Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Knowledge is power or power is knowledge ความรู้คืออำนาจหรืออำนาจคือความรู้ ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเหมือนที่แตกต่างกันอยางสิ้นเชิงของนิยามดังกล่าวท่อนแรกเป็นการชี้ให้เห็นถึงว่าการศึกษานั้นเป็นดังอาวุธและเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงตนเองไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมเศรษฐกิจและรวมไปถึงการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองส่วนในท่อนท้ายนั้นเป็นคำกล่าวของ มิเชล ฟูโกต์ ที่ได้อธิบายว่า ผู้มีอำนาจต่างหากที่เป็นคนกำหนดว่าอะไรควรจะเป็นความรู้เเละชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครองควรจะได้รับความรู้ประเภทใดบ้าง

บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะโจมตีสถาบันการศึกษาหรือวิพากษ์หลักสูตรของมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงภาพรวมของการจัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปที่คณะนิติศาสตร์ซึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์โดยตรงทั้งจากการเป็นนักศึกษาและเป็นผู้สอนและรวมถึงระบบการบริหารจัดการในการศึกษาที่ยังแอบอิงกับองค์กรที่อยู่นอกเหนือการศึกษาที่จำเป็น

หากย้อนอดีตไปสักสี่ถึงห้าสิบปีที่แล้วจะพบว่าการเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์นั้นถือเป็นการเลือกเพื่อเผื่อเลือกสำหรับนักเรียนในยุคนั้นเนื่องจากไม่ใช่สาขาวิชาที่อยู่ในกระแสนิยมเหมือนกับคณะรัฐศาสตร์หรือคณะแพทย์ศาสตร์ดังนั้นในอดีตคณะนิติศาสตร์จึงเปรียบเสมือนคณะเผื่อเลือกเท่านั้นเอง แต่ในปัจจุบันสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการมีความรู้ด้านกฎหมายมากขึ้นกอปรกับการขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น โดยยังมิต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางสังคมที่ผ่านมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทรงอำนาจและทรงเกียรติของนักกฎหมาย จึงทำให้การเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์กลับกลายเป็นตัวเลือกแรกๆของนักเรียนในปัจจุบัน

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวแล้วจะพบว่าในปัจจุบันมีคณะนิติศาสตร์เปิดตัวขึ้นแทบจะในทุกมหาวิทยาลัยทั้งในมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคเนื่องจากเป็นคณะที่ใช้การลงทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับคณะสายวิทยาศาสตร์กล่าวคือการเปิดคณะนิติศาสตร์นั้นลงทุนเพียงแค่การจัดหาหนังสือและจัดทำห้องสมุดซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามวัตุประสงค์สุดท้ายของนักศึกษากฎหมายส่วนมากคือการสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตและก้าวเข้าสู่วงการผู้พิพากษาหรืออัยการ ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตนั้นจะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์ของเนติบัณฑิตยสภาและต้องให้เนติบัณฑิตยสภารับรองหลักสูตรเสียก่อนนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์จึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบวัดความรู้เป็นเนติบัณฑิตไทย ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะจะได้มีมาตรฐานกลางในการเรียนการสอนกฎหมายแต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ก่อให้เกิดสภาพวิชาชีพครอบงำวิชาการ

ปัญหาสำคัญในการจัดการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์

ในส่วนนี้ผู้เขียนจะขอแบ่งประเภทของปัญหาออกเป็นสองส่วนด้วยกันได้แก่ 1 ปัญหาในรายวิชาที่จัดการเรียนการสอน และ2 ปัญหาจากการจัดตัวผู้สอนในรายวิชาและรวมถึงการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

