Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านจวกกรมชลจัดเวทีประชาคมเลย-อุดรธานี นำข้อมูลทำ EIA-SEA โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล พูดแต่เรื่องชดเชยความเสียหาย เลี่ยงชี้แจงผลกระทบของโครงการใหญ่ วานนี้ (23 พ.ย.54) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง จ.เลย มีการจัดเวทีการประชุมระดับชุมชนและประชาคม ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงน้ำถ่วง ภาคตะวันออกเฉียง ซึ่งกรมชลประทานได้ว่าจ้าง บริษัทปัญญาคอลซัลแตนท์ จำกัด บริษัทครีเอทีฟเทคโนโลยี จำกัด บริษัท เอส เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เซ้าอีสเอเชียเทคโนโลยี จำกัด ให้ดำเนินการจัดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นายทรงศักดิ์ เสาวัง ผู้อำนวยการกลุ่มการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นมาเพื่อที่จะมาฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการที่จะดำเนินการโขงเลยชีมูล ว่ามีความคิดเห็นต่อโครงการอย่างไรบ้าง ซึ่งขอเน้นย้ำว่าขั้นตอนของโครงการนั้น อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เพื่อพยายามจะหาทางเลือกที่หลากหลายของการทำโครงการ ซึ่งถ้าหากได้ทำขึ้นมาจริงๆ โครงการก็จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในภาคอีสานเป็นอย่างมาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของเวทีในครั้งนี้ เริ่มด้วยวิทยากรผู้ชำนาญการด้านเทคนิควิศวกรได้นำเสนอรูปแบบ และลักษณะของ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง จากนั้นจึงนำเสนอผลประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ตลอดจนแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ทำการซักถามแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อนำไปประกอบเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาโครงการในลำดับถัดไป นายกัญ วงศ์อาจ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.เชียงคาน จ.เลย แสดงความคิดเห็นภายในเวทีในครั้งนี้ว่า การชี้แจงถึงรายละเอียดของโครงการยังไม่ชัดเจน พยายามที่จะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผลกระทบของโครงการ “สิ่งที่สังเกตได้ชัดในเวทีในวันนี้คือ กรมชลหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงเขื่อนเชียงคานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งถ้าหากสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะดันน้ำโขงให้สูงขึ้นเพื่อผันน้ำที่ปากน้ำเลยนั้น สิ่งที่ตามมาจะเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก หมู่บ้านท้ายน้ำจะถูกน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย แต่กลับไม่มีการชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้ในเวที พูดแต่รายละเอียดเชิงเทคนิค และผลประโยชน์จากโครงการเพียงด้านเดียวเท่านั้น และในหลายเวทีเวลาถามถึงความชัดเจนต่อปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรมชลก็จะบอกเพียงว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เพื่อที่จะหาทางเลือกที่เหมาะสม อย่าเพิ่งกังวลใจ” นายกัญกล่าว ส่วนนายสุทธิ แถวบุญตา ตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย กล่าวถึงการจัดเวทีประชุมระดับชุมชนและประชาคมในครั้งนี้ว่า ควรมีการเอาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ๆ จะได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ มารับฟังข้อมูล และแสดงความคิดเห็น เพราะการจัดเวทีในครั้งนี้ และหลายครั้งที่ผ่านมา ก็มักจะเชิญแต่ผู้นำ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนก็คือชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และทำกินในบริเวณที่เป็นพื้นที่โครงการ “อีกอย่างหนึ่งก็คือการชี้แจงของกรมชลนั้นจะมาพูดถึงแต่เรื่องการชดเชยความเสียหายของชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องชี้ให้ชัดไปเลยถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นของโครงการอย่างชัดเจนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้” นายสุทธิ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้จัดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้น ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อุดรธานี เขต 3 อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการ และองค์การปกครองท้องถิ่น แต่มีประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการมาเข้าร่วมไม่ถึง 10 ราย เนื่องจากว่าไม่รับทราบว่าจะมีการจัดเวทีดังกล่าว นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กล่าวถึงการจัดเวทีประชาคมของกรมชลประทานว่า โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ผ่านๆ มาของรัฐคือ เน้นชูประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่โครงการจะได้รับอย่างมหาศาล โดยกลบซ่อนอำพรางชุดข้อมูลที่แท้จริงเอาไว้ เช่น เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนท้องถิ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม “สิ่งที่เกิดขึ้นได้ชี้ให้เห็นว่าเวทีประชาคมที่กรมชลฯ กล่าวอ้างว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมนั้นเป็นเพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปสู่ธงที่ตั้งเอาไว้แล้ว คือมีโครงการโขงเลย ชี มูล เกิดขึ้นบนแผ่นดินอีสาน” นายสุวิทย์กล่าว นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะที่กรมชลฯ ได้เดินสายจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ดำเนินโครงการหลายแห่ง กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยมีความพยายามผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเร่งเร้า เช่น ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะเนียงที่มีแผนจะเข้าไปขยายลำห้วยให้มีความกว้างเพิ่มขึ้นอีก ด้านพื้นที่ ต.ห้วยโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เองได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามากดดันให้ชาวบ้านอนุเคราะห์ที่ดินเพื่อขุดคลองผันน้ำโดยไม่มีค่าเวนคืนใดๆ ทั้งสิ้น “เร็วๆ นี้ผมและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการจะยื่นหนังสือตรวจสอบโครงการนี้ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และนำไปสู่การแสวงหาทางเลือกให้กับจัดการน้ำที่เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ที่มีสภาพนิเวศแตกต่างกัน” เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net