Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจจะเพราะว่าตัวภาพยนตร์ไม่ได้ฉาย ปรากฏการณ์ของ "เชคสเปียร์ต้องตาย" เลยน่าจับตามองอาจจะยิ่งกว่าตัวภาพยนตร์เองอีก ถ้าพูดให้ง่ายและตรงที่สุด นี่คือหนังที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทาง "เสื้อเหลือง" สร้างมาเพื่อประณาม "เสื้อแดง" -- เท่าที่สอบถามผู้ไปดูมาแล้ว และฟังบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ("มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ") -- ถูกแบนภายใต้รัฐบาล "เสื้อแดง" และก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองใหญ่โต ก็เป็นคนเสื้อแดงอีกนั่นเอง ที่ร่วมลงนามแถลงการณ์และแสดงความคิดเห็นต่อต้านการห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง นี้ จนในที่สุด ปฏิกริยาล่าสุดของทีมงาน ออกไปในเชิงว่าหนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

ในภาษาอังกฤษมีคำศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ "political platform" หรือ "เวทีการเมือง" หมายถึงพื้นที่หรือประเด็นที่ประชาชนอนุรักษนิยมฝ่ายขวา และหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย นำมาใช้ถกเถียงกันได้ตลอด เช่นนโยบายเศรษฐกิจ ศาสนา จนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่าง การทำแท้ง ภาวะโลกร้อน หรือการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน เวลาฝรั่งเขาพูดกันติดปากว่า "เพื่อนกันไม่ควรทะเลาะกันเรื่องการเมือง" เขาก็หมายถึงเรื่องล่อแหลมจำพวกนี้แหละ โดยอาจไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ต้องพาดพิงถึงนักการเมืองเลยก็ได้ เพราะในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก การเมืองนั้นแทรกอยู่ในวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น (เมื่อสี่ปีที่แล้ว ตอนบารัค โอบามากำชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี นักวิจารณ์การเมืองบางคนเรียกผลการเลือกตั้งนั้นว่า "ชัยชนะในสงครามวัฒนธรรม")

ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสามสี่ปีให้หลัง เวทีการเมืองเวทีแล้วเวทีเล่าผุดขึ้นมาในสังคมที่แตกแยกเป็นสองสี -- ผู้เขียนไม่ขอเสียเวลาคร่ำครวญถึงความ "แตกแยก" นี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า นี่เป็นเรื่องปรกติในสังคมที่กำลังก้าวไปบนหนทางประชาธิปไตยสมัยใหม่แบบพหุนิยม (pluralism) -- ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือสี่แยกคอกวัวและราชประสงค์ ซึ่งเป็นทั้ง "พื้นที่" ในทางกายภาพ และเป็น "เวที" ในทางการเมืองด้วย ตั้งแต่เหตุสลายการชุมนุมปี 53 ประเด็นนี้ก็ถูกทั้งมวลชนและนักการเมืองสองฝ่ายหยิบยกมาขับเคี่ยวกัน (ปรากฏการณ์น่าสนใจคือเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้ราชประสงค์เป็นเวที ปราศรัยใหญ่ โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เราเห็นได้ถึงความพยายามช่วงชิงการให้ความหมายทางการเมืองกับพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งจบลงที่ความพ่ายแพ้ย่อยยับของพรรคประชาธิปัตย์ ถึงขนาดถ้าใครจะพูดว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของผลการเลือกตั้ง ผู้เขียนจะไม่รู้สึกแปลกใจแม้แต่น้อย)

กรณีการห้ามฉายภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" ภายใต้รัฐบาลเสื้อแดง ก็เกือบจะกลายเป็นเวทีการเมืองเหมือนกัน และอาจจะเป็นเวทีแรกๆ ที่ฝ่ายเสื้อแดงเสียแต้มต่อ เนื่องจากแนวคิดอำนาจนิยมที่สั่งห้ามเผยแพร่งานศิลปะนั้น ไม่ว่ายุคใดสมัยไหน ก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางอยู่แล้ว ต้องขอบคุณความร่วมแรงร่วมใจของฝ่ายเสื้อแดง และสโลแกน "I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it" ทำให้กลายเป็นความลักลั่นอยู่ไม่น้อย ถ้าฝ่ายเสื้อเหลืองจะสร้างเวทีขึ้นมาจากประเด็นนี้

