบเกลี่ยผิวหน้าให้ทุกอย่างมันหายไปหมด เหมือนๆ กัน โดยไม่สนใจความไม่เท่ากันอย่างสิ้นเชิงของรากฐานของปัญหาใดๆ เลยนั้น จึงทั้งเป็นความมักง่าย และเป็นการบอกให้รู้อย่างชัดแจ้งด้วยว่า สำหรับรัฐบาลแล้ว "คนที่ตายไป เป็นเพียงมวลสารของเลือดและก้อนเนื้อที่เคยขยับได้เท่านั้น" ไม่ได้เป็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้น โครงสร้างของความเป็นคนของเขาเหล่านี้จึงถูกรื้อถอนออกมา อย่างไม่ใยดี
               
สำหรับร่าง พรบ.ปรองดองนี้ ความเป็นคนมันจึงกลายเป็นสิ่งที่มีลำดับขั้น หากแต่เป็นลำดับขั้นที่จะมองไม่เห็นจากภายนอก เพราะโดนฉาบเกลี่ยเอาไว้ ให้ดูเท่าๆ กันไปเสียหมดจากการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ลำดับขั้นของความเป็นคนจึงแสดงออกอยู่แต่เพียงที่ฐานรากของปัญหาอันขรุขระไม่มีเท่าเทียม ที่ ร่าง พรบ.นี้พยายามจะกลบปิดเอาไว้ ความเป็นคนถูกตัดสินผ่านมาตรฐานชุดใหม่ นั่นคือ การดูจากความมีอำนาจเหนือการตัดสินคุณค่าของความเป็นคนนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบุคคลซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่าเค้าเป็นคนเหมือนๆ กับเรา เพราะเขาเรียกร้องหาความเท่าเทียม และปัญหาเรื่องการมีหลายมาตรฐานเหมือนกับเรากลับไม่มีอยู่แล้ว เพราะเค้ากลับกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินคุณค่าเหนือความเป็นคนได้แล้ว (และด้วยเสียงของพวกเราๆ เองด้วยนี่แหละ) ความเป็นคนของพวกเค้าหาได้หายไป แต่สิ่งที่ถูกทำให้หายไปนั้นคือความเป็นคนของพวกเรา ที่จะถูกกลบทับไปให้กลายเป็นวัตถุทางการเมือง เพื่อตอบสนองฟังก์ชั่นการทำงานตามวิถีของความปรองดองต่อไป กล่าวอีกอย่างก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่า "หากเราเลือกที่จะปรองดองในรูปแบบนี้แล้ว แปลว่าเรากำลังเลือกที่จะละทิ้งความเป็นคนด้วยมือเราเองอีกถ่ายหนึ่งด้วย" หากเรายังหวังจะอยู่อย่างคนที่เท่าเทียมกันต่อไป คงหนีไม่พ้นให้ทำการเสริมรากฐานอันขรุขระไม่เสมอกันนี้ให้ได้ระดับใกล้เคียงกันก่อน และการณ์นี้จะขาดไม่ได้เลยซึ่ง "การได้มาซึ่งความจริง" และไปสู่การคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสียอย่างยุติธรรมเสียก่อน ความปรองดองนี้จึงจะมีสิทธิเกิดขึ้นได้
               
ผมรู้สึกคลื่นเหียนมากจริงๆ กับร่าง พรบ.ปรองดองนี้...   
               
 
               
 
 
จากบทความเดิมชื่อ:ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ กับมาตรฐาน และลำดับขั้นความเป็นคน
 

[1]สามารถเข้าถึงได้จาก http://www.mediafire.com/view/?acdn1nbxihn66hi
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net