Skip to main content
sharethis

กสม. เผยผลการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 และ 4 - เป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปี SEANF เฉลิมฉลอง 30 ปีหลักการปารีส และ 75 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน - ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมผลักดันการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ แก้ไขนิยาม “ป่า” ตามหลักสากล ป้องกันผลกระทบทางการค้าจาก EU

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 43/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้  

1. กสม. เผยผลการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. พบหน่วยงานต่าง ๆ ตอบรับดำเนินการด้วยดี

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งภายหลังการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะออกไป กสม.ได้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 และ 4 และเห็นชอบผลการติดตามรวม 16 เรื่อง แบ่งเป็นรายงานการตรวจสอบของ กสม. ชุดที่ 3 จำนวน 9 เรื่อง และของ กสม. ชุดที่ 4 จำนวน 7 เรื่อง เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะแล้ว ขณะที่บางกรณีหน่วยงานไม่อาจดำเนินการได้โดยมีเหตุผลอันควร หรือมีการฟ้องร้องเป็นคดีหรือศาลมีคำพิพากษาแล้ว

สำหรับตัวอย่างเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว อาทิ การดำเนินการตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 3 เช่น กองทัพภาคที่ 3 ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ กสม. และให้ยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องกฎการใช้กำลังของกองทัพไทย จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมแกนนำเยาวชนลาหู่ ซึ่งครอบครัวผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องกองทัพบกต่อศาลแพ่ง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดมีความผิดตาม พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และต้องชดใช้เยียวยาให้กับครอบครัวแกนนำเยาวชนคนดังกล่าว ส่วนกรณีพลทหารถูกผู้บังคับบัญชาใช้ให้ไปเลี้ยงไก่ถูกด่าทอถึงบุพการี และถูกทำร้ายร่างกาย กองทัพบกได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้มีคำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ผู้บังคับบัญชาที่กระทำผิดแล้ว

สำหรับกรณีสถานบันเทิงกีดกันห้ามไม่ให้สาวประเภทสองเข้าใช้บริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และได้ร่วมกันกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งกำชับสถานบริการให้ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยและกำหนดเงื่อนไขการเข้าใช้บริการภายในสถานที่โดยไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ กรณีธนาคารบางแห่งเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการในการทำนิติกรรมสัญญาและธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทบทวนแนวปฏิบัติการให้บริการผู้พิการทางการมองเห็นและผู้พิการประเภทอื่นให้เหมาะสมและได้สื่อสารให้พนักงานทราบแล้ว รวมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถเปิดบัญชีเงินฝากให้กับผู้ร้องได้แล้ว เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4 อาทิ กรณีการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาในสถานศึกษามีลักษณะเหมารวม สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด และได้นำข้อเสนอแนะ กสม. เรื่อง การตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว และตรวจ หรือทดสอบสารเสพติดมากำหนดแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย สำหรับกรณีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขัดขวางไม่ให้นักศึกษาแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มช. ได้มีการกำชับให้คณบดีคณะวิจิตรศิลป์พิจารณาคำขอการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม โดยระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจที่อาจกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ และสั่งการให้ในชั้นพิจารณาคำขอใช้พื้นที่ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ต้องเปิดโอกาสให้อาจารย์และหรือนักศึกษาที่ขอใช้ เข้าชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณาคำขอด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรณีการกำหนดให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติเป็นลักษณะต้องห้ามของการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ที่คณะรัฐมนตรีได้ทบทวน และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้ประกาศใช้กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. ที่ให้ยกเลิกข้อความการกำหนดให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorder) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ ออกจากโรคต้องห้ามในการเข้ารับราชการแล้ว

2. กสม. จัดประชุมประจำปีสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็น ก่อนส่งไม้ต่อติมอร์-เลสเต

นายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 22 - 23 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีครั้งที่ 20 ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights institutions Forum: SEANF) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในฐานะที่ กสม. ดำรงตำแหน่งประธาน SEANF ในปี 2566 โดยนางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดและทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม SEANF ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต และไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประธานและกรรมการสิทธิมนุษยชนจากสถาบันที่เป็นสมาชิก SEANF ทั้ง 6 แห่ง

ในการประชุม สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน เช่น การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ การป้องกันการทรมานโดยการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุม/คุมขังบุคคล การยกเลิกโทษประหารชีวิต ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิของเด็ก แรงงานข้ามชาติ การเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและอาเซียน ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในส่วน กสม. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่สำคัญของ กสม. เช่น สถิติการรับเรื่องร้องเรียน การสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายที่มีประสิทธิผล การเปิดสำนักงานในภูมิภาคแห่งที่ 2 ที่ จ. ขอนแก่น การจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชนปีที่ 2 เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือระหว่าง กสม. กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และนักวิชาการ เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนร่วมกัน การพบหารือกับหน่วยงานรัฐในระดับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และความร่วมมือกับหน่วยงานของสหประชาชาติ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) UNDP และ UNICEF 

