Skip to main content
sharethis

 

ในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.55) เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา  จะมีการพิพากษาคดีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) เป็นจำเลย ในคดีความผิดตามมาตรา 14,15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยจีรนุชถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท

ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการฟังคำพิพากษาคดีพรุ่งนี้มีเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป  (อียู) เจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายหน่วยงานแจ้งขอเข้าร่วมรับฟังผลการตัดสินด้วย

สำหรับที่มาของการเป็นคดีนั้น ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ รายงานว่า หม่อม หลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้แจ้งเบาะแสต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท (ในขณะนั้น ซึ่งในภายหลังได้ทำการปิดเว็บบอร์ดในวันที่ 31 ก.ค.53-ประชาไท) มีข้อความหมิ่นเบื้องสูง โดยได้แจ้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 (มิได้ส่งเอกสารอย่างเป็นทางการ) ขณะนั้นหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 (ชช.) และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นายอารีย์ จิวรรักษ์ เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อขออำนาจศาล และทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อร้องทุกข์ให้มีการ ดำเนินคดี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

คดีดังกล่าวเป็นคดีของกองบังคับการปราบปราม โดยมี พ.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร เป็นเจ้าของสำนวน กล่าวหา น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ในข้อหา สนับสนุน ปล่อยปละละเลยให้มีผู้กระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาคดีทั้งหมดถูกนำมารวมฟ้องในชั้นศาลเป็นคดีเดียว แยกเป็นความผิด 10 กรรม

ทั้งนี้ มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูล คอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

ความเคลื่อนไหวคดี

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

3 มีนาคม 2552
ศาลอนุมัติหมายจับนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท

5 มีนาคม 2552
ศาลอนุมัติหมายค้นสำนักงานเว็บไซต์ประชาไทบริเวณเขตห้วยขวาง

6 มีนาคม 2552
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าบุกค้นสำนักงานเว็บไซต์ประชาไทที่ห้วยขวาง โดยพ.ต.ท. นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ เป็นผู้ทำการตรวจค้นและยึดหลักฐานพร้อมทั้งควบคุมตัวจำเลย จากนั้นจีรนุชถูกนำตัวส่งต่อไปยัง พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป เนื่องจากพบว่ามีหนึ่งข้อความปรากฏบนเว็บบอร์ดประชาไทมีเนื้อหาผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากนั้นจำเลยได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ โดยรศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ นักวิชาการใช้ตำแหน่งเป็นประกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์จากเครื่องของนางสาวจีรนุช ก่อนจะคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ภายในวันเดียวกัน โดยมีพยานอยู่ตลอดการทำสำเนา

ในวันดังกล่าวมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์การจับกุมที่สำ นักงานเว็บไซต์ประชาไท รายงานการจับกุมผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ เมื่อข่าวการจับกุมเผยแพร่ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้มีผู้สนใจติดตามมาให้กำลังใจนางสาวจีรนุชที่กองบังคับการปราบปรามราว 30 คน ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักเคลื่อนไหว และชาวต่างชาติ จนถึงเวลาเกือบ 20.00 น.

7 เมษายน 2552
จีรนุชถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 ข้อหา โดยระบุถึง 9 ข้อความอันมีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งโพสต์ระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2551 อย่างไรก็ตาม ข้อความทั้ง 10 ข้อความถูกลบไปแล้วก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี

31 มีนาคม 2553
จำเลยถูกนำตัวไปศาลอาญาเพื่อยื่นฟ้อง โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นหมายเลขคดีดำที่ อ. 1667/2553 จำเลยถูกคุมขังที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาขณะที่ทนายความทำเรื่องขอประกันตัว จนกระทั่งเวลาประมาณบ่ายสามโมงของวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและสั่งนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553

โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร เคยสอบสวนจำเลยในฐานะพยานคดี Bento หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะนั้นจำเลยยังมิได้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่หลังจากที่นายอารีย์ จิวรรักษ์ได้ให้การในคดีเดียวกันว่า ข้อความของผู้โพสต์ที่ชื่อ Bento ซึ่งถูกโพสต์ไว้บนเว็บบอร์ดประชาไทนั้นอยู่ในระบบนานถึง 20 วัน ทางคณะทำงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ขออนุมัติหมายจับและหมายค้นจากศาลในเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ในฐานะผู้ให้บริการ

31 พฤษภาคม 2553
นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน

24 กันยายน 2553
ในขณะที่การดำเนินคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จีรนุชถูกจับกุมอีกครั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นอีกคดีหนึ่งที่กล่าวโทษโดยชายคนหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น จีรนุชถูกจับตามหมายจับซึ่งออกมาในเดือนมีนาคม 2552 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะถูกจับกุมจีรนุชเพิ่งเดินทางกลับจากการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในโลกไซเบอร์ ที่ประเทศฮังการีและถูกควบคุมตัวไปที่จังหวัดขอนแก่นโดยทันที และได้รับการประกันตัวภายหลังโดยใช้หลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท

4,8 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ ปากที่หนึ่ง นายอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที

เบิกความถึงการตรวจพบข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายทั้ง 10 ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไท และวิธีการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีกับข้อความใดหรือไม่

9 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง นายธนิต ประภาตนันท์ ฝ่ายกฎหมาย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

10 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม นายสมศักดิ์ ศุภจิราวัฒน์ เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที และเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เบิกความถึงขั้นตอนและวิธีการทำสำเนาข้อมูลในฮาร์ดดิสก์จากเครื่อง คอมพิวเตอร์ของจำเลย

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ นายไพรัช ยะวงศ์ ทนายความเอกชน

เบิกความเป็นพยานความเห็นว่าข้อความที่อยู่บนเว็บไซต์ประชาไทเป็นความผิดตามมาตรา 112

12 กุมภาพันธ์ 2554

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พ.ต.ท.ดร.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช นักวิทยาศาสตร์ (สบ.3) กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์และชีววิทยา กองพิสูจน์หลักฐาน (ไม่มีบันทึก)

1 กันยายน 2554

สืบพยานโจทก์ปากที่หก ร.ต.อ. คีรีรักษ์ มารักษ์ สารวัตรประจำศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานีตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น

เบิกความถึงการตรวจสอบว่าเว็บไซต์ประชาไทตั้งอยู่ที่ใด และใครเป็นคนดูแล

1 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท. สุรพงษ์ ธรรมพิทักษ์ คณะทำงานสืบสวนสอบสวนในคดี เบิกความถึงการสอบสวนดำเนินคดีกับตัวผู้โพสต์หนึ่งในข้อความที่นำมาฟ้องใน คดีนี้

2 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง ทีมพนักงานสอบสวน ที่ดูแลเรื่องความหมายของคำ

เบิกความตีความข้อความที่ปรากฏในเว็บไซต์ว่าหมายถึงอะไร และผิดกฎหมายอย่างไร

2 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า พล.ต.ท. วินัย วงษ์บุปผา เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาคดี

เจ้าตัวไม่ได้มาให้การในศาลแต่ส่งเอกสารมาแทน

6 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ พ.ต.ท. นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ พนักงานสอบสวนในคดี ผู้ร่วมจับกุมจำเลย

เบิกความถึงขั้นตอนการสืบสวน ออกหมายจับ และบุกไปจับจำเลย พร้อมการตรวจค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์

9 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร คณะทำงานพนักงานสอบสวนในคดีนี้

เบิกความถึงขั้นตอนการรับแจ้งความจาก มล.ปนัดดา ดิศกุล และนายอารีย์ จิวรรักษ์ การเรียกพยานและจำเลยมาสอบสวนในชั้นต้น

20 กันยายน 2554
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท

เบิกความอธิบายวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ประชาไท และนโยบายการดูแลเนื้อหาบนเว็บไซต์

20 กันยายน 2554
สืบพยานจำเลยปากที่สอง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน

เบิกความอธิบายมาตรการของประชาที่จะลบเนื้อหาผิดกฎหมาย และมีการจัดระบบควบคุมดูแลเนื้อหาบนเว็บไซต์

21 กันยายน 2554
พยานจำเลยปากที่สาม นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร จำเลยในคดี เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

เบิกความอธิบายถึงการทำงานของประชาไท หน้าที่รับผิดชอบของตน ยืนยันมาตรการป้องกันข้อความผิดกฎหมาย และยืนยันการทำหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ดของตนว่าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ อย่างเต็มที่มาโดยตลอด และระมัดระวังดูแลอย่างดีที่สุดแล้ว

11 ตุลาคม 2554
สืบพยานจำเลยปากที่สี่นายแดนนี่ โอไบรอัน (Mr. Danny O’Brien) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอินเทอร์เน็ต

เบิกความรับรองเอกสารที่อธิบายถึงระบบอินเทอร์เน็ตโดยภาพรวม หลักการสากลที่จะไม่เอาผิดตัวกลาง ความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางอิเล็กทรอนิคส์

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นางสาวสาวตรี สุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

เบิกความถึงแนวทางของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคือตัวกลางไม่ต้องรับผิด หากจะให้รับผิดต้องมีมาตรการ เช่น มีการแจ้งเตือนให้ลบข้อความก่อน 10-14 วัน

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่หก นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต อาสาสมัครผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท

เบิกความถึงระบบการให้ผู้ใช้เว็บบอร์ดเป็นอาสาสมัครคอยสอดส่องดูแล และมีอำนาจลบข้อความที่อาจผิดกฎหมายได้

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

เบิกความคัดค้านข้อที่โจทก์กล่าวหาว่า ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยมีไฟล์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอธิบายว่ามาจากการทำงานของโปรแกรม Thunderbird ซึ่งดาวน์โหลดข้อมูลโดยอัตโนมัติ

15 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่แปด นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com

เบิกความว่า Pantip.com ก็ไม่มีระบบตรวจสอบข้อความก่อนโพส และในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบทุกข้อความ

16 กุมภาพันธุ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่เก้า รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้วิจัยเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต

เบิกความรับรองงานวิจัยเรื่อง การกำกับดูแลเนื้อหาสื่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของเทคโนโลยีและเป็นไปได้ในระดับสากล

10 เมษายน 2555
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและเครือข่ายนักกฎหมายสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ร่วมกันยื่นความเห็นทางกฎหมายต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อสนับสนุนจำเลย ในคดี โดยความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว สนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า มิได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมตามที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งจะได้อธิบายแยกเป็นสามประเด็น  ดังนี้

1. มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นข้อจากัด เสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่ให้ทำตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศนี้และให้ หลักประกันสิทธิต่างๆที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กำหนดข้อจำกัดที่ให้ทำได้หรือเหตุ ที่ชอบในการที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แต่ข้อจำกัดนี้ไม่อาจเป็นผลร้ายต่อสิทธินั้นเอง มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นรูปแบบ หนึ่งของการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออก หากแต่บทบัญญัตินี้ไม่ผ่านเกณฑ์ข้อจำกัดสิทธิที่ให้ทำได้ภายใต้พันธกรณี กฎหมายระหว่างประเทศ

2. มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มิได้บัญญัติ ให้ชัดเจนอย่างพอเพียงว่าการกระทำเช่นใดเข้าข่ายความผิดทางอาญา ซึ่งเท่ากับไม่เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายและเสี่ยงต่อการที่จะมีการ บังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ  บทบัญญัตินี้มิได้นิยามว่าการกระทำใดเข้าข่ายจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ความคลุมเครือดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ในเสรีภาพของนางสาวจีรนุช เนื่องจากไม่มีการระบุภาระความรับผิดชอบของตัวกลางอย่างชัดเจนว่า การกระทำใดที่มีผลให้เกิดความรับผิดทางอาญา

3. ตัวกลางไม่ควรต้องรับผิดสำหรับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่ตนมิได้เป็นผู้ ประพันธ์ แม้ว่านางสาวจีรนุชจะมิได้ถูกดำเนินคดีในฐานะที่เป็นผู้ประพันธ์หรือบุคคล ซึ่งนำข้อความที่ถูกกล่าวอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่เธอถูกดำเนินคดีในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการหรือตัวกลางที่ถูกกล่าวอ้างว่าจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเข้าข้อมูล ในการให้การเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2554 นางสาวจีรนุชได้อธิบายต่อศาลว่าเธอได้ดำเนินการทุกมาตรการเท่าที่จะทำได้ใน การป้องกันมิให้เนื้อหาใดๆที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายปรากฎบนกระดานข่าวประชาไท อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการทำงานที่รวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและข้อความจำนวนมากบนกระดาน ข่าว โดยเฉพาะ ในระหว่างที่เกิดเหตุตามฟ้องในปีพ.ศ. 2551 นั้น กระดานข่าวของประชาไทมีข้อความใหม่ๆเข้ามาอย่างท่วมท้นทุกวันๆละ 2,800 ถึง 2,900 ข้อความ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ดูแลเว็บใดจะสามารถเฝ้าดูและคัดกรองข้อความทุกข้อความ ที่ปรากฎบนกระดานข่าวได้

ทั้งนี้ การตัดสินว่าจำเลยในคดีนี้มีความผิดจะทำให้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ถดถอย และจะมีผลสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายในประเทศ

30 เมษายน 2555
สำหรับคดีดำที่ อ.1167/2553 ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณา 910เครือข่ายนักกฎหมายสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แสดงน้อยลง

บันทึกการสังเกตการณ์คดี

สืบพยานโจทก์

4 กุมภาพันธ์ 2554 สืบพยานโจทก์ ปากที่หนึ่ง
นายอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

นายอารีย์ จิวรรักษ์ ขึ้นเบิกความว่า เข้าทำงานรับราชการตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์ที่เข้าข่ายไม่เหมาะสม ทั้งผ่านการรับแจ้งจากประชาชนและค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง

เมื่อพบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จะทำสำเนาหน้าจอ (กรณีข้อความ) บันทึกเสียง (กรณีคลิปเสียง) ดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้ให้บริการ (ISP) เพื่อป้องกันการเผยแพร่ของข้อมูล จากนั้นจึงรวบรวมหลักฐานที่มีเสนอต่อปลัดกระทรวงไปยังรัฐมนตรี เพื่อขอหมายศาล ส่งให้ผู้ให้บริการดำเนินการปิดกั้นต่อไป และจึงทำหนังสือถึง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ทั้งนี้ มีการเชิญผู้ให้บริการ เว็บมาสเตอร์ มาเพื่อขอความร่วมมือหลายครั้ง โดยตกลงกันว่าถ้าเป็นเรื่องหมิ่นสถาบันฯ จะขอความร่วมมือให้ปิดกั้นเบื้องต้นก่อนแล้วจะมีคำสั่งตามมา ซึ่งไอเอสพีตกลงยินดี

นายอารีย์เบิกความว่า สำหรับประชาไท กระทรวงได้ตรวจสอบข้อมูลจากการแจ้งของประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ตำรวจ ทหาร และหน่วยข่าวกรอง โดยก่อนที่ตนจะเข้ารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็มีการแจ้งก่อนหน้านั้นแล้ว

โดยประชาไทเป็นเว็บไซต์ที่แบ่งเป็นข้อมูลข่าวสารและเว็บบอร์ดสำหรับให้ ประชาชนแสดงความเห็น โดยตั้งเป็นกระทู้ การเข้าเว็บไซต์ประชาไททำได้หลายวิธีทั้ง prachatai.com หรือเข้า google พิมพ์ประชาไทแล้วเลือกออนไลน์ ก็จะสามารถเข้าได้

ในส่วนของเว็บบอร์ดประชาไท คนทั่วไปสามารถเข้ามาดูได้ ขณะที่ผู้ที่จะตั้งกระทู้ต้องสมัครสมาชิก

จากนั้นอารีย์เล่าถึงรายละเอียดของกระทงที่ 1-10 ว่าวิธีการเมื่อพบข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำเหมือนกันคือ รวบรวมหลักฐาน ทำสำเนาหน้าจอ ส่ง ยูอาร์แอล ให้ไอเอสพีและขอความร่วมมือจากประชาไทให้ทำการปิดกั้น จากนั้นส่งข้อมูลให้รัฐมนตรี เพื่อขออำนาจศาลปิดกั้นต่อไป

อารีย์อธิบายถึงแต่ละกระทง ดังนี้
กระทงที่ 1 มีข้อสังเกตว่า แผ่นที่ 12 มีการปิดกั้น 2 ข้อความ ขึ้นข้อความว่า "ประชาไทปิดข้อความ"
กระทงที่ 2 อารีย์บอกว่า หมิ่นเยอะแยะเต็มไปหมด
กระทงที่ 3 อ่านแล้วใช้สำนึกที่เป็นคนไทย พบว่าพาดพิง เป็นการดูหมิ่นสถาบัน
กระทงที่ 4 ตีความว่าหมายถึง กษัตริย์ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย เท่ากับ ดูหมิ่นในหลวงและกษัตริย์องค์ก่อนๆ
กระทงที่ 5 ข้อความดังกล่าวหมายความว่า xxxพูดไม่ชัดเจน ฟังแล้วไม่เข้าใจ ทั้งนี้ จากหน้าเว็บ พบว่ามีการปิดข้อความโดยประชาไทด้วยเช่นกัน
กระทงที่ 6 มีข้อความกล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างชนชั้นสูงกับการรัฐประหาร
กระทงที่ 7 หมายความว่า มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เป็นการดูหมิ่น
กระทงที่ 8 (เป็นลิงค์คลิปเสียงดา ตอร์ปิโด) ฟังแล้วไม่สบายใจ พูดเรื่องการปลงพระชนม์ ร.8 ฯลฯ เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
กระทงที่ 9 อ่านแล้วคิดว่าเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง
กระทงที่ 10 พบข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระราชินี พูดเรื่องงานศพ ซึ่งเป็นกระทงเดียวที่ประชาไทเอาลงให้วันนั้นเลย โดยที่อัยการไม่ได้ถามว่าแต่ละอันลบเมื่อไหร่ อย่างไร

อารีย์เบิกความต่อว่า ตนไม่ทราบว่า ในกระทง 1-9 จับตัวผู้กระทำผิดได้หรือไม่ แต่กระทงที่ 10 มีการดำเนินคดี โดยจำเลยไปเป็นพยานในคดีนั้นด้วย จากนั้นกล่าวว่า เว็บบอร์ดประชาไท มีผู้ดูแลคือ จำเลย

อารีย์ เห็นว่า หากมีความตั้งใจดีจริง ไม่จำเป็นต้องแสดงข้อความที่มีผู้โพสต์ทันที โดยสามารถตั้งค่าให้ยังไม่แสดงผลจนกว่าจะตรวจสอบก่อนได้ ทั้งนี้ เว็บมาสเตอร์นั้นมีหน้าที่เฝ้าระวังไม่ให้มีผู้โพสต์หมิ่นสถาบันฯ โดยหากพบสามารถลบข้อความดังกล่าวได้ โดยยกตัวอย่างที่ประชาไท ก็มีการปิดข้อความ ซึ่งจะให้โชว์หรือไม่โชว์ว่าปิดก็ได้

ที่ผ่านมาเชิญจำเลย หลายครั้งเพื่อขอความร่วมมือในการปิดกั้นข้อความที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะข้อ ความหมิ่นสถาบันฯ ซึ่ง จำเลย รับปากว่าจะให้ความร่วมมือ โดยมีกรณีที่เคยแจ้งไปแล้วมีการนำข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ ออกจากหน้าเว็บเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ 1-10 กระทงที่กล่าวไป

อารีย์จัดทำตารางให้ศาลด้วย ซึ่งระบุลำดับที่ วันที่ หมายเลขคดี ยูอาร์แอล (URL) ไอพีผู้โพสต์ (IP address) วันที่โพสต์ และไฟล์แนบ

จากนั้นให้การว่า ตนไม่ได้รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน เพิ่งมารู้จักกันจากการขอความช่วยเหลือในการปิดกั้นข้อความต่างๆ

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน ทนายผู้ถาม ทนายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์

อารีย์ เบิกความว่า ตนได้รับปริญญาตรีสองใบ ด้านคอมพิวเตอร์หนึ่งใบ ธรณีวิทยาหนึ่งใบ ส่วนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ ได้รับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนสอบสวนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และหลักสูตรการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานเจ้าหน้าที่ ได้รับการอบรมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้ผู้เชี่ยวชาญจากสถานทูตอเมริกา มาอบรมการสืบสวนสอบสวนผ่านทางอินเทอร์เน็ต และตนอบรมมาหลายครั้ง มีทั้ง 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์

จากนั้นเบิกความว่า ตนไม่เคยประกอบธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ต เป็นที่ปรึกษา หรือทำกิจการอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่ได้ร่วมร่างระเบียบปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการธุรกิจ

อารีย์เบิกความว่า อินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารทั้งสองทางและหลายทาง โดยสามารถสื่อสารกันเฉพาะบุคคลได้ และการสื่อสารแบบไม่เฉพาะเจาะจงจะทำผ่านเว็บไซต์ได้ ส่วนแบบส่วนตัวสามารถทำได้ผ่านอีเมล์ ซึ่งหากสื่อสารผ่านอีเมล์ ผู้สื่อสารจะควบคุมการสื่อสารได้ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเลือกรับ-ไม่รับจากคนใดก็ได้

จากนั้นทนายความถามเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ว่า ผู้ใช้ไม่สามารถเลือกรับหรือไม่รับทั้งหมดได้ จะเลือกดูครึ่งเว็บไม่ได้ ใช่หรือไม่อย่างไร ซึ่งอารีย์ตอบว่า แล้วแต่โปรแกรม

จากนั้นเบิกความว่า ข้อความในเว็บจะปรากฏขึ้นมาทั้งเว็บ

อารีย์เบิกความต่อว่า ผู้เป็นเจ้าของหรือดำเนินกิจการสามารถปิดกั้นผู้เข้าเว็บไซต์โดยเฉพาะเจาะจง ได้ ซึ่งการไม่ให้ user ใดเข้าใช้ กระทำได้โดยเขียนโปรแกรมได้ว่า username นี้ หรือ IP นี้ไม่รับ ให้บล็อคได้ สามารถเขียนโปรแกรมเพิ่มในเว็บไซต์ได้ผ่านการเขียนเว็บโดยภาษา C, PHP, JAVA, HTML หรือแม้แต่ว่าเขียนว่าถ้า user นี้เข้ามาให้ SMS แจ้งเว็บมาสเตอร์ก็ได้

อารีย์เบิกความต่อไปว่า เว็บไซต์มีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งเว็บชีวประวัติ ค้าขาย ติดต่อสื่อสาร บริการสาธารณะ ซึ่งเว็บไซต์ของจำเลยในคดีนี้ทำเป็นเว็บที่แบ่งเป็นสองส่วนคือ ข้อมูล และเว็บบอร์ด ซึ่งตนไม่ทราบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวสื่อสารข้อมูลสาธารณะหรือไม่ และไม่ทราบว่าทำเพื่อวัตถุประสงค์ของกลุ่มใดหรือเปล่า

