Skip to main content
sharethis

สภาพัฒน์ฯ สรุปภาพรวมการจ้างงานปี 54 ชี้อัตราว่างงานต่ำ ขณะเศรษฐกิจหดตัว 9% เหตุผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่สะท้อนทันที เตือนปี 55 เฝ้าระวังเลิกจ้างช่วงครึ่งแรกของปี แนะเกาะติดการฟื้นฟู-เยียวยาคุณภาพชีวิตหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายวัน และจ้างเหมา (27 ก.พ.55) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2554 ว่า ในไตรมาส 4 ปี 2554 การจ้างงานยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และการว่างงานต่ำร้อยละ 0.6 หรือมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบและลดลงมากในเกือบทุกสาขา ทั้งอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการจ้างงานและภาวะการว่างงานที่ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยังไม่สะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนทันทีจากภาวะน้ำท่วมในเดือนตุลาคมและเกือบตลอดช่วงถึงธันวาคมในบางพื้นที่นั้น เนื่องจาก (1) สาขาก่อสร้าง ค้าปลีก และค้าส่งยังจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม (2) ผู้ประกอบกาบางส่วนอยู่ในช่วงที่ขาดฐานข้อมูลแรงงานที่จะใช้ดำเนินการเจรจายุติการจ้างงาน และผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งรักษาการจ้างงานไว้ แม้กิจกรรมการผลิตชะงักลง เนื่องจากตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงานทักษะอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีโครงการชะลอการเลิกจ้าง (3) การลดการเลิกจ้างงานส่วนหนึ่งเป็นการลดชั่วโมงการทำงานลง แรงงานที่ทำงานเพียงน้อยชั่วโมงจึงมีจำนวนมากขึ้น ชี้ถึงการว่างงานแฝงในตลาดแรงงานจำนวนมากไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทั้งที่ยังมีรายได้และไม่มีรายได้มีจำนวน 780,584 คน (4) แรงงานรอฤดูกาลภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ว่างงาน โดยไตรมาส 4 มีแรงงานรอฤดูกาล 191,090 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.1 แต่จำนวนนี้ไม่ถูกนับเป็นผู้ว่างงาน ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของแรงงานชะลอลง โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ส่งผลให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 4/2553 และค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับร้อยละ 3 ในไตรมาส 3/2554 ค่าจ้างแรงงานที่ยังเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง ที่ช่วยให้แรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานในช่วงน้ำท่วมยังมีรายได้แม้จะในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างที่เคยได้รับปกติ ทั้งนี้ ในปี 2555 มีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน (1) ความเสี่ยงต่อการจ้างงานในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งเนื่องจากการสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือนของโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยร้อยละ 39.5 ในเดือนเมษายน (2) การติดตามการฟื้นฟูและเยียวยาแรงงานในช่วงหลังภัยพิบัติให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม โดยเฉพาะแรงงานประเภทรายวัน และแรงงานจ้างเหมาซึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับไปทำงาน (3) การเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการเร่งเตรียมความพร้อมแรงงานในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ (4) การทบทวนลักษณะการใช้ข้อมูลด้านการจ้างงาน การว่างงาน และแรงงานรอฤดูกาลในการจัดทำนโยบายแรงงาน เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงความเชื่อมโยงถึงผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รายได้และคุณภาพชีวิตแรงงาน //////////////////// อ่านฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net