Skip to main content
sharethis

ข้อเสนอของ คอป. เรื่องการจัดการสถานที่ควบคุมผู้ต้องหา/จำเลยในคดีการเมืองถูกวิจารณ์มาก หลังรัฐบาลขานรับและเตรียมจัดที่ให้ใหม่ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันสัมภาษณ์ ประธาน คอป. เพื่อลงลึกถึงบางส่วนของเบื้องหลังแนวคิดดังกล่าว ‘ประชาไท’ เห็นว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจจึงนำเนื้อหามาเผยแพร่ต่อ \พวกนี้มันไม่ใช่ผู้ร้ายสำคัญ มี Motive (แรงจูงใจ) ทางการเมือง ทุกอย่างมันต้องมีการแยกแยะ แต่แยกแยะแล้วต้องทำให้ประชาชนเข้าใจด้วย\" \"สมควรจัดหาสถานที่ใน การควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติ เป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหา/จำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต\" ถ้อยคำเพียงประโยค เดียว ที่กรมราชทัณฑ์นำไปเป็นข้ออ้างในการย้ายผู้ต้องหา 21 คนไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ได้ กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ทำให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกโจมตีว่าแอบชงข้อเสนอช่วยคนบางกลุ่ม ด้วยการปลุกผี \"นักโทษการเมือง\" ขึ้นมาใหม่ \"มติชน\" จึงต้องขอให้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป. มาอรรถาธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังข้อเสนอดังกล่าว โดยหวังว่ากลุ่มคนที่ตั้งป้อมโจมตี คอป.อยู่ในเวลานี้ จะหัดเปิดใจ ใช้สติ และรับฟังเหตุผลของคนอื่นบ้าง... - ข้อเสนอ คอป.เวลาไปปฏิบัติจะยากหรือง่ายแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องนักโทษการเมือง ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่มีนักโทษการเมืองอยู่ในบ้านเราแล้วนะ แต่คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองล่ะใช่ คอป.เสนอว่าบุคคลเหล่านี้ควรจะเอามาไว้ในที่อื่น ที่มิใช่เรือนจำปกติ เพราะผู้ต้องขังในราชทัณฑ์เรามันล้น เรือนจำทั่วประเทศดีไซน์ไว้สำหรับ 9 หมื่นคน แต่ผู้ต้องขังขณะนี้มีอยู่เกือบ 2.2 แสนคน โดยในจำนวนนั้นมีผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี คือคดียังไม่ถึงที่สุดในชั้นตำรวจบ้าง ชั้นศาลบ้าง ถึง 37% ก็เป็นที่มาของข้อเสนอว่า เราต้องการปรองดองใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นคุณก็เอาพวกนี้ไปไว้ที่อื่น ซึ่งก็คุกเหมือนกัน อาจจะลดความแออัดลงมาหน่อย แต่คนที่สูญเสียเสรีภาพ มันไม่สบายดี ไม่สนุกหรอกนะ - อธิบดีกรมราชทัณฑ์บอกจะเอาอากง เอสเอ็มเอสและคุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง รวมถึงผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและเผาศาลากลางไปอยู่ด้วย คำพิพากษาคนเหล่านี้ถึงที่สุดหรือยังล่ะ มันก็เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และรัฐบาลจะไปแยกแยะ เพราะความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่เห็นคือผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือชุมนุมเกิน 10 คน ซึ่งผมเคยเขียนบทความว่า ถ้าอัยการทำดีๆ จะสั่งไม่ฟ้องได้อีกเยอะ แต่เขาไม่ทำตาม อาจเพราะเขาไม่เข้าใจผม (หัวเราะ) เพราะคนกระทำผิด บางทีไม่ต้องเอาไปฟ้องทุกอย่าง แต่ต้องมีเหตุผลอันสมควร ไม่ใช่ว่าเป็นคนใต้ด้วยกันเลยไม่เอาเข้า - นั่นคือเจตนารมณ์แต่เวลาเอาไปปฏิบัติมักจะอ้าง คอป.