Skip to main content
sharethis

เครือข่ายฯค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เคลื่อน หวั่นมาตรา 17 สร้างวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดชอบ ปลุกมุสลิมช่วยเหลือเหยื่อ ตำรวจทำ 2 สำนวน ‘ฆาตกรรม-ชันสูตรศพ’ อัยการบันทึกเทปสอบพยาน 4 ศพ ชาวมุสลิมละหมาดฮายัตขอความสันติ เครือข่ายฯค้าน พ.ร.ก. เคลื่อน นายกริยา มูซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มองค์กรต่างๆรวม 17 กลุ่ม นัดประชุมหารือครั้งใหญ่ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐรับผิดชอบกรณียิงชาวบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 พร้อมกับเดินหน้ารณรงค์ให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เนื่องจากเห็นว่า เป็นอุปสรรคใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกริยา กล่าวว่า ยังมีอุปสรรคสำคัญในการทวงคืนความยุติธรรมให้ชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐคือ การอ้างมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบจาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ยุติธรรม เพราะบางกรณีชาวบ้านถูกละเมิดจนถึงแก่ชีวิต \เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ได้มีปัญหากับตัวกฎหมาย แต่มีความกังวลในตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เหตุที่ต้องรณรงค์ให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะรับไม่ได้ในส่วนนี้ โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะกฎหมายมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบ” นายกริยา กล่าว นายกริยา กล่าวอีกว่า พวกตนกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ที่ตำบลปูโละปูโยจะจบลงแบบเดียวกันกับหลายกรณีที่ผ่านมา คือเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด จะยิ่งตอกย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้เอื้อต่อการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร ซึ่งหมายความว่า รัฐจะไม่เพียงสูญเสียมวลชนไปเท่านั้น แต่ยังจะสร้างแนวร่วมมุมกลับที่ต่อต้านอำนาจรัฐเพิ่มขึ้น นายกริยา เปิดเผยว่า เหตุการณ์เศร้าสลดนี้ ทำให้เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คิดที่จะขับเคลื่อนครั้งใหญ่อีกครั้ง แต่ต้องประชุมลงมติก่อน เบื้องต้นได้ส่งตัวแทนเครือข่ายลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวเหยื่อของเหตุการณ์นี้ ร่วมกับกลุ่มนักศึกษา หลังเกิดเหตุ 2 วัน นายกริยา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในตอนนี้ จะดูสภาพจิตใจของครอบครัวเหยื่อเป็นหลัก หากแน่ใจว่าพวกเขาพร้อมจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมทางเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะร่วมขบวนด้วยแน่นอน สำหรับมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่...แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สำหรับเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบด้วย กลุ่มองค์กรต่างๆ รวม 17 องค์กร ได้แก่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้ (BOMAS) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS) ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(SPAN) เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง (PNYS) ปลุกมุสลิมช่วยเหลือเหยื่อ นายกริยา เปิดเผยด้วยว่า ในวันนี้สมาชิกเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หลายคนแจ้งว่า มัสยิดที่พวกตนละหมาดวันศุกร์หลายแห่งมีการพูดคุยถึงเหตุการณ์ยิงชาวบ้านดังกล่าวกันมาก และมัสยิดบางแห่งมีการละหมาดฮายัต ขอพรแก่ให้ผู้ประสบเหตุการณ์ด้วย รวมทั้งมีการเชิญชวนให้ช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ประสบเหตุด้วย โดยระบุว่าเป็นหน้าที่ของพี่น้องมุสลิมด้วยกัน “เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจต่อสังคมมุสลิมอย่างมาก หลายมัสยิดก็มีการพูดถึงว่าจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวเหยื่ออย่างไรบ้าง และส่วนเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส และต้องสื่อสารกับสังคมอย่างตรงไปตรงมา เพราะสังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมาก” นายกริยา กล่าว ผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) ได้ติดต่อของสัมภาษณ์พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ทางโทรศัพท์มือถือในประเด็นมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ว่า อาจเป็นการสร้างวัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากมาตราดังกล่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ตำรวจทำ 2 สำนวน‘ฆาตกรรม-ชันสูตรศพ’ พ.ต.อ.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองกิจ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สำนักอัยการจังหวัดปัตตานีส่งนายสุรพงษ์ อินทสระ รองอัยการจังหวัดปัตตานีมาร่วมสอบสวนคดีดังกล่าว ร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองจิก ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พ.ต.อ.ชนวีร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวน เริ่มสอบปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้ว 3 ปากแล้ว ได้แก่คนขับรถคันเกิดเหตุและทหารพราน 2 นาย แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะเป็นคดีสำคัญ โดยต้องสรุปสำนวนให้ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวน แต่สามารถขอขยายเวลาได้ หากผู้บาดเจ็บยังไม่สามารถให้ปากคำได้ พ.ต.อ.ชนวีร์ เปิดเผยว่า คดีนี้มี 2 สำนวนคือคดีฆาตกรรมและคดีชันสูตรพลิกศพ โดยพล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและชันสูตรพลิกศพ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 มีพ.ต.อ.