Skip to main content
sharethis

ข่าวคราวการเคลื่อนย้ายนักโทษจากเรือนจำบางขวางจำนวน 603 คน ไปยังเรือนจำกลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนพอจะนึกขึ้นได้ว่า ยังมีพวกเขาอยู่ในสังคมเดียวกัน และกำลังเผชิญกับภัยพิบัติเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ พวกเขาไม่สามารถเคลื่อนย้ายและสื่อสารได้อย่างเสรี และในภาวะที่ฉุกละหุกเช่นนี้ การมีอาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม อาจไม่สำคัญเท่าข่าวสารจากคนที่พวกเขาอยากได้ยิน “เราอาจจะคิดถึงเรื่อง อาหารน้ำดื่ม และการช่วยเหลือ แต่ว่าอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ก็คือ การได้รู้ว่าคนที่เขารักเป็นอยู่อย่างไร” บียอร์น ราห์ม ผู้แทนองค์กรฝ่ายความคุ้มครอง จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกล่าวกับประชาไทถึงที่มาของการโทรศัพท์ ถึงญาติผู้ต้องขังที่กาชาดสากลทำมาตลอดระยะเวลานับเดือนซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง จากการประสานงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และสภากาชาดไทย ราห์ม กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือผู้ต้องขังจำนวนมาก แสดงความวิตกกังวลถึงครอบครัว หลายรายขาดการติดต่อไปและไม่ทราบชะตากรรม ข่าวคราวคนใกล้ชิดจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของผู้ต้องขังในภาวะที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม มีเรือนจำราว 30 แห่งทั่วประเทศที่ต้องขนย้ายนักโทษ ฉะนั้นเรือนจำบางแห่งก็ต้องรับนักโทษเพิ่มสอง-สามพันคน บางแห่งอาจจะรับราวพันกว่าคน ขณะที่ในประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมดราว 140-150 แห่ง และนั่นหมายถึงว่า สองในสามของเรือนจำทั่วประเทศจำเป็นต้องรับนักโทษเพิ่มและรับมือกับจำนวนคนที่มากขึ้น โดยรวมแล้ว มีเรือนจำประมาณ 80-90 แห่งที่ได้รับนักโทษเพิ่มเติมที่ย้ายมาจากเรือนจำที่ถูกน้ำท่วมหรือกำลังจะถูกน้ำท่วม ในบริเวณกรุงเทพฯ อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น ฉะนั้น ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะเรือนจำที่ถูกน้ำท่วมเท่านั้น แต่เรือนจำที่ได้รับผลกระทบอีกทอดหนึ่งเนื่องจากจากการที่มีนักโทษจำนวนมากอยู่แล้ว การรับนักโทษเพิ่มมาอีกก็เป็นปัญหาเช่นกัน “และนอกจากด้านความต้องการพื้นฐานทั่วไปในทางวัตถุแล้ว ก็ยังมีความต้องการของนักโทษในแง่การติดต่อสื่อสารกับครอบครัวว่าอยู่ที่ไหน เนื่องจากย่อมมีคนที่เป็นห่วงที่ได้ยินข่าวว่าเรือนจำถูกน้ำท่วมจากสื่อ และก็ต้องการอยากรู้ว่าคนที่รักนั้นอยู่ที่ไหนและปลอดภัยหรือไม่” สำหรับการทำงานขณะนี้มี 2 ทีมอยู่ในพื้นที่ จ.พิษณุโลกและสงขลา ซึ่งมีนักโทษถูกย้ายไปที่นั่น 500 และ 1,000 คน ตามลำดับ เมื่อมีการย้ายนักโทษไปและรู้แน่นอนว่านักโทษจะพำนักอยู่ที่ทัณฑสถานนั้นระยะหนึ่งก่อนที่จะถูกย้ายต่อไป ทีมงานในสนามจะทำหน้าที่จะเก็บข้อมูลเพื่อสื่อสารกลับไปยังญาติ วิธีการติดต่อญาติๆ โดยทีมอาสาสมัครได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับญาติผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์ และทำหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามพวกเขาถึงความเป็นอยู่ และนำข่าวสารนั้นกลับมายังผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบขณะนี้ คือสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คงที่ การเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง ก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นอุปสรรคต่อการเก็บข้อมูล เมื่อถามถึงการเคลื่อนย้ายนักโทษยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่นักโทษจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับญาติได้ ราห์มกล่าวว่า ในส่วนของกรมราชทัณฑ์มีฮอตไลน์ ที่จะให้ญาติสอบถามได้ว่า นักโทษถูกย้ายไปหรือเปล่า เพราะบางทีก็เป็นการยากที่จะเข้าถึงข้อมูล ตัวเลขล่าสุด ผู้ที่ติดต่อญาติได้แล้วจำนวน 1,500 ยังห่างไกลจากจำนวนเต็มของนักโทษกว่า 30,000 ราย ที่ยังรอคอยข่าวสารจากคนที่พวกเขาห่วงใย สะท้อนข้อสังเกต การเตรียมการและข้อมูลที่ไม่เพียงพอ นำมาสู่ความฉุกเฉิน ที่ผ่านมา กาชาดสากล เข้าไปให้การช่วยเหลือทัณฑสถาน 29 แห่งประกอบด้วย 24 เรือนจำ และ 5 สถานพินิจ จำนวนนักโทษรวม 30,000 คน สิ่งที่ทีมปฏิบัติการของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศสังเกตพบก็คือ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากทัณฑสถานที่ถูกน้ำท่วม บางครั้งเป็นไปอย่างเร่งด่วนหลังจากที่ไม่สามารถรับมือกับกระแสน้ำได้แล้ว การมอบความช่วยเหลือ ปัจจัยพื้นฐาน