แล้วเอาไปบิด ก็เป็นหน้าที่ของสื่อจะต้องตรวจสอบ - เหมือนเขาเอาเครดิตของคณิต ณ นคร หรือ คอป.ไปเป็นตราประทับ ผมก็เสนอว่าอย่างเนี้ย แล้วเขาไปจัดการเอาเอง ให้ผมไปชี้ว่าคนนั้นคนนี้ มันก็ไม่ใช่ที่ เป็นเรื่องที่เขาจะต้องดูว่าเหมาะสมไหม เหตุผลประการหนึ่งคือคนมันล้นคุก แล้วพวกนี้มันไม่ใช่ผู้ร้ายสำคัญ มี Motive (แรงจูงใจ) ทางการเมือง ทุกอย่างมันต้องมีการแยกแยะ แต่แยกแยะแล้วต้องทำให้ประชาชนเข้าใจด้วย ไม่ใช่อ้างว่าทำตามข้อเสนอของ คอป.โดยไม่พินิจพิจารณาเลย อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง - ปัญหาทุกวันนี้ ไม่มีการบอกความผิดฐานไหนเข้าข่าย พอไม่มีการอธิบาย ก็เลยทำให้งง ผมว่ามันต้องตอบคำถามได้ ของ คอป.ผมก็ไม่เคยหนีพวกคุณ เราทำอะไรโปร่งใส อย่าลืมว่าเราใช้วิชาการนะ เราไม่ใช้ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบ แล้วสิ่งที่เราพูด คุณก็วิพากษ์ได้อยู่ ถ้าจะบอกว่า คอป.ไม่ได้เรื่อง แล้วนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย ผมก็สบาย แล้วไปอยู่บ้าน - อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะไปอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ได้ไหม คุณทักษิณเขามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เขาจะมาอยู่ตรงนี้ได้ไง ถ้าเขามาอยู่ คุณต้องไปถามว่ามาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง ถ้าเขากลับมา เขาต้องเข้าคุกธรรมดา ที่ คอป.เสนอเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี เพราะผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาที่อยู่ในเรือนจำไทยเวลานี้มีถึง 37% ไม่มีประเทศไหนเท่ากับประเทศไทย แล้วสภาพคุกเรา มันคือเรือนจำญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วเราก็รักษาของเดิมเอาไว้โดยไม่เคยแก้ไขอะไรเลย นี่เพราะกระบวนการยุติธรรมของเราไม่เคยทำอะไรเลย เหมือนเป็นแค่สายพานว่า พอตำรวจสอบสวนเสร็จให้ส่งมาที่อัยการ อัยการทำเสร็จแล้วส่งไปศาล ศาลพิพากษาลงโทษ ก็ไปคุก - ต้องอยู่ระหว่างพิจารณาคดีและมีแรงจูงใจทางการเมืองถึงจะได้ประโยชน์ต่อข้อเสนอ คอป. เฉพาะคนที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี คนที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด ต้องไปเรือนจำปกติ ถ้าเข้าเงื่อนไขอุทธรณ์หรือฎีกาก็มาได้ - ถ้าสมมุติในการชุมนุมเดียวกัน ระหว่างคนที่อยู่ล่างเวที นั่งดูตาแป๋ว กับคนที่อยู่บนเวที ปลุกระดม Motive เดียวกันไหม เราไม่ได้แยก อย่าลืมว่าเวลาไปชุมนุมกัน แสดง ออกถึงเสรีภาพทางการเมืองเป็นฐาน - พวกชุดดำที่ใช้อาวุธหรือฆาตกรรม อย่างนี้ไม่ใช่ชุมนุมทางการเมือง มันเกิดขึ้นเพราะจะฆ่ากัน - วางเพลิงไม่เข้าข่ายข้อเสนอ คอป. วางเพลิงมีหลายพวก พวกผสมโรง เตรียมการมา ไม่ใช่นะ - คนที่มีแรงจูงใจระหว่างกระโดดขึ้นรถทัวร์กับยัดลูกกระสุนปืนมาจากบ้านคนละอย่างกันแน่นอน แน่นอน ขณะนี้มีคนที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายในต่างจังหวัดเยอะแยะ ผมเคยเขียนบทความเรื่องก่อการร้ายว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะออกโดย พ.