Skip to main content
sharethis

 

26 มี.ค. 55 - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่รายงานวิจัย "การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ... ตัวเร่งไทยปรับตัวสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่" โดยระบุว่าในวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ มาตรการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูเก็ต ในขณะที่อีก 70 จังหวัดที่เหลือให้ปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 จากนั้นให้ปรับขึ้นเป็น 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดจะคงไว้ที่ 300 บาทไปอีก 2  ปี ยกเว้นกรณีภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม

ผลของแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวย่อมมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ 

 - แนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทจะมีผลให้ค่าจ้างแรงงานของไทยระหว่างปี 2555-2558 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นค่าจ้างอัตราปกติที่มักใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี (หรือประมาณร้อยละ 4) โดยใน 7 จังหวัดคือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ตอัตราการปรับขึ้นจะกระโดดขึ้นมาสูงที่สุดในปีแรก และมีเสถียรภาพใน 3 ปีถัดไป ส่วน 70 จังหวัดที่เหลือนั้น อัตราการปรับขึ้นในปีแรกจะใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือร้อยละ 29.7 จากค่าเฉลี่ยในปีก่อนหน้า (หรือร้อยละ 39.5 เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างเดิมก่อนวันที่ 1 เมษายน 2555) ขณะที่ในปีที่สองจะเพิ่มขึ้นมากน้อยต่างกันตามฐานค่าจ้างเดิมของแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดพะเยาซึ่งเดิมมีฐานอัตราค่าจ้างต่ำที่สุดของประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.5 ในปี 2556 

- การปรับขึ้นค่าจ้างอาจมีผลต่อเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 0.6-0.7 โดยแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนมาตรการเพิ่มรายได้อื่นๆ (เช่น การจำนำข้าว การปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท) อาจมีส่วนเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการจะถูกส่งผ่านมาที่การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ (Cost Push) เมื่อบวกกับแรงหนุนจากด้านการเติบโตของอุปสงค์ (Demand Pull) และคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อแล้ว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลโดยรวมของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้สูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.6-0.7 เมื่อประกอบกับผลจากการปรับขึ้นราคาพลังงานและปัจจัยอื่นๆ จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 ทรงตัวสูงที่ระดับร้อยละ 3.9   

- แม้ค่าจ้างจะทยอยปรับเป็น 300 บาทเท่ากัน แต่อำนาจซื้อของแรงงานจะไม่เท่ากันเนื่องจากค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่าง โดยหากเปรียบเทียบกันแล้ว จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดหัวเมืองใหญ่มักมีค่าครองชีพสูงกว่าจังหวัดที่ค่อนข้างห่างไกล เมื่อค่าจ้างปรับขึ้นเป็น 300 บาทเท่ากัน แรงงานในเขตศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างเช่นกรุงเทพฯ จะมีอำนาจซื้อต่ำกว่าจังหวัดในส่วนภูมิภาค ซึ่งจุดนี้อาจมีผลต่อการเลือกพื้นที่ที่แรงงานจะเข้าไปทำงานอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเคลื่อนย้ายแรงงานมักไหลไปยังจังหวัดที่ตั้งของธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอุปสงค์ต่อแรงงานสูง โดยประเด็นค่าครองชีพอาจเป็นปัจจัยรองลงมา

- อัตราการว่างงานอาจขยับขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้น สำหรับผลต่อการจ้างงาน คาดว่าภายใต้กระบวนการปรับตัวของธุรกิจในการรับมือกับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ย่อมมีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดหรือไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานคนในกระบวนการบางขั้นตอน และสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้นอาจจำต้องมีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดต้นทุน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจมีผลต่อความต้องการจำนวนแรงงานในภาคธุรกิจบ้างพอสมควร อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวและเศรษฐกิจยังคงมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานของไทยในระยะสั้นน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ในปี 2555 สูงขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ในปี 2554 ขณะที่แนวโน้มในระยะต่อๆ ไป คงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการลงทุนของประเทศเป็นสำคัญ 

- การรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยหลังค่าแรงปรับขึ้น เป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นด้านแรงงานเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจไทยถึงความสามารถในการแข่งขันและโอกาสการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยในอนาคต และเมื่อมีการปรับฐานค่าจ้างอย่างฉับพลัน จะมีผลให้ต้นทุนแรงงานของไทยสูงขึ้นค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยหลังจากปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ค่าจ้างคนงานในระดับโรงงานของไทยจะขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ขณะที่จะสูงกว่าอินโดนีเซีย 2 เท่า สูงกว่าเวียดนามและกัมพูชา 3-4 เท่า และสูงกว่าพม่าเกือบ 9 เท่า ซึ่งหากต้องการรักษาช่วงห่างของต้นทุนแรงงานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้คงอยู่เท่าเดิม ก็หมายความว่าภาคธุรกิจไทยจะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 