โพธ สวยสุวรรณ รองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน อัยการบันทึกเทปสอบพยาน 4 ศพ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี มีการเรียกสอบปากคำพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุยิงชาวบ้าน 4 ศพที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบไปด้วย เจ้าพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์และบุคคลที่พยานร้องขอ โดยมีการบันทึกเทปวีดีโอการพิจารณาเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในชั้นศาล โดยมีการสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อนำไปยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อไต่สวนสำนวนการตายของทั้ง 4 ศพ นายประยูร พัฒนอมร อัยการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศและมีการเน้นย้ำในการพิจารณาไต่สวนให้รอบคอบจากผู้ใหญ่เบื้องบน ซึ่งตนจะเร่งรวบรวมสำนวนพยานหลักฐานให้เสร็จภายใน 30 วัน และอยากจะให้ญาติผู้เสียชีวิตตลอดจนเจ้าหน้าที่คู่กรณีมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าจะดูแลความยุติธรรมให้ทั้งสองฝ่ายให้ดีที่สุด วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) ได้ติดต่อของสัมภาษณ์ พ.อ.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 หน่วยต้นสังกัดของกองร้อยทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเหตุยิงถล่มฐานทหารพรานที่ 4302 รวม 7 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยการติดต่อครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 พ.อ.ศานติ ระบุว่า ติดประชุม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2555 กลุ่มทนายความจารกศูนย์ทนายมุสลิมจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย นายอนุกูล อาแวปูต๊ะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี นายธีรพงศ์ ระบิงเกา นายนิอำรัน สุไลมาน นายอาลิด อุสมาน นายอับดุลเลาะ หะยีอาบู ทนายความ ลงพื้นที่บ้านตันหยงบูโละห์ เพื่อเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ นายอนุกูล เปิดเผยว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานีได้รับเรื่องร้องเรียนจากครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้ว โดยร้องขอความเป็นธรรมแก่ผู้ประสบเหตุการณ์ทั้ง 9 ราย หากผลการสอบสวนของรัฐมีข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมพร้อมเดินหน้าขอความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน นายอนุกูล กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืนที่พบในรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า ชาวบ้านใช้ในการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ว่า มีที่มาอย่างไร ปืนดังกล่าวอยู่ในมือใคร ในลักษณะใด มีข้อมูลจดทะเบียนซึ่งสามารถสืบหาเจ้าของและสามารถตรวจสอบว่าผ่านการใช้งานมาแล้วหรือไม่ ถ้าผลการตรวจสอบออกมาว่า อาวุธปืนดังกล่าวไม่ใช่ของชาวบ้าน แสดงว่ามีความตั้งใจสร้างหลักฐานเท็จ นายอนุกูล กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการของทหารพรานครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่สามฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองเข้ามาเกี่ยวตั้งแต่แรก ชาวมุสลิมละหมดฮายัตขอความสันติ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการละหมาดวันศุกร์ตามมัสยิดต่างๆ หลายแหล่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเวลาประมาณ 12.40 น. มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ยิง 4 ศพ ในการเทศนาธรรมหรือคุตบะห์ก่อนละหมาดวันศุกร์ด้วย หลังละหมาดวันศุกร์มีการละหมาดฮายัตเพื่อขอพรจากอัลลอฮให้ประทานความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่มัสยิดในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เปิดชื่อพนักงานสอบสวนคดี 4 ศพหนองจิก พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและคดีชันสูตรพลิกศพ เหตุยิงชาวบ้านตันหยงบูโละ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ที่ 132 / 2555 ลงวันที่ 30 มกราคม 2555 มีรายชื่อดังนี้ 1. พ.ต.อ.โพธ สวยสุสวรรณ รองผู้บังคับตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี หัวหน้าพนักงานสอบสวน 2. พ.ต.อ.สมพล เรื่องเกตุพันธ์ พนักงานสอบสวน (สบ.4) กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นพนักงานสอบสวน 3. พ.ต.อ.สมพล ลีลาพีรพงศ์ พนักงานสอบสวน (สบ.4) กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นพนักงานสอบสวน 4. พ.ต.อ.อานนท์ เดชรักษา พนักงานสอบสวน (สบ.4) กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นพนักงานสอบสวน 5. พ.ต.อ.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรหนองกิจ เป็นพนักงานสืบสวน 6. พ.ต.ท.วีรชาติ คูหามุข รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองกิจ เป็นพนักงานสอบสวน 7. พ.ต.ท.ชนศักดิ์ อินทองแก้ว พนักงานสอบสวน (สบ.2) สถานีตำรวจภูธรหนองกิจ เป็นพนักงานสอบสวน 8. ร.ต.อ.เอกศุกรีย์ เลิศวงหัด พนักงานสอบสวน (สบ.1) สถานีตำรวจโคกโพธิ์ ปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นพนักงานสอบสวน 2 ประเทศจี้ไทยยกเลิกมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 17 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นมาตราหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องให้คำตอบต่อคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UPR) ในช่วงการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 19 วันที่ 15 มีนาคม 2555 ว่าจะยกเลิกหรือไม่ การยกเลิก 17 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นข้อเสนอของตัวแทนประเทศแคนาดาและสวิตเซอร์แลนด์ ในการประชุม UPR สมัยที่ 12 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับข้อเสนอของตัวแทนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปรากฏอยู่ในข้อที่ 19 ของข้อเสนอแนะที่ไทยรับกลับมาเพื่อพิจารณาแจ้งท่าที มีเนื้อหา ดังนี้ 19 - ยกเลิกมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(สวิตเซอร์แลนด์) 19. Repeal section 17 of the Emergency Decree (Switzerland) ส่วนข้อเสนอของประเทศแคนาดา อยู่ในข้อที่ 20 คือ 20 - ยกเลิกข้อบทในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งยกเว้นการดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (แคนาดา) 20. Abolish provisions in the Martial Law Act and section 17 of the Emergency Decree which grant immunity for criminal and civil prosecution to State officials (Canada)"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net