Skip to main content
sharethis

สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) จัดสัมมนาเพื่อสรุปบทเรียนประจำปี 2555 ย้ำปัญหาหนี้สิน ชี้เกษตรกรต้องเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิตด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองได้ เมื่อวันที่ 7-8 ก.พ.55 สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) จัดสัมมนาประจำปี เพื่อสรุปบทเรียนความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งในภาพรวมและกรณีเร่งด่วนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องหนี้สิน และวางแนวทางการเคลื่อนไหวในปีต่อไป โดยมีเกษตรกร 114 คน จากภาคกลาง อีสาน และใต้ เข้าร่วม ณ บริเวณที่ทำการกลุ่มองค์กรเกษตรกรสามัคคีก้าวหน้า อ.สามโก้ จ.อ่างทอง กิมอัง พงษ์นาราย ผู้ประสานงาน สค.ปท. กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรมาจากสิ่งแวดล้อม หรือความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หายไป พันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่อยู่กับธรรมชาติได้หายไป มีแต่พันธุ์ที่รัฐบาลให้มา ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีดูแล ทำให้ดินเสีย ความอุดมสมบูรณ์ของจึงหายหมด “สค.ปท. รวมตัวกันเพื่อให้เกษตรกรได้พึ่งพาตนเอง สามารถกำหนดราคาได้ และในอนาคตจะตั้งเป็นบริษัท แต่ก็ไม่รู้จะสู้กับบริษัทจำกัดได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องทำ โรงสีมีที่เป็นร้อยไร่ แต่ชาวนาเป็นหนี้” กิมอังกล่าว ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา กองเลขานุการ สค.ปท.กล่าวถึงปัญหาเร่งด่วนของเกษตรกรสมาชิก สค.ปท.ในปัจจุบัน ว่า ประเด็นหนี้สินที่มีกับสถาบันการเงินต่างๆ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะพี่น้องหลายรายกำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย บางรายกำลังจะถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด แต่ในระยะยาว คณะทำงาน สค.ปท. ได้วางแนวทางการจัดการศึกษาพี่น้องเพื่อให้เห็นถึงปัญหาทางโครงสร้าง ระบบกลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายของรัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกร ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ “เฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่เป็นสมาชิก สค.ปท. นั้นเป็นหนี้รวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท นี่คือปัญหาสำคัญที่ทุกรัฐบาลไม่เคยจริงใจในการแก้ปัญหา” ชัยวัฒน์ กล่าว ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอันเกิดจากการขาดทุนจากโรคระบาดต่างๆ ธรรมชาติที่มีอยู่เสียสมดุล ปัญหาราคาพืชผลผลิตตกต่ำ ปัญหาอุทกภัย จึงทำให้เกษตรกรเป็นหนี้รวมตัวกัน และได้ก่อตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน กรกฎาคม 2548 ในชื่อ “สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย” หรือ สค.ปท.ภายหลังจากการปรึกษาหารือและถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยกลไกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จากการก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปี 2550 สค.ปท.ได้มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนสมาชิกมาโดยตลอดตามสถานการณ์ทางสังคม และความเคลื่อนตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการประสานงานกับกลุ่มสภาประชาชนอีสานตั้งแต่ ปลายปี 2549 ที่กลุ่มสมาชิกสภาประชาชนอิสานได้แยกตัวออกไปเคลื่อนใหวภายในภาคด้วยตัวเอง ภายใต้แนวทางและวิธิการที่แตกต่างจาก สค.ปท.หรือการเชื่อมประสานเป็นครั้งคราวในแต่ละสถานการณ์กับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในปี พ.ศ.2550 สค.ปท. เคลื่อนใหวโดยมีสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มองค์กรจากภาคกลาง และภาคอื่นๆ บางส่วน ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอ่างทอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาจากการสัมมนาประจำปี 2553 สมาชิก สค.ปท. มีมติให้เปลี่ยนชื่อจาก “สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย” มาเป็น “สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย” และใช้ตัวย่อเดิม คือ “สค.ปท.” เพื่อเป็นการแสดงตัวตนว่าองค์กรสมาชิกของ สค.ปท.เป็นองค์กรของเกษตรกรอย่างแท้จริงโดยมีเป้าหมายองค์กร ที่สำคัญคือ 1.ผลักดันให้มีการจัดการหนี้โดยกฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างทั่วถึงทันเหตุการณ์ 2.การฟื้นฟูอาชีพโดยกระบวนการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อย่างทั่วถึงทันเหตุการณ์ 3.ยกเลิกหนี้สินที่ไม่ชอบธรรม 4.เกษตรกรต้องมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง 5.ผลักดันให้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาภาคการเกษตรและเป็นวาระแห่งชาติ 6.เสนอแก้กฎหมายเพื่อนำหนี้นอกระบบของเกษตรกรมาให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจัดการหนี้ 7.เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกร 8.คุ้มครองผลผลิตและการสร้างสวัสดิการของเกษตรกร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net