ปัจจุบัน ผลิตภาพแรงงานของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ประมาณ 1.5 เท่า สูงกว่าลาวและเวียดนามประมาณ 2.5-3 เท่า ขณะที่สูงกว่ากัมพูชาและพม่าประมาณ 4-5 เท่า ทั้งนี้ ผลิตภาพของแรงงานของไทยในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2-3 ต่อปี ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงผลิตภาพของแรงงานไทยอย่างก้าวกระโดดนับเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย 

 - ทั้งนี้ โจทย์ในด้านการยกระดับประสิทธิภาพทางธุรกิจอาจไม่สามารถทำให้บังเกิดผลสำเร็จได้โดยฉับพลัน แต่เป็นประเด็นที่ต้องใช้ระยะเวลา โดยธุรกิจต้องมีการลงทุนในปรับกระบวนการผลิตนำเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดการพึ่งพาแรงงานคน ตลอดจนต้องมีการพัฒนาความรู้ ทักษะและฝีมือแรงงาน ซึ่งในประเด็นนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบันอาจมีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วได้ค่อนข้างดี แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจจำนวนไม่น้อยยังมีกำลังไม่เพียงพอที่จะพัฒนาตัวเองโดยลำพัง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งในระยะแรกภาครัฐอาจต้องมีมาตรการในการสนับสนุนช่วยเหลือให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ทันต่อโครงสร้างค่าจ้างที่เปลี่ยนไป

-ภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างบูรณาการในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ระบบโลจิสติกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ประเด็นด้านการพัฒนาคนก็ต้องได้รับความสนใจและการผลักดันเชิงนโยบายอย่างจริงจัง ซึ่งมาตรการที่น่าจะมีการดำเนินการ อาทิ 

- การกำหนดโครงสร้างภาษีที่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลง แต่ในกรณีของธุรกิจเอสเอ็มอี อาจได้ประโยชน์จากมาตรการนี้น้อย ในระยะแรกจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน นอกจากนี้ อาจพิจารณากำหนดมาตรการทางภาษีที่ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพโดยเฉพาะ โดยกำหนดนิยามของกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรในความหมายที่กว้างและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาคนในองค์กรมีทั้งกระบวนการที่สามารถวัดได้เป็นตัวเงินหรือมีใบเสร็จ เช่น การจัดหลักสูตรอบรม การส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรม การดูงานหรือฝึกงานในต่างประเทศ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานยังมีในส่วนที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้ชัดเจนหรือไม่มีใบเสร็จ เช่นกระบวนการในลักษณะ On-the Job Training (OJT) หรือ In-house Training ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีต้นทุนเช่นเดียวกัน  

 - การวางแผนพัฒนาบุคลากรทั้งภายใต้ระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะและความสามารถของกำลังคน โดยในส่วนของกิจกรรมนอกระบบการศึกษา เช่น การจัดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานโดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ส่วนในระบบการศึกษานั้น ควรมุ่งผลิตบุคลากรในสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลักหรืออุตสาหกรรมที่มุ่งสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เทคโนโลยีแห่งอนาคต เกษตรแปรรูปขั้นสูง พลังงานซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่สร้างมูลค่าสูงต่างๆ) 

โดยสรุป จากนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันที่จะมีผลบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ต  เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2555 ส่วนอีก 70 จังหวัดที่เหลือจะปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 และเมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 2556 จะปรับขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศนั้น ในด้านหนึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าต้นทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลให้สินค้าและบริการหลายประเภททยอยปรับขึ้นในระยะต่อไป โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลโดยรวมของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2555 สูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.6-0.7 (โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.9)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นับจากนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นนี้ ผนวกกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่กำลังก้าวสู่เป้าหมายการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ตลอดจนผลจากอุทกภัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองและวิถีทางการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติทั้งของภาครัฐและเอกชนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ แม้ว่าในด้านหนึ่ง ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีนี้จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่ภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่งอาจเป็นเสมือนตัวเร่งให้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที แต่ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในด้านการสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพด้านทรัพยามนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากธุรกิจผ่านพ้นจุดนี้ไปได้ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในขณะที่แนวโน้มค่าจ้างแรงงานในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะการจ้างงานในระยะต่อไป คือ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านจ้างงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม และโอกาสในการขยายศักยภาพการส่งออกของไทยต่อไปในอนาคต 

 

ที่มา:  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net