1.ปัญหาด้านรายวิชา ในส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจในระดับพื้นฐานก่อนว่าการเรียนในคณะนิติศาสตร์นั้นจะมีการแบ่งเป็นรายวิชาบังคับและวิชาเลือกเสรีอาจเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งในรายวิชาบังคับนั้นนักศึกษาจะต้องเรียนรายวิชาที่เรียกว่ากฎหมายสี่มุมเมืองอันได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ปะมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกจากกฎหมายสี่มุมเมืองแล้วยังมีรายวิชาบังคับอื่นที่อยู่นอกเหนือปประมวลกฎหมายดังกล่าวอันได้แก่วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายแรงงาน กฎหมายระหว่างประเทศ และยังอาจมีรายวิชาอื่นที่แต่ละแห่งเห็นว่าจำเป็นโดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทุกมหาวิทยาลัยเช่น รายวิชากฎหมายแพ่งหลักทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือความรู้เบื้องต้นกฎหมายทั่วไปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังอาจมีวิชาภาษาต่างประเทศมาเสริมได้โดยการบังคับในหลักสูตรเช่นภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเป็นต้น ในส่วนของวิชาเลือกเสรีนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกเรียนในรายวิชาที่ตนสนใจทั้งนี้ต้องเป็นรายวิชาที่คณะนิติศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถจัดการเรียนการสอนได้ซึ่งวิชาเลือกเสรีนี้เองเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจร่วมกันโดยวิชาเลือกเสรีนี้คณะนิติศาสตร์แต่ละแห่งสามารถเปิดรายวิชาได้อย่างอิสระโดยอาจเปิดรายวิชาเลือกเสรีตามความโดดเด่นของของมหาวิทยาลัย เช่นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาจเน้นไปในรายวิชาเลือกเสรีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายธุรกิจเป็นต้น หรือมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาจจัดให้มีรายวิชากฎกมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นรายวิชาเลือกก็เป็นได้ ในส่วนรายวิชาเลือกเสรีนั้นผู้เขียนต้องการวิเคาะห์ว่ารายวิชาประเภทนี้มีความเสรีจริงหรือไม่เพียงใด ในรายวิชาเลือกเสรีนั้นความคาดหมายของนักศึกษาคือสามารถเลือกเรียนในรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรได้โดยอิสระแต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยโดยเฉพาะในบางมหาวิทยาลัยที่มีการจัดกลุ่มรายวิชาเลือกเสรีไว้เป็นรายภาคการศึกษาเช่นภาคการศึกษาต้นเปิดห้าวิชาที่กำหนดไว้เท่านั้น การกำหนดเช่นนนี้เป็นการบีบให้เลือกในจำนวนที่จำกัดจึงไม่อาจเรียกว่าวิชาเลือกเสรีได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังมีกรณีที่การจำกัดจำนวนผู้เรียนในแต่ละรายวิชาซึ่งทำให้นักศึกษาต้องแย่งกันเพื่อลงทะเบียนและทำให้นักศึกษาที่พลาดหวังต้องไปลงในรายวิชาที่ตนไม่มีความประสงค์จะเรียนจึงทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของวิชาเลือกเสรีและที่น่าอับอายกว่านั้นได้แก่การอ้างขอปิดรายวิชาเนื่องจากไม่มีบุคคลากรเป็นต้นซึ่งในส่วนนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าการจัดบริการการศึกษานั้นเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่งที่รัฐให้การอุดหนุนข้ออ้างเรื่องการขาดบุคคลากรนั้นจึงเป็นข้ออ้างทีเลื่อนลอยเพราะทางหน่วยงานสามารถจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิมาสอนได้

ในส่วนของปัญหาในด้านรายวิชานั้นในความเป็นจริงแล้วยังมีกรณีของการแย่งนักศึกษาของบรรดาผู้สอนเองและรวมถึงประเด็นของการกลั่นแกล้งกันในหน่วยงานเช่นไม่จัดรายวิชาหรือถอนรายวิชาออกไปทำให้ตัวเลือกของนักศึกษาน้อยลงเป็นต้น

2.ปัญหาด้านการจัดบุคคลากรในการดำเนินการสอน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่อาจเรียกได้ว่าคลาสสิคเนื่องจากสามารถพบเจอได้ในทุกแห่งไม่จำกัดว่าเป็นคณะขนาดใหญ่หรือเล็ก ปัญหาด้านบุคคลกรนี้อาจแบ่งได้เป็นอีกสงประเด็นย่อยได้แก่ 2.1.ความขาดแคลนบุคคลากร และ2.2.ความเชี่ยวชาของบุคคลากร

2.1 ความขาดแคลนบุคคลกร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้ในคณะนิติศาสตร์ที่เปิดใหม่โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคที่ไม่สามารถหาผู้สอนมารองรับกับหลักสูตรได้จึงทำให้ผู้สอนแต่ละคนจำเป็นต้องสอนในหลายรายวิชาและผลที่ตามมาคือการจำกัดรายวิชาและประสิทธิภาพของการสอนซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