แทบเลตเอย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเอย ทั้งหมดล้วนเป็นเวทีการเมือง ที่จวบจนทุกวันนี้ ก็ยังเป็นประเด็นขับเคี่ยวกันอยู่

ที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นอีกเวทีการเมืองที่กำลังผุดขึ้นมา นั่นคือเรื่องของเขื่อนแม่วงก์ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอย่างเป็นทางการ ต้นเรื่องนี้มาจากไหน กล่าวโดยสรุป (ตามที่ได้ยินมา) รัฐบาลประกาศจะสร้างเขื่อนบนพื้นที่ป่า ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติไม่เห็นชอบไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 โดยเหตุผลเดียวของรัฐบาลคือเพื่อป้องกันอุทกภัย

ขณะนี้การสร้างเขื่อนแม่วงก์กำลังถูกต่อต้านโดยนักอนุรักษ์กลุ่มใหญ่

คงไม่ใช่เรื่องอะไร ถ้าไม่เป็นเพราะนักอนุรักษ์ คนที่ทำงานกับสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนใกล้ชิดกับเครือข่ายเอนจีโอหลายคนในบ้านเรา มักจะมีแนวคิดเอนเอียงไปในทางเสื้อเหลือง (แม้จะไม่ประกาศตัว หรือยอมรับโต้งๆ ว่าตัวเองเป็นเสื้อเหลืองก็ตาม) ดังนั้นเหตุผลของการต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ เลยเต็มไปด้วยวาทกรรมประเภทต่อต้าน "ทุนนิยมสามานย์" "ทุนนิยมข้ามชาติ" "เผด็จการรัฐสภา" -- ในที่นี้พวกเขาหมายถึงอำนาจประชาธิปไตยที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ -- และบางทีก็น่าคลื่นไส้ถึงกับ "โหยหารัฐประหาร"

ในภาวะ "สงครามวัฒธรรม" เช่นนี้ ผู้เขียน -- ในฐานะคนเสื้อแดง -- รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องดีแม้แต่น้อย ที่จะปล่อยให้เวทีนี้ พื้นที่นี้เป็นของคนเสื้อเหลืองเพียงฝ่ายเดียว คนเสื้อแดงควรออกมาสนับสนุนหรือต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ ถ้าคุณเห็นพ้องกันนโยบายนี้ของรัฐบาล ก็ออกมาแสดงความคิด แต่ถ้าคุณต่อต้าน คุณจะสามารถต่อต้านมันในฐานะ "คนเสื้อแดง" ได้ไหม ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ ในขณะเดียวกัน ไม่เหยียบย่ำ "รัฏฐาธิปัตย์" ที่มาพร้อมกับเสียงส่วนใหญ่ ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์โดยไม่ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ และที่สำคัญ ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์โดยไม่เรียกร้องรัฐประหาร (แม้แต่วิธีคิดแบบคุ้มได้คุ้มเสีย ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งการพัฒนา ก็ยังนำมาใช้ตัดสินใจได้ว่า โอกาสซ้ำสองของการเกิดอุทกภัยระดับปี 2011 มากน้อยเพียงใด ถึงขนาดสมควรทำลายพื้นที่ป่า 13,000 ไร่หรือไม่)

ภายใต้สงครามวัฒนธรรมเช่นนี้ การที่เราเลือกจะขึ้นหรือไม่ขึ้นเวทีการเมือง (เลือกจะยอมหรือไม่ยอมให้อีกฝ่ายก่อเวทีการเมือง) มันคือการสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองให้กับ "ฝ่าย" เราเอง ผู้เขียนไม่มีสิทธิพูดแทน "คนเสื้อแดง" และยิ่งไม่มีสิทธิพูดแทนปัจเจกที่เรียกตัวเองว่าคนเสื้อแดง ถ้าคุณเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง หรือถ้าคุณยอมรับได้กับบรรดาเหตุผลและวิธีการที่กำลังถูกนำมาใช้ต่อต้าน เขื่อน นั่นก็เป็นสิทธิของคุณอีกเช่นกัน แต่ถ้าคุณเชื่อในประชาธิปไตยในความหมายของคนเสื้อแดง อย่าปล่อยให้วาทกรรมไม่เอาเขื่อน ไปกระตุ้นหรือปลุกผีวาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตยอื่นๆ ที่อาจตามมาเลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net