Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ชุมนุมสื่อสารความคิดค้าน ม.นอกระบบ-เรียกร้องเจรจากับอธิการบดีฯ ด้านอธิการบดี มข.แจงผ่านเว็บไซต์มหา'ลัย เผยกระบวนการยังอยู่ที่ สกอ. ชี้พร้อมให้สิทธิร่วมแสดงความเห็น

วันนี้ (3 ก.ค.55) เมื่อเวลา 08.00 น. ขบวนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ พร้อมด้วยเครือข่ายแนวร่วมซึ่งเป็นนิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฯลฯ ได้เดินเท้าจากหอพักมุ่งหน้าไปรวมตัวยังศูนย์อาหารและบริการ1 (คอมเพล็กซ์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อชุมนุมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ

วรรณวิศา เกตุใหม่ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ทางเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบมีจุดประสงค์คือ เรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของทางมหาลัย และยืนยันจะชุมนุมต่อไปเรื่อยๆ หากยังไม่ได้รับคำตอบและได้เจรจากับนายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทั้งนี้ นักศึกษาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปขอเข้าเจรจากับอธิการบดีฯ แต่ได้รับคำตอบจากเลขาว่าอธิการบดีฯ ไม่อยู่ ซึ่งทางพวกเรายืนยันจะขอเข้าพบกับท่านอธิการบดีเท่านั้น

วรรณวิศา กล่าวด้วยว่า เมื่อขบวนนักศึกษาได้เดินทางมาถึงหน้าคอมเพล็กซ์ เราได้ร่วมกันตะโกนดังๆ พร้อมกันว่า “ม.นอกระบบออกไป” โดยเสียงที่เปล่งออกมานั้นเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า สาธารณชนจะรับรู้และเห็นใจว่า พวกเรานักศึกษากำลังต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อขบวนนักศึกษาเดินทางมาถึงคอมเพล็กซ์ ได้มีการกางเต็นท์ ปูเสื่อ และเวทีเล็กๆ พร้อมเปิดการปราศรัยให้ข้อมูลแก่นักศึกษาที่ผ่านไปผ่านมา และเชิญชวนมาร่วมแสดงเจตนารมณ์กับทางเครือข่าย โดยสลับกับการเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลาย อีกทั้งเปิดให้เครือข่ายแนวร่วมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กล่าวแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น และปลุกระดมพลังนักศึกษาที่ยังคงเพิกเฉยกับประเด็น ม.นอกระบบอยู่ 

“บรรยากาศรอบๆ มีนักศึกษาทยอยออกมาหลังจากพักเที่ยง บ้างยืนฟังบนคอมเพล็กซ์ บ้างมานั่งในพื้นที่หน้าเวทีที่ทางเครือข่ายจัดเตรียมไว้ ความตื่นตัวของนักศึกษาเริ่มเพิ่มมากขึ้น หลังจากได้ยินเสียงจากบนเวที และมีนักศึกษาหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าเทอม มาแสดงความรู้สึกกับทางเครือข่ายเราว่าเขาเองก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าเทอม และเล็งเห็นชะตากรรมในอนาคตว่าเมื่อมหาลัยออกนอกระบบไปแล้ว ค่าเทอมคงพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน” วรรณวิศา กล่าว

รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาเดินทางมาพูดคุยเจรจากับเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบหลังจากที่ทางเครือข่ายได้เคลื่อนย้านเต็นท์ไปยังบริเวณหน้ามหาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบและกลุ่มแนวร่วมประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกับปิดถนนมิตรภาพ 2 ช่องจราจร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อกดดันให้อธิการบดีฯ เดิมทางมาร่วมเจรจา ท่ามกลางสายฝนที่ยังโปรยปราย ต่อมาจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเจรจากับกลุ่มนักศึกษา โดยระบุว่าได้ประสานกับทางอธิบดีให้ลงมาเจราจาของให้เปิดเส้นทางการจราจร เครือข่ายนักศึกษาฯ จึงเคลื่อนย้ายการชุมนุมออกมาจากบนท้องถนนเพื่อรอการเจรจาหลังจากใช้เวลาในการปฏิบัติการปิดถนนประมาณ 30 นาที