จากนั้นเบิกความว่า ตนทราบว่า ประชาไทไม่ใช่เว็บไซต์ของจำเลย แต่เป็นเว็บของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของมูลนิธิจดทะเบียนถูกต้อง และมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ข้อบังคับของมูลนิธิเอาไว้

โดยอารีย์ติดตามประชาไทมาหลายปี ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงวันที่มีการบล็อก ซึ่งไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เริ่มละเอียดในปี 2551 เป็นต้นมา

จากนั้นอารีย์เบิกความว่า เว็บไซต์ประชาไทลงข่าวกิจกรรมทางสังคม ซึ่งหมายความว่า งาน กิจกรรมการทำงานของกลุ่มประชาชน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แต่จะกลุ่มไหนก็ว่ากันไป มีการลงข่าวการเมือง มีกิจกรรม การแสดง มหรสพ นิทรรศการที่ทั้งดีและไม่ดีรวมไว้ สำหรับผู้สนใจจะไปดู แต่ตนไม่แน่ใจว่าเคยเห็นข้อมูลเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมาย หรือระเบียบใหม่ๆ ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วยังมีบทความต่างๆ ทางวิชาการ ของนักวิชาการทั้งที่มีชื่อ และไม่มีชื่อจำนวนมาก โดยมีทั้งนักวิชาการที่ต่อต้านสถาบันรวมอยู่ด้วย

อารีย์กล่าวว่า ในเว็บไซต์มีการระบุชื่อผู้ดูแลระบบด้วย ตนไม่แน่ใจว่าเว็บไซต์ทั่วไปจะทำตัวเลขผู้เข้าชมเว็บไซต์โชว์ไว้ด้วย ตนสนใจเฉพาะเว็บบอร์ด จึงมี shortcut โดยตรงของเว็บบอร์ด ไม่ต้องผ่านหน้าเว็บไซต์ เคยมีการเปลี่ยนหน้าหลายครั้ง อาจจะเอาปุ่มไว้ตรงไหนก็ได้

จากนั้นอารีย์เบิกความว่า หน่วยงานตนไม่ได้เก็บตัวเลขผู้เข้าเว็บไซต์ไว้ ที่เก็บไว้มีแต่ข้อความหมิ่นฯ ไม่ได้บันทึกตัวเลขผู้เข้าใช้ บันทึกแต่เนื้อหาหมิ่นสถาบัน โดยการตรวจสอบดูแลเว็บไซต์นั้น จะดูเว็บที่มีผลเสีย เช่น ลามก เสียหายต่อคนดังด้วย ซึ่งขอบเขตของการตรวจสอบ จะเน้นเนื้อหาลามกอนาจาร การพนัน ยาเสพติด และหมิ่นสถาบัน ส่วนระเบียบที่เขียนไว้ไม่มี มีแต่มาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

โดยการใช้ดุลยพินิจนั้น จะมีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่งตั้งข้าราชการจากทุกหน่วยงานมาพิจารณา ตามคำสั่งเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

อารีย์ให้การต่อว่า ตนไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดนี้ร่างระเบียบการตรวจหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าเห็นชัดว่าหมิ่น ไม่ต้องส่ง ให้บล็อคได้เลย ถ้าขาวๆ เทาๆ จะส่งให้ตัดสิน

มีการแยกส่วนคณะกรรมการที่เกี่ยวกับสถาบันออกมาจากชุดใหญ่ 5 คน โดยการได้รับแจ้งนั้นจะมีทั้งได้รับแจ้งจากประชาชน อีเมล โทรศัพท์ และสำนักงาน ถ้าดูแล้วชัดเจนจะดำเนินการเลย เป็นการใช้ความเห็นร่วมของ 5 คนเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยส่งให้นิติกรซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายดูให้อีกทีหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมามีความเห็นแย้งกันน้อยมากในหมู่คณะกรรมการ 5 คนนั้น โดยหากไม่แน่ใจจะส่งคณะกรรมการ

อารีย์เบิกความว่า นอกจากข้อความที่ปรากฏในเว็บบอร์ดแล้ว ยังมีข้อความโดยนักวิชาการและคอลัมนิสต์บางเรื่องที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ เช่น เอกสารต้องห้าม อย่างกษัตริย์ไม่เคยยิ้ม เอกสารสวรรคตรัชกาลที่ 8 เป็นต้น

ซึ่งในฐานะผู้กล่าวโทษ อารีย์กล่าวว่ามีการกล่าวโทษประชาไทในมูลอื่นอีกมาก ซึ่ง 1 ยูอาร์แอล คิดเป็น 1 คดี โดยการกล่าวพาดพิงสถาบันมีหลายระดับ แต่ต้องดูว่าผิดตาม มาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ ถ้าผิดก็ถือว่าใช่ หนักเบาอย่างไรให้ไปว่ากันที่ศาล ในฐานะพนักงานที่ตรวจและกลั่นกรองจะดูข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่น-หมิ่น ประมาทโดยการอ่านและคิดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ตามเกณฑ์ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ซึ่งราชาศัพท์ไม่ได้สำคัญเท่าวัตถุประสงค์ว่าโพสต์เพื่ออะไร ไม่อาจดูเพียงถ้อยคำได้ โพสต์ทั่วไปไม่เป็นไร แต่โพสต์เพื่อทำลายก็ไม่เหมาะสม กรรมการที่พิจารณาก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน

เมื่อมีความเห็นทั้ง 10 รายการ คณะกรรมการทั้ง 5 จะประชุมแล้วทำหนังสือจากสำนักงาน โดยบอกว่าภาพข้อความอาจเข้าข่าย มาตรา 20 ให้ดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีการสรุปความเห็น เพราะชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากประชาไท ยังมีเว็บไซต์อื่นอีกที่ต้องส่งให้คณะกรรมการ

ทนายจำเลยให้ยกตัวอย่างข้อความเทาๆ ที่ต้องส่งคณะกรรมการ อารีย์ยกตัวอย่างคำจำนวนหนึ่งที่เมื่อแปลความหรือผวนคำแล้วจะได้ความหมายอีก อย่างหนึ่ง ทนายถามว่าข้อความที่ส่งไปนั้นมีเนื้อหาที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำ ของกษัตริย์หรือราชินีหรือไม่ และมีแนวปฏิบัติหรือไม่ว่า การแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นายอารีย์ตอบว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะไม่พูด จะเก็บเอาไว้ในใจ ทนายความถามต่อว่า การไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกษัตริย์หรือราชินีจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร นายอารีย์ตอบว่า คนไทยจงรักภักดี กษัตริย์สู้รบจนประเทศอยู่ได้ทุกวันนี้ บุญคุณสำหรับคนไทยเป็นเรื่องใหญ่ บางเรื่องไม่สมควรก็อย่าพูด ถ้าพูดออกมาก็อาจจะผิดกฎหมายได้

ทนายความถามถึงเนื้อหาหนึ่งในกระทู้ตามคำฟ้อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา โดยเหตุผลที่วิพากษ์วิจารณ์กันคือ สองคนนี้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โดยการกระทำของทหารก่อนหน้านั้นใช่หรือไม่ อารีย์ตอบว่า มันไม่เหมาะสม ทนายถามต่อว่าเพราะสองคนนี้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารใช่หรือไม่ อารีย์ตอบว่า ใช่ จากการติดตามข่าวสาร

ทนายถามว่า ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับผู้โพสต์กี่ราย ใครบ้าง (ทนายยื่นเอกสารตามคำฟ้องกระทู้หนึ่งให้พยานดู) นายอารีย์ตอบว่า เขาทำหน้าที่ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และบางคนเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ 5 เดือนก็สามารถจับตัวได้ ทนายถามว่าแล้วมีการส่งให้ดำเนินคดีหรือไม่ นายอารีย์ตอบว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ใช้ชื่อ ขุนพิเรนทร์ทรราช แต่เป็นข้อความคดีอื่นที่ไม่ได้โพสต์ในประชาไท สำหรับข้อความตามฟ้อง ไม่มีข้อความใดที่ส่งดำเนินคดี ดำเนินการกับบุคคลมีหนึ่งราย แต่ไม่ใช่กระทู้นี้

ทนายความถามว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 อยู่ตรงไหน นายอารีย์ยกตัวอย่างข้อความจำนวนหนึ่งในเอกสารตามฟ้อง พร้อมกล่าวว่า ข้อความเหล่านั้นปรากฏหมายเลขไอพีชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ว่ามาจากเครื่องไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจสอบ

จบการสืบพยานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 18.00 น. พยานปากนายอารีย์ยังเบิกความไม่เสร็จสิ้นจึงเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า

8 กุมภาพันธ์ 2554 สืบพยานโจทก์ ปากที่หนึ่ง
พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง นายอารีย์ จิวรรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

สืบพยานต่อจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ทนายถามค้าน

ทนายความจำเลยถามค้านต่อ ทนายผู้ถาม ทนายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์

ทนายถามทัศนคติของอารีย์ต่อกระทู้ที่ระบุถึงการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดินและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหาร อารีย์ให้การว่า ตนไม่เข้าใจเพียงพอถึงระเบียบในการแต่งตั้งและลงพระปรมาภิไธย โดยให้ความเห็นต่อไปว่าการเขียนถ้อยคำถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เวลาในการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งแตกต่างกันนั้น น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท

อัยการถามแย้งในตอนหลังให้อารีย์อธิบาย ได้ความว่า จากกระทู้ดังกล่าว ตนเข้าใจว่าเป็นการเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระ ปรมาภิไธยแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับกรณีผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ก็แต่งตั้งไม่ได้

ทนายถามต่อไปถึงหลักฐานที่อัยการฟ้อง คือหน้าเว็บบอร์ดประชาไทที่มีการแชร์ลิงค์ไปสู่เว็บมีเดียไฟล์ (mediafire.com) ซึ่งเมื่อคลิกไปยังมีเดียไฟล์ตาม ยูอาร์แอล นั้นจะสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงการปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล

อารีย์เห็นว่า การที่จำเลยปล่อยให้มีการวางลิงก์ ถือว่าเว็บไซต์ประชาไทรับเอาเว็บมีเดียไฟล์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ ประชาไทแล้ว ถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ประชาไท พร้อมกันนี้ อารีย์ยอมรับว่าทางเจ้าหน้าที่ไอซีทีเป็นผู้ถอดเทปคำปราศรัยจากไฟล์ที่ดาวน์ โหลดจากเว็บมีเดียไฟล์ เพื่อความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสอบสวน ทนายถามค้านว่า ลายเซ็นที่กำกับอยู่เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไอซีที แต่อัยการแย้ง อารีย์ยืนยันว่า ตนได้ลงลายเซ็นแล้ว

อารีย์ เบิกความถึงวิธีการจัดเก็บข้อมูลหลักฐานว่า เก็บหน้าจอในรูป PDF บ้าง Document บ้าง และรวมถึงไฟล์เสียงและไฟล์วิดีโอก็โหลดเก็บไว้ในเครื่องที่ที่ทำงานของตน แต่ส่วนที่ส่งให้เจ้าพนักงานสอบสวนนั้น เป็นการแปลงไฟล์ข้อมูลแล้ว ไม่ใช่ต้นฉบับเดิมกับที่มีอยู่ในเครื่องและตรวจสอบแล้วว่าตรงกัน

ทนายถามต่อไปว่าในบรรดากระทู้ที่ถูกฟ้อง 10 กระทู้นั้น นอกเหนือจากคดีของ Bento ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว อารีย์ได้ติดตาม IP จนทราบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้โพสต์หรือยัง อารีย์ให้การวกวนหลายครั้งว่าเป็นเรื่องที่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอความ ร่วมมือมา ก่อนจะยอมรับว่า ยังไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของผู้โพสต์ข้อความ

ทนายถามว่าจากกระทู้ที่ใช้ในการฟ้องจำเลย 10 กระทู้นั้น พยานตรวจสอบหลักฐานเองทุกกระทู้ใช่หรือไม่ เบื้องต้นอารีย์ให้การว่าใช่ ทนายถามต่อว่า เคยไปเป็นพยานในคดี Bento ซึ่งเป็นกระทู้หนึ่งที่ใช้เป็นเหตุฟ้องจำเลยใช่หรือไม่ อารีย์ตอบว่าจำไม่ได้ และยอมรับในภายหลังอ่านเอกสารจากทนายว่า เคย ซึ่งในคดีดังกล่าว เคยยอมรับว่า ไม่ได้แจ้งให้จำเลยลบกระทู้ของ Bento เพราะตนไม่ได้ตรวจสอบเอง อารีย์ยอมรับว่าใช่ ภายหลังอ่านเอกสารสำเนาคำให้การของตัวเอง

ทนายความให้อารีย์อ่านกระทู้ถัดไป กรณีที่มีการโพสต์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมฯ อารีย์ให้การว่านี่เป็นการล่อเป้า และมีความเห็นที่แสดงอาการหมิ่นประมาท

กระทู้ต่อไป อารีย์ให้ความเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทพระราชินี กษัตริย์และรัชทายาท

ทนายถามต่อว่า ที่ผ่านมาจำเลยให้ความร่วมมือด้วยดีเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากอารีย์ใช่ หรือไม่ ตอนแรกอารีย์ตอบว่าใช่ ตอนหลังอธิบายว่า ตนแจ้งไปทั้ง ISP และจำเลย เมื่อ ISP ปิดช่องทางเข้าถึง ตนจึงไม่อาจยืนยันว่าจำเลยให้ความร่วมมือหรือไม่

อารีย์ เบิกความว่ามีเว็บไซต์ที่เข้าข่ายเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอยู่มากมายทั่ว โลก แต่ไม่ทราบว่าถึงหมื่นหรือไม่ เคยจัดประชุมเรียกผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ต้องจับตาไปพูดคุยหลายครั้ง แต่รวมแล้วไม่ถึงสิบแห่ง ซึ่งตนไม่ทราบว่าเว็บไซต์เหล่านั้นมีระบบตรวจสอบข้อความก่อนโพสต์หรือไม่ จากนั้นยกตัวอย่างว่า เว็บไซต์ของไอซีทีเอง ตั้งระบบตรวจสอบก่อนแสดงข้อความเพราะเคยเปิดให้มีการลงนามถวายพระพร แต่ก็มีคนโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม และยกตัวอย่างอารยะประเทศที่ใช้ระบบตรวจสอบก่อนแสดงข้อความบนเว็บไซต์ว่า มีประเทศจีนและประเทศโลกมุสลิม แต่ไม่ทราบว่าในกรณีอังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ใช้ระบบตรวจสอบก่อนโพสต์หรือไม่

ทนายถามว่า กระทรวงไอซีทีหรือหน่วยงานของอารีย์ได้วางระเบียบปฏิบัติอะไรสำหรับผู้ดูแล เว็บไซต์หรือไม่ และจะมีหรือไม่ อารีย์ตอบว่ามีเรื่องเยอะแยะ การปล่อยให้คนโพสต์แปลว่ายอมเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย และจะรอให้หน่วยงานของตนซึ่งมีเจ้าหน้าที่เพียงห้าคนคอยเตือนอยู่ตลอดเป็นไป ไม่ได้ ผู้ดูแลเว็บไซต์ตั้งโปรแกรมได้และง่ายมาก เช่น ตั้งระบบเตือน หรือบล็อกผู้ใช้งานบางราย ระบบรายงานผลไปยังโทรศัพท์ รวมถึงการโทรศัพท์ไปเจรจากับผู้ใช้งานเว็บบอร์ดที่โพสต์ข้อความหมิ่นเหม่ ซึ่งจำเลยให้ความร่วมมือกับตนประมาณร้อยละ 70

อารีย์ยอมรับว่ากระทู้ทั้ง 10 กระทู้นั้น มีหลายกระทู้ที่จำเลยลบไปก่อนที่ตนจะนำเรื่องร้องขออำนาจศาลในการปิดกั้นโดย อธิบายว่าเป็นข้อตกลงกันกับ ISP และผู้ดูแลเว็บไซต์เรื่องการให้ความร่วมมือ

จากนั้นทนายถามว่า ที่จับตาเว็บไซต์ประชาไทเพราะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ไม่ประสงค์ ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ อารีย์ให้การว่า ที่ตรวจสอบเพราะมีคนร้องเรียน ศาลบอกให้ตอบให้ตรงคำถาม จึงตอบว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐขอไม่ตอบ

ทนายถามความเห็นอารีย์ว่า การดำเนินการให้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไทนั้นเป็นการแสดงประสงค์ร้าย หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ไม่หวังหรือหรือต้องการโค่นล้มสถาบันใช่หรือไม่ อารีย์ให้การว่า เว็บไซต์ประชาไทปล่อยให้มีการโพสต์ข้อมูลหมิ่นฯ มาเรื่อยๆ จนคนทั่วไปรู้ว่าที่นี่มีการโพสต์ทำนองนี้

ทนายถามว่า ได้ดูกระทู้ประเภทอื่นๆ หรือไม่ เช่น เรื่องสังคม อารีย์ตอบว่าดู แต่ตามหน้าที่ต้องติดตามกระทู้หมิ่นฯ และบางทีใช้การเสิร์ชจากกูเกิ้ล

อารีย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการถามติงของอัยการว่า เว็บไซต์ประชาไทเคยโฆษณาจำหน่ายหนังสือต้องห้าม The King Never Smiles ทนายถามค้านว่า เมื่อพบเห็นแล้วได้ดำเนินการแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ว่าเว็บไซต์ของ จำเลยจำหน่ายหนังสือต้องห้าม อารีย์ให้การว่าไม่ได้แจ้ง เพราะตอนนั้นยังไม่มีหน้าที่

อัยการถามว่า กรรมการมูลนิธิของจำเลยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเหรัญญิก ก่อนหน้านั้นใครดำรงตำแหน่ง อารีย์ตอบว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน ก่อนจะเปลี่ยนภายหลังถูกฟ้องร้อง

ทนายถามว่า เห็นว่าจำเลยมีระบบแจ้งลบความเห็นใช่หรือไม่ อารีย์ให้การว่าเห็น แต่ช่วงเวลาเกิดเหตุไม่มี และแม้ภายหลังจะมีให้คลิกเพื่อลบความเห็น แต่เมื่อคลิกแล้วไม่ได้ลบกระทู้ได้ทันที เป็นเพียงการแจ้งไปยังเว็บมาสเตอร์ให้พิจารณาเท่านั้น

บรรยากาศการพิจารณาในวันนี้ มีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 40 คน ในช่วงท้ายของการพิจารณา มีคนขับรถของพยานโจทก์ซึ่งจะขึ้นให้การในวันพรุ่งนี้เข้ามานั่งฟัง ทนายจำเลยจึงโต้แย้งและให้ศาลรับทราบ ภายหลังการพิจารณาคดี ศาลกล่าวเตือนอัยการอย่าให้ฝ่ายพยานโจทก์เข้ามาฟังการเบิกความของพยานปาก ก่อนหน้า

9 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง นายธนิต ประภาตนันท์ ฝ่ายกฎหมาย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

- ไม่มีรายละเอียดบันทึกการสังเกตุการณ์คดี -

10 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม นายสมศักดิ์ ศุภจิราวัฒน์ รับราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากเป็นนิติกรแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

นายสมศักดิ์ เบิกความว่า พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ประสานขอความร่วมมือจากตนเนื่องจากเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ทำสำเนาข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ในวันที่จับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท พนักงานสอบสวนได้ขอหมายจับและหมายค้นไว้ก่อนแล้ว จนเมื่อเวลา 14.30 น. นายสมศักดิ์จึงยื่นคำร้องขอทำสำเนาข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ต่อศาลอาญา พร้อมแนบเอกสารประกอบคำร้องของพนักงานสอบสวน รายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศาลจะถามพนักงานสอบสวน ไม่ได้ไต่สวนนายสมศักดิ์ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่แรก ในคำร้องทราบว่า บ้านเลขที่ 409 เป็นที่ตั้งสำนักงานเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ดูแล มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหกเครื่อง โน้ตบุ๊คของจำเลยหนึ่งเครื่องซึ่งเป็นหลักฐานในการกระทำความผิด โดยศาลอนุญาตให้ทำสำเนาตามคำร้อง

นายสมศักดิ์เบิกความว่า เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความซึ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์ฯ จึงต้องสันนิษฐานว่า อาจมีหลักฐานในเครื่องใดเครื่องหนึ่งทำให้ต้องพิสูจน์ทางเทคนิค ขั้นตอนการทำงานแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ที่กองปราบฯ โดยมีนายสมศักดิ์อยู่ด้วย อีกกลุ่มไปเชิญตัวจำเลยมาที่กองปราบฯ ส่วนจะจับกุมอย่างไรนั้นไม่ทราบ

ที่กองปราบฯ ได้เจอจำเลยพร้อมคนอื่นๆ เกือบ 20 คน และโน้ตบุ๊ค ยี่ห้อฟูจิสึ รหัส YK8 C032771

การทำสำเนาฮาร์ดดิสก์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย ต้องเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์กระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมอุปกรณ์ทำสำเนาและทีมงาน การทำสำเนานั้นทำต่อหน้าจำเลย พนักงานสอบสวน และนายสมศักดิ์ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง โดยบันทึกวิดีโอไว้ตลอด

เมื่อกระทำการสำเนาฮาร์ดดิสก์เสร็จสิ้น อุปกรณ์ทำสำเนาจะแสดงตัวเลข (เรียกว่า เลข MD5 – ข้อมูลเพิ่มเติมโดย Freedom of Expression Documentation Center) ของฮาร์ดดิสก์ต้นฉบับกับฮาร์ดดิสก์ที่สำเนาขึ้น ตัวเลขของฮาร์ดดิสก์ทั้งสองต้องเป็นตัวเลขที่ตรงกันจึงจะยืนยันว่าข้อมูลที่ ทำสำเนามานั้นไม่ได้ถูกแก้ไข ถ้าตัวเลขเปลี่ยน แปลว่าข้อมูลถูกเปลี่ยน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกตัวเลขที่อุปกรณ์ทำสำเนาไว้เป็นหลักฐาน โดยใช้กล้องถ่ายภาพเพื่อบันทึกให้เห็นว่าผลการทำสำเนาได้ตัวเลขตรงกัน

เมื่อทำสำเนาแล้ว มีพยาน 5 คนร่วมลงนามในบันทึกหลักฐานการจัดทำสำเนา เพื่อยืนยันว่า ขั้นตอนเป็นไปอย่างเปิดเผย ถูกต้อง

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เขียนรายงานประจำวัน เกี่ยวกับคดีของกองปราบฯ และนายสมศักดิ์ได้ลงลายมือชื่อ
ตัวสำเนามีการใส่ซองและห่ออย่างดี เซ็นชื่อทั้งนายสมศักดิ์และจำเลย โดยเก็บไว้ที่กองปราบฯ และส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะมอบให้ใครก็เป็นหน้าที่ของเขา และไม่ได้มีการมอบสำเนาให้จำเลย โดยที่มีสำเนาไว้ 2 ชุด เพื่อไว้ตรวจสอบว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่

