รายงาน: เปิดคำแถลงปิดคดี ‘อากง SMS’ ต่อจิ๊กซอว์จากเบอร์ต้นทางถึงชายแก่ปลายทาง

คดีของอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ ‘คดีอากง’ ดูจะเป็นที่สนใจสำหรับสาธารณชนมากเป็นพิเศษ มากกว่าคดีประเภทเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่าน เพราะมีความย้อนแย้งในตัวหลายระดับ กระทั่งทำให้กระบวนการพิพากษา พิจารณาคดี ถูกทักถาม สอบทาน ความรู้สึกสะเทือนใจทำให้ผู้คนอยากรู้ อยากเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คำถามว่าข้อความ ‘ที่ว่า’ คืออะไร เป็นคำถามซึ่งหมดทางที่ใครจะให้คำตอบอย่างเป็นทางการได้ แต่คำถามว่าอากงโดนจับได้อย่างไร กระบวนการสอบสวนอันเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ซับซ้อนไล่จากไหนไปไหน อะไรคือข้อถกเถียงหลักๆ ในกระบวนการซับซ้อนดังกล่าว เป็นสิ่งที่อาจพอหาคำตอบ ปะติดปะต่อได้ จาก ‘คำแถลงปิดคดี’ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ (ขึ้นอีกเล็กน้อย) ‘ประชาไท’ ได้สรุปประเด็นข้อโต้แย้งสำคัญ รวมถึงกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ไว้โดยคร่าว อ้างอิงจากคำแถลงปิดคดี สำหรับกระบวนการสืบสวนจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.เส้นทางการสืบสวนตามที่เจ้าหน้าที่ให้การต่อศาล 2.พยานเอกสารที่ตำรวจนำส่งต่อศาล ซึ่งคำแถลงปิดคดีระบุว่าไม่เรียงลำดับอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามที่มีการเบิกความ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการเชื่อมโยงถึงจำเลย และในส่วนล่างสุดจะเป็นคำแถลงปิดคดีฉบับเต็ม 00000000 สรุปประเด็นสำคัญ 1.หมายเลขโทรศัพท์ซึ่งส่งข้อความ คือ xxxxx15 (ระบบเติมเงินของDTAC) และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย คือ xxxxx27 (ระบบเติมเงินของ TRUE) เป็นคนละหมายเลขกัน แต่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีหมายเลขอีมี่ตรงกัน 2.หมายเลขอีมี่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นเลขหมายใดก็ได้ และเมื่อแก้ไขเแล้วก็จะไปปรากฏยังระบบของผู้ให้บริการ การตรวจสอบและเชื่อมโยงการกระทำความผิดจากหมายเลขอีมี่จึงไม่มีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดได้ เพราะหมายเลขอีมี่ไม่เหมือนดีเอ็นเอที่สามารถระบุความเป็นตัวตนของเครื่องโทรศัพท์ได้ >พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ TRUE ได้ให้การว่า “ข้าฯเคยได้ยินมาว่ามีการเปลี่ยนหมายเลขอีมี่กลางโดยการจ้างช่างโทรศัพท์เป็นเลขอีมี่อย่างอื่นได้” และ “อีมี่กลางนั้นสามารถใช้กับโทรศัพท์หลายๆ เครื่องได้” >พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ได้ให้การว่า “หมายเลขอีมี่สามารถให้ช่างเครื่องซ่อมโทรศัพท์มือถือที่เชี่ยวชาญเปลี่ยนได้ ซึ่งจะทำให้หมายเลขอีมี่ที่ถูกเปลี่ยนนั้นไปปรากฏยังฐานข้อมูลของบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงด้วย” >เอกสารที่ทนายจำเลยนำส่งศาลระบุว่า มีความแพร่หลายในวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมายเลขอีมี่ทั้งจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและมีเปิดสอนหลักสูตรในโรงเรียนสอนซ่อมมือถือดังกล่าว “เลขหมายอีมี่สามารถเปลี่ยนใหม่สำหรับเครื่องที่ถูกขโมยมาได้ และ 10% ของหมายเลขอีมี่ก็ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะ” 3. โจทก์ก็ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานในการตรวจสอบอีมี่จากทั้ง 3 บริษัทของผู้ให้บริการโทรศัพท์ในประเทศไทย (ไม่ได้ตรวจของเอไอเอส) จึงไม่อาจอ้างได้ว่าอีมี่นี้มีผู้ใช้เพียงเบอร์เดียว 4. กระบวนการสืบสวนตามพยานเอกสารที่นำส่งศาลไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเริ่มต้นขอความร่วมมือจาก TRUE โดยนำเบอร์ xxxxx27 ของจำเลยมาตรวจสอบข้อมูลการโทร ทั้งที่ยังไม่ทันได้เลขอีมี่จากเบอร์ xxxxx15 ซึ่งเป็นเบอร์ใช้ก่อเหตุ แสดงให้เห็นว่าเป็นการเจาะจงขอข้อมูลจากหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยมาตั้งแต่ต้น โดยที่ยังไม่มีความเชื่อมโยงจากหมายเลขอีมี่เป้าหมายแต่อย่างใด และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่ใช่หมายเลขที่ใช้ในการกระทำความผิด 5. คดีนี้มีความผิดพลาดในการสอบสวน สืบสวน มีที่มาของพยานหลักฐานโดยมิชอบ เนื่องจากพยานหลักฐานส่วนใหญ่ในคดีเป็นพยานเอกสาร