Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันก่อนนั่งอ่านเว็บข่าวประชาไท เห็นคุณ ปกรณ์ อารีกุล นักศึกษา-นักกิจกรรม จากกลุ่มลูกชาวบ้าน เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ผู้เขียนรู้สึกว่ามีโอกาสที่ดีที่จะหยิบเรื่องนี้มากระตุ้นสังคมอีกครั้งในฐานะ “อดีตนักกิจกรรม” ที่เคยจับประเด็นนี้มาก่อนอย่างเข้มข้นสมัยเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่เคยอยู่ในระบบราชการและออกนอกระบบราชการไปแล้วในสมัย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ภายใต้รัฐบาลพลเอกสุยุทธ์ จุลานนท์ บทความชิ้นนี้จะนำท่านผู้อ่านไปสำรวจตรวจตราสิ่งที่อยู่ใต้สมองของ “ผู้บริหารมหาวิทยาลัย” กันบ้าง พวกเขามีมุมมองต่อนโยบายนี้อย่างไร ทำไมถึงได้ “กระเหี้ยนกระหือรือ” อยากนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการกันเร็วๆนัก... เกริ่นนำ ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ดำเนินนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการอีกครั้ง หลังจากที่นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ (หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”) ถูกนำเสนออย่างจริงจังเป็นครั้งแรกหลังปี พ.ศ.2540 ซึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทย ต่อมารัฐบาลประชาธิปัตย์ยุคชวน หลีกภัย ได้ผลักดันนโยบายนี้เพื่อตอบสนอง “เงื่อนไข” ของการกู้เงินมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในราวปี พ.ศ.2542 เพื่อผลักภาระงบประมาณประเทศไปสู่ภาคสาธารณะ ภาคสาธารณะในที่นี้หมายถึง ประชาชนและพ่อแม่ผู้ปกครองของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ เผือกร้อนของรัฐบาลในประเด็นนี้มีจุดเริ่มต้นวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2554 เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ขบวนการนักศึกษา” โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเดินขบวนประท้วงไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการนำมหาวิทยาลัยของพวกเขาออกนอกระบบราชการ โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมารับหนังสือจากนักศึกษาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ตัวรัฐมนตรีกล่าวยืนยันกับนักศึกษาว่าจะไม่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างแน่นอนในสมัยของเขา เวลาผ่านไปราว 3 เดือน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็เดินหน้าผลักดันนโยบายต่อท่ามกลางความไม่พอใจของนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย เมื่อ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ สกอ. ได้ประกาศเปรี้ยงผ่านสื่อมวลชนว่าได้รับการยืนยันจาก 4 มหาวิทยาลัยว่าพร้อมที่จะออกนอกระบบราชการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อติดตามจากข่าว ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าใครกันแน่ที่ “กระสัน” อยากออกนอกระบบจนตัวสั่น ระหว่างรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือว่ามหาวิทยาลัย ? ดูท่าแล้วเรื่องนี้มีความสลับซับซ้อนไม่น้อย คงต้องค่อยๆทำความเข้าใจถึงพอจะตอบได้ว่า “ทำไมถึงอยากออกนอกระบบราชการกันนัก” โดยเฉพาะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลาย บริบทโดยย่อของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ หากมองย้อนกลับไปไกลถึงยุคก่อน 14 ตุลาฯ ขอเสนอการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการนับว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าพอสมควรเนื่องจากประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของนายทหารการเมืองกลุ่มหนึ่ง มีลักษณะเป็นเผด็จการและมีการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศอย่างเข้มงวดรวมไปถึงการเข้าควบคุมและครอบงำมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกือบถูกจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยึดเอาไปหลังจากกรณีแมนฮัตตัน และความพยายามส่งคนของรัฐบาลทหารเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยต่างๆผ่านสภามหาวิทยาลัย หรือนั่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยก็มีให้เห็น ดังนั้น เมื่อภาวะความกดดันในมหาวิทยาลัยเกิดจากระบอบการเมืองแบบรัฐราชการ จึงมีผู้เสนอให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเพราะต้องการสลัดอำนาจเผด็จการให้ออกจากพื้นที่วิชาการ หากผู้เขียนจำไม่ผิด อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ น่าจะเป็นนักวิชาการท่านแรกๆที่นำเสนอประเด็นนี้ออกสู่สาธารณะ หลังปี พ.