นายสมศักดิ์เบิกความต่อว่า จากนั้นจึงหมดหน้าที่ของตน โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ตนจำจำเลยได้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญ จำไม่ได้ (ซึ่งจำเลยแจ้งว่าไม่ได้อยู่ในห้องนี้)

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

ได้ความจากนายสมศักดิ์ว่า หน้าที่ประจำตามปกติของตนไม่ต้องตรวจเนื้อหาเว็บไซต์และเว็บบอร์ดข้อความ ต่างๆ ในคดีนี้ ตนไม่เคยเห็นมาก่อน สมศักดิ์ทราบว่าการดำเนินคดี มีการขอออกหมายจับ-หมายค้น และทราบว่ามีการยื่นคำร้องให้ปิดกั้นข้อมูลในเว็บไซต์ แต่ไม่ได้ร่วมยื่นคำร้องขอปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ประชาไท

การไปยื่นคำร้องขอทำสำเนาคอมพิวเตอร์ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อสมศักดิ์โดยตรง เป็นการส่วนตัว แต่ไม่มีหนังสือมอบหมาย หรือกำหนดจากผู้บังคับบัญชา ในการยื่นคำร้อง สมศักดิ์ไม่ได้นำเอกสารใดๆ จากสำนักงานของตนไปใช้เสนอต่อศาล

ประเด็นที่ว่า สำนักงานของจำเลย มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คกี่เครื่องนั้น สมศักดิ์ ไม่ทราบข้อมูลนี้มาก่อน โดยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั้งหกเครื่องและโน้ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง จะใช้งานเกี่ยวกับการให้บริการตามปกติของเว็บหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และสมศักดิ์ไม่ทราบว่า เครื่องใดจะเกี่ยวกับการทำงานของเว็บไซต์

ทนายถามต่อว่า ในคดีนี้มีการนำเอกสารที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับความผิด ตาม มาตรา 14(3) มายื่นต่อศาล (ให้สมศักดิ์ดูเอกสาร จ. 23-32) ถามว่าใช่เอกสารที่ยื่นส่งศาลในการยื่นคำร้องขอทำสำเนาข้อมูลหรือไม่ ได้ความว่า สมศักดิ์ไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจ

สมศักดิ์ให้การต่อว่า ไม่มีการนำเอาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาเทียบกับพยานเอกสารในวันดังกล่าวที่มี การไต่สวน แต่ที่หน่วยงานของตนมีข้อมูลการกระทำความผิดของจำเลยในครั้งนี้แน่นอน

ทนายถามต่อว่า เหตุที่ไม่ได้นำข้อมูลการกระทำความผิดที่มีการแสดงต่อศาลเพราะเรื่องนี้เป็น เพียงความประสงค์ของหน่วยงานอื่นใช่หรือไม่ สมศักดิ์ให้การว่า ไม่ใช่ เพราะเมื่อพบการทำความผิด หลังจากปิดเว็บไซต์ ไอซีทีก็ส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว และโดยระเบียบ เมื่อเกิดกรณีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พนักงานสอบสวนต้องประสานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 18 เมื่อจะขอสำเนาหรือยึดอายัด

จากนั้นทนายถามต่อว่า ขณะนี้กระทรวงไอซีทียังไม่มีระเบียบวิธีปฏิบัติในเรื่อง (1) การทำสำเนาคอมพิวเตอร์จากเครื่องผู้ให้บริการ (2) กำหนดวิธีการตรวจสอบสำเนา (3) การจัดเก็บสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ (4) การจัดทำรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นต่อศาลขอปิดกั้นข้อมูล (5) ระเบียบจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อศาลขอทำสำเนาคอมพิวเตอร์ ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ให้การว่า ยังไม่มี โดยขยายความว่า ไม่มีเพราะใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ในกรณีนี้ ใช้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เรียนมาด้านนี้ และทำต่อหน้าพยานหลายฝ่าย ระเบียบเป็นรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งไม่จำเป็น

นายสมศักดิ์บอกอีกว่า นอกจากการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แล้ว ยังมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอ และตำรวจกองปราบฯ เป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย การยื่นคำร้องคราวนี้ยื่นในนามของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีที โดยในคำสั่งอนุญาตของศาล ให้เฉพาะนายสมศักดิ์เท่านั้นที่เป็นผู้ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ 6 เครื่อง และโน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง แต่ในการดำเนินการ เป็นการประสานงานกัน ไม่ได้ทำคนเดียว

ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาล ตนไม่ได้ทำรายงานไว้ในฐานะเจ้าพนักงานไอซีทีที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศาล และไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจหน้าที่ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่อให้เจ้า หน้าที่ตำรวจรายใดเลย

ทนายถามต่อว่า หลังทำสำเนา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นต่อศาลว่าได้ปฏิบัติหน้าที่บรรลุแล้วหรือไม่ นายสมศักดิ์ให้การว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำ โดยเป็นไปตามมาตรา 19 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา ส่วนตนก็ต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาของตัวเองด้วย แต่ไม่ได้ทำ นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากศาล ต้องเก็บดูแลข้อมูลจากการทำสำเนาด้วย โดยทางปฏิบัติต้องเก็บไว้ที่กองปราบฯ แต่ไอซีทีไม่ได้เก็บสำเนา และตนก็ไม่มี

ในวันที่ 6 มี.ค.52 สมศักดิ์อยู่กับชุดยื่นคำร้องเท่านั้น ส่วนชุดจับกุมดำเนินการอย่างไร ไม่ทราบและไม่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทีไปกับชุดที่ไปสำนักงานประชาไท ทนายถามว่าชุดที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทำสำเนานั้นจะทำสำเนากี่เครื่อง พบ 6 เครื่องก็จะทำสำเนา 6 เครื่องเลยหรือไม่ สมศักดิ์ให้การว่า ไม่ทราบ และคิดว่าไม่ได้ทำ พนักงานที่ไปก็ไม่ได้กล่าวถึงและตนก็ไม่ได้สอบถาม ส่วนวิธีการสำเนานั้น สมศักดิ์ให้การว่า ตนไม่เคยใช้อุปกรณ์ทำสำเนา

ทนายจึงถามว่า ถ้าเช่นนั้นที่สมศักดิ์เบิกความเกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขนั้นนายสมศักดิ์ไม่มี ความรู้หรือ สมศักดิ์ตอบว่า จากการสอบถามฝ่ายเทคนิคว่า ตัวเลขคืออะไร เขาบอกว่า ตัวเลขจะยืนยันว่า ถ้าข้อมูลเปลี่ยน ตัวเลขก็จะเปลี่ยน โดยการจะเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิค ต้องเรียนมาและได้ใบประกาศ

ทนายถามว่า ขณะนั้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำสำเนาฮาร์ดดิสก์ไปเก็บ ได้เปิดให้พยานผู้ต้องหาดูอีกครั้งหรือไม่ว่ามีข้อมูลเหมือนเดิม สมศักดิ์ให้การว่าไม่ได้เปิด ทนายถามว่าสมศักดิ์ได้เปิดดูโน้ตบุ๊คที่เป็นต้นฉบับของข้อมูลหรือไม่ ให้การว่า ไม่ได้เปิด แต่ยืนดูเป็นพยาน ไม่ได้เช็คหรือนับแฟ้มในเครื่อง

ทนายถามว่า มีการเปรียบเทียบสำเนาทั้งสองไหมว่า ตรงกันหรือไม่ นายสมศักดิ์ให้การว่า ไม่ได้เปรียบเทียบ และไม่จำเป็นต้องทำ

ทนายถามว่า ในการให้การต่อศาล ในการขอทำสำเนา สมศักดิ์ได้ยืนยันไหมว่า จำเลยทำผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14-15 นายสมศักดิ์ให้การว่า ไม่ได้ยืนยัน แต่ต้องมีการพิสูจน์ และหากมีการกระทำผิด สันนิษฐานว่าหลักฐานจะอยู่ในคอมพิวเตอร์

ตอบคำถามอัยการถามติง

ได้ความว่าที่สมศักดิ์บอกว่าไม่มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปดำเนินการ นั้น ไม่ได้มีระเบียบอะไร ซึ่งตามหลัก เรื่องนี้ต้องใช้ความรวดเร็ว ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แล้วก็รายงานให้ทราบ

หลังจากนั้น อัยการยื่นคู่มือการปฏิบัติและแนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความ ผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระเบียบว่าด้วยการจับกุม ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวน และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอรฯ ให้นายสมศักดิ์ดู เป็นระเบียบข้อห้า หน้า 122 ที่ว่า ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามข้อ 4 แล้วให้พนักงานสอบสวนประสานงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการแสวง หาพยานหลักฐานประกอบการกระทำความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์สามารถประสานได้โดยตรง สมศักดิ์จึงตอบว่า ใช่

อัยการถามว่า ที่สมศักดิ์ตอบทนายว่า ไม่ทราบว่าคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือไม่ อย่างไร หมายถึงไม่ทราบขณะไหน สมศักดิ์ตอบว่า ก่อนยื่นคำร้องต่อศาล ตนไม่ทราบว่าใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด จากนั้นทราบว่า จะยื่นคำร้องขอทำสำเนา 6 เครื่อง ตอนยื่นคำร้องนั้นทราบว่าใช้อัยการถามว่า เอกสารประกอบที่สมศักดิ์บอกว่าไม่ได้ดู เพราะอะไร สมศักดิ์ตอบว่าเพราะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวม โดยขอให้ตนในฐานะเจ้าพนักงานเป็นผู้ยื่น เพราะตำรวจไม่มีอำนาจยื่น ส่วนตอนสอบสวนนั้น ศาลจะซักถามพนักงานสอบสวนเอง

อัยการถามว่า ในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนและสมศักดิ์อยู่ในห้องนั้นหรือไม่ ได้ความว่า อยู่ แต่จำรายละเอียดการขอทำสำเนาไม่ได้ (อัยการให้ดูเอกสาร) สมศักดิ์จึงบอกเพิ่มเติมว่า รายละเอียดนั้นตนไม่ได้ดู แต่ฟังอยู่ด้วยและทราบว่า ในการขอทำสำเนา อ้างเหตุควรเชื่อตาม มาตรา 14(3) ความมั่นคงเกี่ยวกับราชอาณาจักร และมาตรา 15 ต้องหาหลักฐาน ซึ่งคาดว่าอาจพบในฮาร์ดดิสก์ อัยการถามว่า ที่เบิกความว่าไม่มีระเบียบต่างๆ นั้น เพราะอะไร สมศักดิ์กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะเป็นวิธีปฏิบัติ

อัยการถามว่า ที่เบิกความว่า ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์ โดยคำสั่งนายกฯ แต่งตั้ง มีการแต่งตั้งทุกคนหรือไม่ ได้ความว่า แต่งตั้งบางคน

อัยการถามว่า ที่บอกว่าไม่ได้จัดทำรายงานด้วยตัวเองนั้น เป็นอย่างไร สมศักดิ์ให้การว่า ไม่ต้องทำ โดยการจัดทำ พนักงานสอบสวนทำไว้ในรายงานตามมาตรา 19 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (รายงานศาล) อัยการถามว่า ในการยื่นคำร้อง ตรวจสำเนา หน่วยงานของตำรวจและหน่วยของสมศักดิ์ แบ่งหน้าที่กันอย่างไร ได้ความว่า ร่วมกันทำ โดยสมศักดิ์ไปยื่นต่อศาล ส่วนตำรวจเป็นผู้ทำรายงานต่อศาล

อัยการถามว่า ที่บอกว่า เจ้าหน้าที่ไปด้วยไม่ได้บอกว่ามีทั้ง 6 เครื่องหรือไม่ และสมศักดิ์ก็ไม่ได้ถามนั้น จำเลยเองได้บอกสมศักดิ์หรือไม่ว่า มีการทำสำเนาทั้ง6 เครื่องหรือไม่ สมศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้บอกและไม่มีการร้องเรียน อัยการถามว่า ใช้เครื่องอะไรทำสำเนา ได้ความว่า เป็นโปรแกรมทำสำเนา ผู้ที่ทำสำเนาได้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรม มีใบรับรองตามหลักสากล ดังนั้น ตัวสมศักดิ์เองจึงไม่ได้ทำสำเนาด้วยตัวเอง และไม่เคยทำ

อัยการถามว่าในการทำสำเนา 4 ชั่วโมง เห็นหรือไม่ว่าเปิดสำเนาหรือไม่อย่างไร สมศักดิ์ให้การว่า ทำโดยเปิดเผย ในห้องโล่ง ขนาดเล็ก ส่วนมีการเปิดเครื่องหรือไม่นั้นจำไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องของเทคนิค อัยการถามว่า จะต้องเปิดฮาร์ดดิสก์เปรียบเทียบหรือไม่ ได้ความว่าไม่ต้อง และไม่รู้จะเปิดทำไม ทำสองก้อนก็เพื่อพิสูจน์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีร่องรอยอะไรหรือไม่ เมื่ออัยการถามว่าจะรู้ว่าตรงกันได้อย่างไร นายสมศักดิ์ตอบว่า ต้องดูตรงกันทำไม

อัยการถามว่า รู้เรื่องทางเทคนิคเครื่องดังกล่าวไหม ได้ความว่าไม่รู้ อัยการถามว่าเมื่อเช้า ที่บอกว่าช่างเทคนิคแจ้งว่าถ่ายรูปตามหมาย จ.7 ถ่ายตอนไหนอย่างไร สมศักดิ์ตอบว่า เข้าใจว่าถ่ายตอนที่เสร็จแล้ว อัยการถามว่า ที่ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดเพราะอะไร สมศักดิ์ให้การว่า เพราะตนเกี่ยวข้องเฉพาะการทำสำเนาเท่านั้น

ต่อมาทนายความจำเลยถามค้านเกี่ยวกับเอกสาร "ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้นการทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550" ซึ่งประกาศเมื่อ 30 พ.ย. 2550 โดยในหน้า 122-123 มีการบัญญัติไว้เพียงว่าให้ทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนตาม ข้อ 4-8 ได้ความจากสมศักดิ์ว่า ระเบียบนี้ไม่ได้วางแนวปฏิบัติในแต่ละหน้าที่เอาไว้ และในรายละเอียดก็แบ่งกันทำ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีระเบียบใหม่อะไรขึ้นมา

อัยการถามติงเกี่ยวกับระเบียบนี้ว่าออกตามกฎหมายอะไร สมศักดิ์ตอบว่า ออกตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อัยการถามว่าในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ดำเนินการอย่างไร ได้ความว่า เนื่องจากทำเองไม่ได้ทั้งหมด ตำรวจมีความพร้อมเรื่องการจับกุม จึงประสานและร่วมกัน ตามระเบียบให้อำนาจตำรวจ แต่การจับกุมต้องร่วมมือและแบ่งหน้าที่กัน

สิ้นสุดการสืบพยานปากนายสมศักดิ์ ศุลจิราวัฒน์ พักการสืบพยานช่วงเที่ยง

10 กุมภาพันธ์ 2554 (เริ่มช่วงบ่าย)
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ นายไพรัช ยะวงศ์ ทนายความ อายุ 38 ปี อาชีพ เป็นทนายความ บริษัท Law Home 999 จำกัด ประกอบอาชีพทนายความมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

เกี่ยวกับคดีนี้ ประมาณเดือนมีนาคม 2552 นายไพรัช ยะวงศ์ไปติดต่อราชการที่กองปราบปรามเกี่ยวกับลูกความรายหนึ่ง พนักงานสอบสวนได้ขอความร่วมมือว่า มีผู้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ประชาไทให้อ่านและให้ความเห็นในฐานะนักกฎหมาย ว่าเป็นความผิดตาม มาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งนายไพรัชได้อ่านและให้ความเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม มาตรา 112

โดยข้อความที่โพสต์ใช้ชื่อว่า ความจริงวังนี้ระบุนามผู้โพสต์ว่าเบนโตะซึ่งอ่านโดยพิจารณาจากหัวข้อกระทู้และเนื้อหาทั้งหมด สื่อถึงพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ส่วนข้อความแม้ไม่ได้ระบุพระนามโดยตรง แต่ใช้ลักษณนาม ข้อความทั้งหมดอ่านแล้วเป็นการกล่าวหาว่าพระองค์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายในบ้านเมือง

หลังจากให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนแล้วได้มาเบิกความต่อศาลในคดีของผู้ต้อง หาชื่อนพวรรณ (อัยการกระซิบชื่อ นพวรรณ) จำนามสกุลไม่ได้ ประมาณปี 2553

(iLaw-คดีของผู้ต้องหาชื่อนพวรรณ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าใช้นามแฝงว่า Bento โพสข้อความลงในเว็บบอร์ดประชาไท ซึ่งเป็นข้อความที่ 10 ที่นำมาดำเนินคดีกับจีรนุชในคดีนี้ แต่ภายหลังศาลตัดสินว่านพวรรณไม่มีความผิด เพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยได้ ดูรายละเอียดคลิกที่นี่)

ในคดีนั้นได้ทราบผลจากโทรทัศน์ว่า ศาลยกฟ้อง ในประเด็นว่าผู้ต้องหายังไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ส่วนเนื้อหาไม่ทราบแน่ชัด จากการติดตามผ่านสื่อ ไม่ได้ระบุว่ามีการวินิจฉัยว่าข้อความหมิ่นหรือไม่

ในคดีนั้นและคดีนี้ ตนไม่รู้จักจำเลยมาก่อน

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

ได้ความว่า ไพรัชเปิดบริษัทที่สังกัดอยู่โดยเป็นกรรมการร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งไม่มีประสบการณ์โดยตรงในคดีที่เกี่ยวกับความผิดทางอินเทอร์เน็ต บริษัทดังกล่าวรับปรึกษา ดำเนินการคดีด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ตด้วย คือ รับทำหมดทุกคดี แต่ไม่มีคดี เนื่องจากยังเป็นกฎหมายใหม่ ส่วนคดี 112 ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และไพรัชไม่เคยมีบทบาทเป็นผู้บรรยายความรู้เกี่ยวกับความผิดตาม มาตรา 112

นอกจากนั้นแล้วยังไม่เคยเข้ารับการอบรมเรื่องความผิดทางอินเทอร์เน็ต แต่เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตตามปกติ ไม่เคยเข้ารับการอบรมเรื่องมาตรา 112 แต่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยประกอบกับศึกษาค้นคว้าจากคำพิพากษาศาลฎีกาโดยตรง

ไพรัชให้การว่า ตนไปที่กองปราบประมาณวันที่ 12 มี.ค. 2552 ได้ไปติดต่อเกี่ยวกับลูกความ เป็นคดีเกี่ยวกับการประทุษร้ายชีวิตและทรัพย์สิน โดยลูกความเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ

โดยยศของลูกความ คือ พ.ต.ท. แต่ไพรัชขออนุญาตไม่ตอบตำแหน่ง คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์และลูกความยังรับราชการอยู่ โดยเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ซึ่งทนายได้ถามว่าลูกความถูกกล่าวหาในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพรจิตรใช่หรือไม่ นายไพรัชไม่ขอตอบเพราะเป็นมารยาท ทนายจึงถามถึงความสนิทสนมก่อนหน้าที่จะเบิกความ ได้ความว่า นายไพรัชรู้จักกับลูกความมาตั้งแต่ประมาณ 2549 ซึ่งจะพบกันกับลูกความไม่บ่อยนัก

โดยลูกความของนายไพรัชไม่ใช่หนึ่งในพนักงานสอบสวนคดี น.ส.นพวรรณ และนายไพรัชไม่ทราบว่า พนักงานสอบสวนคดีนี้และคดีนพวรรณ รู้จักหรือเป็นเพื่อนร่วมงานกับลูกความของตน ขณะที่ไปพบลูกความ ตนและเจ้าหน้าที่ที่มาขอความร่วมมือไม่ได้พบกันต่อหน้าลูกความ เพราะตนไปรอพบลูกความก่อนเวลา โดยเมื่อพนักงานสอบสวนทราบว่า ตนเองเป็นทนายความจึงมาขอความร่วมมือในฐานะนักกฎหมาย เพื่อประกอบสำนวน

ไพรัช ตอบคำถามต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อว่า พ.ต.ต.เหรียญ บัวลา ตำรวจคนนี้เป็นพนักงานสอบสวน 2 คดีหรือไม่นั้นไม่ทราบ หลังจากให้ความร่วมมือจึงทราบว่าเป็นคดีนพวรรณและคดีนี้ โดยการขอความเห็นและการเป็นทนาย เกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่นั้นจำไม่ได้

ไพรัชเบิกความว่า ขณะที่ให้ถ้อยคำ ตนไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนที่กำลังสอบรู้ว่าจะดำเนินคดีกับใคร เพราะพนักงานตำรวจเอาข้อความมาและขอความเห็น ซึ่งตนให้ความเห็นก่อนที่จะทราบตัวผู้ต้องหาในคดี ขณะที่อ่านถ้อยคำ ตนไม่ได้สอบถามว่าเขาจะดำเนินคดีกับใคร ซึ่งการสอบปากคำหลังอ่านเอกสารกระทำในวันเดียวกัน

ไพรัชเบิกความอีกว่า ตนยินดีเป็นพยานเพราะหน่วยงานราชการขอความร่วมมือ ต้องการความเห็นจากนักกฎหมาย ตนในฐานะนักกฎหมายจึงให้ความร่วมมือ และเห็นว่า เป็นความเห็นเฉพาะตัวซึ่งการวินิจฉัยข้อความ ขึ้นอยู่กับศาลอยู่แล้ว ซึ่งตนยินยอมเป็นพยานโดยไม่ได้คิดว่าผู้กระทำจะเป็นใครอย่างไร

ไพรัชเบิกความว่า ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนที่จะสนับสนุนให้มีการลงโทษ การที่ตนยินยอมเป็นพยานนั้นเพราะเชื่อว่า คนทำผิดก็ต้องดำเนินคดี โดยตนไม่ทราบว่าจำเลยสองคดีเกี่ยวพันกับกลุ่มมุ่งร้ายสถาบันฯหรือไม่อย่างไร

โดยปกติในคดีอาญา เอกสารสำคัญในคดีความ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เอามาให้คนอื่นดู เพราะบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยตนไม่เคยเห็นเอกสารหมาย จ.32 "ความจริงวังนี้" มาก่อน ตนเคยเข้าไปใช้เว็บประชาไทแต่ไม่เคยเข้าไปดูเว็บบอร์ด แต่เคยเข้าแสดงความเห็นในเว็บไซต์อื่นหรือกระดานสนทนาอื่น แต่ไม่ใช่เว็บไซต์การเมือง เป็นเว็บ thaijustice