ซึ่งเอกสารที่ศาลจะสามารถรับฟังได้นั้นต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานโจทก์อย่างชัดแจ้ง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่เบิกความ ซึ่งทำให้ไม่มีความสมเหตุสมผลในการเชื่อมโยง ติดตามหาตัวจำเลยว่าเป็นผู้กระทำผิด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทราบหมายเลขอีมี่ของหมายเลขที่กระทำความผิดเป็นลำดับท้ายสุด ในการสืบจำเป็นต้องทราบหมายเลขอีมี่ก่อนจึงจะทำการตรวจสอบได้ แต่เอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีการตรวจสอบจากหมายเลขของจำเลย (xxxx27) ซึ่งไม่ใช่หมายเลขในการส่งข้อความโดยตรง พยานหลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสืบสวนสอบสวนมุ่งโดยตรงมาที่จำเลยตั้งแต่ต้นโดยไม่ได้ตรวจสอบมาจากอีมี่ตั้งแต่แรกตามที่โจทก์กล่าวอ้าง (รายละเอียดขั้นตอนที่ขัดแย้งกันระหว่างพยานเอกสารกับคำเบิกความ กรุณาดูผังด้านล่าง) 6. บันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำของบุตรสาวจำเลย ก่อนจะมีการจับกุมตัวจำเลยก็ไม่ปรากฏหมายเลขอีมี่ 7. หนังสือแจ้งผลการตรวจข้อมูลโทรศัพท์จากดีแทคระบุวันที่ไม่ตรงกับวันเกิดเหตุ “ทางบริษัทได้แจ้งข้อมูลการโทรให้ทราบแล้ว แต่ยังมีประเด็นเรื่องรหัสประจำเครื่อง(IMEI)ที่ขณะนั้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ บริษัทได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าในช่วงวันที่ 10-15 มิถุนายน 2553 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข xxxxx15 ใช้คู่กับโทรศัพท์(IMEI)หมายเลข xxxxxxxxxxxxxx 0” เจ้าหน้าที่บริษัทให้การว่าใส่วันที่ผิด แต่พบข้อพิรุธว่า มีการระบุว่า “ยังตรวจสอบไม่ได้”, ไม่มีการแนบข้อมูลการโทรมีเพียงการระบุอีมี่ อีกทั้งในการส่งเอกสารมาครั้งแรกไม่มีการเซ็นรับรองเอกสาร แต่เพิ่งมาเซ็นรับรองเอกสารในครั้งที่สอง จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ 8. โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะแสดงได้ว่าจำเลยเป็นคนกดข้อความ หรือส่งข้อความดังกล่าวไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลใดยืนยันได้ว่าจำเลยซึ่งอายุหกสิบเอ็ดปีแล้ว สามารถส่งข้อความได้ มีเพียงพยานเอกสารซึ่งพยายามเชื่อมโยงว่าเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความและเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเป็นเครื่องเดียวกัน 9. คำให้การพยานโจทก์จากทรู ยังให้การต่อศาลว่า “จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์ [หมายเลข xxxxx27 ซึ่งเป็นของนายอำพล-ประชาไท] ไม่ปรากฏว่ามีการส่งข้อความ sms จากเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าว” 10. โจทก์ยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลที่ก้าวร้าว ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีมูลเหตจูงใจในการกระทำความผิด ในทางตรงกันข้ามจำเลยไม่เคยมีประวัติอาชญากร มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแสดงออกโดยไปลงนามถวายพระพรอยู่เสมอทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งได้ไปร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาด้วย ทำความเข้าใจเบื้องต้น กระบวนการสืบสวนคดี ‘อากง’ 1.เรียงลำดับจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ต่อศาล 1. เบอร์ xxxxx15 > เลขานุการนายกฯ อภิสิทธิ์ [ได้รับ SMS 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9,11,12,22 พ.ค.] 2. เลขาฯ > ตำรวจ [แจ้งความ] 3. ตำรวจ > [ตรวจสอบข้อมูลพบเป็นเบอร์ของ DTAC ไม่จดทะเบียน จึงไม่สามารถตรวจสอบชื่อ เจ้าของเบอร์ได้ว่าเป็นใคร] 4. ตำรวจ > DTAC [ตรวจสอบพบว่าเบอร์ xxxxx15 ไม่มีการใช้งานตั้งแต่ 23 พ.ค.53] 5. ตำรวจ > DTAC [ขอ log file ของเบอร์ xxxxx15 เพื่อตรวจสอบหาหมายเลขเครื่อง(EMEI) และ การติดต่อกับบุคคลอื่น ทั้งนี้ ใน log file จะประกอบด้วย รายการโทรเข้าออก วันที่ เวลา ระยะเวลาการโทร EMEI ที่ตั้งเสาสัญญาณ ฯ ] 6. ตำรวจ > DTAC, AIS, TRUE [แขวน EMEI หมายถึงการนำอีมี่เป้าหมาย ในกรณีนี้คืออีมี่ของ เครื่องเบอร์ xxxxx15 ไปให้ทุกบริษัทตรวจสอบในระบบของแต่ ละค่ายว่าพบเบอร์อื่นใดที่มี EMEI หรือเลขประจำเครื่องตรงกันหรือไม่] 7. ตำรวจ > TRUE [พบว่ามีอีมี่เป้าหมายที่บริษัททรู คือ หมายเลข xxxxx27] 8. ตำรวจ > TRUE [ขอ log file ของเบอร์ xxxxx27 และพบว่ามีการติดต่อกับเบอร์ต่างๆ โดยมีเบอร์ xxxxx00 โทรเข้าบ่อย และเบอร์ดังกล่าวเป็นเบอร์จดทะเบียน] 9. ตำรวจ > เจ้าของเบอร์ xxxxx00 [เรียกเจ้าของเบอร์ (ซึ่งเป็นลูกสาวนายอำพล) มาสอบถามได้ความว่าเบอร์ xxxxx27 เป็นเบอร์ของอำพล/บิดา] 10. ตำรวจ > อำพล [เจ้าหน้าที่กว่า 10 นายจากหลายหน่วยงาน บุกจับกุมตัวจำเลยที่บ้านเช่าย่านสำโรง พร้อมกองทัพนักข่าว] 2. เรียงลำดับจากพยานเอกสารที่เจ้าหน้าที่นำส่งศาล 1. เบอร์ xxxxx15 > เลขานุการนายกฯ อภิสิทธิ์ [ได้รับ SMS 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9,11,12,22 พ.