ร.ฎ.แปลว่าออกโดยฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ออกโดยรัฐสภา ที่อย่างน้อยจะมีการดีเบต ดังนั้น ที่มามันไม่ถูก ความผิดฐานนี้ถ้าเทียบกับสมัยก่อนก็เหมือนกับก่อตั้งสมาคมอั้งยี่ ซึ่งการก่อตั้งเขาลงโทษแล้ว เพื่อป้องกัน ป้องปราม ไม่ให้สมาชิกไปทำอะไรร้ายแรง ฉะนั้นความผิดฐานอั้งยี่ โทษมันเบา ไม่มาก เพราะมันเป็นเรื่องของการตระเตรียม แต่ของเราถึงประหารชีวิต นี่เพราะกฎหมายเราไม่ดี กฎหมายออกไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายก็ออกมา - ข้อเสนอ คอป.ทุกข้อเขียนปลายเปิด ให้ฝ่ายปฏิบัติใช้ดุลพินิจได้ ปลายเปิดก็จริง แต่เวลาปฏิบัติต้องตอบคำถามได้ โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ทำไมนาย ก. ทำไมนาย ข. ผมเพียงแต่วางหลัก จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมต้องทำงานอย่างรอบคอบ อย่างเป็นภววิสัย แต่ของเราบางครั้งไม่ได้รอบคอบเท่าไร อยากให้มันเสร็จๆ ไปผมเคยวิเคราะห์คนในกระบวนการยุติธรรมของเราไว้ 3 ลักษณะ 1.ทำงานไม่ขยัน ไม่ถึงที่สุด ไม่สิ้นกระแสความ 2.กลัวผู้บังคับบัญชา กลัวการเมือง กลัวอะไรต่อมิอะไร แต่ร้ายที่สุด 3.เราทำงานประจบประแจงพอผู้ใหญ่เราก็ประจบผู้ใหญ่ แต่ผมยังมองโลกใน แง่ดี เราต้องอยู่ด้วยความหวัง หวังว่าทุกสิ่งมันจะดีขึ้น ถ้าเราคิดในด้านลบ เฮ้ย มันไม่มีทาง มันไม่ได้ มันต้องมีทาง ทุกอย่างต้องมีทางแก้ไข แล้วเราก็ใช้วิชาการในทางแก้ไข ไม่ใช่ความรู้สึก ความรู้สึกมันพูดกันได้ แต่ถ้าใช้วิชาการก็เถียงกันยากหน่อย - ในการปลดชนวนความขัดแย้ง ทำสำนวนให้ดี อัยการไม่ฟ้องได้อีกเยอะ แต่ถ้าฟ้องไปแล้ว จะทำอย่างไร อัยการก็ถอนฟ้องได้ ถ้าอยู่ในศาลก็ยกฟ้องได้ หรือลงโทษเบาได้ - แปลว่าไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมใคร ผมยังไม่เห็นว่ามันเข้าเกณฑ์นิรโทษกรรมหรือเปล่า เวลาเราจะทำอะไรต้องศึกษาก่อน ไม่ใช่อยากจะพูด อยากจะเขียนก็ทำ แล้วจะนิรโทษกรรมอะไร เพราะเท่าที่ผมศึกษาการนิรโทษกรรม 2 ครั้งหลังสุด อย่างปี 2499 ก็เรื่องกบฏ หรือหลัง 6 ต.ค.2519 มันมีการปะทะกัน แล้วรัฐบาลก็ออกคำสั่งที่ 66/23 แต่ที่เราพูดกันอยู่ มันไม่มีทิศทาง - อย่างกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้รีเซตผลของการรัฐประหาร ถ้าอยากจะทำ มันต้องมีเทศกาลพิเศษๆ แต่ของเราอยากจะพูดมันก็พูดกัน อย่างตอนรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มันก็ฆ่ากันเยอะ แต่ไอ้ตอนนี้นี่มันไม่มีอะไรเลย อยากจะพูดก็พูดกัน เราต้องศึกษาว่าการนิรโทษกรรมในอดีตมีกรณีไหนบ้าง แต่เราพูดกันจนเปรอะ มันไม่มีหลัก เราต้องวางหลักเสียก่อน"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net