Skip to main content
sharethis

 

3 พ.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษ นายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา14 และมาตรา 31 วรรค 2 (3) ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้ก่อนมีกำหนด 1 ปี พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว  หลังจากศาลจังหวัดแม่สอดมีคำพิพากษายกฟ้องในศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ คณะทำงานด้านกฎหมายเตรียมจะฎีกาทั้งสองคดีต่อไปเพื่อยืนยันสิทธิของชุมชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สืบเนื่องจากนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล ประชาชนในชุมชนแม่อมกิ  ตำบลแม่วะหลวง  อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน   แห่งชาติพ.ศ.2507 ข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด ซึ่งเดิมในศาลชั้นต้นจำเลยได้รับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ประกอบกับขณะนั้นยังไม่มีทนายความ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1  ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะล่ามไม่ได้สาบานตน ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลย

เมื่อคดีกลับมาพิจารณาคดีอีกครั้งในศาลชั้นต้น จำเลยได้ต่อสู้ว่าตนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ผ่อนผันให้ราษฎรสามารถอยู่ในบริเวณนั้นๆได้ ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ และจำเลยมีวิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนซึ่งไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง  มีพยานปากสำคัญเป็นนายอำเภอท่าสองยางและผู้ใหญ่บ้านขณะเกิดเหตุเบิกความสนับสนุนว่าประชาชนในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนมีการประกาศป่าสงวน อีกทั้งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เบิกความถึงรายงานการวิจัยว่าวิถีการทำไร่หมุนเวียนเป็นการผลิตที่สามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติไม่ใช่การทำลายป่าไม้ และจากภาพถ่ายที่เกิดเหตุเป็นการทำไร่หมุนเวียน     ศาลจังหวัดแม่สอดจึงมีคำพิพากษายกฟ้องนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุลทั้งสองคดีเนื่องจากเห็นว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด อัยการจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อวันที่  13 มีนาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชา เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยอยู่และทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนตามคำให้การพยาน ทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าสามารถเข้าแผ้วถางทำไร่ในที่เกิดเหตุได้ เป็นการขาดเจตนา ยกคำฟ้อง และให้จำเลยออกจากป่าสงวนที่เกิดเหตุเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุ 

ส่วนในคดีนายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตัดสินให้จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา14และมาตรา 31 วรรค 2 (3) แต่การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติหนักสุด คือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้ก่อนมีกำหนด 1 ปี พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้โดยศาลให้เหตุผลในคำพิพากษาว่าจำเลยก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า แล้วยึดถือครอบครองป่านั้นทำประโยชน์เพื่อปลูกพริกและข้าว อันเป็นการเสื่อมเสียแก่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยมีเจตนา เพราะถึงแม้ว่า จำเลยจะได้ทำกินในบริเวณนั้นก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็ตาม แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และเมื่อปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ จำเลยจึงมีความผิดและต้องได้รับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net