ค.] 2. เลขาฯ > ตำรวจ [แจ้งความ] 3. ตำรวจ > ทรู [ตรวจสอบการใช้ของหมายเลข xxxxx27 ซึ่งเป็นเบอร์ไม่จดทะเบียน และพบว่ามี การติดต่อกับเบอร์ต่างๆ โดยมีเบอร์ xxxxx00 โทรเข้าบ่อย และเบอร์ดังกล่าวเป็น เบอร์จดทะเบียน] 4. ตำรวจ > เจ้าของเบอร์ xxxx00 [ เรียกมาให้การ ได้ความว่าเบอร์ xxxxx27 เป็นอำพล/บิดา] 5. ตำรวจ > DTAC [ตรวจสอบพบว่า เบอร์ xxxxx15 ไม่มีการใช้งานตั้งแต่ 23 พ.ค.53] 6. ตำรวจ > DTAC [ ขอ log file หมายเลข xxxxx15 และทำให้ทราบเลขอีมี่] 7. ตำรวจ > อำพล [เจ้าหน้าที่กว่า 10 นายจากหลายหน่วยงาน บุกจับกุมตัวจำเลยที่บ้านเช่าย่าน สำโรง พร้อมกองทัพนักข่าว] หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจาก พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจำเลย และ ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 000000000 คำแถลงปิดคดี ข้อ ๑.คดีนี้สืบพยานจำเลยเสร็จในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ และศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ จำเลยมีความประสงค์ขอยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคดี เนื่องจากพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีข้อพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อยไม่น่ารับฟัง ไม่อาจนำมาสู่การลงโทษจำเลยซึ่งไม่ได้กระทำความผิดได้ โดยจำเลยขอเรียนพยานหลักฐาน ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการทำพิพากษาของศาลดังต่อไปนี้ ข้อ ๒.การใช้หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์(IMEI) เชื่อมโยงการกระทำความผิดไม่น่าเชื่อถือในการระบุเครื่องที่ใช้กระทำความผิด เนื่องจากหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์(IMEI)สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ จำเลยขอเรียนต่อศาลว่าคดีนี้โจทก์เชื่อมโยงการกระทำความผิดมาถึงตัวจำเลยได้โดยใช้หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์(IMEI) ซึ่งการใช้โทรศัพท์ครั้งหนึ่งทั้งการโทรศัพท์ หรือการรับส่งข้อความจะปรากฎข้อมูลการโทรที่ผู้ให้บริการ ซึ่งจะปรากฎรายละเอียดทั้งวันที่ เวลา หมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือ IMEI (ต่อไปขอเรียกว่าหมายเลขอีมี่) ซึ่งในกรณีดังกล่าวหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งส่งข้อความ และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยเป็นคนละหมายเลขกัน แต่โจทก์กล่าวอ้างว่ามีหลายเลขอีมี่ตรงกัน กล่าวคือโจทก์กล่าวอ้างว่ามีการส่งข้อความจากโทรศัพท์เครื่องเดียวกันกับของจำเลย อย่างไรก็ตามแม้โดยหลักการแล้วหมายเลขอีมี่จะเปรียบเสมือนบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งแต่ละเครื่องจะมีเลขอีมี่ประจำของตนและจะไม่ซ้ำกัน แต่ในทางปฏิบัติซึ่งทราบกันอยู่ทั่วไปว่าหมายเลขอีมี่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และพยานหลักฐานของโจทก์ก็ยอมรับถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว กล่าวคือ จากบันทึกข้อความในการส่งของกลางตรวจพิสูจน์เอกสารหมายจ.๑๑ ข้อ ๙.๑ ได้ขอให้ตรวจพิสูจน์ว่า “โทรศัพท์ของกลางข้อ ๘.๑ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขเดิมเป็นหมายเลขใด” จากคำให้การของพยานโจทก์ปากนายXXXXXXXXXXX เจ้าหน้าที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด หน้าที่ ๓ ได้ให้การว่า “ข้าฯเคยได้ยินมาว่ามีการเปลี่ยนหมายเลขอีมี่กลางโดยการจ้างช่างโทรศัพท์เป็นเลขอีมีอย่างอื่นได้” และ “อีมี่กลางนั้นสามารถใช้กับโทรศัพท์หลายๆเครื่องได้” จากคำให้การพยานโจทก์พ.ต.อ.XXXXXXXXXXX หน้าที่ ๔ ได้ให้การว่า “หมายเลขอีมี่สามารถให้ช่างเครื่องซ่อมโทรศัพท์มือถือที่เชี่ยวชาญเปลี่ยนได้ ซึ่งจะทำให้หมายเลขอีมี่ที่ถูกเปลี่ยนนั้นไปปรากฏยังฐานข้อมูลของบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงด้วย” รวมทั้งข้อมูลตามเอกสารหมายล.๖ และล.๗ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความแพร่หลายในวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมายเลขอีมี่ทั้งจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและมีเปิดสอนหลักสูตรในโรงเรียนสอนซ่อมมือถือดังกล่าว และข้อความตามเอกสารหมายล.๗ ยังระบุถึงข้อจำกัดของหมายเลขอีมี่ว่า “เลขหมายอีมี่สามารถเปลี่ยนใหม่สำหรับเครื่องที่ถูกขโมยมาได้ และ 10% ของหมายเลขอีมี่ก็ไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะ” จากพยานเอกสารของโจทก์และคำให้การของพยานโจทก์ รวมถึงพยานเอกสารของจำเลยที่กล่าวมาข้างต้นย่อมสรุปได้ว่า หมายเลขอีมี่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยสามารถแก้ไขเปลี่ยนเป็นเลขหมายใดก็ได้ และเมื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วก็จะไปปรากฏยังผู้ให้บริการ ทำให้หมายเลขอีมี่ไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะเมื่อหมายเลขอีมี่สามารถแก้เปลี่ยนแปลงได้ย่อมไม่สามารถที่จะระบุเครื่องโทรศัพท์ได้อย่างแน่นอน การตรวจสอบและเชื่อมโยงการกระทำความผิดจากหมายเลขอีมีจึงไม่มีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดได้ เพราะหมายเลขอีมีไม่เหมือนดีเอ็นเอที่สามารถระบุความเป็นตัวตนของเครื่องโทรศัพท์ได้ ประกอบกับโจทก์ก็ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานในการตรวจสอบจากทั้งสามบริษัทของผู้ให้บริการโทรศัพท์ในประเทศไทย ว่ามีการตรวจสอบแล้วครบทั้งสามบริษัทพบหมายเลขอีมี่ที่ปรากฏใช้เพียงหมายเลขเดียว มีเพียงคำให้การกล่าวอ้างลอยๆว่าได้ทำการแขวนอีมี่กับทั้งสามเครือข่ายผู้ให้บริการ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดง มีเพียงข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของบริษัท ดีแทค จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ตามเอกสารหมายจ.๕และจ.๖ เท่านั้น นอกจากนี้พยานโจทก์ยังให้การขัดแย้งกันเองกล่าวคือพยานโจทก์ปากร.ต.อ.XXXXXXXXXXX พ.ต.อ.XXXXXXXXXXX และพ.ต.ท.XXXXXXXXXXX ได้ให้การว่าตรวจสอบจากทั้งสามบริษัทแล้ว ในขณะที่พ.ต.ท.XXXXXXXXXXXซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ได้ให้การในหน้าที่ ๒ วรรคสุดท้ายว่า “คณะทำงานได้มีหนังสือไปยังค่ายดีแทคและค่ายทรูมูฟเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ตามเอกสารหมายจ. ๕ และ จ.๖” ซึ่งไม่ได้พูดถึงการตรวจสอบจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอวิส จำกัด แต่อย่างใด และแม้พ.ต.ท.XXXXXXXXXXX จะให้การขัดแย้งกับพยานโจทก์รายอื่นแต่กลับให้การสอดคล้องกับพยานเอกสารซึ่งมีเพียงข้อมูลจากสองบริษัท จึงทำให้คำให้การพยานของพ.ต.ท.XXXXXXXXXXX มีน้ำหนักมากกว่าพยานปากอื่นๆ เมื่อโจทก์ก็ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานว่ามีการตรวจสอบจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอวิส จำกัด หรือมีหนังสือตอบกลับมาจากบริษัทดังกล่าวว่าไม่มีผู้ใช้บริการของบริษัทดังกล่าวใช้หมายเลขอีมี่ที่ตรงกับเครื่องซึ่งใช้ส่งข้อความ ทั้งที่การตรวจสอบและการยื่นพยานหลักฐานสามารถกระทำได้โดยง่าย หากโจทก์ได้ทำการตรวจสอบจริงก็สมควรยื่นหลักฐานดังกล่าวเข้ามาเพื่อแสดงความชัดเจนและความบริสุทธิ์ใจในการสืบสวน จึงน่าเชื่อว่าการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวไม่มีการตรวจสอบจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอวิส จำกัดจริง นอกจากนี้จำเลยขอเรียนว่าเอกสารข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของบริษัททรูมูฟจำกัดตามเอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๖ถึงแผ่นที่ ๑๓ นั้นไม่น่าเชื่อถือ และไม่อาจเรียกว่าเป็นการแขวนอีมี เพราะหากเป็นการแขวนอีมี่นั้น โดยเหตุผลแล้วการตรวจสอบจากบริษัททรูมูฟจำกัด ต้องเริ่มตรวจสอบจากหมายเลขอีมี่ แล้วจึงพบเบอร์โทรศัพท์ของจำเลยใช้คู่กับหมายเลขอีมี่ดังกล่าว แต่จากข้อความในเอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๖ ซึ่งมีข้อความว่า “ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีหนังสือตามที่อ้างถึงให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (“บริษัท”)ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๕XXXXXXX๒๗.....” แสดงให้เห็นว่าเป็นการเจาะจงขอข้อมูลจากหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยมาตั้งแต่ต้น