ศ.2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในประเทศไทย รัฐบาลประชาธิปัตย์มีการดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของเงินกู้ก้อนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญก็คือ “การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระจากรัฐ” หรือหากพูดให้ถึงรากถึงโคนมากกว่านั้น การออกนอกระบบราชการก็คือ “การปลดภาระทางการคลังของประเทศและผลักภาระเหล่านั้นไปให้ประชาชนและผู้ปกครองแทน” “หัวแม่ตีน” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย “ข้ออ้าง” ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งคือการอ้างว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการคือการสร้างความคล่องตัวในการบริหารงานเพราะการอยู่ในระบบราชการมีข้อจำกัดไม่คล่องตัว มีอิสระในทางวิชาการ มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ และพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนก็จะมีความมั่นคงขึ้น ข้ออ้างเหล่านี้คือข้ออ้างยอดฮิตมาโดยตลอดซึ่งไม่ว่าจะถามคำถามอย่างไรผู้บริหารก็คงท่องจำได้เพียงเท่านี้ คิดเป็นอื่นก็คงแปลกประหลาดเพราะคิดอะไรไม่ได้มากกว่านั้นแน่ เมื่อพิจารณาดูข้ออ้างเหล่านั้น เช่น มุมมองว่าระบบราชการที่ใช้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐในเวลานี้ไม่มีความคล่องตัว จะหยิบจับอะไรก็ติดขัดไปเสียทั้งหมด ต้องรอหลายขั้นหลายตอนกว่าจะดำเนินการไปได้อะไรทำนองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ระบบราชการที่เป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐในขณะนี้ไม่ได้มีความ “เลวร้าย” ขนาดที่จะต้องล้มเลิกไปโดยสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ระบบราชการมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ขนาดเทคโนแครตระดับแนวหน้าของไทยท่านหนึ่งอย่างคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ยัง “ยืนยัน” ว่าระบบราชการไทยมีการพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอจนก้าวหน้าไปกว่าความจำเป็นที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการแล้ว[1] ประการต่อมา เงื่อนไขที่ผู้บริหารอ้างว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการคือการ “ให้ความมั่นคงแก่พนักงานมหาวิทยาลัย” ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้ ข้อเท็จจริงก็คือ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้สิทธิแก่ข้าราชการว่าจะเลือกเป็นข้าราชการต่อไปหรือเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยภายหลังที่ออกนอกระบบ แต่ว่ากรณีที่พนักงานมีมากกว่าข้าราชการนั้นมีผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2542 ซึ่ง “ล็อค” ไม่ให้มีอัตราข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐอีกต่อไปโดยการให้บรรจุพนักงานอัตราจ้างแทนอัตราข้าราชการ[2] การ “วางยา” ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าต้องการบีบให้จำนวนข้าราชการในมหาวิทยาลัยน้อยลงเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการให้ง่ายขึ้น การวางยาในครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของข้ออ้างผู้บริหารในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นง่ายมากและไม่จำเป็นต้องออกนอกระบบราชการด้วยซ้ำ ผู้เขียนเสนอว่าสภามหาวิทยาลัยสามารถเสนอให้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2542 หรือว่าเสนอร่างกฎหมายทั่วไปฉบับหนึ่งที่รับรองความมั่นคงของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ หรืออาจต้องแก้ไขไปทั้งสองส่วนพร้อมๆกัน เรื่องเหล่านี้สภามหาวิทยาลัยสามารถทำได้ (เสนอเข้าไปรัฐสภาได้) แต่ผู้เขียนคิดว่าสภามหาวิทยาลัยคงไม่ทำ เพราะประเดี๋ยว “ขนมอร่อยๆ” จะหายไปจากมือ ? ประเด็นต่อมา การออกนอกระบบราชการทำให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือความเป็นเลิศทางวิชาการไม่ได้เกี่ยวข้องว่ามหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไม่อยู่ในระบบราชการ ความเป็นเลิศทางวิชาการขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น งบประมาณการวิจัย, อัตราส่วนระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา, หลักสูตรที่มีความพร้อมและความถนัดในทางวิชาการเฉพาะทาง, ความเชี่ยวชาญของอาจารย์ ฯลฯ แม้ว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในระบบราชการก็สามารถเป็นเลิศทางวิชาการได้ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าระบบราชการคือตัวการเพียงตัวเดียวทำลายความเป็นเลิศทางวิชาการอย่างที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งอ้าง ผู้บริหารสามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการภายใต้ระบบราชการได้ ระบบราชการในมหาวิทยาลัยไม่ได้มี “วัฒนธรรมบนลงล่าง” อย่างเข้มข้นเหมือนองค์กรราชการอื่นๆ มหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากองค์กรราชการอื่นๆตรงที่มุ่งเน้นการศึกษาทางวิชาการและสนับสนุนความเป็นอิสระทางวิชาการอยู่แล้ว ไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใดมาบีบบังคับให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทำตามที่ตนเองต้องการได้หากการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ชอบด้วยศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดถือหลักการในทางวิชาการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอาจารย์มหาวิทยาลัย ใครมาบังคับให้อาจารย์ออกนอกหลักการทางวิชาการไม่ได้ มิฉะนั้นอาจารย์จะสอนหนังสือในระดับสูงได้อย่างไร อีกประการหนึ่ง พูดแบบขำๆ ผู้เขียนก็ยังไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการของไทยมหาวิทยาลัยใดติดอันดับ Top 100 ของโลกเสียที (ถ้าหากมหาวิทยาลัยไทยไม่นับมาตรฐานการจัดอันดับโลกของตะวันตกอย่างที่รัฐไทยยอมรับ มหาวิทยาลัยไทยคงติดอันดับจักรวาลไปแล้วเพราะเราเก่งเรื่องไสยศาสตร์และพิธีกรรมขอหวย ฝรั่งและเอเลี่ยนคงสู้ไม่ได้) กล่าวโดยสรุป นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นเลิศทางวิชาการ ผู้บริหารมักไปโยงเรื่องงบประมาณกับความเป็นเลิศทางวิชาการเสียมากกว่า ทำไมไม่พูดให้หมด ? เมื่อกล่าวถึงประเด็นงบประมาณ ผู้เขียนมีความเห็นว่าประเด็นนี้คือประเด็นที่สำคัญที่สุดของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ค่อยยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเท่าใดนัก (พูดไปก็คงเข้าตัวเอง ? พูดไปเดี๋ยวความแตก ?) การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังงมโข่งมองเห็นแต่นิ้วแม่ตีนตัวเองก็เพราะประเด็นลึกๆประเด็นนี้ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการคือการ “มอบอำนาจสูงสุดให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย” (เรียกอย่างสวยงามว่าคือความคล่องตัว) เมื่อผู้บริหารได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อไหร่ พวกเขาจะมี “อำนาจล้นมหาวิทยาลัย” ในทันที เพราะรัฐจะปัดภาระทุกอย่างออกไปจากตัวให้มากที่สุดรวมไปถึงอำนาจการตัดสินใจต่างๆภายในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารแทบจะกลายเป็น “พระเจ้า” ในทุกๆเรื่องรวมไปถึงเรื่องเงินๆทองๆด้วย ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารก็อ่อนแอลงไปมาก หากเราลองหยิบพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐซักแห่งขึ้นมาดูก็จะพบการตรวจสอบที่ “ว่างเปล่า” เพราะมีแต่องค์กรถ่วงดุลในภาษากฎหมายอันสละสลวยแต่ไม่มีอำนาจใดๆในการตรวจสอบผู้บริหารอย่างเข้มข้นเลย ในขณะที่อำนาจการบริหารงบประมาณมหาวิทยาลัยอยู่ที่ผู้บริหาร การขึ้นเงินเดือน การขึ้นค่าตำแหน่ง การจ่ายผลตอบแทนต่างๆ ก็อยู่ในอำนาจผู้บริหารทั้งสิ้น กรณีนี้เคยเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกแห่งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2547 เมื่อผู้บริหารถูกสื่อมวลชน ITV ยุคนั้นแฉกลางอากาศว่าถ้าหากออกนอกระบบราชการ เงินเดือนของอธิการบดีจะขึ้นไปอยู่ที่สามแสนกว่าบาทซึ่งมากกว่าเงินเดือนนายกรัฐมนตรี !! (ตอนนี้ผู้เขียนไม่ทราบแล้วว่าหลังจากมหาวิทยาลัยนั้นออกนอกระบบราชการไปแล้วเงินเดือนของผู้บริหารได้เท่าไหร่เพราะไม่ได้ติดตาม) ดังนั้น เรื่องการบริหารงบประมาณมหาวิทยาลัยภายใต้สภาพเช่นนี้คงไม่ต่างอะไรกับแดนสนธยา ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครทราบ ไม่มีการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามครรลอง รับนักศึกษาเข้ามาเรียนเยอะๆแทบไม่อั้น (เพราะจะได้เงินจากนักศึกษาเยอะๆ จะได้มีเงินมาจ่ายเงินเดือนเยอะๆ) นี่กระมังถึงเรียกว่าความคล่องตัว นอกจากนี้ ระบบการเล่นพรรคเล่นพวกจะเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อาจจะมีคนเถียงว่าอยู่ในระบบก็เล่นกันอยู่แล้ว ประเดี๋ยวผู้เขียนจะวิเคราะห์ต่อว่าเมื่อผู้บริหารรวบอำนาจทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่ตัวเองแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนทั้งหลายที่ทำงานกินเงินเดือนอัตราจ้างในมหาวิทยาลัยจะต้อง “ก้มหัว” อย่างไม่ต้องสงสัย หากปีนเกลียวมากๆอาจตกงานได้ หากไม่ใช่พวกอาจถูกบีบออกจากงานได้ง่ายๆ หรือถ้าไม่รับใช้ฝ่ายการเมืองที่ผู้บริหารถือข้างอยู่ก็คงถูกบีบให้ออกจากงาน พนักงานมหาวิทยาลัยแทบทุกคนต้องใช้วิธีการแบบเดียวกันเพื่อเอาชีวิตรอดคือการยอมผู้บริหารทุกอย่าง นักวิชาการครูบาอาจารย์อัตราจ้างทั้งหลายก็คงอ้างหลักการทางวิชาการได้ไม่เต็มที่เพราะลูกเมียต้องกินต้องใช้ ตกงานไปใครรับผิดชอบ มิต้องพูดถึงความเป็นเลิศทางวิชาการให้เสียเวลาเลย การออกนอกระบบราชการเรียกร้องให้ผู้บริการต้องมีคุณธรรม มีจริยธรรม และมีศีลธรรมกำกับการบริหารงานค่อนข้างสูงเนื่องจากอำนาจของพวกเขาเหล่านั้นตรวจสอบแทบไม่ได้ (แต่สามารถให้คุณหรือให้โทษใครก็ได้) อนิจจา สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไรคนในแวดวงก็คงรับรู้และรับทราบกันเป็นอย่างดี ฉะนั้น ระบบที่มอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่คณะบุคคลที่มีแนวโน้มฉ้อฉลเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ? ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะมีความแตกต่างอะไรจากนักการเมืองเพราะต้องการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองเช่นเดียวกัน....? สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศตกต่ำลงไป ผู้บริหารที่ฉ้อฉล ไร้การตรวจสอบ ถ่วงดุลอะไรไม่ได้ มีแต่จะนำพาให้ลงเหว ลูกหลานออกมาโง่เต็มบ้านเต็มเมือง นักศึกษามีแต่ปริมาณแต่ไร้คุณภาพ ? เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบอย่างจริงจัง หากท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะเงยหน้าขึ้นมาจากหัวแม่ตีนของตัวเองมองไปทางสังคมและประเทศที่พวกท่านอาศัยอยู่บ้างแล้วคิดว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป คุณภาพการศึกษาที่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้หากพวกท่านตั้งใจสร้างแม้ภายในระบบก็สามารถทำได้ ผู้เขียนเองก็มิได้มองว่าระบบราชการมีความสมบูรณ์แบบ ทุกระบบย่อมมีข้อบกพร่องแต่อย่างน้อยที่สุดระบบราชการก็ยังสามารถถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจได้ดีกว่าออกนอกระบบราชการ (ที่กฎหมายเขียนให้มีการตรวจสอบอ่อนแลง) อยู่ในระบบราชการก็สามารถสร้างความคล่องตัวภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลได้ สามารถสร้างความมั่นคงให้แก่พนักงานอัตราจ้างได้ เราสามารถหาทางแก้ไขมันได้ เราจะออกนอกระบบไปทำไมในเมื่อเราทุกคนต่างรู้ดีว่าระบบใหม่ที่จะนำมาใช้มีความเลวร้ายสารพัดดำรงอยู่ (ดีสำหรับผู้บริหารฝ่ายเดียวแต่เลวร้ายสำหรับคนอื่นๆโดยเฉพาะต่อสังคมไทย) นักศึกษาเขาไม่ได้พอใจนโยบายแบบนี้ทุกคนหรอกนะครับ อย่าทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวเลย .... ผมเบื่อความวุ่นวายทางการเมืองมากพออยู่แล้ว ... [1] เข้าถึงได้ใน http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=4&cateid=08&action=view&id=012772#q ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2547 หมายเหตุ ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมถ้าหากไม่อยู่ในระบบราชการปรากฎอยู่ในคำตอบของ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ อีกด้วย หากท่านใดสนใจสามารถเข้าไปอ่านตัวเต็มได้ครับ [2] รายละเอียดปรากฏในหนังสือของทบวงมหาวิทยาลัยส่งถึงคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2542 ชื่อเรื่อง ขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจ้างบุคลากรทดแทนอัตราราชการ เข้าถึงได้ใน http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-1.jsp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net