Skip to main content
sharethis

เปิดโปงขบวนการหลอกเอาโฉนดในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ชาวบ้านเผยไม่เคยไปยื่นเอกสารขอรับเงินค่าลอดใต้ถุน แต่กลับได้รับเช็ค ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชี้เป็นแผนเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ หวังเงินเจ้าของโครงการฯ

 
อุดรธานี : เมื่อวันที่ 22 ก.พ.54 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีว่า ได้มีเจ้าของที่ดินนำซองเอกสารของบริษัทเอเชีย โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) เพื่อให้ไปรับเงินค่าลอดใต้ถุนมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ซึ่งในซองเอกสารมีรายละเอียดประกอบด้วย เอกสารประชาสัมพันธ์การมอบค่าลอดใต้ถุน, หนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินในพื้นที่เขตประทานบัตรแก่เจ้า ของที่ดิน, หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และเช็ครับเงินของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมลายเซ็นผู้บริหารระดับสูงของเอพีพีซีลงนามสั่งจ่ายเช็ค
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัทเอพีพีซีได้ดำเนินการจ่ายค่าลอดใต้ถุน ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ในขอบเขตพื้นที่ 2.6 หมื่นไร่ครอบคลุม ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ตามที่บริษัทฯ ได้ทำการประชาสัมพันธ์เอาไว้ โดยมีการจัดพิธีมอบเงินไปแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 6 ม.ค. และ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์บริษัทฯ
 
จากกรณีดังกล่าวพบว่ามีเจ้าของที่ดินตัวจริงไปรับเงินค่าลอดใต้ถุนเป็น จำนวนน้อย แต่กลับมีผู้แอบอ้าง หรือสวมสิทธิ์ในที่ดินบางแปลงเพื่อไปขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนจากบริษัทฯ ดังเช่นกรณีนี้เป็นต้น
 
โดยแหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตัวจริง (เจ้าตัวขอสงวนชื่อ) ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เมื่อสองวันที่ผ่านมาได้มีญาติของตนนำเช็คมาให้พร้อมบอกว่าตนได้รับเงินค่า ลอดใต้ถุนจากบริษัทฯ และให้รีบนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารตามเช็คจำนวน 26,920 บาท ซึ่งเมื่อได้ยินดังนั้นก็งงเพราะว่าตนไม่เคยไปยื่นเอกสารเพื่อขอรับเงินค่า ลอดใต้ถุนกับบริษัทเลย แล้วอยู่ๆ จะมีรายชื่อไปขอรับเงินกับบริษัทฯ ได้อย่างไร
 
“แม่ไม่ไปเอาเงินอย่างแน่นอนเพราะแม่ไม่เอาเหมืองและไม่เห็นด้วยกับ วิธีการจ่ายค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ ซึ่งถ้าไปรับเงินเขาก็เท่ากับเรายินยอมขายที่นาของเราไปให้เขาเพียงไร่ละ 1,000 บาท แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหมืองและอยู่กับเราไปจนชั่วลูกชั่วหลาน”
 
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ญาติคนดังกล่าวได้วนเวียนมาคะยั้นคะยอให้ตนนำเช็คไปขึ้นเงิน ซึ่งถ้าหากไม่ไปรับเงินเขาก็จะไปเอาเอง ดังนั้นตนจะต้องไปแจ้งความเอาไว้ก่อน
 
“ที่ดินแม่มี 27 ไร่ ให้เขาเช่าทำนา และให้น้องชายช่วยดูแล ซึ่งปีที่แล้วเขาก็มาขอยืมโฉนดที่ดิน โดยบอกว่าจะเอาไปขึ้นทะเบียนรับเงินประกันราคาข้าว จึงคิดได้ว่าเขาน่าจะฉวยโอกาสจังหวะนี้แล้วเก็บเอกสารโฉนดที่ดินของแม่ไว้ หรือไม่ก็ไปขอค้นเอากับผู้ใหญ่บ้าน หรือหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนประกันราคาข้าว”
 
ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า เป็นไปตามที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ คาดการและได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่าการปักหมุดรังวัดเขตเหมืองแร่ไม่ได้ช่วย แก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังที่ บริษัทฯ และ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวอ้าง หากแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริษัทฯ ใช้เงินมาเป็นเหยื่อล่อชาวบ้าน และเพื่อให้ได้รายชื่อชาวบ้านไปสนับสนุนก็ยิ่งจะใช้แผนสกปรกมากยิ่งขึ้นตาม ไปด้วย
 
“ช่วงนี้พบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ซึ่งทำงานในพื้นที่ ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามากขึ้นบางคนกำลังต่อเติมบ้านใหม่ บางคนก็มีรถเก๋งขับจากที่เคยขับมอเตอร์ไซด์ธรรมดา เพราะการไปขอรับเงินค่าลอดใต้ถุนทำได้ง่ายมาก คือใครไปยื่นขอรับก็ได้ ถึงแม้ไม่ใช่เจ้าที่ดินขอเพียงมอบอำนาจให้”
 
นางมณียังกล่าวอีกว่า เจ้าของโครงการฯ กำลังถูกหลอกให้โปรยเงินลงมา เพราะกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดเวทีจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนทั้งสองครั้ง มีผู้ไปรับจริงๆ เป็นจำนวนน้อย แต่ที่เหลืออีกจำนวนมากที่บริษัทฯ อ้างตัวเลขว่ามากกว่าร้อยรายนั้น อยากถามว่าเงินจำนวนนี้ใครได้รับไป จึงอยากท้าให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ที่ไปยื่นความประสงค์รับค่าลอดใต้ถุนทั้งหมด
 
“ไม่รู้ว่าจะมีรายชื่อดิฉันหรือแกนนำคนอื่นๆ ติดไปด้วยไหม” นางมณีกล่าวด้วยอารมณ์ขัน พร้อมเสียงหัวเราะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net