โดยที่ยังไม่มีความเชื่อมโยงจากหมายเลขอีมี่เลย และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่ใช่หมายเลขที่ใช้ในการกระทำความผิด พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือพอที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่าในเครือข่ายของบริษัททรูมูฟจำกัดนั้นมีเบอร์โทรศัพท์ซึ่งใช้กับหมายเลขอีมี่นี้หมายเลขเดียว จำเลยขอเรียนต่อศาลว่านอกจากความไม่น่าเชื่อถือในการนำหมายเลขอีมี่มาตรวจสอบแล้ว โจทก์ยังนำเสนอพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนพอที่จะแสดงให้เห็นว่ามีหมายเลขอีมี่ดังกล่าวหมายเลขเดียวที่ใช้ในประเทศไทย การสืบสวนสอบสวนตามความเชื่อทางทฤษฎีว่าหมายเลขอีมี่เป็นหมายเลขประจำเครื่องไม่มีทางซ้ำกันนั้น ทำให้โจทก์ผิดหลงในการสืบสวนสอบสวนมาตั้งแต่ต้น หากโจทก์ทำการตรวจสอบครบถ้วนจริง โจทก์ก็ต้องแสดงพยานหลักฐานในการตรวจสอบตั้งแต่ต้น แต่โจทก์กลับไม่แสดงพยานหลักฐานให้ศาลสิ้นสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์ได้ มีเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆซึ่งขัดแย้งกับพยานหลักฐานของโจทก์เอง ข้อ ๓.การสืบสวน สอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง ไม่ได้เชื่อมโยงจากหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ (หมายเลขอีมี่) และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารอย่างชัดแจ้ง จำเลยขออนุญาตชี้ประเด็นให้ศาลพิจารณาว่าคดีนี้มีความผิดพลาดในการสอบสวน สืบสวน มีที่มาของพยานหลักฐานโดยมิชอบ เนื่องจากพยานหลักฐานส่วนใหญ่ในคดีเป็นพยานเอกสาร ซึ่งเอกสารที่ศาลจะสามารถรับฟังได้นั้นต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานโจทก์อย่างชัดแจ้งกล่าวคือ ๓.๑ วันที่ตามพยานเอกสารหมายจ. ๕ และจ.๖ ขัดแย้งกับลำดับขั้นตอนในการสืบสวนสอบสวนตามคำเบิกความของพยานโจทก์ ในการสืบสวน สอบสวนเชื่อมโยงการกระทำความผิดจากเอกสารหมาย จ.๗ และจากคำให้การพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ให้การตรงกันคือ ในการสืบสวนสอบสวนจะมีลำดับขั้นตอนดังนี้ ๑. มีผู้กระทำความผิดซึ่งส่งข้อความโดยเบอร์ ๐๘๑-XXXXXXXXXXX๑๕ ไปยังเบอร์ ๐๘๑ –XXXXXXXXXXX๙๙ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯส่วนตัวนายอภิสิทธ์ เวชาชีวะ เป็นจำนวนสี่ครั้งในวันที่ ๙ ,๑๑, ๑๒ และ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ๒. ตรวจสอบหมายเลขผู้ส่ง ๐๘๑- XXXXXXXXXXX๑๕ พบว่าเป็นหมายเลขเติมเงินไม่จดทะเบียนของบริษัท DTAC มีหมายเลขเครื่อง(IMEI) ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ๐ ใช้งานในเขตสมุทรปราการ ๓. ตรวจสอบหมายเลขผู้ส่ง ๐๘๑- XXXXXXXXXXX๑๕ พบว่าไม่มีการใช้งานตั้งแต่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ๔. นำหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ๐ ไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ทั้งสามบริษัทพบว่า ปัจจุบันเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวใช้กับหมายเลข ๐๘๕XXXXXXXXXXX๒๗ ของบริษัท TRUMOVE จำกัดเป็นหมายเลขไม่จดทะเบียน ๕. พนักงานสอบสวน ตรวจสอบข้อมูลการใช้หมายเลข ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ และสืบจากหมายเลขโทรเข้าออกซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนของบุตรเขยจำเลย โดยนางxxxxxxxxxxxxxx บุตรสาวจำเลยเป็นผู้ใช้อยู่ ทำให้ทราบว่าหมายเลข๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗เป็นของนายอำพล XXXXXXXXXXX จากแผนผังดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าวต้องทำเป็นขั้นตอนตามลำดับ จึงจะสามารถเชื่อมโยงมายังหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยได้ ไม่สามารถกระทำข้ามขั้นตอนลำดับใดลำดับหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีตามเอกสารหมายล.๑ และเอกสารหมาย จ.๑๙ ซึ่งเป็นเอกสารฉบับเดียวกันคือคำให้การของนางxxxxxxxxxxxxxx บุตรสาวจำเลยกลับระบุว่าได้มาให้การต่อเจ้าพนักงานในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งทำให้ทราบว่าผู้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ คือนายอำพล XXXXXXXXXXX เมื่อเทียบกับขั้นตอนด้านบนจะเป็นลำดับที่ ๕ การตรวจสอบข้อมูลการโทรหมายเลข ๐๘๑- XXXXXXXXXXX๑๕ จากบริษัทดีแทคจำกัดพบว่าไม่มีการใช้งานตั้งแต่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ตรวจสอบได้ข้อมูลในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ตามเอกสารหมาย จ.