Skip to main content
sharethis

วันนี้ (19 ต.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภาคประชาชน ประกาศรับอาสาสมัครจัดทำฐานข้อมูล เพื่อจัดตั้ง “ศปภ.ตำบล” ด้วยวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน ทันสถานการณ์ และสร้างระบบส่งต่อให้เกิดการช่วยเหลือที่ตรงความต้องการของพื้นที่ ในเวลาที่ทันท่วงที โดยจะเริ่มต้นจาก จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหลัก หรืออาจได้รับผลกระทบมากขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ คือ อยุธยา ปทุมธานี นครสวรรค์ นนทบุรี โดยศูนย์จัดการกลางจะจัดหาข้อมูลผู้ประสานงานตำบลเบื้องต้น และข้อมูลพื้นฐานไว้ให้ ทั้งนี้ สิ่งที่อาสาสมัครต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1.หาข้อมูลพื้นฐานของตำบล คือ 1.1 บุคคลที่จะทำการติดต่อ เช่น เบอร์ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือคนอยู่ในพื้นที่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ รายหมู่บ้าน 1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ระดับน้ำ สภาพแวดล้อม ความช่วยเหลือที่ได้รับแล้ว 1.3 ทรัพยากรที่มี/จุดแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และอาจช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ได้ เช่น เรือ โทรโข่ง วิธีการดูแลชุมชน 1.4 ความต้องการความช่วยเหลือ เน้นที่ความช่วยเหลือเร่งด่วน 2.ประสานงานการขอความช่วยเหลือให้ทันที่เท่าที่ทำได้ โดยจะมีข้อมูลของช่องทางที่ทางศูนย์เราจัดการได้เลย เช่น การอพยพ การส่งถุงยังชีพ หรืออาหาร เครื่องใช้พื้นฐาน และ 3.อัพเดทสถานการณ์กับพื้นที่ทุกวัน และรายงานเข้าไปที่ศูนย์ข้อมูลกลาง ตามเวลาและรูปแบบที่จะตกลงกัน ลักษณะการทำงาน จะมีการทำงานเป็นทีม ตำบลละ 2-3 คน เพื่อให้ผลัดเปลี่ยนกันได้ และติดต่อได้ตลอดเวลาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มได้ทันที และทำงานต่อเนื่อง 2 อาทิตย์ โดยจะเข้ามาทำงานที่ศูนย์ ศปภ.ภาคประชน ที่ดอนเมืองก็ได้ หรือจะเอางานกลับไปทำบ้านก็ได้ โดยจะให้ส่งข้อมูลอัพเดทสถานการณ์ทางอินเตอร์เน็ตทุกวัน แต่วันแรกต้องมาทำงานที่ดอนเมือง เพื่อรับเอกสาร ปฐมนิเทศ และหากพบว่ามีความต้องการเร่งด่วนในพื้นที่จะได้จัดการได้เลย นอกจากนั้นจะมีอุปกรณ์พื้นฐานให้คือซิมโทรศัพท์ที่เติมเงินให้แล้ว และโทรศัพท์ (เฉพาะใช้ที่ดอนเมือง) ส่วน คุณสมบัติอาสาสมัคร คือ 1.จัดตั้งทีมของตัวเองได้ 2.มีความสามารถในการประสานงาน สืบค้นข้อมูล และรับฟังอย่างลึกซึ้ง 3.สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 อาทิตย์ ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมสามารถไปที่สนามบินดอนเมือง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาออก นอกจากนั้น สำหรับคนที่ไม่มีเวลาต่อเนื่อง ศปภ.ภาคประชาชน มีงานอาสาสมัครอีกจำนวนมาก อาทิ จัดกิจกรรมกับเด็กที่ศูนย์อพยพ งานแพคของช่วงกลางคืน ทำเสื้อชูชีพ คีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ (ต้องเอาโน้ตบุ๊กไปเอง) ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ อาร์ตเวิร์ค ลงพื้นที่ช่วยคนในพื้นที่อพยพ อาสาสมัครกองเรือ กองรถ เป็นทีมหรือเป็นคนก็ได้ และงานด้านอื่นๆ ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ เช่น ทีมเยียวยาจิตใจ ทีมบริการอาหารและน้ำ ทีมประดิษฐ์สิ่งของ ฯลฯ อนึ่ง มูลนิธิกระจกและเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด อดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา ได้ตั้ง ศปภ.ภาคประชาชน และระดมอาสาสมัครมาร่วมทำงานกับภาครัฐ โดยเฉพาะการรับช่วงขอความช่วยเหลือจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1111 กด 5 ของรัฐ ที่ทางเครือข่ายฯ จะเป็นผู้ประสานงานให้อาสาสมัครในพื้นที่เป็นผู้เข้าไปในช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้สร้างเครือข่าย ศปภ.ตำบลขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการประสานงาน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเริ่มการทำงานตามกลยุทธ์ดังกล่าวจากใน 6 ตำบลของ จ.พระนครศรีอยุธยา ประมวลภาพ: บรรยากาศที่ ศปภ.ดอนเมือง วันที่ 19 ต.ค.54 องค์กรที่เข้าร่วมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภาคประชาชน พื้นที่ตำบลเป้าหมายในการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 250 ตำบล จุดรับข้อมูลเปิดพื้นที่ เพื่อการประสานงาน \น้องชู\" ตัวต้นแบบ อาสาสมัครร่วมทำเสื้อชูชีพ หรือ น้องชู จากขวดน้ำพลาสติก ร่างโครงสร้างการทำงานของ ศปภ.ภาคประชาชน เพื่อเตรียมไว้ใช้อธิบายกับอาสาสมัคร ความคิดเห็นของผู้ที่ได้มาร่วมทำกิจกรรรม ห้องโถงชั้นล่างที่เปิดให้เป็นที่บรรจุถุงยังชีพ โซนด้านในของชั้น 1 ที่มีการบรรจุถุงยังชีพอีกจุดหนึ่ง อาสาสมัครขนถ่ายทำงานเป็นสายพาน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net