Skip to main content
sharethis

'ศิโรตม์' แนะ 'เศรษฐา' ต้องทำมากกว่า 'ไม่พอใจ' มีมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และมีความจริงใจในการผลักดันนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามเป้า 

 

27 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 ธ.ค.) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และผู้รายงานข่าว กล่าวในรายการ 'ตาสว่างกว่า' ทางช่องยูทูบ 'Sirote Talk' ระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการไตรภาคีในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และจะมีการปรับขึ้นอีกรอบ คาดว่าภายในมีนาคม 2567

ขณะที่พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการไตรภาคี จะมีการประชุมเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในเดือนมกราคม 2567 และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษาค่าแรงขั้นต่ำ รายอำเภอ รวยเทศบาล และรายวิชาชีพ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบรายจังหวัดไม่สะท้อนความเป็นจริง 

พิพัฒน์ ระบุด้วยว่า คาดว่าในเดือนมีนาคม 2567 จะสามารถส่งรายงานให้คณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ เพื่อให้มีการพิจารณา และคาดว่าจะสามารถประกาศได้ภายใน มี.ค. 2567

ศิโรตม์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยประกาศบนเวทีหาเสียงเอาไว้ว่าจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทภายในปี 2567 และในปี 2570 ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นเป็น 600 บาท แต่ตอนนี้ ครม.ประกาศยอมรับค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มขึ้นเพียง 2 บาท หรือสูงสุด 16 บาทมีเพียงจังหวัดเดียวคือจังหวัดภูเก็ต

ศิโรตม์ กล่าวต่อว่า เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ 2 ครั้งถึงความไม่พอใจ “ผมไม่มีความสุขเลยที่ค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นได้น้อย และบอกว่าเชื่อว่ารัฐมนตรีแรงงานก็ไม่มีความสุข” แต่ผลลัพธ์ของเรื่องไม่มีอะไรคืบหน้า 

ศิโรตม์ กล่าวต่อว่า จากเหตุผลของเศรษฐาที่อ้างว่าเห็นใจแรงงาน หรือลูกจ้าง แต่มาจบว่าต้องฟังนายจ้าง และสนธิสัญญาการค้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ และรัฐบาลพยายามอ้างว่าเขาไม่สามารถคุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ มีคนจากรัฐบาล และคนของข้าราชการ 5 คน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี หากรัฐบาลมีความชัดเจน และมีการเสนอนโยบายในการช่วยเหลือนายจ้าง แม้แต่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ซึ่งเป็นการขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายช่วยเหลือนายจ้างชัดเจน และมีความจริงใจในการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ จึงสามารถทำได้

"เศรษฐา อาจจะบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ แต่คำถามคือรัฐบาลไม่ทำอะไรเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในเรื่องนี้ (ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ) จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้ยินรัฐบาลบอกว่าจะช่วยนายจ้างเวลามีการขึ้นค่าจ้าง นายจ้างก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างว่านายจ้างไม่พร้อม เพราะมาตรการรัฐที่ไม่มีความพร้อม เป็นเพราะรัฐบาลไม่ยืนยันการขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ เหมือนกับการยืนยันการขึ้นนโยบายอื่นๆ ของตัวเอง" ศิโรตม์ กล่าว และระบุว่า นี่เป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลคือความชัดเจน และความจริงใจในการดำเนินนโยบาย เศรษฐาต้องแสดงมากกว่าความไม่พอใจ คือการออกมาตรการช่วยนายจ้าง และย้ำจุดยืนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net