Skip to main content
sharethis

เตือนระวังเทคนิคการ “งดโอ สโลว์ดาวน์ หยุดงาน” อาจใช้ไม่ได้ในช่วงที่นายจ้างอ้างวิกฤตเช่นตอนน้ำท่วมนี้ เพราะหลายที่ไม่มีโอทีให้ทำหรือบางที่มีการประกาศใช้มาตรา 75 ไปแล้ว แนะแสดงพลังให้นายจ้างเห็นว่าคนงานและสมาชิกสหภาพหนุนข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 54 ที่ศูนย์สารภี จ.เชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดเวทีฝึกอบรมการเจรจาต่อรองสำหรับกิจกรรมสหภาพแรงงาน โดยมีบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้เดินทางมาอบรมเทคนิคต่างๆ ให้กับแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับหลักการการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานนั้นบุญยืนให้ความเห็นว่า หลักสำคัญอันแรกที่สหภาพแรงงานต้องใช้ในการเจรจาต่อรองนั้น กรรมการสหภาพต้องทำการสื่อสารและสะท้อนเสียงจากสมาชิกว่าต้องการอะไรและนำไปใส่ไว้ในข้อเรียกร้อง ในส่วนของตัวแทนสหภาพแรงงานที่ต้องไปร่วมโต๊ะเจรจา ตัวแทนสหภาพจะต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง หาข้อมูลข่าวสารรอบตัวนอกเหนือจากสถานการณ์ในโรงงาน ต้องเป็นนักอ่านรู้ความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยองค์ประกอบในการเจราจาต่อรองนอกจากผู้เจรจาที่มีทักษะและความสามารถที่ต้องฝึกฝนแล้ว ต้องทำให้ฐานสมาชิกสนับสนุนข้อเรียกร้อง รวมถึงข้อมูลประกอบในการทำข้อเรียกร้องต้องมีคุณภาพ โดยทุกครั้งก่อนยื่นข้อเรียกร้องนั้นต้องมีการประชุมและสะท้อนความเห็นจากสมาชิก มีการชี้แจงต่อสมาชิกให้มีส่วนร่วมมากที่สุด สำหรับข้อมูลในการประกอบข้อเรียกร้องนั้นสามารถหาได้ทั้งจากภายนอกและภายในบริษัท โดยข้อมูลผู้ถือหุ้นบริษัท งบดุลบริษัทนั้นสามารถไปขอได้ที่พาณิชย์จังหวัด หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงฐานข้อมูลเงินเดือนพนักงาน เงินเดือนตอบแทนผู้บริหาร สิ่งเหล่านี้ต้องนำมานำเสนอให้สมาชิกเข้าใจถึงสถานการณ์ในแต่ละช่วง ทั้งนี้ฝ่ายจัดเก็บข้อมูลของสหภาพต้องทำหน้าที่ตลอดทั้งปี รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปประมวลผล ยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้าง และปลุกใจสมาชิกให้เห็นถึงช่องว่างรายได้ อันเป็นสิ่งที่ไปสู่ข้อเสนอที่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง และก่อนการยื่นข้อเรียกร้องแต่ละครั้งนั้น นอกจากการเขียนข้อเรียกร้องให้รัดกุมเพื่อนำไปต่อรองกับนายจ้างแล้ว สหภาพแรงงานต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน อย่าให้นานจ้างคุมเกมยืดระยะเวลาไปจนฝ่ายคนงานเสียเปรียบ เทคนิคการกดดันให้นายจ้างยอมรับข้อตกลงนั้น ในอดีตเทคนิคการงดโอ สโลว์ดาวน์ จนไปถึงยื่นข้อพิพาทแรงงานนั้น เคยใช้ได้ผล แต่ในช่วงวิกฤตอย่างปัจจุบันที่มีการอ้างปัญหาน้ำท่วมนั้น เทคนิคนี้อาจจะใช้ไม่ได้ เพราะนายจ้างเตรียมโต้กลับไว้แล้ว และหลายที่ก็ไม่มีโอทีให้ทำ หรือบางที่มีการประกาศใช้มาตรา 75 ไปแล้ว บุญยืนเสนอว่าอาจต้องใช้เทคนิคที่ยืดหยุ่นกว่าเดิมแต่ต้องกดดันนายจ้างได้ เช่น การใช้การกดดันเชิงสัญลักษณ์ ชุมนุมกันตามสิทธิ ไม่ให้เกิดความเสียหายกับโรงงาน แต่พยายามแสดงสัญลักษณ์ให้นายจ้างเห็นว่าสมาชิกสหภาพมีความสามัคคีและหนุนข้อเรียกร้องเช่น การนัดกันเข้าโรงงานอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเช้า หรือการชุมนุมเป็นกลุ่มในเวลาว่างจากงาน สอบถามข้อมูลของบริษัท หรือหลังเลิกงานก่อนกลับบ้านต้องเกณฑ์สมาชิกมาฟังคำชี้แจงจากกรรมการสหภาพอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net