Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หลังจากทราบข่าวคราวของพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดเมื่อวันที่ 30 มี.ค.55 และเหตุการณ์รื้อถอนสะพานทางเข้าออกหมู่บ้านโดยเจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่าที่บุกทำลายสวนยางพาราของชาวบ้าน บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง และเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายครั้ง ในที่ทำกินซึ่งเป็นพื้นที่ “โฉนดชุมชน” อันเกิดจากแรงผลักดันของประชาชนจนเข้าสู่นโยบายของภาครัฐ
 
ในพื้นที่ 8 ไร่ กับยางพาราอายุ 3 ปี จำนวน 800 ต้นที่ถูกโค่นทำลายไป อย่างไม่มีความหมาย และไร้ซึ่งความรู้สึกใดๆ ของผู้กระทำนั้นทำให้ผู้เขียนอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า แล้วกฎหมายมาตรา 66, 67 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ที่มีหลักการและเจตนารมณ์ที่มุ่งรับรองสิทธิของชาวบ้านที่รวมตัวเป็นชุมชน มีสิทธิบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเองที่มุ่งทำลายฉีกกฎหมายนั้นทิ้งโดยอ้างนโยบายป้องกันการบุกรุกป่า พื้นที่ทับซ้อน เขตป่าอนุรักษ์สารพัดสารพันที่นำมากล่าวอ้างสร้างเงื่อนไขในการทำลาย       
 
เท่าที่ผู้เขียนทราบ ชุมชน “บ้านตระ” และชุมชน “บ้านทับเขือ–ปลักหมู” นั้นความจริงแล้วเป็นชุมชนที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมก่อนปี พ.ศ.2500 เสียด้วยซ้ำ ปู่ย่า ตายาย เคยทำไร่ปลูกผลไม้ ปลูกยางพาราทำมาหากินมาจนสู่รุ่นลูกหลานสร้างสิทธิในการครอบครองให้ตัวเองและชุมชนตามวิถีชีวิต จนกระทั่งในปี พ.ศ.2510 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในขณะที่พื้นที่เหล่านั้นยังคงเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านอยู่ และกฎหมายเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องบังคับใช้กับคนจนหรือเกษตรกรรายย่อย แต่กลับเปิดโอกาสให้นายทุนคนไทยและต่างชาติเข้ามาขอเช่า หรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ และสัมปทานป่าไม้ ได้ในราคาถูกๆ
 
ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมเริ่มถูกละเมิดและคุกคามสิทธิโดยการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐทำให้ผู้เขียนมีความสงสัยว่าชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมายาวนาน คนเหล่านั้นใช้หยาดเหงื่อ และแรงกายมาหลายชั่วอายุคนทำมาหากิน ทำการผลิต สร้างรายได้เลี้ยงชีวิตตัวเองจากผลอาสินบนผืนดินที่ว่างเปล่า ยังไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของ ย่อมถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้แสดงสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นเจ้าของแล้วโดยพฤตินัย ใช่หรือไม่?
 
คนและผืนดินมีมาก่อน แต่กฎหมายมาทีหลัง ผู้เขียนไม่ได้ดูหมิ่นหรือไม่ยอมรับกฎหมาย แต่มีความเห็นว่ามาตรการในการใช้กฎหมายต้องนำมาใช้ด้วยความเป็นธรรมและพิจารณาจากความเป็นจริง ไม่ควรอ้างกฎหมายมาข่ม และถ้ามองจากความเป็นจริงที่มีอยู่ก่อน การประกาศเป็นเขตป่าสงวนในพื้นที่แห่งนี้ก็ถือว่าเป็นการประกาศพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านและชุมชน
 
ผู้เขียนอยากตั้งคำถามเล่นๆ ว่า รัฐบุกรุกที่ทำกินชาวบ้าน หรือชาวบ้านบุกป่าสงวน มีแต่รัฐคุกคาม ข่มขู่ ฟ้องร้อง ขับไล่ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้อง ขับไล่รัฐ เพราะแม้แต่สิทธิที่ตัวเองสร้างขึ้นจากการใช้แรงงานก็ยังถูกปล้นโดยผู้ที่อ้างว่าถือกฎหมาย ไม่สามารถปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองเอาไว้ได้
 
หลังการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ วิถีชีวิตที่เคยสุขสงบของชาวบ้านในชุมชนก็เริ่มถูกคุกคามโดยกฎหมาย ชาวบ้านต้องคอยหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ในยามต้องออกไปทำไร่ทำสวน การทำมาหากินเริ่มมีความลำบากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งมาในปี พ.ศ.2525 ความหายนะทางความรู้สึกก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติกินพื้นที่ อ.ห้วยยอด และ อ.นาโยง ซึ่งการประกาศดังกล่าวนี้มาพร้อมกับบทลงโทษทางกฎหมายที่หนักหนากว่าเดิม ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดีมากขึ้น ทั้งคดีบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความถนัดในการใช้โอกาส และเหตุการณ์ในการยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับชาวบ้านจนๆ ที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายดีพอ
 
คดีฟ้องร้องต่อชาวบ้าน ล่าสุดที่โด่งดังไปทั่วประเทศ คือคดี “โลกร้อน” นั่นยิ่งทำให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานของกฎหมายไทยเป็นอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เกิดจากการเผาใบยางและกิ่งยางเล็กๆ ของยางพารากับการปล่อยสารพิษ สารเคมีในอากาศ ในน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม นักวิชาการย่อมรู้ดีว่าอย่างไหนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมากกว่ากัน แต่กลับไม่เห็นว่ากฎหมายจะเอาผิดกับผู้ประกอบการเหล่านั้นได้ เพราะนายทุนและผู้มีเงินมีอำนาจสามารถทำให้กฎหมายเบี่ยงเบนได้
 
จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น รวมถึงความรุนแรงล่าสุดที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู หรือแม้แต่ชุมชนบ้านตระในพื้นที่ของพี่น้องเครือข่ายเทือกเขาบรรทัด เราจะเห็นได้ว่ารัฐยังไม่หยุดใช้กฎหมายรังแกประชาชน และนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
 
ทั้งที่การใช้อำนาจรัฐ โดยองค์กรของรัฐ มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เหตุไฉนเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาทำลายสิทธิ และเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี จากการใช้หยาดเหงื่อแรงงานของตัวเองสร้างสิทธิโดยการปลูกสร้าง แล้วอะไรที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและเสรีภาพในการประกอบอาชีพกันเล่า
 
.... ดังนั้น เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับทุน และทุนกับอิทธิพลที่ร่วมมือกันกระทำต่อชาวบ้าน ยังคงมีอยู่ตราบเท่าที่กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีความเป็นธรรม และรัฐยังมองเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นแค่เกมทางการเมือง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net