ล่าสุด เวลา 17.30 น. ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ และทีมจาก สภ.เมืองขอนแก่น จำนวน 200 นาย พร้อมเจ้าหน้าที่รปภ.มข.อีกกว่า 50 นาย พร้อมนับแถวที่ประตูมอดินแดง เพื่อเตรียมเข้ารื้อเวทีของเครือข่ายนักศึกษาฯ ก่อนเวลา 18.00น. อย่างไรก็ตามเวทีได้ถูกรื้อไปเรียบร้อยแล้วโดยทีมงานเวทีเอง และอธิการบดีฯ ไม่ได้เดินทางมาพบเครือข่ายนักศึกษาฯ แต่อย่างใด

 

อธิการบดี มข.แจงกระบวนการยังอยู่ที่ สกอ. เผยพร้อมให้สิทธิ นศ.แสดงความคิดเห็น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ข่าวมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงกรณีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐว่า มข. เป็นสถาบันการศึกษาของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม เป็นที่พึ่งของชาวอีสานมาตลอด 48 ปี ซึ่งตระหนักดีถึงการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในทุกด้าน  ส่วนเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ม.นอกระบบ) เป็นความพยายามของรัฐบาลเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของแต่ละมหาวิทยาลัยให้มีความคล่องตัวและมีอิสระทางวิชาการอย่างแท้จริง จึงได้มีการเสนอให้มหาวิทยาลัยในประเทศปรับเปลี่ยนสถานะภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามนโยบายในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี 
 
รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2541-2553 โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน การรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีคณะกรรมการฯ ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากสภามหาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบุคลากรเป็นผู้รับผิดชอบในการรับฟังประชาวิจารณ์ จึงมาสู่การจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกับของรัฐ ซึ่งการดำเนินการเสร็จสิ้นและผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.53 แล้ว และนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปแล้วตั้งแต่สมัยผู้บริหารชุดที่ผ่านมา
 
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นชุดปัจจุบัน สกอ.ก็ได้ดำเนินการทำหนังสือสอบถามมายังมหาวิทยาลัยที่ได้ส่ง (ร่าง) พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... เพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกับของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยยืนยันในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีมติให้ยืนยันเรื่องดังกล่าวไปยัง สกอ. อีกครั้งหนึ่ง โดยในขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังคงอยู่ที่ สกอ. ยังไม่ได้มีขั้นตอนในการส่งต่อเพื่อพิจารณาใดๆ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายอีกหลายลำดับ จึงจะถูกนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม. เรื่องนี้ไม่ใช่วาระเร่งด่วน จึงยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ในเรื่องนี้ 
 
กรณีความหนักใจของผู้ปกครอง และนักศึกษา ในเรื่องของค่าเล่าเรียนจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยทางอ้อมนั้น ทางมหาวิทยาลัยเน้นย้ำว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงยืนหยัดในบทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นที่พึงของชาวอีสาน เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย หากนักศึกษามีความขัดสนในเรื่องค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยก็มีการจัดหางบประมาณ เพื่อสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาทั้งจากภาครัฐและเอกชนสนับสนุนให้แก่นักศึกษาที่ยากจนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดหารายได้จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จะต้องเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และสนับสนุนการศึกษา ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ซึ่งครอบคลุมถึงการไม่มีสถานที่ที่เป็นแหล่งมั่วสุมหรือมอมเมาเยาวชน ไม่เป็นสถานที่ที่จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และผิดกฎหมาย โดยหวังว่าวิธีนี้จะเป็นทางออกในการพัฒนาสถาบันโดยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อมาถึงการออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาว่า เป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ และผู้บริหารก็รับฟังมาโดยตลอดและพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตาม นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต้องระวังไม่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน ทุกฝ่ายมุ่งเน้นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยในทุกด้านให้ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาของภูมิภาคและประเทศได้ มีการจัดการองค์กรที่ดี เป็นต้นแบบที่ดีในการบริหารจัดการทรัพยากร ทรัพย์สิน และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดและพึ่งตนเองได้ และต้องเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุขด้วย
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net