เป็นสิ่งที่องค์การกาชาดระหว่างประเทศทำงานประสานไปกับสภากาชาดไทย และกรมราชทัณฑ์ โดย มร. ฌากส์ สตรูน ผู้อำนวยการคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า การดูแลความช่วยเหลือเบื้องต้นให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลักคือ การให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับระดับน้ำ เช่น ถุงทราย ปั๊มน้ำ ประการที่สอง คือ การดูแลสุขอนามัย และประการสุดท้าย คือ น้ำดื่ม ไม่ว่าจะเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคไว้พร้อมมูลขนาดไหน ผู้ประสบภัยพิบัติอยู่ไม่ได้แน่ถ้าไม่มีน้ำดื่ม และที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเห็นคือ กระบวนการจัดการด้านนี้ยังไม่พร้อม มร. จูเลี่ยน โจนส์ วิศวกรด้านทรัพยากรน้ำ และสุขอนามัยประจำภูมิภาคเอเชีย ให้ความเห็นว่า การส่งมอบน้ำดื่มบรรจุขวดอาจจะไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา แน่นอนว่าการบริจาคน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วง แรก แต่การขนส่งน้ำดื่มจำนวนมากในระหว่างน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หลังจากนั้นต้องคิดถึงเรื่องการผลิตน้ำดื่ม เช่น ต้องมีอุปกรณ์ผลิตน้ำดื่มภายในพื้นที่โดยยกกรณีตัวอย่าง คือ เรือนจำ จังหวัดนครสวรรค์ ที่จัดเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอสำหรับนักโทษ จำนวน 3,500 คน โดยมีหม้อต้มน้ำขนาดใหญ่ 3 หม้อ พร้อมด้วย 8 คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำ ในส่วนของการป้องกันโจนส์ตั้งข้อสังเกตว่า การเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมของทัณฑสถานในไทยนั้นไม่มีที่ไหนที่เรียกได้ว่าเตรียมการอย่างดี และปัญหาเรื่องการใม่สามารถเคลื่อนย้ายนักโทษเนื่องจากทัณฑสถานจำนวนมากนั้นมีนักโทษอยู่เต็มจำนวนแล้ว และบางแห่งมีมากเกินไปด้วย ทำให้ทัณฑสถานหลายแห่งเลือกที่จะป้องกันพื้นที่ของตัวเองด้วยการเตรียมกระสอบทราย และเครื่องสูบน้ำ ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายแห่งถูกโดดเดี่ยว เนื่องจากน้ำท่วมถนน การขนส่งถูกตัดขาด “เมื่อพูดถึงเรือนจำ สิ่งที่ยากคือการหากระสอบทรายมาใช้ป้องกัน เนื่องจากเรือนจำเป็นที่ท้ายๆ ที่ประสบน้ำท่วม ในขณะที่ในเมืองไทยเริ่มมีการขาดแคลนของที่ต้องใช้บางอย่างไปแล้ว เมื่อการเตรียมตัวมาช้าก็ทำให้สถานการณ์ยากลำบากกว่าเดิม ส่วนสถานการณ์เองก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เรือนจำที่ได้สร้างแนวป้องกันก็ถูกน้ำท่วมอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องสั่งอพยพ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการสั่งย้าย” นอกจากนี้ยังเห็นหลายกรณีที่เรือนจำเปลี่ยนจากการสร้างแนวป้องกันได้สำเร็จ มาเป็นต้องสังอพยพฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะว่าน้ำมาเร็วและเยอะมาก ความสูงต่ำของพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะตัดสิน เรือนจำที่มีประตูกั้นลงไปลึกถึงหนึ่งเมตรก็จะสามารถกั้นน้ำได้มากกว่าเรือนจะที่มีประตูกั้นแค่บนดินเท่านั้น เนื่องจากน้ำอาจจะผุดมาจากด้านล่างได้ ทั้งนี้เขาเห็นว่า สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือข้อมูลสำหรับการเตรียมการ ซึ่งต้องเป็นข้อมูลจำเพาะเจาะจงเพื่อการตัดสินใจ “มีหลายปัจจัยที่จะตัดสินว่าผู้อำนวยการเรือนจำจะสามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมได้ดีแค่ไหน ผมยังไม่เห็นเรือนจำไหนที่มีการเตรียมตัวมาก่อนอย่างดีเลย คุณไม่เห็นที่ที่มีการเตรียมตัวแบบบางแห่งในกทม. ที่มีการตั้งกระสอบทรายกั้นตู้เอทีเอ็ม และอยู่สูงกว่าพื้นดินเป็นบันไดหลายขั้น และคนจำเป็นต้องปีนขึ้นไปใช้ กรณีเช่นนั้นผมไม่เห็น อย่างไรก็ตาม การเตรียมการมันก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะคุณจำเป็นต้องมีข้อมูลที่จำเพาะและแน่นอน คุณไม่สามารถทำสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำในทุกเรือนจำเหมือนๆ กันหมดได้ ผู้อำนวยการเรือนจำ จำเป็นต้องมีอำนาจสั่งการในการสร้างแนวป้องกันตามที่จำเป็น” วิศวกรด้านทรัพยากรน้ำ จากกรรมการกาชาดระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกต ระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่กำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นฟู อาจจะทำให้การเคลื่อนย้ายนักโทษและการจัดการกับข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขังลุล่วงไปได้รวดเร็วขึ้นในเวลาอันใกล้ แต่ข้อสังเกตถึงการรับมือของภัยพิบัตินั้นเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องหาคำตอบอย่างไม่อาจปล่อยให้ลุล่วงไปโดยไร้บทเรียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net