ซึ่งในกระดานสนทนาของนักกฎหมายนั้นไม่มีบอกว่า ข้อความนั้นจะต้องตรวจสอบก่อนแสดง โพสต์ได้เลย ยกตัวอย่างเว็บ thaijustice แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเข้าเว็บถึงความถี่ที่ตั้งไว้ (30 วัน) จึงจะโพสต์ได้

ทนายถามเกี่ยวกับข้อความว่า ที่เข้าเกณฑ์มาตรา 112 นั้นคือข้อความทั้งชุด หรือเฉพาะราย ไพรัชตอบว่า ถูกถามเฉพาะในส่วนของผู้โพสต์ที่ใช้ชื่อ Bento ในฐานะที่ตนเป็นประชาชนไทย อ่านแล้วไม่ได้เชื่อ เป็นการกล่าวข้อความลอยๆ และผู้มีวิจารณญาณก็จะไม่เชื่อ แต่หากไม่มีวิจารณญาณหรือมีความเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง อาจเชื่อเป็นอย่างอื่น อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน ผู้โพสต์ข้อความนี้ มีความประสงค์จะให้เสื่อมพระเกียรติพระราชินีและพระบรมฯ แต่ตนอ่านแล้วไม่เกิดความรู้สึกตามเจตนาเพราะตนไม่เชื่อ แต่หากตนเชื่อ พระองค์ท่านก็เสื่อมพระเกียรติ

ทนายถามว่า ถ้าประชาชนทั่วไปที่ส่วนใหญ่มีความรู้สึกจงรักภักดีได้อ่าน จะทำให้เสื่อมศรัทธาด้วยข้อความ เหล่านี้หรือไม่ ไพรัชตอบว่า คนเรามีวุฒิภาวะไม่เท่ากัน อาจถูกชักจูงจากแกนนำ หัวหน้าครอบครัว หัวหน้างานได้ ปล่อยไปเรื่อยๆ ความเท็จจะเป็นความจริงได้ โพสต์มากๆ ก็อาจเสื่อมเสียได้ ถ้าประชาชนเชื่อ ก็เสื่อมถอย จากนั้นไพรัชกล่าวว่า เท่าที่จำได้ ตนได้ให้ความเห็นแค่สองคดีนี้

ตอบคำถามอัยการถามติง

ไพรัชเบิกความว่าไม่เคยอบรมและไม่เคยว่าความในคดี 112 แต่มีความรู้เพราะเคยเรียนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนการรับงานว่าความ ตนรับคดีทั่วไป ไม่ได้แยกว่าจะทำเฉพาะพนักงานตำรวจหรือทนายด้วยกันเอง จากนั้นอัยการถามถึงขั้นตอนการรับสมัครใจในการให้การ ไพรัชกล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมาย ได้ถูกขอความร่วมมือ จึงยินดีสมัครใจ เมื่ออ่านเอกสาร ให้ความเห็นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงขอคำให้การ

12 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พ.ต.ท.ดร.วิวัฒน์ สิทธิสรเดช นักวิทยาศาสตร์ (สบ.3) กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์และชีววิทยา กองพิสูจน์หลักฐาน

- ไม่มีรายละเอียดบันทึกการสังเกตุการณ์คดี -

1 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่หก ร.ต.อ. คีรีรักษ์ มารักษ์
สารวัตรประจำศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานีตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น

เนื่องจากการสืบพยานโจทก์เลื่อนมาจากช่วงเดือนกันยายน2554 ซึ่งผู้พิพากษาองค์คณะเดิมและอัยการได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่ง อื่นแล้ว จึงมีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาให้ท่านอื่นมารับหน้าที่ต่อ และเปลี่ยนตัวอัยการผู้รับผิดชอบคดี

ผู้พิพากษา กำพล รุ่งรัตน์ ขึ้นบัลลังก์ เวลา 9.30 น. ไม่มีองค์คณะร่วม บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีหนาแน่นด้วยสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศหลายท่าน

ฝั่งจำเลยมีทนายความ 4 คน คือ แสงชัย รัตนเสรีวงศ์, ธีรพันธ์ พันธุ์คีรี, รัษฎา มนูรัษฎา และ อานนท์ นำภา ส่วนฝ่ายโจทก์มีอัยการหนึ่งคน คือ สหชัย รักษาทรัพย์

ร.ต.อ.คีรีรักษ์ มารักษ์ เบิกความว่า ตนรับราชการตำรวจในตำแหน่งสารวัตรประจำศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำ ความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานีตำรวจภูธรภาค 4 จังหวัดขอนแก่น

ตนได้รับหนังสือจากกองบังคับการปราบปรามฯ ให้ทำการตรวจสอบข้อความที่ลงในเว็บไซต์ www.prachatai.com ว่าตั้งอยู่ที่ใด ใครเป็นผู้ดูแล เนื่องจากมีการลงข้อความที่ไม่เหมาะสมตามเอกสารหมาย จ. 32 (เอกสารดังกล่าวบรรจุข้อความที่อ้างว่ามีเนื้อหาหมิ่นฯ) หลังจากที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า มีคอมพิวเตอร์แม่ข่ายตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และผู้ดูแลคือจำเลย (กล่าวชื่อจำเลย)

ร.ต.อ.คีรีรักษ์เบิกความว่าตนกับจำเลยไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

จากนั้นเบิกความต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เข้าไปอ่านดูข้อความแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งมาให้ตนเป็นผู้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่ข้อความปรากฏนั้นตั้ง อยู่ที่ใด ซึ่งเว็บไซต์ www.prachatai.com นี้ไม่เคยถูกตรวจสอบโดยส่วนราชการมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

ร.ต.อ. คีรีรักษ์เบิกความว่า ตนไม่ทราบว่า ที่ผ่านมาเคยมีข้อความใดถูกใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่อย่างไร

ก่อนหน้าที่จะมีการแจ้งดำเนินคดีกับทั้ง นางสาวนพวรรณ และจำเลย หน่วยงานของตนเคยจัดให้มีการประชุมหารือถึงแนววิธีปฏิบัติที่เหมาะสม แต่ไม่แน่ใจว่าจำเลยได้เข้าร่วมหรือไม่ ส่วนกรณีปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ไม่เคยได้มีหนังสือจากหน่วยงานของตนส่งแจ้งต่อจำเลยเรื่องขอความร่วมมือให้ ปิดกั้น ยูอาร์แอล

จากนั้นกล่าวต่อว่า ไม่เคยไปเป็นพยานโจทก์ในคดีนางสาวนพวรรณ และไม่ได้ร่วมทำสำเนากับพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว

1 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท. สุรพงษ์ ธรรมพิทักษ์ คณะทำงานสืบสวนสอบสวนในคดี

หลังการเบิกความ ร.ต.อ.คีรีรักษ์ มารักษ์ สิ้นสุดลง ผู้พิพากษากำพล รุ่งรัตน์ให้พ.ต.ท. สุรพงษ์ ธรรมพิทักษ์เบิกความต่อทันที

พ.ต.ท. สุรพงษ์ ธรรมพิทักษ์เบิกความว่า ตนรับราชการในตำแหน่ง สารวัตรแผนก 2 กองบังคับการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวนในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยได้ตรวจดูพบว่า ปรากฏมีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯบนเว็บไซต์ prachatai.com ซึ่งวันที่ข้อความปรากฏ คือ 15 ตุลาคม 2551 จากนั้นตนและคณะทำงานได้พิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อร่วมกันตรวจสอบ หลังจากที่ตรวจสอบแล้วก็พบว่า เป็นข้อความไม่เหมาะสม

หลังจากที่ตรวจสอบแล้วก็ไปสืบค้นดูหมายเลข ไอพีแอดเดรส (IP address) หรือหมายเลขประจำเครื่อง ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลขดังกล่าวได้จาก Internet Provider เมื่อทราบหมายเลขแล้วจึงไปสอบถาม web master พบว่า ผู้เขียนข้อความดังกล่าว ใช้ user name ว่า “bento”

จากนั้นจึงไปสอบถามผู้ให้บริการ ชื่อ บริษัท จัสมิน อินเทอร์เน็ต จำกัด ได้ข้อมูลว่า ผู้ขอใช้ username ดังกล่าว มีหมายเลขโทรศัพท์ คือ 034 84X XXX (ขอสงวนหมายเลขโทรศัพท์) ชื่อตัว นางสาวนพวรรณ (สงวนนามสกุล) โดยมีหลักฐานที่ใช้ในการขอเป็นบัตรประจำตัวประชาชนด้วย พบว่า มี 2 User name คือ bento และอีกชื่อหนึ่งไม่ทราบว่าชื่ออะไร

พ.ต.ท. สุรพงษ์ ให้การว่า หลังจากนั้นตนได้ทำหนังสือไปที่บริษัท TT&T เพื่อตรวจสอบว่าเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์คือใคร พบว่า เป็น นางสาวนพวรรณ จึงได้ขอหมายค้นจากศาล และเข้าตรวจค้นที่บ้านนางสาวนพวรรณ พบว่าเป็นข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จึงดำเนินคดีกับนางสาวนพวรรณ

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท. สุรพงษ์ไม่ทราบว่า ในกรณีของเว็บบอร์ดหน่วยงานของตนได้จัดประชุมหารือ โดยเรียกผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทมาหารือเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลข้อความ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯด้วยหรือไม่ นอกจากนั้นยังไม่ทราบด้วยว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ได้กำหนดหมายเลข ไอพีแอดเดรส ไว้แล้วโดยอัตโนมัติหรือไม่

พ.ต.ท. สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ทราบว่า กระทู้ที่นางสาวนพวรรณตั้งขึ้นนั้นอยู่บนเว็บไซต์กี่วัน ทราบแต่เพียงวันที่ที่กระทู้ปรากฏ คือ วันที่ 15 ตุลาคม 2551

2 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองจเรตำรวจ สบ.7 ปฏิบัติการกองบังคับการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นตำรวจในทีมพนักงานสอบสวน หนึ่งในคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องความหมายของคำในเอกสารตามหมาย จ. 32

ผู้พิพากษากำพล รุ่งรัตน์ ขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. ตามด้วยผู้พิพากษานิตยา แย้มศรี ฝั่งจำเลยมีทนายความ 4 คน คือ แสงชัย รัตนเสรีวงศ์, ธีรพันธ์ พันธุ์คีรี, รัษฎา มนูรัษฎา และ อานนท์ นำภา ส่วนฝั่งโจทก์มีอัยการหนึ่งคน คือ สหชัย รักษาทรัพย์

พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง ขึ้นเบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายให้ทำงานสอบสวน โดยดูเรื่องเกี่ยวกับข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

ตนได้รับมอบหมายให้ดูว่าข้อความตามเอกสารที่ได้รับมานั้นเข้าข่ายหมิ่นพระ บรมราชานุภาพหรือไม่ อย่างไร โดยที่ไม่ได้เห็นข้อความในเว็บไซต์เลย แต่อ่านจากเอกสารที่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น เมื่อตรวจดูข้อความในเอกสารแล้ว พบว่ามีข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คือ สามารถเชื่อมโยงข้อความกับเหตุการณ์และบุคคลต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ตีความได้ว่า เป็นข้อความที่ดูหมิ่น เกลียดชัง อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ โดยเนื้อหาและตัวละครที่ทำให้ตีความได้เช่นนั้น หรือมีบางคำศัพท์ที่ทำให้ตีความได้ถึงสถานที่ที่หมายถึงพระราชวังสวนจิตรฯ คือ วังบุปผานอกจากนี้ยังมีหมายเลข “04” ที่ทำให้ตีความได้ว่าคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งมีเลขย่อพระนามาภิไธย คือ 904 ด้วย ซึ่งคณะกรรมการที่ตนสังกัดได้มีมติให้ดำเนินคดีเมื่อพบว่าข้อความต่างๆ ดังกล่าวนั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

พล.ต.ต.สุรพล ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าข้อความตามเอกสารที่ตนได้รับมอบหมายให้นำมาตรวจนั้นมาจากแหล่งใด และการพิจารณาดูว่า ข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายหมิ่นฯ หรือไม่อย่างไรนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวของตน มิใช่มติของคณะกรรมการ

พล.ต.ต.สุรพล เบิกความอีกว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนอื่นที่ไม่ใช่ตน ได้ตรวจพบว่า ผู้ที่นำข้อความที่เข้าข่ายดังกล่าวไปลงในเว็บไซต์ประชาไท คือ นางสาวนพวรรณ (สงวนนามสกุล) และตนจำไม่ได้ว่า มีการตั้งข้อหาร่วมระหว่างจำเลยกับนางสาวนพวรรณ หรือไม่

พล.ต.ต.สุรพล เบิกความว่า ข้อความที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีปรากฏข้อความใน เว็บไซต์ประชาไทนั้น ในเว็บไซต์อื่นๆ ก็มีเช่นกัน และชี้ว่า นางสาวนพวรรณ เป็นเพียงผู้ใช้คนหนึ่ง ซึ่งการตรวจสอบว่าข้อความใดควรหรือไม่ควรที่จะเผยแพร่ในเว็บไซต์นั้นต้อง เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลเว็บไซต์ แต่ตนไม่ทราบว่า ทางเจ้าหน้าที่กระทรวง ICT ได้แจ้งต่อทางเว็บไซต์ประชาไทให้ทำการลบข้อความเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร

พล.ต.ต.สุรพล เบิกความต่อไปว่า ลำพังแต่เพียงข้อความ ประชาชนทั่วไปอาจไม่สามารถตีความได้ทันที แต่หากเมื่อมีการนำมาอ่านร่วมกับเนื้อหาส่วนอื่นๆ ที่ปรากฏด้วยกัน และร้อยเรียงเชื่อมโยงเหตุการณ์ และตัวบุคคล ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า เป็นข้อความที่หมิ่นฯ และชี้แจงว่า บุคคลที่เข้าเล่น Internet นั้นเป็นผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว จึงสามารถรับรู้เข้าใจข้อมูลได้

จากนั้นให้การว่า ในที่ประชุมนั้น ระบบการกลั่นกรองตรวจสอบข้อมูลว่าหมิ่นหรือไม่อย่างไร จะอาศัยพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ด้วยที่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย นอกจากนั้นยังให้การว่า ตนไม่ทราบว่าทางเว็บไซต์มีการตั้งค่าให้ผู้ใช้สามารถลบข้อความที่ตนโพสต์ได้ หรือไม่อย่างไร ไม่ทราบจำนวนข้อความที่ไหลเวียนในเว็บไซต์ประชาไท ว่าวันหนึ่งมีจำนวนถึงหนึ่งพันข้อความหรือไม่อย่างไร และตนไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

สิ้นสุดการสืบพยานปากนี้ในเวลา 11.30 น. โดยมีบรรดาผู้สังเกตการณ์ทั้งไทยและต่างชาติให้กำลังใจอย่างหนาแน่น

2 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า พล.ต.ท. วินัย วงษ์บุปผา เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาคดี เจ้าตัวไม่ได้มาให้การในศาลแต่ส่งเอกสารมาแทน

 

6 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ พ.ต.ท. นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์(ชื่อเดิม ดำรง) พนักงานสอบสวนในคดี และร่วมจับกุมจำเลย

กำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษา ขึ้นบัลลังก์เวลา 10.00 น.

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ วุฒิบุณยสิทธิ์ วัย 44 ปี ขึ้นเบิกความเวลา 10.15 น. เบิกความว่า ขณะที่เกิดคดี ตนทำงานที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยตนเป็นผู้ตรวจค้นคอมพิวเตอร์พกพาของจำเลย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2551 จำวันที่ไม่ได้ มีการแจ้งต่อตนว่าเกิดคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่สารสนเทศและการสื่อสาร ส่งแจ้งเป็นเอกสารซีรอกซ์มา ซึ่งนายอารีย์ จิวรรักษ์ กล่าวโทษจำเลยโดยส่งเอกสารร้องทุกข์ว่า มีคนโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ลงระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นตนได้รวบรวมพยานเอกสารรายงานให้ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบ เพื่อจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลตรวจสอบคดีดังกล่าว

โดยคณะทำงานได้พิจารณาข้อความเป็นกระทู้ไปว่า แต่ละกระทู้นั้นเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งตนจำไม่ได้ว่า ข้อความในกระทู้ต่างๆ เข้าข่ายหมิ่นทั้งหมดทุกกระทู้หรือไม่ (ข้อความตามเอกสารหมาย จ. 23-32)

พ.ต.ท.นิติพัฒน์ เบิกความว่า มีการตรวจ ยูอาร์แอล (หรือที่อยู่เว็บไซต์) พบว่าข้อความนั้นถูกโพสต์ลงเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันตรวจโดยละเอียดพบว่ามีที่ตั้งอยู่ที่ห้วยขวาง (ที่อยู่ปัจจุบัน) จากนั้นจึงขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาเนื่องจากพบว่า เป็นข้อหาผู้ให้บริการจงใจยินดีสนับสนุนให้มีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง และเป็นข้อมูลเท็จ จากนั้นมีการขอหมายค้นจากศาล เพื่อไปค้นยังที่ตั้งของประชาไท

โดยหมายจับได้รับอนุมัติในวันที่ 3 มีนาคม 2552 ส่วนหมายค้นได้รับอนุมัติในวันที่ 5 มีนาคม 2552

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า ตนได้เข้าตรวจค้นในวันที่ 6 มีนาคม 2552 โดยแสดงหมายค้นก่อน จากนั้นเมื่อพบจำเลย ตนจึงแสดงหมายจับและจับกุมจำเลย โดยมีการตรวจยึด notebook ของจำเลยเพื่อนำไปตรวจสอบ จากนั้นควบคุมตัวจำเลยส่งกองบังคับการ 5 กองปราบปราม จากนั้นจำเลยเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลย ต่อมาเมื่อควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนซึ่งก็คือ พล.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตรแล้ว ตนจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีอีก

นอกจากนี้ยังเบิกความว่า ไม่สามารถตรวจสอบดูว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความ ตามเอกสารหมาย จ.1-9 และตนไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนอื่น ซึ่งก็คือ พล.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตร และตนไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

ได้ความว่า พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เคยเข้าร่วมการประชุมที่ร่วมกับกระทรวง ICT ซึ่งตนทราบว่ามีการเชิญผู้ประกอบการเว็บไซต์เข้าร่วมด้วย โดยการประชุมดังกล่าว ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2550 มีหนังสือเชิญเป็นหลักฐาน โดยมี พล.ต.ท. ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง เป็นประธาน ซึ่ง พ.ต.ท. นิติพัฒน์ กล่าวว่า จำได้ว่าประมาณนั้น

จากนั้นเบิกความต่อไปว่า ตนจำไม่ได้ว่าจำเลยเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือร่วมเรื่องระงับการแพร่ขยายของข้อ ความที่เข้าข่ายหมิ่นฯ และตนไม่ทราบว่า พล.ต.ท. ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ได้สรุปโดยกล่าวชื่นชมเว็บไซต์ประชาไทว่า ประชาไทเป็นตัวอย่างหนึ่งของเว็บไซต์ที่มีระบบการจัดการต่อข้อความที่ไม่ เหมาะสม โดยการแจ้งลบ และตนไม่ทราบว่า พล.ต.ท. ธีรเดชได้กล่าวสรุปต่ออีกว่า ยังไม่มีระบบดังกล่าวในเว็บอื่นๆ อย่างแพร่หลาย

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า ตนจำไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ ICT แจ้งประชาไทให้ลบข้อความหรือไม่

ขณะที่อารีย์ จิวรรักษ์ เป็นตัวแทนมาแจ้งความต่อตนนั้น อารีย์ได้แจ้งว่า ให้ดำเนินการทุกๆ กรณี ซึ่งอารีย์ไม่ได้ระบุว่าต้องแจ้งข้อหาแก่ใคร แต่เป็นหน้าที่ของทางพนักงานสอบสวนที่จะต้องไปสอบสวนต่อไป

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า ได้มีการเรียกจำเลยมาสอบปากคำ โดยให้ดูข้อความที่โพสต์ในเว็บประชาไท ซึ่งขณะที่เชิญจำเลยมาสอบปากคำ พบว่า ข้อความไม่ปรากฏในเว็บไซต์แล้วเนื่องจากกระทรวง ICT ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปิดกั้นข้อความในเว็บไซต์แล้ว

ต่อมากล่าวถึงเอกสารที่ได้รับจากอารีย์ว่า เป็นเอกสารสำเนาจากเอกสารที่พิมพ์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ โดยตนจำไม่ได้ว่า อารีย์ได้ทำหนังสือแจ้งให้เว็บไซต์ทำการลบ ยูอาร์แอล

เกี่ยวกับคดีนางสาวนพวรรณ พ.ต.ท. นิติพัฒน์ ตอบว่า มีการเชิญจำเลยไปให้ปากคำในฐานะพยาน ขณะนั้นยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ ต่อจำเลย ตอนที่สอบปากคำ ไม่มีการเตือนหรือแจ้งสิทธิใดๆ แก่จำเลย ไม่มีการเตือนว่าคำให้การของจำเลยในฐานะพยานในคราวนั้นจะเป็นพยานเอกสารที่ เกี่ยวข้องด้วยกับคดีของจำเลย

พ.ต.ท. นิติพัฒน์กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากจำเลยจะเป็นบุคคลที่รู้ว่ามีข้อความอยู่ในเว็บแล้ว ยังมีคนที่รู้อีก ซึ่งตนจำได้ว่ายังมีการสอบอีกหนึ่งปาก แต่จำไม่ได้ว่าเป็นใคร

ทนายความจำเลยหยิบยกเอกสารหมาย จ.43 ซึ่งเป็นรายงานโดยสรุปคดีนางสาวนพวรรณที่พนักงานสอบสวนทำขึ้น มาถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างสำนวนคดีของนางสาวนพวรรณกับคดีของจำเลย

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า ตนไม่ได้เป็นคนทำสำนวนส่วนที่เป็นคดีของจำเลย แต่ได้ร่วมลงชื่อในสำนวนการสอบสวนในส่วนของคดีของจำเลย เพราะเป็นหนึ่งในคณะทำงาน และยืนยันว่า สำนวนคดีดังกล่าวเคยผ่านตาตนแน่นอน ยืนยันว่ามีการเซ็น แต่ไม่ได้จำว่าคดีไหน อย่างไร เนื่องจากมีการจัดเรียงเอกสารใหม่ หลังจากรวบรวมส่งพนักงานอัยการแล้ว ส่วนพยานเอกสารที่ใช้ในการดำเนินคดี อาจใช้ทั้งสองสำนวนเชื่อมโยงกัน แต่จะใช้ทั้งหมดหรือไม่จำไม่ได้ เนื่องจากมีการจัดเรียงเอกสารใหม่โดย พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ เบิกความว่า จำไม่ได้ว่า มีการแจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ว่า พยานเอกสารที่จำเลยเคยให้การในฐานะพยานคดีนางสาวนพวรรณ นั้น คือพยานเอกสารในคดีจำเลยด้วย

พ.ต.ท. นิติพัฒน์ จำไม่ได้ว่าข้อความในเอกสารหมาย จ. 30 แผ่นที่ 2-8 ปรากฏในเว็บบอร์ดหรือไม่ ซึ่งพล.ต.ท.บุญเลิศ กัลยาณมิตรน่าจะทราบดีกว่า นอกจากนั้นยังจำไม่ได้ว่าคำให้การของอารีย์เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารสำนวนที่ จำเลยเป็นผู้ต้องหาด้วยหรือไม่

อีกทั้งไม่ทราบว่า เหตุที่ไม่มีการแจ้งข้อหาร่วมระหว่างจำเลยกับนางสาวนพวรรณนั้น เป็นเพราะไม่ปรากฏหลักฐาน หรือไม่อย่างไร ต่อคำถามนี้ ขณะที่ทนายถาม พ.ต.ท. นิติพัฒน์มีท่าทีอ้ำอึ้ง แต่ศาลถามย้ำคำถามด้วยการทวนช้าๆ ในที่สุด ก็ให้การว่า ตนไม่ทราบ

สืบพยานปากนี้เสร็จสิ้นในเวลา 12.15 น.