2.2 ความเชี่ยวชาญของบุคคลากร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบในทุกวงการการศึกษาของไทยคือผู้สอนไม่มีความเชี่ยวชาญจริงในสาขาวิชานั้นๆ จากปัญหาข้างต้นคือเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรนั้นทำให้ภาระของผู้สอนมีมากขึ้นและไม่อาจสอนได้แต่เฉพาะวิชาที่ตอนถนัดเท่านั้นแต่ยังต้อไปสอนในราวิชาที่ตนไม่ชำนาญ ผลที่ตามมาคือผู้เรียนไม่สามารถรับความรู้ได้เต็มที่หรือกรณีเลวร้ายกว่านั้นคือได้รับความรู้ไปแบบผิดๆซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปัญหานี้ผลที่ตามมาคือการนำเข้าอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นผู้สอน ในบางครั้งมีการเชิญผู้ทรงตุณวุฒิที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นมาสอนอย่างแท้จริง เช่นการเชิญผู้พิพากษาหรือตุลาการมาสอนในคณะนิติศาสตร์ตัวอย่างที่ผู้เขียนขออนุญาตยกมาไว้ ณ ตรงนี้ เช่นการเชิญตุลาการในศาลปกครองมาสอนในวิชากฎหมายปกครองหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญเราปฏิเสธไม่ได้ว่าตุลาการนั้นเป็นผู้ใช้กฎหมายจริงและน่าจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ในสาขากฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชนได้ดีซึ่งการเชิญตุาการมาสอนนั้นนิยมทำกันมากในขณะที่คณะเพิ่งตั้งใหม่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องพิจารณาก่อนว่าตุลาการศาลปกครองนั้นมีที่มาจากหลายทางทั้งจากสาขานิติศาสตร์สาขารัฐศาสตร์และยังรวมไปถึงข้าราชการระดับอธิบดีเป็นต้นจึงไม่สามารถอนุมานได้ว่าตุลาการศาลปกครองทุกคนจะสามารถสอนกฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชนได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนคือมีการเชิญตุลาการศาลปกครองมาสอนในรายวิชานิติปรัชญา? ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาที่ต้องใช้ผู้สอนที่มีความเข้าใจและแม่นในทฤษฎีเป็นอย่างมากเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงปรัชญาเบื้อหลักและรวมถึงที่มาของกฎหมายแต่จากการที่ได้ทำการสำรวจพบว่าการสอนของตุลาการท่านนั้นไม่มีความครอบคลุมโดยเฉพาะทฤษฎีบทที่สำคัญเช่นทฤษฎีบริสุทธิแห่งกฎหมายของเคลเซ่นเป็นต้น หรือกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิอยากมาสอนโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บริหารคณะโดยไม่คำนึงว่าตนเองนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

นอกจากปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นยังมีปัญหาจากปัจจัยภายนอกอีกมากไม่ว่าจะเป็นการถูกแทรกแซงโดยผู้บริหารคณะการจัดการหลักสูตรที่ไม่สมเหตุสมผลหรือแม้แต่การจัดรายวิชาศึกษาทั่วไปที่ไม่สอดคล้องกับวิชาชีพในฐานะนักนิติศาสตร์เป็นต้นหรือแม้แต่การจัดทำปรับปรุงหลักสูตรโดยไม่ปรึกษาคณาจารย์ในคณะซึ่งทำให้รายวิชาบางวิชาที่สำคัญหายไปเพราะเกิดจากการไม่ปรึกษาหารือกันเสียก่อน ในอนาคตเราอาจได้เห็นการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ภาคพิสดารก็เป็นได้เมื่อในปัจจุบันความพิกลพิการของการใช้บังคับกฎหมายนั้นคงยังไม่เพียงพอสาเหตุคงต้องย้อนไปดูที่ต้นธารของการศึกษาว่าสัมฤิทธิ์ตามเป้าหรือไม่ที่มุ่งเน้นให้นักึกษาได้ความรู้ที่ถูกต้องแต่สิ่งที่นักศึกษาได้กลับมานั้นกลับตาลปัตรเพราะความไม่เชี่ยวชาญความรู้เท่าไม่ถึงการหรือเพียงแค่คำว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้สอนแต่ผลเสียนั้นร้ายแรงอย่างมากต่อสังคมกฎหมาย

การที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ไม่ได้ต้องการจะยกว่าผู้เขียนนนั้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถหรือเหมาะสมแต่ผู้เขียนในฐานะอาจาารย์สอนกฎหมายซึ่งทนไม่ได้กับการที่นักศึกษาจะได้รับความรู้ที่ผิดๆและนำออกไปใช้ในสังคมต่อไป จึงหวังเล็กๆว่าจะมีคนที่มีอำนาจได้เห็นและย้อนคิดสักนิดหนึ่งว่าการสอนการจัดการเรียนการสอนนั้นหลงทางหรือไม่อย่างไร

ด้วยมิตรภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net