Skip to main content
sharethis
เอ็นจีโอสวนกลับ อิตาเลี่ยนไทยเดินหน้าทำอีเอชไอเอ อัดสร้างภาพหวังระดมมวลชนสนับสนุนโครงการ บี้ กพร. –กระทรวงทรัพฯ เข็นโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าโครงการอันตรายอีกรอบ  หลังอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลุด 11 โครงการรุนแรง  ไม่ต้องทำอีเอชไอเอตาม ม. 67 วรรค 2   หวังสร้างมาตรฐานกฎหมายเหมืองใต้ดินทั้งประเทศ 
 
25 พ.ค. 55 - มีความเคลื่อนไหวภายหลังการเดินหน้าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review : ค.3) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่โรงแรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง อนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 และนำมาซึ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเวทีสุดท้ายในครั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
 
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่  กล่าวว่า สิ่งที่ต้องชัดเจนในการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายของของบริษัทเอพีพีซี คือ การทำอีเอชไอเอ เป็นเจตนารมย์ของบริษัท หรือเป็นการปฎิบัติตามข้อกฎหมาย 67 วรรค 2  เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี หลุดจากการเป็นโครงการที่เข้าข่ายความรุนแรง เพราะฉะนั้นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอีเอชไอเอแต่ประการใด สิ่งที่ทำเพียงแค่ต้องการสร้างภาพว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  ประเด็นสำคัญก็คือเหตุใด กพร.จึงปล่อยให้บริษัทเดินหน้าทำอีเอชไอเอ ทั้งที่ไม่ต้องทำเรื่องนี้แต่อย่างใด
 
“เมื่อไม่เข้าโครงการความรุนแรง เหตุใดบริษัทอิตาเลี่ยนไทยจึงดึงดันเดินหน้าทำอีเอชไอเอ เพื่ออะไร หรือเพื่อเกณฑ์มวลชนให้ตีกัน ระดมมวลชนเพื่อสนับสนุนโครงการของตนเอง กพร.ต้องถามบริษัทอิตาเลี่ยนไทยให้ชัดว่า ทำตามข้อกฎหมายหรือเจตนารมย์อย่างอื่น อย่าลืมว่าที่ผ่านมากระบวนการการทำโครงการเหมืองแร่โปแตชผิดตั้งแต่ต้น มันก็ผิดไปทั้งหมดตั้งแต่ประเด็นการไต่สวนขอประทานบัตร ที่มีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ แล้วจะไปทำประเมินอีเอชไอเอได้อย่างไร” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
 
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระบวนการขั้นตอนก็ผิดมากมายแต่กลับไปจัดทำประเมินอีเอชไอเอ มันกลับหัวกลับหางกันไปหมด  บริษัทจะเอาข้อมูลมาจากไหนไปประเมิน ต้องไม่ลืมว่าโปแตชมีหลายพื้นที่ทั่วอีสาน เพราะฉะนั้นจะต้องมีมาตรฐานทางกฎหมายทีชัดเจนว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชจะเข้าหรือไม่เข้าโครงการอันตราย
 
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชไม่เข้าข่ายโครงการรุนแรงตามมาตรา  67วรรค 2  ทั้งที่โครงการแบบนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอันตราย นั้นหมายถึง มันไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ดี เพราะฉะนั้น กพร. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องทบทวนโครงการเหมืองแร่ใต้ดิน และทำหนังสือไปยังหน่วยงานราชการทีเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สผ. หรือกระทรวงทรัพยากรฯ  ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการอิสระสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทบทวน ให้ดึงกลับโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าประเภทโครงการความรุนแรง   นั้นหมายถึงจะส่งผลไปถึงมาตรฐานการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั้งหมดในประเทศไทย  นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ยังมีโครงการไหน ที่ควรจะต้องทบทวนเปลี่ยนเพิ่มเติม กพร.ควรจะเป็นตัวนำร่อง สนับสนุนโครงการอันตราย  ให้จัดอยู่ในประเภทกิจการที่อาจมีผลกระทบรุนแรง เพื่อให้มีกระบวนการศึกษาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ
 
ด้านนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  กล่าวว่า กพร.ทราบว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่เข้าโครงการความรุนแรง แต่การทำอีเอชไอเอ มันจะทำให้มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่าการทำอีไอเอตามปกติ ทาง กพร.จึงแนะนำให้ทางบริษัทพิจารณาว่าจะทำอีเอชไอเอหรือไม่ ซึ่งทางบริษัททำตามคำแนะนำ ส่วนจะเป็นการผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของ สผ. 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net