9 กันยายน 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร คณะทำงานพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้พิพากษานิตยา แย้มศรี ขึ้นบัลลังก์เวลา 9.45 น. ตามด้วยผู้พิพากษา กำพล รุ่งรัตน์ซึ่งมาช้ากว่าปกติประมาณ 5 นาที อย่างไรก็ตามยังคงเป็นผู้ทำการบันทึกคำให้การของพยานทุกปาก

พยานเป็นหนึ่งในคณะทำงานพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตร อายุ 49 ปี ขึ้นเบิกความเมื่อเวลา 9.45 น. ว่า ตนได้รับการแจ้งความจาก มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 โดยได้รับแจ้งเป็นหนังสือที่แจ้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ให้ทำการตรวจสอบกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯ ในเว็บประชาไท โดยตนจำไม่ได้ว่า ข้อความต่างๆ ตามหมาย จ. 32 ในเอกสารแจ้งความของ มล.ปนัดดา นั้น มล.ปนัดดาเอามาเองหรือได้มาจากกระทรวง ICT

หลังจากตนได้ตรวจเอกสารดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 5 พ.ย. 2551 นายอารีย์ จิวรรักษ์ เจ้าหน้าที่กระทรวง ICT ได้มีหนังสือร้องทุกข์ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ปรากฏว่ามี ยูอาร์แอล จำนวนหลายร้อย ยูอาร์แอล ในเอกสารร้องทุกข์ แต่ตนพบว่ามี 9 ยูอาร์แอล ที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ซึ่งทั้งหมดของ 9 ยูอาร์แอล นั้น เป็นการโพสต์ในเว็บไซต์ประชาไททั้งสิ้น โดยนายอารีย์เป็นผู้นำหลักฐานเกี่ยวกับการนำข้อความเข้าสู่เว็บไซต์มาให้ ด้วย

จากนั้นตนได้เชิญจำเลยมาสอบปากคำ ในฐานะ พยานโดยในการสอบปากคำครั้งแรกมีการยอมรับว่า bento เป็นผู้โพสต์จริง และจำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทจริง นอกจากนั้นยังได้มีการสอบปากคำนายอารีย์ในฐานะพยานด้วย ได้ความว่า ข้อความตามเอกสารหมาย จ.32 อยู่ในระบบนาน 20 วัน

หลังจากได้ข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะทำงานสอบสวนจึงขอหมายจับจากศาล เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15

จากนั้นมีการขอหมายค้นจากศาล ตามเอกสาร หมาย จ. 5 ด้วย

พล.ต.ท. บุญเลิศ เบิกความต่อว่า มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ ICT เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทำสำเนาข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย (เอกสารหมาย จ. 6) นอกจากนั้นยังได้เชิญตัวจำเลยไปกองบังคับการปราบปรามและลงบันทึกประจำวัน และแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย (หมาย จ. 9) ซึ่งมีการแจ้งรายละเอียดให้จำเลยทราบด้วย ได้แก่ พวก ยูอาร์แอล ต่างๆ (หมายจ.10)

หลังจากทำสำเนาข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำส่งกองพิสูจน์หลักฐานให้ทำการพิสูจน์หลักฐานต่อไป จากนั้นทางกองพิสูจน์หลักฐานได้แจ้งรายงานผลการพิสูจน์แก่ตน จึงได้สอบพยานผู้เกี่ยวข้อง คือ นายจักรพันธุ์ เจริญผล พนักงานบริษัท จัสมิน อินเตอร์เน็ต บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยสอบถามว่า ใครเป็นผู้ที่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับผู้ที่ใช้ ชื่อ buffalo boy ซึ่งเป็นลิงก์กระทู้จากเว็บบอร์ดอื่นที่ถูกโพสต์ไว้ในประชาไท

นอกจากนั้นพล.ต.ท. บุญเลิศ ยังเบิกความว่า มีการสอบปากคำผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทหรือจำเลยด้วย ซึ่งให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน

พล.ต.ท. บุญเลิศ ตอบคำถามว่า กรณีที่อารีย์ร้องทุกข์มานั้น ยูอาร์แอล ที่เป็นการโพสต์ในส่วนของเว็บไซต์ประชาไทนั้น มีเพียง 9 ยูอาร์แอล หรือไม่นั้นจำไม่ได้ คือตนจำไม่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ในส่วนของการดำเนินคดี พล.ต.ท. บุญเลิศ กล่าวว่า ได้มีการดำเนินคดีกับ ยูอาร์แอล อื่นด้วย แต่ตอนนี้อยู่ในชั้นสอบสวน

จากนั้นกล่าวว่า เอกสารที่อารีย์ปริ้นท์ออกมาเพื่อมาแจ้งแก่ตนนั้น ตนไม่ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับเว็บไซต์ต้นฉบับเลย

เมื่อทนายความถามว่า มีข้อสังเกตว่า บนเอกสารพยานหลักฐานมีการปรากฏของตำแหน่งของ ยูอาร์แอล บางอันอยู่ด้านซ้าย บางอันอยู่ด้านขวา (บนตัวเอกสารที่อ้างว่าปริ้นท์มา) เป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นการพิมพ์กำกับโดยเจ้าพนักงาน ไม่ใช่ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์จริงๆ พล.ต.ท. บุญเลิศกล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่มีข้อมูลเชิงลึก

ขณะที่อารีย์นำเอกสารแสดง ยูอาร์แอล มา ได้มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่พล.ต.ท. บุญเลิศไม่ได้มีส่วนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลปิดกั้น ยูอาร์แอล ซึ่งพล.ต.ท. บุญเลิศทราบว่ามีการปิดกั้น แต่ไม่ทราบเวลาที่ปิดกั้น

พล.ต.ท. บุญเลิศ ให้การว่า ตนไม่ได้แจ้งสิทธิใดๆ ต่อจำเลยขณะที่เชิญจำเลยมาให้การในฐานะพยาน เนื่องจากเห็นว่า ตอนนั้นจำเลยเป็นพยาน นอกจากนั้นแล้ว ตนจำไม่ได้ว่า นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นพยาน ในคดีนางสาวนพวรรณด้วยหรือไม่ เพราะตนไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำนายจอน แต่มีการแบ่งงานกับเจ้าพนักงานอื่นๆ ด้วย

พล.ต.ท. บุญเลิศ ให้การอีกว่า ได้ให้จำเลยรับทราบข้อกล่าวหา และกระทำเป็นรายละเอียดชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นกรรมให้จำเลยทราบ ระบุเวลาที่ข้อความอยู่ในระบบ และให้จำเลยดูว่าอะไรหมายถึงอะไรในข้อความต่างๆ แต่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเกี่ยวกับที่อยู่เว็บหรือ ยูอาร์แอล ที่มีการโพสต์ข้อความหมิ่นฯ

ในส่วนของหลักฐานที่เป็นคอมพิวเตอร์ของจำเลยนั้น ได้มีการปิดผนึกสติ๊กเกอร์ห้ามการเชื่อมต่อเพื่อป้องกันการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อมูลไว้ด้วย ก่อนที่จะนำส่งกองพิสูจน์หลักฐาน

การสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้นในเวลา 12.15 น. โดย พล.ต.ท. บุญเลิศ เบิกความอย่างไม่ฉะฉานเท่าใดนัก มีการเปิดเอกสารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหนึ่งในทนายความจำเลยคือรัษฎา มนูรัษฎา ได้พยายามทักท้วง แต่ก็ถูกศาลติงว่า จะได้ไม่เป็นการเสียเวลา บรรยากาศการสืบพยานค่อนข้างตึงเครียด ในที่สุดทนายความจำเลยจึงยินยอม ทั้งนี้ ในขณะที่บรรยากาศกำลังตึงเครียดอยู่นั้น ทางด้านสหชัย รักษาทัรพย์ อัยการ ยังคงมีท่าทีผ่อนคลาย

สืบพยานจำเลย

20 กันยายน 2554
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอนุกรรมการสิทธิด้านพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 64 ปี ขึ้นเบิกความเวลา 9.40 น. โดยกล่าวว่า ตนเป็นนักวิชาการอิสระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (Sussex) ประเทศอังกฤษ ในปี 2551-2553 ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่ง ประเทศไทย และเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2543-2549 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง

จอน เบิกความว่า ตนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไทในปี 2547 เมื่อขณะที่ยังเป็นสว. ด้วยความรู้สึกที่ว่า สื่อมวลชนกระแสหลักในไทยไม่มีความเป็นอิสระ คือ ไม่มีการนำเสนอความจริงในด้านที่เป็นความเลวร้ายต่างๆ เช่น ความรุนแรงในภาคใต้ ปัญหาเรื่องที่ดิน แรงงาน เป็นต้น จึงคิดว่าควรจะมีพื้นที่สื่อที่เป็นอิสระเพื่อลงข่าวจากมุมมองของผู้ด้อย โอกาสในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเว็บไซต์ประชาไทเป็นสื่อทางเลือกเช่นนั้น คือเป็นอิสระทั้งจากรัฐและทุน โดยในตอนแรกได้ก่อตั้งเป็นคณะบุคคล ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ มีการเชิญ อ.เกษม ศิริสัมพันธ์ มาเป็นประธานคณะกรรมการ ตั้งชื่อมูลนิธิว่ามูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นำความต้องการของประชาชนมาเผยแพร่ โดยให้ชาวบ้านจากพื้นที่ของแหล่งข่าวเป็นผู้นำข่าวมาเผยแพร่ได้โดยตรง เช่น กรณีคนตาย 80 กว่าศพที่ตากใบ เป็นต้น องค์กรนี้ไม่มุ่งแสวงกำไร แต่เน้นทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคม โดยได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างแหล่งทุนในประเทศ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นต้น

จอนเบิกความต่อว่า ปัญหาเกี่ยวกับความวุ่นวายในประเด็นการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมที่ประชาไท ประสบอยู่นั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เนื่องจากประชาไทมีจุดยืนที่ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารมีผลให้ผู้อ่านจำนวนมากแสดงความคิด เห็นคัดค้านการรัฐประหาร จึงส่งผลให้ประชาไทกลายเป็นสื่อที่มีคนเข้ามาแสดงความเห็นในเรื่องทางการ เมืองมากขึ้น ขณะที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ โดยเว็บไซต์ประชาไทนั้นจะมีคนเข้ามาอ่านวันละประมาณ 10,000 คน ซึ่งจุดที่มีการลงข่าวและบทความนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหาเกิดตรงที่ เว็บบอร์ด(web board) ที่มีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น

จากนั้นจอนชี้แจงว่า ประชาไทมี 2 ส่วน โดย ส่วนแรกเป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ ที่มีการลงข่าว บทความ และส่วนที่สองเป็นเว็บบอร์ดที่เปิดไว้ให้มีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเว็บบอร์ดทั่วไป เช่น พันธุ์ทิพย์ เป็นต้น ซึ่งจอนอธิบายต่อว่า เว็บบอร์ดจะเป็นพื้นที่ที่คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่จำเป็นต้อง เหมือนกัน คือมีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นอยู่มาก นอกจากนั้นประชาไทยังไม่มีธงว่าใครต้องแสดงความเห็นไปในทางใด

จอนเบิกความว่า จุดมุ่งหมายที่ว่า ให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้น ก็เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ มีปรากฏอยู่โดยทั่วไปในเว็บบอร์ดในต่างประเทศ เว็บบอร์ดต่างประเทศโดยทั่วไปนั้น คนที่จะโพสต์ความเห็นได้จะต้องเป็นสมาชิกของเว็บบอร์ดนั้นๆ ก่อน ซึ่งประชาไทก็ทำแบบนี้เช่นกัน อันที่จริง ในตอนแรก ประชาไทมีเว็บบอร์ดที่ใครจะโพสต์ก็โพสต์ได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น จึงกำหนดให้มีการสมัครสมาชิก โดยผู้สมัครต้องมีอีเมล เพื่อให้ทางประชาไทส่งรหัสยืนยันการสมัครไปที่อีเมลนั้น เพื่อให้ผู้สมัครกรอกรหัสยืนยันว่าอีเมลนั้นมีอยู่จริง

จอนกล่าวถึงมาตรการสกัดกั้นข้อความที่ไม่เหมาะสมว่า ในเบื้องต้นมีมาตรการที่ชัดเจน ว่าหากพบข้อความหยาบคาย เข้าข่ายหมิ่นกษัตริย์ หมิ่นบุคคล ก็ให้สกัดกั้น และมีการตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาเพื่อดูแลและคอยนำข้อความที่ไม่เหมาะสมออกจาก เว็บ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีมาตรการให้ผู้อ่านแจ้งต่อผู้ดูแลได้ หากพบว่ามีข้อความไม่เหมาะสม

ต่อมา เมื่อพบปัญหามากขึ้นกว่านั้นอีก จึงมีการเพิ่มมาตรการให้ผู้อ่านสามารถลบข้อความที่ไม่เหมาะสมออกได้เป็นการ ชั่วคราว ซึ่งผู้ดูแลก็จะดูอีกทีหนึ่งและจะเอาออกหากเห็นว่าไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการให้ลงรายละเอียดที่อยู่ IP ของผู้โพสต์ข้อความ แต่ไม่ได้ลงทุกตัวอักษร ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า ส่งมาจากที่ไหนให้เป็นที่รับทราบของส่วนรวม

จอน เบิกความต่อว่า ในส่วนของการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งจาก ICT และ ตำรวจนั้น หากมีการขอความร่วมมือมาเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการก็จะร่วมมือตอบสนอง ซึ่งหากมีการแจ้งจาก ICT ว่า ข้อความไม่เหมาะสม ทางประชาไทก็จะตรวจสอบทันที

นอกจากนั้น จอนยังยืนยันว่า แม้ทางประชาไทจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จำกัดแต่ก็ไม่มีปัญหามากในช่วงแรก แต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อมีคนมาแสดงความคิดเห็นมากจึงดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพราะเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบข้อความมีเพียง 1 คนเท่านั้น คือ จำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการอาศัยอาสาสมัครจากบรรดาผู้อ่าน ที่มีความประพฤติดี ช่วยแจ้งให้ทราบ ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อความที่ลงในเว็บไซต์เป็นจำนวนตั้งแต่ 100-1,000 ข้อความต่อวัน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง การกระทำต่อข้อความนั้นทันทีจึงเป็นเรื่องยาก

ต่อมาจอนกล่าวถึงรเรื่องขอบเขตความรับผิดชอบของจำเลย ดังนี้
1. ดูแลเว็บบอร์ด
2. บริหารองค์กร ได้แก่ บริหารบุคคล ทุน จัดทำรายงานของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน และจัดงานต่างๆ ของมูลนิธิ

จอนเล่า เบิกความด้วยว่า ตนได้รู้จักกับจำเลยเมื่อ ปี 2534 หรือ 2535 โดยขณะนั้นตนเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งจำเลยทำงานด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ และต่อมาจำเลยรับผิดชอบเป็นหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ภาคเหนือด้วย โดยตนเห็นว่าจำเลยทำงานด้วยใจ คือรับค่าตอบแทนที่ไม่สูงนัก แต่มีความรับผิดชอบสูง จึงชักชวนมาทำงานในส่วนของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน

จอน เบิกความว่า หน้าที่ของผู้ดูแลเว็บไซต์นั้นต่างจากบรรณาธิการและทีมข่าว ซึ่งอย่างหลังคือบรรณาธิการและทีมข่าวนี้มีหน้าที่หาเนื้อหาที่เหมาะสมกับ แนวทางของสื่อตามนโยบาย และทำหน้าที่คัดกรองดูแลบทความที่ประชาชนผู้สนใจส่งเข้ามาเผยแพร่ การลงเนื้อหาในส่วนที่บรรณาธิการและทีมข่าวรับผิดชอบจึงมีกระบวนการที่ล่า ช้ากว่า ทำให้การตรวจสอบดูแลง่ายกว่า

ขณะที่ในส่วนของผู้ดูแลเว็บไซต์นั้น จะไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาหรือตรวจสอบข้อคิดเห็นของผู้โพสต์ก่อนที่จะให้ ปรากฏในเว็บ เพราะการแสดงความเห็นนั้นคล้ายกับการพูดคุยกัน จึงโต้ตอบเร็ว อีกอย่างหากมีการเซ็นเซอร์ก่อนจะทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของทางเว็บไซต์ ฉะนั้นเนื้อหาความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนโต้ตอบกันในเว็บจึงปรากฏอย่างทันที ทันใด ซึ่งการตรวจสอบดูแลเป็นสิ่งที่จะกระทำในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบข้อความไม่เหมาะ ก็จะมีการเอาออก และหากใครโพสต์ไม่ดีอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่อนุญาตให้โพสต์อีก โดยจะถอดออกจากการเป็นสมาชิกเว็บไซต์

จอน กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่ตนเป็นกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะนั้น มีตำรวจเข้ามาสอบถามเรื่องเกี่ยวกับประชาไท แต่ไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินคดีกับใคร โดยตนเคยให้การแก่พนักงานสอบสวน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นจำเลยอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ให้การอยู่นั้น จำเลยยังไม่ถูกดำเนินคดี

จอนกล่าวว่า เนื้อหาในเว็บไซต์ประชาไทเกือบทั้งหมดนั้นเกี่ยวกับการวิจารณ์ทางการเมือง และสังคม ในฐานะที่ตนเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ ตนเห็นว่าเว็บบอร์ดประชาไทมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย

โดยประชาไทเป็นพื้นที่สำหรับเรื่องราวที่สิทธิของประชาชนถูกลิดรอนถูกตีแผ่ เช่น เรื่องที่ดิน การฉ้อโกงแรงงาน สิ่งแวดล้อมชุมชน เป็นต้น จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดช่องทางให้เสียงของประชาชนได้มีโอกาสเผยแพร่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในสื่อกระแสหลักมักไม่ค่อยมีเสียงเหล่านี้

ในส่วนของข้อความที่ไม่เหมาะสมต่างๆ นายจอน เบิกความว่า มีความไม่สบายใจต่อข้อความที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน จึงปรึกษากันบ่อยๆ กับจำเลย และคิดเห็นรู้สึกกันว่าข้อความเช่นนั้นทำให้เว็บไซต์เสียหาย และไม่เข้าใจว่าคนโพสต์ข้อความเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ต้องการทำลายมูลนิธิฯ หรือไม่

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

จอนให้การว่า ประชาไทมีนโยบายนำข้อความออก เมื่อได้รับแจ้งหรือพบข้อความที่ถือว่ามีเนื้อหาหมิ่นฯ ซึ่งในปี 2551 จำเลยทำงานในตำแหน่งและหน้าที่นี้

จอนกล่าวว่า ในการประชุมหารือของทางมูลนิธิฯ นั้นเป็นการประชุมเกี่ยวกับมาตรการต่อข้อความไม่เหมาะสม ซึ่งมีมาตรการคือ หากพบจะเอาออกทันที

อัยการถามต่อถึงกรณีที่มีข้อความค้างอยู่ในระบบนานถึง 20 วัน นายจอนให้การว่า นั่นอาจถือเป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติ กล่าวคือ การที่มีข้อความลงบนเว็บไซต์มากเกินไป อาจส่งผลให้เล็ดลอดจากการตรวจสอบดูแลได้ อีกอย่าง การจะลบข้อความก็ต้องเสียเวลาในการตีความข้อความด้วย ซึ่งบางข้อความก็มีความหมายกำกวม

อย่างไรก็ตาม ตนไม่เคยร่วมพิจารณาข้อความด้วยเลย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของตน จำเลยก็ไม่เคยได้นำข้อความมาปรึกษาตนเลย ท้ายสุด จอนกล่าวว่า จำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแลตรวจสอบข้อความ

สิ้นสุดการสืบพยานปากนี้ในเวลา 11.10 น. มีผู้สังเกตการณ์ทั้งในและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชนและตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ใช้เวลาในการสืบพยานทั้งสิ้น หนึ่งชั่วโมงครึ่ง

20 กันยายน 2554
สืบพยานจำเลยปากที่สอง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ขึ้นเบิกความในเวลา 13.30 น. เบิกความว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2552-ปัจจุบัน โดยในอดีตเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีใน ปี 2543-2549 เคยเป็นประธานคณะกรรมการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการปฏิรูปสื่อ ซึ่งการทำงานในคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อนี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ด้วย

นพ.นิรันดร์ เบิกความว่า ตนมีความเห็นว่าสื่อถูกครอบ จึงร่วมเป็นผู้จัดตั้งมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชนขึ้น โดยมีเว็บไซต์ประชาไทเป็นแผนกิจกรรมหนึ่งของมูลนิธิดังกล่าว เหตุที่มีการก่อตั้งนั้นเนื่องจากต้องการเห็นรูปธรรมของการปฏิรูปสื่อเกี่ยว กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางระบบเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต

ซึ่งการจัดตั้งเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีการแต่งตั้งผู้ดูแลเว็บไซต์ และมีกรรมการเป็นผู้ติดตาม กำกับ ดูแลการดำเนินการ โดยรูปแบบของการให้บริการเว็บไซต์ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ข่าวและบทความกับบล็อก(ศาลบันทึกว่า เว็บบอร์ด เพราะเป็นที่เข้าใจได้ว่า น่าจะหมายถึงจุดที่ให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งก็คือ เว็บบอร์ด) ตรงบล็อกนี้ ทางเว็บไซต์ประชาไทเปิดให้ผู้อ่านเสนอความเห็นโดยต้องเป็นสมาชิกเสียก่อน ซึ่งในส่วนของการนำเสนอความเห็นจะไม่มีการกำหนดแนวทางของความคิดเห็น แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ละเมิด

นพ.นิรันดร์ให้การเรื่องมาตรการที่ประชาไทมีต่อข้อความไม่เหมาะสมว่า ประชาไทมีการตั้งคนขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องการดูแลการใช้เว็บบอร์ด ซึ่งตนทราบว่า คือ จำเลย