๕ ซึ่งเป็นลำดับขั้นตอนที่ ๓ ในขณะที่การตรวจสอบข้อมูลการโทรของหมายเลข ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ บริษัททรูมูฟจำกัดได้มีหนังสือแจ้งข้อมูลการโทรของหมายเลขดังกล่าวในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึงพันตำรวจเอก XXXXXXXXXXX ตามเอกสารหมายจ.๖แผ่นที่ ๖ ซึ่งเป็นลำดับขั้นตอนที่ ๔ การตรวจสอบหมายเลขอีมี่ซึ่งใช้คู่กับหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑- XXXXXXXXXXX๑๕ กับบริษัทดีแทคจำกัด ในการส่งข้อความพบว่าเป็นหมายเลขอีมี่ ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ๐ ตรวจสอบได้ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ตามเอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๒ ซึ่งเป็นลำดับขั้นตอนที่ ๒ จากข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์เองและพยานโจทก์ทุกปากให้การยอมรับการตรวจสอบตามเอกสารหมายจ.๕และจ.๖ จะพบว่าลำดับขั้นตอนหากนำมาเรียงตามลำดับวันที่แล้วจะได้เป็น วันที่ ๙,๑๑,๑๒ และ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ลำดับที่ ๑ มีผู้กระทำความผิดซึ่งส่งข้อความโดยเบอร์ ๐๘๑-XXXXXXXXXXX๑๕ ไปยังเบอร์ ๐๘๑ –XXXXXXXXXXX๙๙ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯส่วนตัวนายอภิสิทธ์ เวชาชีวะ เป็นจำนวนสี่ครั้งในวันที่ ๙ ,๑๑, ๑๒ และ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ลำดับที่ ๕ พนักงานสอบสวน ตรวจสอบข้อมูลการใช้หมายเลข ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ และสืบจากหมายเลขโทรเข้าออกซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนของบุตรเขยจำเลย โดยนางxxxxxxxxxxxxxx บุตรสาวจำเลยเป็นผู้ใช้อยู่ ทำให้ทราบว่าหมายเลข๐๘๕XXXXXXXXXXX๒๗เป็นของนายอำพล XXXXXXXXXXX(ยังไม่ทราบหมายเลขอีมี่) วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ลำดับที่ ๓ ตรวจสอบหมายเลขผู้ส่ง ๐๘๑-XXXXXXXXXXX๑๕ พบว่าไม่มีการใช้งานตั้งแต่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓(ยังไม่ทราบหมายเลขอีมี่) วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ลำดับที่ ๔ ทราบข้อมูลการโทร ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ จากบริษัททรูมูฟ จำกัด (ยังไม่ทราบหมายเลขอีมี่) วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ลำดับที่ ๒ ตรวจสอบหมายเลขผู้ส่ง ๐๘๑- XXXXXXXXXXX๑๕ พบว่าเป็นหมายเลขเติมเงินไม่จดทะเบียนของบริษัท DTAC มีหมายเลขเครื่อง(IMEI) ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ๐ ใช้งานในเขตสมุทรปราการ (ทราบหมายเลขอีมี่) กล่าวคือหากเรียงตามลำดับวันที่เอกสารของโจทก์แล้ว โจทก์ใช้วิธีการดำเนินการสอบสวนตามลำดับคือ ๑-๕-๓-๔-๒ ซึ่งขัดแย้งกับลำดับขั้นตอนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอน ๑-๒-๓-๔-๕ ดังนั้นในวันที่ เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบปากคำนางXXXXXXXXXXX บุตสาวจำเลยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ทราบหมายเลขอีมี่ซึ่งใช้เชื่อมโยงเครื่องที่ใช้กระทำความผิดเลย แม้กระทั่งวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งทางบริษัทดีแทคจำกัดแจ้งข้อมูลการโทรของหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑XXXXXXXXXXX๑๕ ที่ใช้กระทำความผิดมา ก็ยังไม่ทราบหมายเลขอีมี่จนทางดีแทคต้องตรวจสอบและแจ้งหมายเลขอีมี่ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ อีกทั้งหนังสือตอบกลับของบริษัททรูจำกัด ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ตามเอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๖ นั้นก็เป็นการสอบถามจากหมายเลข ๐๘๕ XXXXXXXXXXX๒๗ ของจำเลยไม่ได้ตั้งต้นจากหมายเลขอีมี่ซึ่งการจะตรวจสอบจากบริษัททรูมูฟ จำกัดนั้นจำเป็นต้องทราบหมายเลขอีมี่ก่อนจึงจะทำการตรวจสอบได้ แต่เอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีการตรวจสอบจากหมายเลขของจำเลยซึ่งไม่ใช่หมายเลขในการส่งข้อความโดยตรง พยานหลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสืบสวนสอบสวนมุ่งโดยตรงมาที่จำเลยตั้งแต่ต้นโดยไม่ได้ตรวจสอบมาจากอีมี่ตั้งแต่แรกตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยขอเรียนว่าเอกสารตามหมายจ.