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2565-2569 ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนโดยมีการศึกษาการบริหารจัดการของรัฐบาลประเทศสมาชิกในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการในอนาคต การสำรวจสถานะการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนไปดำเนินการในประเทศต่าง ๆ การจัดทำแผนปฏิบัติการของสมาชิกในการป้องกันการทรมาน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SEANF ซึ่งในส่วนของ กสม. ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการของ กสม. ด้านการป้องกันการทรมานด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณากิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก SEANF ในรูปแบบการไต่สวนสาธารณะระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (inter-NHRI inquiry mechanism) ที่เสนอโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นกลไกสำหรับการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) โดยเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมเรื่องดังกล่าวที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซียจัดร่วมกับ World Justice Project (WJP) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนกันยายน 2566 และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้พลัดถิ่นชาวโรฮินจาในอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

ในส่วนความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาความร่วมมือระหว่าง SEANF กับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR (ASEAN Inter-governmental Commission on Human Rights) ซึ่งเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค โดยในปี 2566 SEANF ได้เข้าร่วมการประชุมที่ AICHR จัดขึ้นในเรื่องการป้องกันการทรมาน การคุ้มครองผู้เป็นเหยื่อของกลุ่มนิยมความรุนแรงแบบสุดโต่ง (extremism) และการค้ามนุษย์ ส่วนในปี 2567 จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันในเรื่องการป้องกันการทรมาน และธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังได้หารือกับองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาค ได้แก่ Asian NGO Coalition for Agrarian Reform and Rural Development (ANGOG) เกี่ยวกับการเข้าถึงที่ดินสำหรับคนจนในชนบทในหลายประเทศในเอเชีย และการหารือกับ World Justice Project (WJP) เกี่ยวกับการวัดผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย  

ก่อนสิ้นสุดการประชุม ประธาน กสม. ได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน SEANF ให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต เพื่อทำหน้าที่ประธาน SEANF ในปี 2567 ต่อไป ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งประธานของ SEANF มีวาระคราวละ 1 ปีโดยเวียนตามตัวอักษรของชื่อประเทศ

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กสม. จะจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมประจำปี SEANF ครั้งที่ 20 ได้แก่ การประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดทำความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบนโยบายยาเสพติด (Regional Consultation on the General Comment on the Human Rights Impact of Drug Policies) โดยมีนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้แทนหลักของ กสม. กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่ง กสม. และ SEANF ร่วมกับคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights: CESCR) จัดขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment) ของ CESCR มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายยาเสพติดต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อ CESCR จะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางสำหรับรัฐในการกำหนดนโยบายยาเสพติดที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยสมาชิก SEANF หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

3. กสม. ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมผลักดันการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ แก้ไขนิยาม “ป่า” ตามหลักสากล ป้องกันผลกระทบทางการค้าจาก EU

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยพันตำรวจโท ประวุธ  วงศ์สีนิล รองปลัด ยธ. และคณะ เกี่ยวกับการรับมือ EUDR (European Union Regulation on Deforestation-free Products) ที่ให้ความสำคัญกับการลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการที่จะนำเข้าสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณที่ไม่มีโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตามกฎหมายไทยถือว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นป่าไม้

ยธ. และ กสม. เห็นตรงกันว่า ควรหารือระดับรัฐมนตรีร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการแก้ไขนิยามของป่าไม้ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สอดคล้องกับสภาพนิเวศ พืชพรรณและความอุดมสมบูรณ์ และมีการประกาศขอบเขตความเป็นป่าไม้ให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน อันเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ การดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ รวมถึงการแก้ปัญหาบทบัญญัติของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน

สำหรับการปรับปรุงกฎหมายด้านป่าไม้ทั้ง 9 ฉบับ กสม. อาจมีส่วนช่วยผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวรวมเป็นฉบับเดียวในลักษณะประมวลกฎหมาย อย่างไรก็ดี ปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ไม่อาจแก้ไขได้จากการผลักดันของหน่วยงานเดียว ทั้งสามกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ควรตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเริ่มจากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องนี้กับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง

สอดคล้องกับการประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่วมกันให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการปฏิรูปและจัดทำประมวลกฎหมายป่าไม้ของประเทศไทย โดยให้คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ผู้บริหารของทั้งสามกระทรวงจะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net