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุครัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อเว็บไซต์ประชาไท คือ เกิดการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นสื่อช่องทางเลี่ยงที่เปิดกว้าง สำหรับความต่างทางความคิดของผู้ที่ไม่อาจแสดงความเห็นในสื่อกระแสหลักได้ ในกรณีเช่นนี้ ทางคณะกรรมการได้จัดประชุมโดยเรียกเจ้าหน้าที่(ซึ่งคือจำเลย)มาวางแนวทางใน การกำหนดแนวการประสานงานร่วม ซึ่งกระทรวง ICT เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตนทราบว่ากระทรวง ICT เคยเสนอรูปแบบการแก้ไขเกี่ยวกับการนำเข้าข้อความไม่เหมาะสมด้วย และตนเคยถามจำเลยเกี่ยวกับการได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ ICT จำเลยได้ตอบว่า หากได้รับการประสานมาจะลบข้อความทันที

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ตนเคยให้การในคดีของนางสาว นพวรรณ ที่จังหวัดอุบลราชธานี

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ รับผิดชอบในส่วนของนโยบาย แต่ ผอ.ประชาไท(จำเลย)รับผิดชอบในส่วนของการบริหาร

จากนั้นทนายความจำเลยหยิบยกเอาเอกสารหมายจ. 46 ซึ่งพบว่ามีการขีดฆ่าชื่อของจำเลย จาก นพวรรณ เป็น จีรนุชขึ้นมาถาม นพ.นิรันดร์ตอบว่า ในส่วนของการให้การที่อุบลราชธานีนั้น ชื่อจำเลยยังเป็น นพวรรณ อยู่ และตนได้ลงชื่อในสำนวนการสอบสวนนั้นในขณะที่ชื่อจำเลยยังเป็นนางสาวนพวรรณ อยู่

นพ.นิรันดร์ให้การอีกว่า ต่อข้อความหมิ่นฯนั้น หากทางประชาไทพบก็จะลบออกทันที นอกจากนั้นยังมีมาตรการให้สมาชิกช่วยดูแลด้วย นอกจากนั้นได้กล่าวถึงเนื้อหาว่า เนื้อหาของประชาไทไม่ได้เกี่ยวแต่เฉพาะการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นเนื้อหาทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่ความเห็นทางการเมืองเข้มข้นมากก็คือช่วงที่มีความขัด แย้งทางการเมืองสูง

ประชาไทเป็นองค์กรที่ส่งเสริมเสรีภาพสื่อและการเสดงออก ซึ่งสถานการณ์สื่อในไทยนั้นมีเสรีภาพต่ำมาก ฉะนั้น การเกิดขึ้นของประชาไทจึงส่งผลต่อการพัฒนาเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการ พัฒนาประชาธิปไตยมาก ในฐานะกรรมการสิทธิฯ ตนมีความพอใจต่อประชาไทที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ

จำเลยมีความเข้าใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณ และตนเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีแนวคิดล้มล้างสถาบันหรือเห็นด้วยกับการแสดงความ คิดเห็นหมิ่นสถาบัน และจำเลยไม่มีทางที่จะยอมให้มีข้อความเช่นนั้นปรากฏบนเว็บไซต์แน่นอน

นพ.นิรันดร์ เบิความตอบคำถามทนายความว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตนเห็นว่าไม่ควรนำมาตรา 112 มาใช้ทำลายล้างกัน ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างทางการเมือง แต่ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการพิจารณา เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนสถาบันฯและเพื่อปกป้องสถาบันฯด้วย

อัยการไม่ถามค้าน

สิ้นสุดการสืบพยานปากนี้โดยใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมง

21 กันยายน 2554
พยานจำเลยปากที่สาม นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร จำเลยในคดี เบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง

ผู้พิพากษานิตยา แย้มศรี ขึ้นบัลลังก์เวลา 10.00 น. ทำหน้าที่บันทึกแทนผู้พิพากษากำพล รุ่งรัตน์ ซึ่งตามมาทีหลังและทำหน้าที่เดิมเมื่อการสืบพยานผ่านไปราวสิบนาที

จีรนุช เบิกความว่า ตนมีอาชีพ นักสื่อสารมวลชน จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2533 หลังเรียนจบ ได้เป็นกองบรรณาธิการ นิตยสาร คนกรุงต่อมาทำงานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งแต่ปี 2534-2547 จากนั้นเริ่มทำงานที่ประชาไท ซึ่งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในเดือนมกราคม 2549 โดยประชาไทเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยคณะบุคคล ตำแหน่งที่ตนรับคือ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน และผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท มีสถานะเป็นพนักงานประจำของมูลนิธิฯ

จีรนุชกล่าวถึงขอบเขตหน้าที่ของตน ว่ามีดังนี้
1. บริหารงานทั่วไป ในส่วนของการศึกษา พัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์
2. บริหารงานบุคคล
3. หาทุน
4. จัดทำรายงานเสนอต่อแหล่งทุน และหน่วยราชการ
5. ประสานงานกับองค์กรของรัฐทั้งในและต่างประเทศ
6. จัดอบรม เสริมความรู้ทักษะแก่ประชาชนในที่ต่างๆ ให้มีทักษะด้านสื่อ
7. จัดประชุม พูดคุยเรื่องราวสาธารณะ

จีรนุช เบิกความต่อว่า ประชาไทเป็นโครงการหนึ่งภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน มีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง ส่งเสริมการแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งแบ่งส่วนการแสดงเนื้อหาอยู่ 2 ส่วน คือ
1. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับข่าว บทความ มีบรรณาธิการและกองบรรณาธิการเป็นผู้ดูแล
2. เว็บบอร์ด เป็นส่วนที่เปิดให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนกัน

ซึ่งกองบรรณาธิการจะมีประมาณ 10 คน แต่ผู้ดูแลเว็บบอร์ดมีเพียง 1 คน คือ ตัวจีรนุช เอง
ข่าวที่นำเสนอนั้นมีหลายประเภท ทั้งแรงงาน สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ

สำหรับการกลั่นกรองเนื้อหาของสองส่วนนี้มีความต่างกัน คือ ส่วนแรก ต้องมีเนื้อหาสละสลวย อ่านง่าย เนื่องจากมีลักษณะที่เป็นข่าวหรือบทความ จึงต้องผ่านการตรวจสอบจากกองบรรณาธิการก่อน แต่ส่วนที่สองมีลักษณะของความเป็นพื้นที่ ฉะนั้นเวลามีผู้มาลงความเห็นอะไรการแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบจากผู้ดูแลเสียก่อน ซึ่งการตรวจสอบนั้นจะเกิดขึ้นภายหลัง ลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมดาทั่วไปของเว็บบอร์ด สาเหตุที่ไม่มีการกลั่นกรองก่อน เพราะต้องการจะให้เป็นธรรมชาติของการสนทนา

จีรนุชชี้แจงถึงมาตรการในการดูแลว่า ในเบื้องต้นมีคนมาใช้เว็บบอร์ดจำนวนไม่มาก จึงใช้วิธีชี้แจงและขอความร่วมมือกับผู้แสดงความเห็นโดยให้แสดงความเห็นกัน อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็เป็นไปด้วยดีมาตลอด ในระยะแรกนั้น ผู้ใช้แลกเปลี่ยนกันเต็มที่และมีการรับฟังกันพอสมควร

จากนั้นกล่าวถึงกติกา ว่ากำหนดไว้กว้างๆ ดังนี้
1. ไม่มีการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง
2. ไม่สนับสนุนให้ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
3. ไม่ให้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย
4. ให้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย

จีรนุช เบิกความว่า จุดเปลี่ยนมาเกิดขึ้นในช่วงที่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีคนมาใช้เว็บบอร์ดเพิ่มขึ้นหลังจากรัฐประหารมากถึงหลายสิบเท่า ซึ่งท่าทีของการแลกเปลี่ยนมีลักษณะที่ขัดแย้ง เป็นการสะท้อนสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงในช่วงนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น จึงนำไปสู่การปรึกษาในประเด็น ปัญหาการโพสต์ข้อความหมิ่นฯกับคณะกรรมการมูลนิธิสื่อฯ มีการเพิ่มมาตรการตามลำดับ ดังนี้
1. แต่เดิม ไม่ต้องมีการสมัครสมาชิกก็โพสต์ได้เลย
2. ต่อมาเพิ่มเงื่อนไขให้สมัครสมาชิกก่อนจึงจะโพสต์ข้อความได้
3. มีการตรวจสอบข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ของประชาไท ซึ่งหากพบว่ามีข้อความไม่เหมาะสม จะเอาออกทันที

ต่อมามีการเพิ่มมาตรการขึ้นตามลำดับ คือให้สมาชิกอาสาสมัครช่วยดูแลว่า หากมีข้อความไม่เหมาะก็นำออกได้ โดยทางอาสาสมัครเหล่านั้นประกอบด้วยผู้ใช้เว็บบอร์ดหลากหลายอาชีพ เช่น ทนายความ แพทย์ นักธุรกิจ นักวิชาการ เป็นต้น การลบข้อความสามารถทำได้ที่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครเอง

จากนั้นจีรนุชเบิกความว่า ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในปี 2550-2551 อยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 คนต่อวัน โดยในแต่ละวันจะมีกระทู้ตั้งใหม่เฉลี่ยประมาณ 300 กระทู้ และมีการตอบความเห็นในกระทู้ต่อวันประมาณ 2,800-2,900 ข้อความ

ตามเอกสารหมาย จ. 23 ปรากฏหมายเลข ID โดยแต่ละข้อความจะมีหมายเลขข้อความกำกับอยู่ตามลำดับการโพสต์ ซึ่งการเรียงกระทู้จะเรียงตามลำดับก่อนหลังของเวลาที่มีการแสดงความเห็น ไม่ได้เรียงตามลำดับก่อนหลังของกระทู้

หมายเลข ID ที่ปรากฏในช่วงเวลาสุดท้ายที่มีการฟ้อง (ตามหมาย จ. 32) คือหมายเลข 1193245 แสดงว่า มีคนมาโพสต์รวมแล้ว ล้านกว่าคน

จีรนุชเบิกความต่อว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทีโทรมาขอความร่วมมือให้ลบข้อความ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มีนายอารีย์ รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีการประสานมาทางอีเมล ซึ่งการประสานในรูปแบบอีเมลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการประชุมหารือร่วม เกี่ยวกับแนวทาง โดยการประชุมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดูแลเว็บไซต์ และแนวทางการประสานงานระหว่างกัน จากที่ประชุมมีการตกลงในเบื้องต้นว่า ให้ประสานงานกันผ่านทางอีเมลหรือโทรศัพท์ก็ได้ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ส่งอีเมล์แจ้ง ยูอาร์แอล ซึ่งมีของเว็บไซต์อื่นๆ อีกมาก รวมอยู่ด้วยมายังตนโดยส่งมาต่อเนื่องเกือบทุกวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

หลังจากที่ได้รับอีเมล ตนจะทำการตรวจสอบก่อนว่า มี ยูอาร์แอล ของประชาไทหรือไม่ หากพบว่ามี จะตรวจสอบและจะปิดกั้นข้อความโดยทันที นอกจากนั้นจะนำ ยูอาร์แอล ทั้งหมดเข้าสู่ระบบกลั่นกรองของเว็บไซต์ประชาไทเพื่อไม่ให้สามารถปรากฏบน หน้าเว็บประชาไทได้

จีรนุชให้การอีกว่า ตนได้ส่ง ยูอาร์แอล ไปให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของประชาไทตรวจดู พบว่า ยูอาร์แอล ของประชาไทมีทั้งหมด 25 ยูอาร์แอล จาก 3,000 ยูอาร์แอล ที่ได้รับมาจากเจ้าหน้าที่ไอซีที จำนวนดังกล่าวเป็นปริมาณตามข้อเท็จจริง ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าหลายยูอาร์แอลถูกลบไปก่อนที่จะได้รับแจ้ง

ตนเคยถูกเรียกให้เป็นพยานในคดีนางสาวนพวรรณ ซึ่งขณะนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้นำข้อความตามหมาย จ. 23-31 ให้ตนดู โดย พ.ต.ท. ยุทธพงศ์ ถวิลบุญ เป็นพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว ซึ่งตนไปให้การในช่วงเดือนมีนาคม 2552 โดยขณะที่ไปให้ปากคำนั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่ามีคำกล่าวหาแก่ตน ให้ดูแต่เพียง ยูอาร์แอล ของเว็บบอร์ด ซึ่งตนได้พิจารณาดูแล้วก็พบว่า เป็นของประชาไท อย่างไรก็ตาม ยูอาร์แอล ดังกล่าวเป็น ยูอาร์แอล ของข้อความที่อยู่ในเว็บบอร์ดนานมาแล้ว และอยู่มานานเกินไปจึงไม่มีฐานข้อมูลให้ตรวจสอบในระบบได้ จึงไม่สามารถทราบไอพีแอดเดรสของผู้โพสต์ได้

จีรนุชให้การอีกว่า วันที่ 3 พ.ย. 2551 ตนได้รับเอกสารในซองจดหมาย จึงตรวจสอบดูสิ่งที่ปรากฏในเอกสารคือหมายเลข ID ของผู้โพสต์ข้อความตามเอกสารหมาย จ. 32 ตนจึงตรวจสอบตามหมายเลขและทำการปิดกั้นข้อความ

ในการลงชื่อตามสำนวนที่ พล.ต.ท. บุญเลิศ กัลยาณมิตรให้ลงชื่อนั้น จีรนุชกล่าวว่า ตนได้ลงชื่อในฐานะพยาน และพบว่า เอกสารสำนวนดังกล่าวไม่มีปรากฏชื่อว่าใครเป็นผู้ต้องหา และได้ทราบว่าตนเป็นผู้ต้องหาเมื่อสั่งฟ้องแล้ว ต่อมาภายหลังตนได้ทราบว่า คดีของนางสาวนพวรรณถูกยกฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า นางสาวนพวรรณเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงหรือไม่

จีรนุช เบิกความต่อไปว่า ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ตนถูกจับ โดยมีข้อกล่าวหา 1 กระทง คือข้ความที่โพสต์โดย bento ซึ่งขณะนั้นตนทราบแล้วว่ามีการกล่าวหาว่า bento คือ นางสาวนพวรรณ โดยในวันที่มีการจับกุมนั้น มีหมายค้นและหมายจับมาที่สำนักงานประชาไท และเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาของตนเป็นของกลาง และเจ้าหน้าที่ ICT ได้ทำสำเนาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยมีคำสั่งศาล

จีรนุช เบิกความว่า ในชั้นสอบสวน ตนให้การปฏิเสธ ต่อมา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2552 พล.ต.ท. บุญเลิศ ได้ติดต่อผ่านทนายความมาว่า ขอนัดหมายเข้าพบ หลังจากที่ไปพบแล้วก็ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 กระทง

ตนทราบว่า นายอารีย์ให้การในคดีนางสาวนพวรรณว่า ทางผอ.เว็บประชาไทให้ความร่วมมือในการปิดกั้นและเป็นผู้ปิดกั้นข้อความ

จากนั้นจีรนุชกล่าวว่า หากเป็นการปิดกระทู้ กระทู้จะหาย แต่ถ้าเป็นการปิดข้อความที่เป็นความคิดเห็นในกระทู้ จะปรากฏว่าข้อความหมายเลข...ประชาไทปิดข้อความ

ต่อมาเล่าถึงการจัดประชุมว่า กระทรวง ICT เชิญประชุม 2 ครั้ง หลังประกาศใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยการประชุมดังกล่าวมีการเชิญผู้ร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บไซ ต์ต่างๆ ซึ่งตนจำได้ไม่หมด นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จาก ICT ด้วย โดยการประชุมเกิดขึ้นเนื่องจาก ทางสำนักงานตำรวจเห็นว่า ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีเยอะ จึงอยากปรึกษาหารือถึงแนวทางร่วม

ซึ่งได้แนวทางหลังจากการประชุม ดังนี้
1. แต่ละผู้ให้บริการประสบปัญหาอะไรบ้าง
2. ควรมีมาตรการอย่างไร
3. แต่ยังพบว่าไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จึงกลายเป็นว่า ต้องใช้ดุลพินิจของผู้ให้บริการเอง

จีรนุชกล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่เองก็มีหน้าที่แจ้งไปยังผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน หากพบว่ามีข้อความไม่เหมาะสม ขั้นต่อมาหากยังไม่ดำเนินการก็จะมีหนังสือแจ้ง และหากยังไม่ดำเนินการก็จะดำเนินคดี

ปัญหาของผู้ดูแลเว็บไซต์ คือ การที่จะพิจารณาว่าความเห็นที่จะปิดหรือไม่ปิดข้อความ ตามแบบที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดมานั้น ต้องพิจารณาอย่างไร อีกอย่างหนึ่งคือ ความชัดเจนของเนื้อหาที่ว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นเป็นอย่าง ไร

จีรนุชกล่าวว่า การปรับปรุงมาตรการของประชาไทเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2549 คือให้สมาชิกลงทะเบียนโดยมีแบบฟอร์มให้กรอก และให้สมาชิกระบุอีเมล เพื่อยืนยันว่าอีเมลนั้นมีการใช้อยู่จริง และการตรวจสอบข้อความนั้นก็ให้ตรวจสอบได้โดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร โดยระยะแรก ให้สมาชิกสามรายขึ้นไปกดลบ จึงจะถูกลบ แต่ระยะหลังมาให้รายเดียวกดลบแล้วข้อความจะถูกลบเลย

จีรนุชเบิกความว่า การที่มีข้อความค้างอยู่นั้นเพราะว่า ช่วงเวลาที่มีการโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้นอยู่ในช่วงที่มีความเข้มข้นทางการ เมืองสูง คือเหตุการณ์ทางการเมืองเยอะ กระทู้จึงเยอะ เป็นไปได้ว่า อาจมีบางข้อความเล็ดลอดจากการตรวจสอบได้ ซึ่งข้อความตามหมาย จ. 32 เป็นกระทู้ที่ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนจากกระทรวงไอซีที

จีรนุชกล่าวอีกว่า Bento ลงข้อความในวันที่ 15 ต.ค. 2551 และหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นมีผู้แสดงความคิดเห็น 3 ความเห็น หลังจากนั้นก็ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นอีก เพราะฉะนั้นจึงทำให้กระทู้ไม่ปรากฏในหน้าแรก

ซึ่งทางประชาไทมีการกำหนดอายุของกระทู้ด้วย คือ หากครบกำหนด 10 วัน จะไม่ให้มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม และผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านได้เพียง 3 เดือน

กรณีลิงก์ไปยังคลิปที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม จีรนุชกล่าวว่า มีโปรแกรม ธันเดอร์เบิร์ด เป็นการรับส่งอีเมลอัตโนมัติ ซึ่งข้อมูลบางอย่างจะสามารถถูกดาวน์โหลดลงเครื่องทันทีที่เครื่องมีการ เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แม้จะลบไปแล้วกี่ครั้งแต่ข้อมูลก็จะยังปรากฏอยู่ในเครื่องเรื่อยๆ จนกว่าจะล้างเครื่อง

จีรนุชกล่าวว่า ตนไม่รู้จักกับผู้โพสต์ ยกเว้น นางสาวนพวรรณ เพราะได้พบกันขณะที่ไปเป็นพยานโจทก์ในคดีนางสาวนพวรรณ

เว็บบอร์ดประชาไท ปัจจุบันไม่มีแล้วตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ค. 2553 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการดูแลจึงต้องปิดไป

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

หลังจากอัยการถามไป 2-3 คำถามก็ถูกศาลติงว่า คำถามวนไปเวียนมาไม่มีประเด็น เพราะอัยการถามถึงสิ่งที่นางสาวจีรนุชได้เบิกความไปหมดแล้ว อัยการจึงเลิกถาม

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามติง

จีรนุช เบิกความว่า ในการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ไม่มีการนำเอกสารให้จีรนุชอ่าน โดยในวันที่ 7 เม.ย. 2552 จีรนุชให้การรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มโดยมีเรื่อง 9 ยูอาร์แอล ซึ่งจีรนุชไม่มีโอกาสชี้แจงยืนยันการมีอยู่ของ ยูอาร์แอล ดังกล่าว และในเดือน ก.พ. 2553 มีการระบุเนื้อหาให้ทราบ

จากนั้นกล่าวถึงสัดส่วนการลบข้อความว่า สัดส่วนที่ประชาไทตรวจสอบเองและลบเอง มีมากกว่าที่รอให้กระทรวงไอซีทีแจ้งมาก่อนแล้วค่อยลบ

สิ้นสุดการสืบพยานโดยใช้เวลาราวสองชั่วโมง โดยมีผู้สังเกตการณ์จากสื่อมวลชนและองค์กรระหว่างประเทศหนาแน่น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

11 ตุลาคม 2554
สืบพยานจำเลยปากที่สี่นายแดนนี่ โอไบรอัน (Mr. Danny O’Brien) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอินเทอร์เน็ต จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists – CPJ) สหรัฐอเมริกา อดีตที่ปรึกษาไอทีบริษัท Virgin.net, หนังสือพิมพ์ The Guardian, นิตยสาร Wired และโทรทัศน์ Channel 4

จำเลยเดินทางมาศาล พร้อมด้วยทนายความรัษฎา มนูรัษฎา และ ทนายความธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี บรรยากาศการสืบพยานในวันนี้มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตุการณ์ ประมาณ 15-20 คน

บรรยากาศก่อนเริ่มสืบพยานเป็นไปอย่างสับสน เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลอาญาแจ้งเลื่อนนัดการสืบพยานจำเลยระหว่างวันที่ 11 – 14 ตุลาคม 2554 ออกไป เนื่องจากบ้านพักของหัวหน้าองค์คณะผู้พิพากษาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จึงไม่สามารถทำหน้าที่สืบพยานได้ แต่ทนายความฝ่ายจำเลยได้แถลงยืนยันการสืบพยานในกรณีของนายแดนนี่ โอ ไบรอัน โดยให้เหตุผลว่าพยานปากดังกล่าวเดินทางไกลมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อการสืบพยาน ครั้งนี้โดยเฉพาะ และครั้งนี้เป็นการเดินทางมาครั้งที่ 2 แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็เดินทางมาครั้งหนึ่งแล้วแต่นัดสืบพยานก็ถูกเลื่อนออก ไปเช่นกัน ศาลจึงอนุโลมให้ทำการสืบพยานได้

เวลาประมาณ 9.50 น. ผู้พิพากษากำพล รุ่งรัตน์ พร้อมด้วยองค์คณะ 1 ท่านขึ้นบัลลังก์ โดยผู้พิพากษากำพล ขึ้นบัลลังก์โดยใส่เสื้อยืดคอปกสีชมพู และใส่ครุยตุลาการทับอีกชั้นหนึ่ง ผู้พิพากษากำพลแจ้งกับจำเลยและทนายความว่าบ้านของท่านอยู่ในเขตประสบภัย พิบัติน้ำท่วมและมีความจำเป็นต้องกลับไปดูแลบ้านเพราะใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ บิ๊วอิน อาจเกิดความเสียหายได้มาก จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนนัดการพิจารณาคดีออกไปก่อน แต่หากฝ่ายจำเลยยืนยันต้องการกำหนดการสืบพยานตามเดิม ก็สามารถดำเนินการได้โดยให้ผู้พิพากษาท่านอื่นทำหน้าที่แทน ฝ่ายจำเลยยืนยันที่จะขอสืบพยานปากนายแดนนี่ก่อน ส่วนปากอื่นตามที่นัดหมายไว้ก็ให้เลื่อนออกไปได้

นายแดนนี่เริ่มเบิกความในเวลา 10.00 น. โดยใช้วิธีเบิกความเป็นภาษาอังกฤษ ผ่านการแปลของนายสมาน ปานขลิบ เจ้าหน้าที่ล่ามของศาล ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยมีการเตรียมล่ามแปลภาษาด้วยเช่นกัน

นายแดนนี่เริ่มเบิกความแนะนำตัว โดยเล่าประสบการณ์การทำงานว่า ปัจจุบันทำงานอยู่ที่คณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (CPJ) และมูลนิธิ Electronic Frontier Foundation (EFF) ก่อนหน้านี้เป็นที่ปรึกษาให้กับวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม การแปลของล่ามเป็นไปอย่างขลุกขลัก ต่อมานายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาจึงเสนอให้ยุติการสืบพยานในวันนี้ และขอให้นายแดนนีให้การเป็นเอกสารแทน เพราะเห็นว่าหากให้สืบพยานต่อไปทั้งที่มีปัญหาเรื่องการแปลก็คงจะไม่ได้อะไร และไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจำเลยเอง

จำเลยได้ยืนยันว่าอยากให้มีการสืบพยานต่อเพราะว่าพยานเดินทางมาไกล แต่ศาลชี้แจงว่า หากเบิกความผ่านเอกสารสามารถนำข้อเท็จจริงเข้าสู่ศาลได้ไม่ต่างกัน เมื่อทนายความจำเลยปรึกษากับจำเลยแล้วจึงตกลงที่จะเบิกความผ่านเอกสารเนื่อง จากเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรียบร้อย แล้ว ทนายความจำเลยจึงให้แดนนี่ดูเอกสารซึ่งเป็นบทความที่นายแดนนี่เขียนเกี่ยว กับเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตโดยภาพรวม หลักความรับผิดของตัวกลาง ความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางอิเล็กทรอนิคส์ และให้นายแดนนี่รับรองว่าเป็นความจริงตามนั้นและยื่นนำส่งเอกสารต่อศาล

นอกจากนี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลประสบภาวะอุทกภัย จึงมีเหตุขัดข้องในการติตามตัวพยานมากเบิกความ จึงยกเลิกวันนัดสืบพยานที่เหลือในวันที่ 12-14 ตุลาคม 2554 และให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยในนัดที่เหลืออีก 3 ปาก ไปเป็นวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ ปี 2555 เหตุผลตามที่แจ้งไว้ข้างต้น

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

ศาลอาญารัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 910
จำเลย และทนายความได้แก่ ทนายความธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี และอานนท์ นำภา มาศาล

นายกำพล รุ่งรัตน์ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์เวลา 9.50 น. พร้อมด้วยองค์คณะ 1 ท่าน ขณะศาลขึ้นบัลลังก์ฝ่ายอัยการยังไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดี

ผู้พิพากษากำพลสอบถามทนายความถึงลำดับการสืบพยานพร้อมประเด็นที่ต้องการนำ สืบ ทนายธีรพันธุ์แจ้งต่อศาลขอเบิกความพยาน 2 รายในช่วงเช้า รายแรก คือ นางสาวสาวตรี สุขศรี นักวิชาการ ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประเด็นที่ต้องการนำเสนอ 2 ประเด็น คือ งานวิจัยเรื่องแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลเนื้อหาของผู้ให้บริการ และ ระเบียบการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติครั้งที่ 17 วาระที่ 3 วันที่ 16 พฤษภาคม 2554

ศาลถามต่อไปว่า ประเด็นที่ต้องการเบิกความนั้น เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติของต่างประเทศหรือไม่ เพราะพยานจำเลยรายหนึ่ง (นายแดนนี่ โอไบรอัน) ได้เบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าเป็นพยานความเห็น จึงเสนอให้ฝ่ายจำเลยนำส่งบทความวิชาการเอกสารแทนการสืบพยาน หากโจทก์ไม่คัดค้านก็จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลยมากกว่า

ทนายอานนท์ยืนยันว่าต้องการจะสืบพยานเพราะกลัวว่าจะมีข้อเท็จจริงบางอย่าง ที่ศาลไม่ได้บันทึก ศาลจึงบอกว่าถ้าอยากให้บันทึกอะไรศาลก็จะบันทึกให้ แต่ถ้าให้พูดไปมากมาย ถ้ามีประเด็นเดียวก็ไม่มีประโยชน์ ทนายความ จำเลย และสาวตรี จึงหันมาปรึกษากันอีกครั้ง

เวลา 9.58 น. ผู้พิพากษาองค์คณะอีก 1 ท่านเดินขึ้นบัลลังก์

ผู้พิพากษากำพลกล่าวย้ำอีกครั้งว่า หากยื่นส่งเอกสารจะเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่า ทนายความธีรพันธุ์ และสาวตรีเข้าไปพูดคุยกับศาลใต้บัลลังก์เพื่ออธิบายว่า ประเด็นที่ต้องการจะนำสืบคือแนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป พร้อมกับยื่นเอกสาร 1 ฉบับต่อศาล ศาลยังไม่ได้อ่านแต่ถามว่า ลักษณะการแสดงความเห็นโดยภาพรวมก็เป็นความผิดเหมือนกันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ แนวทางคือตัวกลางไม่ต้องรับผิด หากจะให้รับผิดต้องมีมาตรการ เช่น มีการแจ้งเตือนให้ลบข้อความก่อน ทนายความธีรพันธุ์อธิบายต่อถึงเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งเป็นงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

ขณะที่สาวตรีกำลังจะอธิบายต่อถึงเจตนารมณ์ในการบัญญัติมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลก็ตัดบทว่าให้ส่งเป็นเอกสารเข้ามาแทน หากโจทก์ไม่คัดค้าน รับข้อเท็จจริงก็จบ จำเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่า ให้เอาพยานปากต่อไปมาสืบเลย

จำเลยแจ้งว่าต้องการให้พยานอธิบายประเด็นเพิ่มอีก แต่พยานยังไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม ศาลก็บอกให้นำพยานปากต่อไปเข้ามาสืบ ซึ่ง ทนายอานนท์อธิบายว่า พยานปากต่อไปจะเบิกความถึงมาตรการลบข้อความของเว็บไซต์ประชาไท ศาลอนุญาตให้สืบได้

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่หก นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และผู้ใช้เว็บบอร์ดประชาไท

เริ่มสืบพยานเวลาประมารณ 10.05 น. นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต อายุ 48 ปี ปัจจุบันเป็นนายแพทย์เชี่ยวชาญ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โดยอัยการยังไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดี ลักษณะการสืบพยานทั้งการถามคำถามของทนายและการบันทึกข้อเท็จจริงของศาลเป็น ไปอย่างเร่งรีบ

นายแพทย์กิติภูมิ เบิกความว่า เริ่มใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไทตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องมาถึงการเข้าชมเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทในปัจจุบัน เหตุผลที่เลือกใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไท เพราะเว็บบอร์ดนี้แตกต่างจากเว็บไซต์อื่นที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็น ทางการเมืองต่างกันสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี (ประเด็นนี้ศาลไม่บันทึก) เว็บไซต์ประชาไทยังนำเสนอข่าวที่แตกต่างจากที่อื่น ได้แก่ ข่าวสารเกี่ยวกับความยุติธรรม คนชายขอบ ข่าววัฒนธรรม การเมือง สังคมที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากสื่อกระแสหลัก

สำหรับเงื่อนไขการใช้เว็บบอร์ดนั้น นายแพทย์กิติภูมิกล่าวว่า ก่อนปี 2549 ผู้ใช้บริการไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก แต่ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ต้องมีการสมัครสมาชิกและมีรหัสเข้าใช้บริการ เว็บบอร์ดของประชาไทยังมีมาตรการดูแลเว็บบอร์ดที่เป็นลักษณะพิเศษ คือ เว็บบอร์ดจะทำการลบเฉพาะความเห็นที่ผิดกฎหมาย โดยมีการให้ผู้เข้าชมกดปุ่มแจ้งลบ (ศาลบันทึกว่าสามารถให้ผู้ใช้บริการแจ้งไปได้) เพื่อเตือนให้ผู้ดูแลเว็บบอร์ดทราบว่า อาจมีข้อความที่ไม่เหมาะสมปรากฏอยู่ โดยจะมีช่องให้ผู้แจ้งต้องระบุเหตุผลแจ้งลบให้ทางผู้ดูแลทราบด้วย ภายหลังปี 2549 เว็บบอร์ดประชาไทมีการแต่งตั้งให้สมาชิกมีส่วนร่วมดูแลเว็บบอร์ด และลบข้อความที่เห็นว่าอาจผิดกฎหมายได้เลย และตนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเลือก

ในช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลเว็บบอร์ด นายแพทย์กิติภูมิมีโอกาสพิจารณาลบบทความและกระทู้หลายครั้ง โดยแต่ละครั้งเป็นไปโดยวิจารณญาณส่วนตัว ไม่ต้องปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ

นายแพทย์กิติภูมิ เบิกความต่อไปว่า ก่อนรัฐประหาร 2549 มีคนใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไทไม่มากนัก แต่หลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีการโพสต์เกิดขึ้นประมาณ 300 กระทู้ต่อวัน ศาลถามว่าความเห็นต่างๆ รวมแล้ววันละเท่าไร นายแพทย์กิตติภูมิเงียบ ศาลบอกว่า โจทก์ไม่ค้านแล้วก็ให้พูดได้เลย นายแพทย์กิตติภูมิจึงตอบว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 ต่อวัน ซึ่งทำให้ผู้ดูแลเว็บบอร์ดไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกความเห็น

ถึงตรงนี้ศาลเป็นผู้ถามพยานเองว่า ทำให้การตรวจสอบความเห็น...... นายแพทย์กิตติภูมิตอบว่า เป็นไปไม่ได้ศาลเสริมว่า ยากมากและศาลจดบันทึกตามความเข้าใจของศาล

นายแพทย์กิตติภูมิเบิกความต่อว่า สำหรับวิธีการตรวจสอบความเห็นที่ผิดกฎหมายนั้น หากพบว่า หมิ่นเหม่” (ต่อความมั่นคงและผู้อื่น: บันทึกในวงเล็บโดยศาล) ก็จะลบออกโดยทันที ในประเด็นนี้ ศาลถามต่อว่า การลบความเห็นดังกล่าวขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใด นายแพทย์กิติภูมิย้ำว่า เป็นวิจารณญาณของตนเองที่ประกอบขึ้นจากกติกาของเว็บบอร์ด

ถึงตรงนี้ศาลหยุดการสืบพยานชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งคาดว่าจะเสีย และเปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาใช้แทน หลังจากที่เปลี่ยนแล้ว ศาลเริ่มต้นใหม่โดยการถามชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่ ตำแหน่ง ของพยานใหม่เพื่อบันทึกอีกครั้ง และเมื่อจะบันทึกในส่วนที่เป็นประเด็นของคดีศาลเป็นคนถามพยานเองให้พยานพูด ใหม่ตั้งแต่แรก แต่บางส่วนที่ศาลจำได้ศาลก็บันทึกไปเลยโดยไม่ต้องให้พยานพูดซ้ำ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะของเว็บไซต์ประชาไท และปุ่มแจ้งลบศาลบันทึกด้วยตนเอง ซึ่งถูกต้องสอดคล้องกับข้อความที่พยานเบิกความไว้ในคอนแรก

หลังจากบันทึกย้อนมาถึงจุดเดิม ก็เริ่มให้ทนายความถามและให้พยานเบิกความต่อ สำหรับประเด็นกลุ่มผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดนั้น นายแพทย์กิติภูมิให้การว่า มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและต่อต้านการรัฐประหาร

ในส่วนของบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการตรวจสอบเนื้อหาในเว็บบอร์ดนั้น นายแพทย์กิติภูมิกล่าวว่า ไม่ได้รับผิดชอบ ในประเด็นใดเป็นพิเศษ ทราบว่า ทางเว็บบอร์ดมีการแต่งตั้งสมาชิกให้ทำหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ดหลายคน ไม่ทราบว่ามีเท่าไร และไม่รู้จักสมาชิกรายอื่นเป็นการส่วนตัวนอกจากชื่อล็อคอินที่ใช้โพสต์ข้อ ความ ทั้งนี้ คุณสมบัติที่ทำให้สมาชิกเหล่านี้ได้รับการคัดเลือก คือ การเป็นผู้แจ้งลบข้อความไม่เหมาะสมอยู่เป็นประจำ หน้าที่ดังกล่าวภายหลังเรียกว่า อาสาสมัครผู้ดูแลเว็บบอร์ด

ต่อมา ทนายความถามว่าประชาไทดีกว่าเว็บอื่นอย่างไร ศาลไม่อนุญาตให้ถาม ทนายความถามย้ำเรื่องการใช้งานเว็บบอร์ด นายแพทย์กิติภูมิให้การว่า ได้ใช้บริการเว็บบอร์ดในปี 2547 – 2553 จากนั้นเว็บบอร์ดได้ปิดทำการ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เว็บไซต์ข่าวยังเปิดให้บริการอยู่ ทั้งนี้ หน้าที่การตรวจสอบดูแลเนื้อหาในเว็บบอร์ดนั้น ตนจะกระทำนอกเวลาราชการ ระหว่างสามทุ่มถึงเที่ยงคืน

เวลาประมาณ 10.30 น. อัยการเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดี แจ้งความจำนงต่อศาลที่จะถามค้าน แต่ยังไม่ทราบว่าที่เบิกความไปเป็ประเด็นอะไร ศาลสรุปการเบิกความเรื่องอาสาสมัครผู้ดูแลเว็บบอร์ดให้อัยการฟังโดยย่อ

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

อัยการถามว่าผู้ใดมีสิทธิลบเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสมบนเว็บบอร์ดได้บ้าง นายแพทย์กิติภูมิกล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการเท่านั้น ผู้ใช้สามารถแจ้งลบเนื้อหาดังกล่าวได้ด้วย แต่การจะลบเนื้อหาตามที่แจ้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับความยินยอมของเว็บบอร์ด ซึ่งโดยปกติหากเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวไม่เหมาะสมจริง ผู้ดูแลเว็บบอร์ดก็จะทำการลบโดยทันที อัยการถามต่อว่า ในคดีนี้มีบางข้อความปรากฏอยู่นานถึง 11 ใช่หรือไม่ เป็นเพราะเหตุใด นายแพทย์กิติภูมิกล่าวว่า ตนไม่ทราบ

อัยการแถลงหมดคำถาม

สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นางสาวสาวตรี สุขศรี (รอบที่สอง)

เวลาประมาณ 10.32 น. ศาลเชิญนางสาวสาวตรีกลับเข้ามาให้การอีกครั้ง และได้สอบถามทนายจำเลยเกี่ยวกับพยานปากสุดท้ายที่มีนัดสืบในช่วงบ่าย ศาลอธิบายถึงประเด็นที่สาวตรี จะเบิความและถามว่าอัยการจะค้านหรือไม่ อัยการบอกว่ารับข้อเท็จจริงเลยก็ได้ เพราะอย่างไรเสียกฎหมายของไทยก็เป็นของไทย

ทนายธีรพันธุ์ขออนุญาตศาลให้พยานได้อธิบายอีกประเด็น ศาลอธิบายว่า ปกติศาลจะไม่ค่อยให้เบิกความพยานความเห็น เพราะเหมือนมาสอนกฎหมายศาล ถ้าต้องการจะชี้นำความคิดศาลก็ให้เขียนมาในคำแถลงการณ์ปิดคดี การที่จะนำพยานมาเบิกความในศาลจะต้องมาบอกข้อเท็จจริง การพูดความเห็นไม่มีผลอะไร เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงในคดี

จำเลยพยายามอธิบายว่า พยานปากนี้จะเบิกความถึงข้อเท็จจริงในขั้นตอนการร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรีถามศาลว่า แล้วประเด็นเรื่องระยะเวลาในการลบข้อความที่กฎหมายไม่ได้เขียนจะทำอย่างไร ศาลตอบว่า ก็เป็นดุลพินิจของศาล ศาลไม่จำเป็นต้องเชื่อคุณ ศาลอาจจะเอามาดูก็ได้ คุณต้องเข้าใจศาลด้วย คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับศาลด้วย ศาลพยายามดูว่าอะไรเป็นประโยชน์

เวลาประมาณ 10.35 น. ทนายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์ หัวหน้าทีมทนายความจำเลยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี

จำเลยถามศาลว่า แล้วจะสามารถเอาเอกสารในชั้นร่างกฎหมายเข้าสืบได้หรือไม่ ศาลตอบว่าได้ แต่ถ้าเบิกความอย่างนี้มันจะลอย ศาลพยายามช่วย เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดี ซึ่งกฎหมายได้เปิดช่องทางให้สามารถโน้มนำความเห็นของศาลได้ ไม่เปิดช่องให้มาเบิกความอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งทนายความพยายามจะอธิบายเพื่อให้ได้สืบพยานปากนี้ต่อไป

ศาลอธิบายต่อกับทนายความ จำเลย และผู้สังเกตการณ์การพิจารณาคดี ว่า ไม่ใช่ว่าศาลต้องเชื่อตามที่พยานปากนี้จะพูด เมื่อสืบพยานเสร็จแล้วศาลก็ต้องไปค้นคว้าดูว่าจะให้กำหนดระยะเวลาเป็นกี่วัน ดี เพื่อความสบายใจจะเบิกความก็ได้ ถ้าอยากเบิกความเรื่องการประชุมสภาก็ให้พยานปากสุดท้ายนำส่งเอกสารเข้ามาจะ ง่ายกว่า แล้วแต่จะตัดสินใจ เพราะถ้าเบิกความแล้วโจทก์ก็จะค้าน ถ้าให้โจทก์รับข้อเท็จจริงผ่านเอกสารไปเลยจะง่ายกว่า

จากนั้นศาลเรียกอัยการมาอธิบายว่าพยานปากนี้ต้องการจะเบิกความในประเด็นอะไร และถามว่าจะรับข้อเท็จจริงหรือไม่ อัยการตอบว่า คุณจะสืบก็สืบ ผมยังไงก็ได้

ศาลให้พยานไปยืนใต้บัลลังก์ศาล ไม่ได้นั่งในคอกพยาน และเริ่มถามชื่อพยาน ประวัติ ตำแหน่ง และประเด็นที่จะเบิกความ สาวตรี กล่าวว่า ต้องการเบิกความประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และความรับผิดของตัวกลาง โดยมีหลักการทั่วไปว่า ตัวกลางหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิด ในกรณีที่การกระทำความผิดทำโดยบุคคลที่ 3 เว้นแต่ตัวกลางมีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว และหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ตัวกลางจะต้องได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐให้รู้ถึงข้อความก่อน ซึ่งหลักปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรปนั้น ตัวกลางจะได้รับอนุญาตให้แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว 10-14 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งเมื่อตรวจสอบกฎหมายไทย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 พบว่า ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเตือน และไม่มีระเบียบมาตรการใดๆ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ดูแล (ศาลบันทึกรายละเอียดทั้งหมดนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ไม่ได้บันทึกไว้ในฐานะคำเบิกความพยาน)

จากนั้น นางสาวสาวตรีได้เบิกความรับรองเอกสารการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.54 ซึ่งมีหลักการว่า ตัวกลางผู้ดูแลเว็บบอร์ดไม่ต้องมีความรับผิดต่อการกระทำของผู้ใช้งาน

โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงข้างต้น ศาลขอให้นำตัวพยานที่จะเบิกความในภาคบ่ายมาสืบให้เสร็จสิ้นในช่วงเช้าเลย เสร็จแล้วศาลพักการพิจารณาคดีเพื่อรอพยานอีก 1 ปาก

14 กุมภาพันธ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เดินทางมาถึงศาลเวลา 11.15 ดร.จิตร์ทัศน์ขึ้นเบิกความในเวลาประมาณ 11.30 น. โดยศาลขอให้เลื่อนเวลาการสืบพยานจากกำหนดการเดิมในช่วงบ่ายมาเป็นช่วงเช้า หลังจากที่นางสาวสาวตรีเบิกความรับรองเอกสารแทนการสืบพยาน ทำให้ดร.จิตร์ทัศน์รีบเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงาน ตรงมายังห้องพิจารณาคดี

สำหรับประวัติโดยย่อของดร. จิตร์ทัศน์ ปัจจุบันอายุ 34 ปี รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และระดับปริญญาโทและเอกจากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ University of California, Berkeley

ดร.จิตร์ทัศน์ เบิกความว่า เข้ามาเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ประชาไท เนื่องจากมีความสนใจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ โดยในปี 2549 ได้เขียนบทความเรื่อง การจัดการความคิดเห็นบนชุมชนออนไลน์ลงในนิตยสารโอเพ่น ออนไลน์ ซึ่งกรรมการผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทอาจเห็นผลงานดังกล่าว จึงเชิญเข้าร่วมประชุมสีมมนาเกี่ยวกับการจัดการความคิดเห็นในเว็บบอร์ดในปี 2551 และเนื่องจากกรรมการชุดเก่าหมดวาระลง กรรมการที่มีอยู่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ตนจึงได้รับเชิญมาเป็นกรรมการตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิกในเวลาต่อมา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องเว็บบอร์ดและการจัดการความเห็นและระบบ คอมพิวเตอร์โดยทั่วไป

ทนายความถามว่า ในขณะนั้นเว็บบอร์ดของประชาไทมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า เว็บบอร์ดประชาไทมีระบบที่ดี อยู่แล้ว โดยมีการดูแลด้วยอาสาสมัครผู้ช่วยตรวจสอบความเห็นในเวบบอร์ด มีสิทธิดูแลการใช้งานเว็บบอร์ดมากกว่าสมาชิกปกติ สามารถซ่อนความเห็นที่พิจารณาว่าไม่เหมาะสมได้ หลังจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลเว็บบอร์ดตามปกติที่จะตรวจสอบว่า ความเห็นที่ถูกซ่อนนั้น สมควรถูกซ่อนต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลเว็บบอร์ดจะสอดส่องดูแลความเห็นอื่นๆที่ไม่ถูกซ่อนด้วยเช่นกัน การมีอาสาสมัครเป็นการเพิ่มมาตรการดูแลให้รวดเร็วและตรวจสอบได้มากขึ้น สำหรับปริมาณกระทู้ในแต่ละวันจะตกอยู่ประมาณ 300-400 โดยความเห็นพ่วงท้ายของแต่ละกระทู้อาจมีตั้งแต่ 5 หรือ 30-40 ความเห็น หากกระทู้มีความน่าสนใจ