๖ แผ่นที่ ๖ – ๑๓ ซึ่งเป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยเป็นเอกสารฉบับแรกในคดีนี้ที่มีหมายเลขอีมี่ปรากฏในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และปรากฏโดยไม่มีความเชื่อมโยงกับหมายเลขที่ใช้ในการกระทำความผิดมาก่อนเพราะเป็นหมายเลขอีมี่ที่ปรากฏจากเบอร์ของจำเลย ในขณะที่ตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำนางxxxxxx xxxxxxxx วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ เอกสารหมายจ.๑๙ ก็ไม่ปรากฏหมายเลขอีมี่ ประกอบกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนXXXXXXXXXXXเจ้าหน้าที่บริษัทดีแทคจำกัด ลงวันที่ ๒๐กรกฎาคม ๒๕๕๓ เอกสารหมายจ.๑๖ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑ XXXXXXXXXXX๑๕ ที่ใช้ในการกระทำความผิดและเป็นพยานปากสำคัญที่จะใช้เชื่อมโยงหมายเลขอีมี่ไปถึงหมายเลขอีมี่เครื่องจำเลยได้ แต่กลับไม่ปรากฏคำให้การในชั้นสอบสวนที่กล่าวถึงหมายเลขอีมี่อันจะเชื่อมโยงไปถึงจำเลยได้ แต่กลับปรากฎการแจ้งหมายเลยอีมี่ของเบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑ XXXXXXXXXXX๑๕ ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เอกสารหมาย จ.แผ่นที่ ๒ ตามที่จำเลยได้เรียนแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าพยานหลักฐานอื่นๆซึ่งเชื่อมโยงหมายเลขอีมี่จากบริษัทดีแทคจำกัดไปยังหมายเลขอีมี่ของจำเลยล้วนเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ได้ทราบหมายเลขอีมี่ของจำเลยแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นจะพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้พิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดหมายจ. ๕ และจ.๖ซึ่งพยานโจทก์ทุกปากให้การตามเอกสารดังกล่าว ขัดแย้งกับคำให้การพยานโจทก์เองอย่างชัดแจ้ง พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือ และเป็นไปไม่ได้ตามหลักของเหตุผลที่โจทก์ใช้ในการตรวจสอบและไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง ๓.๒ พยานหลักฐานโจทก์ เอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๒ ไม่ได้ระบุเอกสารแนบและระบุเลขวันที่ใช้ในการตรวจสอบหมายเลขอีมี่ผิดจากวันที่ส่งข้อความ กล่าวคือพยานเอกสารหมายจ.๖ แผ่นที่ ๒ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งผลการตรวจข้อมูลโทรศัพท์จากบริษัทดีแทคจำกัดถึงพ.ต.อ.XXXXXXXXXXXในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นั้น ระบุว่า ทางบริษัทได้แจ้งข้อมูลการโทรให้ทราบแล้ว “แต่ยังมีประเด็นเรื่องรหัสประจำเครื่อง(IMEI)ที่ขณะนั้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ บริษัทได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าในช่วงวันที่ ๑๐-๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑XXXXXXXXXXX๑๕ ใช้คู่กับโทรศัพท์(IMEI)หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ๐” ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเหตุใดทางบริษัทจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ และวันที่ตามหนังสือดังกล่าวก็ไม่ตรงกับวันทีเกิดเหตุ ในเรื่องนี้แม้XXXXXXXXXXX เจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายกฎหมายและXXXXXXXXXXX ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายให้การว่าเป็นเรื่องผิดหลง แต่หนังสือฉบับดังกล่าวกลับข้อพิรุธถึงสามจุดคือ ๑. ผิดหลงในเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งหากในคราวแรกไม่ได้ตรวจสอบ หนังสือฉบับนี้ควรแจ้งให้ถูกต้องไม่ใช่แจ้งว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ ๒. ระยะเวลาในการตรวจสอบของหนังสือดังกล่าวเป็นช่วงเดือนมิถุนายนไม่ตรงกับระยะเวลาที่เกิดเหตุในช่วงเดือนพฤษภาคม ๓. หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งหมายเลขอีมี่ไม่ได้ระบุว่ามีเอกสารแนบเป็นข้อมูลการโทร ซึ่งโดยหลักแล้วพยานเป็นเจ้าหน้าที่และผู้จัดการฝ่ายกฎหมายทำงานมาเป็นระยะเวลานาน การทำการตรวจสอบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายและเสรีภาพของบุคคล พยานย่อมต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการทำงาน แต่หนังสือดังกล่าวกลับมีข้อพิรุธถึงสามจุด อีกทั้งเอกสารหมายจ.