นอกจากนี้ ในด้านความเข้มงวดของจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บอร์ดประชาไท ทนายถามว่า จำเลยได้มีการหารือเรื่องมาตรการดูแลเว็บบอร์ดอย่างไรบ้าง ดร.จิตร์ทัศน์ ตอบว่า ประชาไทมีความกังวลเรื่องปริมาณของกระทู้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การดูแลเว็บบอร์ดทำได้ไม่ทั่วถึง จึงขอคำปรึกษาและตนได้พัฒนาระบบช่วยเหลือดูแลชื่อว่าระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรและ การประมวลผลด้วยภาษาธรรมชาติซึ่งมีวิธีการทำงานคล้ายระบบ Spam Mail หรือการกรองคำแล้วแยกไว้ต่างหาก ระบบจะเรียนรู้กลุ่มคำที่ผู้ดูแลเห็นว่าไม่เหมาะสม แล้วแสดงกลุ่มคำเหล่านั้นให้ผู้ดูแลเห็น เพื่อให้การคัดกรองข้อมูลเกิดได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เว็บบอร์ดประชาไทปิดตัวลงก่อนที่จะมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้จริง

เมื่อทนายความถามต่อว่าประชาไทเอ่ยถึงการจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลเว็บบอร์ดตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า มี แต่เมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายแล้วอาจเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ และจำนวนกระทู้ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้อยู่ดีว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

จากนั้น ทนายให้ดร.จิตร์ทัศน์ดูเอกสารหมาย จ.23-32 ดร. จิตร์ทัศน์ให้การว่า ไม่เคยอ่านพบข้อความเหล่านี้มาก่อน และในฐานะผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดโดยทั่วไป ข้อความส่วนใหญ่เป็นการโต้เถียงทางการเมือง เมื่อทนายความถามถึงประเด็นความแตกต่างระหว่างเว็บไซต์และเว็บบอร์ด ศาลไม่อนุญาตให้ถามเพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่เคยเบิกความไปหมดแล้ว

ในประเด็นเชิงเทคนิค ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวถึง การตรวจสอบเนื้อหาจาก Hyperlink ที่มีการนำมาโพสต์บนเว็บบอร์ดว่า เนื้อหาที่จะปรากฏนั้น เกิดจากการสุ่มตัวอย่างของเครื่องคอมพิวเตอร์ปลายทางระหว่างนำข้อมูลผ่าน ยูอาร์แอล มายังตัวผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกแก้ไขใน ยูอาร์แอล ระหว่างทาง การดูข้อมูลบน Hyperlink ต่างเวลากัน จึงอาจได้ข้อมูลไม่เหมือนกัน ยูอาร์แอล ไม่ได้รับประกันว่าปลายทางจะไม่ถูกแก้ไข โดยข้อมูลตัวจริงจะอยู่ที่คอมพิวเตอร์ปลายทาง ศาลช่วยสรุปว่าข้อมูลไม่ได้อยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท

เกี่ยวกับโปรแกรม Thunderbird ดร.จิตร์ทัศน์อธิบายว่า โปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมรับอีเมลล พัฒนาโดยมูลนิธิ Mozilla ทำงานโดยการเข้าไปรับข้อมูลจากผู้ให้บริการอีเมลลมาเก็บไว้ในเครื่องผู้ใช้ ศาลถามต่อว่า การเชื่อมต่อระหว่าง Thunderbird และผู้ให้บริการอีเมลลนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ดร. จิตร์ทัศน์ชี้แจงว่า โปรแกรมจะเชื่อมต่อกับระบบเมลแล้วดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏมายัง คอมพิวเตอร์ผู้ใช้ ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งต่อมาอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ใช้อาจตั้งค่าให้ข้อมูลในระบบอีเมลลถูกดาวน์โหลดเมื่อมีการเปิดอ่านหรือ อาจอนุญาตให้การดาวน์โหลดเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเปิดอ่านอีเมลลขณะออฟไลน์ได้ เมื่อทนายถามว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่ไฟล์ข้อมูลซึ่งไม่ได้ตั้งใจดาวน์โหลด จะปรากฏอยู่ในคอมพิวเตอร์ผู้ใช้ ดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า โดยปกติ เครื่องจะบันทึกรูปภาพ/ไฟล์ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เราเปิดเข้าชม เพื่อไม่ให้เครื่องต้องทำงานซ้ำหากมีการเปิดชมครั้งต่อไป แต่การบันทึกดังกล่าวเป็นไปโดยชั่วคราว หากมีข้อมูลมากระบบก็จะลบทิ้งไป ทั้งนี้ หากมีการลบไฟล์แบบนี้ ก็สามารถกู้คืนได้โดยใช้ Recovery Program

ทนายให้ดร.จิตร์ทัศน์ดูภาพที่ปรากฏในเอกสารหมายจ. 17 และถามว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ตั้งใจดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่องหรือเป็นการบันทึกจาก เว็บไซต์ ดร.จิตร์ทัศน์ให้ความเห็นว่า ภาพที่ปรากฏเป็นภาพที่ส่งต่อทางฟอเวิร์ดเมล โดยโปรแกรมดาสน์โหลดมาไว้อัตโนมัติ เนื่องจากชื่อไฟล์ มีการบันทึกตามหัวเรื่องอีเมลล์ เช่น มีคำว่า “Fwd” และถูกบันทึกอยู่ในโฟลเดอร์ชื่อ Thunderbird ทนายความเอาปากกาไฮไลท์สีเขียวอ่อนมาให้พยานขีดทับข้อความส่วนที่สำคัญ

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

อัยการถามว่าดร.จิตร์ทัศน์เข้ามาเป็นกรรมการในมูลนิธิฯ ช่วงต้นหรือปลายปี 2551 ซึ่งดร.จิตร์ทัศน์กล่าวว่า จำไม่ได้ อัยการถามต่อว่า ช่วงดังกล่าวมีจำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บบอร์ดใช่หรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า ใช่

อัยการถามว่า แม้ช่วงเวลาดังกล่าวจะปรากฏข้อความจำนวนมาก แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยในการลบข้อความที่ไม่เหมาะสมโดยตลอดเวลาใช่หรือไม่ ดร. จิตร์ทัศน์ตอบว่า โดยหลักการแล้ว ใช่ อัยการถามว่าถ้ามีข้อความไม่เหมาะสมต้องลบใช่หรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า ถ้าพบแล้วทราบว่าไม่เหมาะสมต้องลบหรือซ่อน อัยการถามว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบทุกวันทุกเวลาใช่หรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า โดยหลักการแล้วก็ควรจะต้องเป็น

อัยการแสดงเอกสารตามหมายจ. 32 พร้อมสอบถามดร.จิตร์ทัศน์ต่อไปว่า เคยอ่านพบข้อความดังปรากฏหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า ไม่เคย เมื่ออัยการสอบถามว่า ในฐานะกรรมการของเว็บไซต์ประชาไท เคยอ่านข้อความในเว็บบอร์ดหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า อ่านในฐานะของผู้ใช้เว็บบอร์ด

ท้ายที่สุด อัยการถามถึงหลักเกณฑ์การซ่อนข้อความที่ไม่เหมาะสมว่าต้องได้รับความยินยอม จากประชาไทก่อนหรือไม่ ดร.จิตร์ทัศน์ตอบว่า ไม่จำเป็น การซ่อนข้อความสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครผู้ดูแลเว็บบอร์ดก่อน ถ้าเป็นแล้วก็ซ่อนได้ทันที

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามติง

ทนายจำเลยให้ดร.จิตร์ทัศน์พิจารณาเอกสารหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องในสำนวน คดีแล้วถามว่า เอกสารดังปรากฏสามารถบอกได้หรือไม่ว่า เป็นการปริ้นท์ออกมาจากหน้าเว็บไซต์โดยทันที หรือเป็นการปริ้นท์จากแหล่งอื่น ดร. จิตร์ทัศน์ดูเอกสารสักพักแล้วตอบว่า โดยปกติ การปริ้นท์จากหน้าจอคอมพิวเตอร์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากเครื่องมาแก้ไขก่อน ได้ นอกจากนี้ การแสกนหน้าจอ (Print Screen) มาเก็บไว้ในเครื่องไม่สามารถรับประกันได้ว่า ข้อมูลที่ปรากฏจะเหมือนหน้าจอจริง มีเอกสารหลายชุดที่เป็นภาพแสกนหน้าจอมา ซึ่งจะเก็บอยู่เป็นรูปภาพในเครื่อง ซึ่งแก้ไขได้

เสร็จสิ้นการสืบพยานเวลาประมาณ 12.25 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีว่าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สืบพยานไป 2 ปากและยังติดใจสืบพยานอีก 1 ปาก

15 กุมภาพันธุ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่แปด นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com

นายวันฉัตร ผดุงรัตน์ อายุ 48 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว เข้าสาบานตนและขึ้นเบิกความเวลา 10.00 น.

นายวันฉัตร เบิกความว่าเป็นเจ้าของบริษัท Internet Marketing จำกัด ประกอบกิจการให้บริการเว็บไซต์ Pantip.com, Pantipmarket.com, Bloggang.com และ Pantown.com นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการเว็บไซต์ มีภาระหน้าที่รวมตัวสมาชิก ดูแลจริยธรรมในการดำเนินการเว็บไซต์

ทนายความถามว่า Pantip.com มีบริการด้านใดบ้าง ระหว่างที่นายวันฉัตรเบิกความ ปรากฏว่าศาลได้สรุปบริการของเว็บไซต์ Pantip.com ด้วยประสบการณ์ของตนเอง ความว่า Pantip.com เป็นกระดานข่าว มีบริการให้ผู้ที่มีความสนใจตรงกันเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบันเทิง วิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยแยกเป็นห้องสนทนารวมยี่สิบสี่รายการ แต่ละห้องสนทนาจะประกอบไปด้วยกระทู้ซึ่งโพสต์โดยผู้ใช้บริการ ในแต่ละวันจะมีปริมาณการเข้าใช้งาน 1,000-2,000 กระทู้ต่อวัน เมื่อรวมความคิดเห็นในแต่ละกระทู้แล้วมีปริมาณหลายพันถึงหลายหมื่นความเห็น ต่อวัน

ในแง่ของความนิยาม นายวันฉัตรกล่าวว่า Pantip.com ติดอันดับเว็บไซต์ 1 ใน 10 ของไทย (ศาลบันทึกว่า ลำดับต้น” ) ที่มีผู้นิยมเข้าใช้บริการมากที่สุด และมีรายได้หลักมาจากการโฆษณา

สำหรับกติกา-มารยาทในการเข้าใช้บริการเว็บไซต์นั้น Pantip.com มีกติกา-มารยาทสำหรับผู้ใช้บริการ 10 ข้อ เช่น ข้อหนึ่ง หากข้อความที่โพสต์มีเนื้อหาวิพากษ์-วิจารณ์หรือพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์และ พระราชวงศ์ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏบนเว็บบอร์ดอย่างเด็ดขาด

ด้านการจัดการ ทนายถามว่า Pantip.com มีการจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่ลงในเว็บบอร์ดหรือไม่ นายวันฉัตร ตอบว่า การตรวจสอบจะเกิดขึ้นภายหลัง และมีเจ้าหน้าที่หลายระดับคอยดูแลเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่ง ด้านปริมาณ เนื่องจากมีผู้เข้าใช้งานมาก ไม่อาจตรวจสอบการใช้งาน ได้อย่างทั่วถึง สอง ด้านเนื้อหา แม้ผู้ดูแลเว็บบอร์ดสามารถอ่านข้อความได้ทั้งหมด แต่วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่เว็บไซต์อาจไม่ตรงกับวิจารณญาณของทางการ จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อความได้เต็มที่ ทั้งนี้ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย พบว่า เว็บบอร์ดต่างๆมีมาตรการต่างกันในการตรวจสอบดูแล ยิ่งมีผู้ใช้บริการมาก ก็มีมาตรการที่เข้มงวดมาก แต่โดยทั่วไป ไม่พบว่าเว็บบอร์ดใดมีมาตรการกลั่นกรองข้อมูลก่อนโพสต์ แต่จะมีระบบแจ้งลบข้อความ

ทนายถามว่า หากเว็บบอร์ดมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบข้อความก่อนโพสต์ลง เว็บบอร์ดจะมีผลอย่างไรบ้าง นายวันฉัตรตอบว่า ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่าส่งผลกระทบสองประการ คือ หนึ่ง เป็นภาระให้แก่ผู้ให้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการตรวจสอบดูแล สอง เว็บไซต์ของไทยเสียเปรียบและสูญเสียรายได้ เนื่องจากผู้ใช้งานย้ายไปใช้บริการเว็บไซต์จากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เว็บไซต์เหล่านี้มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ จึงไม่ครอบคลุมโดยกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อความถูกโพสต์ลงบนเว็บบอร์ดแล้ว Pantip.com มีมาตรการเฝ้าระวังคำด่า/คำหยาบคายโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากตรวจสอบพบ ระบบจะนำคำประเภทดังกล่าวออกจากเว็บบอร์ด โดยมาตรการเหล่านี้มีมาก่อนการบังคับ ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ยังมีข้อจำกัด/ข้อด้อยสองประการ คือ โปรแกรมไม่สามารถคัดแยกข้อความไม่เหมาะสมที่เกิดจากการเขียนพลิกแพลง หรือการเขียนเปรียบเปรยโดยใช้สัญลักษณ์ได้

ต่อมา ทนายได้เริ่มข้อคำถามเกี่ยวกับระบบการดูแลเว็บบอร์ดโดยเจ้าหน้าที่เว็บ แต่ศาลขอให้ถามโดยกระชับ ทนายจึงสรุปประเด็นคำถามว่า Pantip.com สามารถดูแลเว็บบอร์ดได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ และนายวันฉัตรได้ให้การว่า เนื่องจากกระทู้และความเห็นมีจำนวนมาก จึงดูแลไม่ทั่วถึง ทนายถามต่อว่า หลังมีการบังคับใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เว็บบอร์ดเคยถูกดำเนินคดีหรือไม่ นายวันฉัตรกล่าวว่า Pantip.com ไม่เคยถูกดำเนินคดี แต่มีผู้ใช้บางรายที่ถูกดำเนินคดี

ตอบคำถามอัยการถามค้าน

สืบเนื่องจากประเด็นที่นายวันฉัตรให้การว่า Pantip.com ไม่เคยถูกดำเนินคดีนั้น อัยการถามนายวันฉัตรว่า เป็นเพราะ Pantip.com มีระบบตรวจสอบที่ ดีเยี่ยมใช่หรือไม่ นายวันฉัตรตอบว่า อาจเป็นไปได้ ขณะที่ศาลบันทึกว่า การที่ Pantip.com ไม่เคยถูกดำเนินคดีนั้น อาจเป็นไปได้ว่ามีระบบตรวจสอบที่ ดี

อัยการถามวันฉัตรว่า Pantip.com มีการตรวจสอบข้อความทุกข้อความหรือไม่ นายวันฉัตรนิ่งคิดครู่หนึ่ง แต่อัยการขัดโดยกล่าวว่า ตอบคำถามด้วยครับ คุณต้องทำดีที่สุดใช่หรือไม่นายวันฉัตรกล่าวว่า โดยหลักการต้องทำดีที่สุด แต่เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากข้อความมีปริมาณมาก

อัยการเปิดประเด็นต่อมาเกี่ยวกับปริมาณของข้อความ โดยถามว่า กระทู้ที่มีคำว่า พระมหากษัตริย์นั้น จะมีผู้เข้าชมปริมาณมากใช่หรือไม่ นายวันฉัตรตอบว่า เป็นบางครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าชมอ่านแล้วเข้าใจหรือเปล่า อัยการค้านว่า ไม่ได้ถามถึง ความเข้าใจของผู้อ่าน และขอเพิ่มเติมคำถามว่า หากมีผู้เข้าชมกระทู้เป็นปริมาณมาก ผู้ให้บริการจะเห็นกระทู้นั้นเด่นชัดขึ้น กว่าปกติใช่หรือไม่ นายวันฉัตรกล่าวว่า ระบบของ Pantip.com ไม่ได้ตรวจสอบข้อความตามปริมาณการเข้าชม แต่จะตรวจสอบหากมีการแจ้งเตือนข้อความไม่เหมาะสม อัยการยังคงย้ำว่า ตนไม่ได้ถามเช่นนั้น

ศาลอธิบายคำถามซ้ำ และนายวันฉัตรได้ให้การว่า เจ้าหน้าที่จะทราบเพียงว่า กระทู้ที่มีความสนใจมากอยู่ส่วนใดของเว็บบอร์ด

อัยการถามต่อไปว่า การวางมาตรการข้างต้น สอดคล้องกับระบบตรวจสอบอย่างไร วันฉัตรกล่าวว่า เว็บบอร์ดได้ออกแบบปุ่มแจ้ง/มีหมายเลขโทรแจ้ง หากมีข้อความไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและลบข้อความโดยทันที อัยการถามย้ำว่า แม้ไม่สามารถกรองข้อความก่อนเผยแพร่ แต่หากมีผู้โพสต์เข้ามา เจ้าหน้าที่จะทราบทันที และหากเห็นว่าไม่เหมาะสมจะลบได้ทันทีใช่หรือไม่ วันฉัตรตอบว่า ใช่

อัยการแสดงเอกสารหมาย จ. 23 แล้วสอบถามวันฉัตรว่า หากพบข้อความนี้ จะมีความรู้สึกอย่างไร นายวันฉัตรกล่าวว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่อ่านผ่านๆแล้ว มีการอ้างอิงหลายคนและเป็นการให้ข้อมูลทางการเมือง จากนั้นอัยการให้ดูเอกสารหมาย จ.32 เพิ่มเติม วันฉัตร กล่าวว่า ต้องทราบข้อมูลเบื้องหลังถึงจะทราบว่าเป็นการหมิ่นฯ (ศาลบันทึกว่า ทราบว่าเป็นข้อความหมิ่นฯ แต่ต้องมีข้อมูลเบื้องหลังเพิ่มเติม) เมื่ออัยการให้ดูเอกสารฉบับต่อๆไป ศาลบอกว่าฉบับเดียวเพียงพอแล้ว กระนั้น อัยการขอศาลให้นายวันฉัตรดูเอกสารหมาย จ. 31 ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นฯ นายวันฉัตรกล่าวว่า ถ้าดูตามกติกาของ Pantip.com ข้อความดังกล่าวไม่เหมาะสมตามกติกา แต่ไม่ทราบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ อัยการถามว่า ตามกติกาของ Pantip.com ต้องลบข้อความเหล่านี้หรือไม่ นายวันฉัตรตอบว่า ต้องลบทุกข้อความ อัยการจึงถามต่อไปว่า หากพบข้อความไม่เหมาะสม ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่ นายวันฉัตรตอบว่า ใช่ แต่ Pantip.com มีระบบแจ้งเตือน

ตอบคำถามทนายความถามติง

ทนายจำเลยถามว่า ในกรณีที่มีผู้พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ ผู้นั้นจะมีวิธีหลบเลี่ยงอย่างไรบ้าง นายวันฉัตร ตอบว่า สามารถใช้วิธีเปรียบเปรยหรือตั้งชื่อ หากผู้ที่ไม่อยู่ในแวดวงหรือไม่เคยอ่านข้อความหมิ่นฯมาก่อน ก็ไม่ทราบว่าเป็นการหมิ่นสถาบันฯ

การสืบพยานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 สิ้นสุดเวลา 10.37 น. ศาลสอบถามทีมทนายความถึงพยานที่เข้าเบิกความในวันพรุ่งนี้ เมื่อทราบว่าเป็น รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ศาลเสนอว่า ให้ทางพยานยื่นเอกสารวิจัยเช่นเดียวกับกรณีของ นางสาวสาวตรี สุขศรี ซึ่งพยานมาศาลเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลได้หรือไม่ อัยการไม่ขัดข้อง ทีมทนายเห็นชอบ

16 กุมภาพันธุ์ 2555
สืบพยานจำเลยปากที่เก้า รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการสื่อสารมวลชน ผู้มีผลงานวิจัยเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต

วันสุดท้ายของการสืบพยานจำเลยคดีประชาไท มีตัวแทนจากสถานทูต, OHCHR, องค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, นักวิชาการและประชาชนราว 30 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี

เวลาประมาณ 13.45 น. ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ เบิกความรับรองเอกสารที่เสนอต่อศาล ศาลสอบถามประวัติการศึกษา ได้ความว่า จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา มีผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง การกำกับดูแลเนื้อหาสื่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของเทคโนโลยีและ เป็นไปได้ในระดับสากล เป็นรายงานวิจัยซึ่งได้ทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)โดยในรายงานฉบับดังกล่าว มีการระบุมาตรการกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในอินเทอร์เน็ต ว่าควรมีวิธีแจ้งให้ทราบและลบออกอย่างไร

ดร.พิรงรอง เบิกความต่อไปว่า เป็นที่ปรึกษางานวิจัยปริญญาโทของนิสิต หัวข้อการกำกับดูแลและแทรกแซงเว็บบอร์ด ทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีการใช้เว็บไซต์ประชาไทเป็นกรณีศึกษา และพบข้อเท็จจริงว่าหลังรัฐประหาร เว็บมาสเตอร์ 4 แห่งที่ทำการศึกษารวมถึงประชาไทดอทคอมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก เนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลที่เป็นเท็จ

นอกจากงานวิชาการแล้ว ดร.พิรงรองยังดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพระราชบัญญัติองค์การ กระจายเสียงและ แพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (ข้อเท็จจริงเหล่านี้ศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ไม่ใช่ในฐานะคำเบิกความพยาน)

ศาลสิ้นสุดการพิจารณาคดีเวลา 13.58 น. พร้อมหารือวันอ่านคำพิพากษากับอัยการและทีมทนาย เนื่องจากจำเลยมีภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเดือนเมษายน จึงนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 30 เมษายน 2555 เวลา 10.00 น.

อนึ่ง ศาลได้กล่าวต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ในคดีว่า ศาลจะพิจารณาคดีตามหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และคำนึงถึงความสำคัญด้านธุรกิจ ขอให้ทราบว่า การต่อสู้คดีมิได้สิ้นสุดที่ศาลชั้นนี้ จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ในศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกา โดยศาลชั้นต้นจะเก็บข้อมูลคดีอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในศาลลำดับสูงกว่าต่อไป และขอให้มั่นใจระบบศาลว่าได้คัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจในระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาดูแลคดี

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net