๕ ที่พยานได้แจ้งผลการตรวจสอบมาในคราวแรกนั้นก็ไม่มีการเซ็นรับรองพยานเอกสาร ซึ่งต่างจากเอกสารแนบในการส่งมาครั้งที่สองนั้นมีการเซ็นรับรอง แสดงให้เห็นถึงการทำงานซึ่งไม่อาจเป็นมาตราฐาน ไม่มีความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ และไม่อาจทำให้จำเลยเชื่อได้ว่าหนังสือดังกล่าวทำขึ้นมาด้วยความสุจริตจริง ข้อ ๔. โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดสามารถยืนยันว่าจำเลยเป็นคน กดข้อความและส่งข้อความตามที่โจทก์กล่าวอ้างเลย จำเลยขอเรียนต่อศาลว่านอกจากพยานเอกสารของโจทก์น่าสงสัย และขัดแย้งกับคำให้การของพยานโจทก์เองแล้ว โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะแสดงได้ว่าจำเลยเป็นคนกดข้อความ หรือส่งข้อความดังกล่าวไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลใดยืนยันได้ว่าจำเลยซึ่งอายุหกสิบเอ็ดปีแล้ว สามารถส่งข้อความได้ มีเพียงพยานเอกสารซึ่งพยายามเชื่อมโยงว่าเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความความและเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเป็นเครื่องเดียวกัน จำเลยได้เรียนให้ศาลพิจารณาถึงความไม่น่าเชื่อถือของเอกสารดังกล่าวแล้ว และโจทก์ก็ไม่พบเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้กระทำความผิดที่จำเลย ประกอบกับคำให้การพยานโจทก์นายXXXXXXXXXXX เจ้าหน้าที่บริษัททรู หน้าที่สาม บรรทัดที่ ๑๒ ยังให้การต่อศาลว่า “จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์หมาย จ.๖ แผ่นที่ ๗ ถึง ๑๔ ไม่ปรากฎว่ามีการส่งข้อความ sms จากเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าว” และจากบันทึกคำให้การนางxxxxxxxxxxxxxxx วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เอกสารหมาย จ.๒๑ แผ่นที่ ๓ บรรทัดที่ ๖ยังให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าพยานทราบว่านายอำพลฯส่งข้อความไม่เป็น และไม่เคยเห็นว่านายอำพลส่งข้อความ ซึ่งตรงกับคำให้การพยานจำเลยเด็กหญิงXXXXXXXXXXXในหน้าที่ ๒ ซึ่งให้การว่า “ข้าฯไม่เคยเห็นจำเลยส่งข้อความให้กับผู้ใด” และจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ชั้นจับกุม สอบสวนและชั้นพิจารณา พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงให้ศ่าลเห็นว่าไม่เพียงจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่ไม่มีความสามารถในการกระทำความผิดด้วยซ้ำเนื่องจากจำเลยไม่สามารถส่งข้อความได้ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลที่ก้าวร้าว ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีมูลเหตจูงใจในการกระทำความผิด มีเพียงพยานหลักฐานซึ่งขัดแย้งกันเอง ไม่น่าเชื่อถือ นำมากล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์จึงเป็นการกล่าวหาอย่างร้ายแรงและไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยได้ ในทางตรงกันข้ามจำเลยไม่เคยมีประวัติอาชญากร มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแสดงออกโดยไปลงนามถวายพระพรอยู่เสมอทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งได้ไปร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาด้วย ซึ่งตรงกับคำให้การพยานจำเลยเด็กหญิงxxxxxxxxxxxxxx หลานสาวของจำเลยซึ่งจำเลยเคยพาไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราชให้การยืนยันตามคำให้การหน้าที่ ๑ ว่า “จำเลยเคยพาข้าฯไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงปิดเทอมปี ๒๕๕๒” ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นถึงความไม่น่าเชื่อถือของพยานโจทก์ซึ่งให้การขัดแย้งกับพยานเอกสาร และพยานเอกสารของโจทก์ซึ่งขัดแย้งกันเอง และเป็นไปไม่ได้โดยหลักของเหตุผลที่จะใช้ในการตรวจสอบ การสอบสวนที่มุ่งโดยตรงมาที่จำเลยตั้งแต่ต้นประกอบกับพฤติการณ์และความเป็นไปได้ที่จำเลยจะกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถมีได้เลย จำเลยจึงขอให้ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยหลักการของเหตุผลดังกล่าว และโปรดพิจารณาปล่อยจำเลยไป ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ลงชื่อ จำเลย คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้านางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจำเลยเป็นผู้เรียงและพิมพ์ ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท