Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นกลไกสำคัญและมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ หลายเสียงอาจบอกถึงข้อจำกัดของมาตรา 41 และบอกถึงข้อดีของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งสำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ยังไม่มีผลบังคับใช้ และเมื่อมีผลบังคับใช้ก็ยังต้องพัฒนากลไกต่างๆให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง การนำมาตรา 41 มาใช้ให้เต็มศักยภาพในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ควรละเลย และเมื่อมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับ เห็นพ้องต้องกัน และมีผลใช้บังคับ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้กลไกที่เกิดขึ้นใหม่นั้นได้ โอกาสที่ผู้รับบริการทางการแพทย์ในปัจจุบันเสียไป จากการไม่นำพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 มาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีบทบัญญัติว่า มาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้ หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คณะกรรมการกำหนด การจะทำให้พระราชบัญญัตินี้มีผลอย่างครอบคลุมแก่ผู้รับบริการทั้งมวล สามารถจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการเพิ่มเติม โดยสามารถนำเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาพิจารณาและดำเนินการให้ครบถ้วน แนวทางที่เป็นไปได้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้กำหนดให้สถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยร่วมบริการ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพประกอบด้วย หน่วยบริการประจำ หน่วยบริการรับการส่งต่อ หน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริการร่วมบริการ หากเขาอยู่ในระบบแล้วก็เป็นหน่วยบริการแบบใดแบบหนึ่ง แต่เพื่อขยายบทบาทของหน่วยบริการตามมาตรานี้ ก็สามารถให้หน่วยบริการที่มีมาตรฐานตามกฎหมายอื่นๆเป็นหน่วยร่วมให้บริการ เพื่อที่จะได้เอื้ออำนวยเราสามารถคุ้มครองผู้รับบริการได้ตามกลไกของกฎหมายที่ได้กำหนดไว้) กรณีผู้รับบริการไม่ว่าเป็นสิทธิประโยชน์ใด ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสนอหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่ง กำหนดให้ผู้รับบริการสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เมื่อดำเนินการทั้งสองแนวทางนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 41 ก็จะครอบคลุมความเสียหายของผู้รับบริการทางการแพทย์จากหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งมวล และครอบคลุมไม่ว่าเขาใช้สิทธิใด ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือแม้แต่บุคคลผู้ไร้สิทธิ ปัญหาที่อาจจะมีผู้โต้แย้งในภาคปฏิบัติคือ ปัญหาที่ 1 งบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มา เป็นงบประมาณจากงบรายหัวที่รัฐคำนวณให้จากประชากรที่ลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียง 47 ล้านคน ความเห็น 1 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 มาตรา ๕ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ การได้รับงบประมาณที่คำนวณจากประชากร 47 ล้านคนจึงเป็นเพียงตัวเลขในการจัดการทางงบประมาณ ไม่ได้ตัดสิทธิประชากรกลุ่มอื่นๆ และในปัจจุบันการดำเนินการเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ครอบคลุมประชากรกลุ่มอื่นๆแล้ว ไม่ได้จำกัดเฉพาะประชากร 47 ล้านคน ปัญหาที 2 หากมีการจ่ายเงินชดเชยที่กันมาจากเงินซึ่งคำนวณจากประชากร 47 ล้านคน ที่จะจ่ายให้หน่วยบริการ เงินอาจจะไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรมกับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ความเห็น 2 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเจตนารมณ์ ที่จะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ โดยเน้นการจัดบริการที่ได้มาตรฐานให้กับประชาชนไทยอย่างเสมอภาค และมุ่งหวังให้การเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกในการจัดระบบการจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆให้มีประสิทธิภาพ เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้จ่ายเงินเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ไปจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ให้แก่ประชาชนใน สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการราชการและสิทธิอื่นๆ ก็เป็นบทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะได้ขอรับเงินชดเชยนั้นคืนมาจากกองทุนอื่นๆ หรือจากสำนักงบประมาณ ปัญหา 3 การเรียกเงินคืนจากกองทุนอื่นๆจะยุ่งยากและหรือทำไม่ได้ ความเห็น 3 นอกจากเจตนารมณ์ของกฎหมายจะกล่าวไว้ในตอนท้าย [1] “จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนกันดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” ในพระราชบัญญัติ มาตรา 9 และมาตรา 10 [2] ยังได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการขยายบริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุม สิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม ซึ่งเป็นการเสริมให้สิทธิที่อาจจะยังไม่ได้รับการพัฒนาในระบบเดิมเช่นกรณีการคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ หรือสิทธิย่อยบางสิทธิ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดกลไกให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการ โดยจะต้องมีพระราชกฤษฎีกามารองรับ ปัญหา 4 ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา เพื่อรองรับการใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมสิทธิอื่นๆ ความเห็น 4 การเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา จึงเป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะได้เร่งเสนอ เพราะแม้ว่าในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติมาตรา 66 [3] ได้ให้เวลาไว้ แต่บัดนี้ได้ล่วงเลยเวลามาพอสมควร เพราะเข้าสู่ปีที่ 9 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การเสียสิทธิและเสียโอกาสหลายประการของประชาชนควรจะได้รับการปลดเปลื้อง โดยการเริ่มจากการ คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ทุกกลุ่ม จากพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หมายเหตุ: [1] เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ และให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลได้มีอยู่หลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนกันดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [2] มาตรา ๙ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใดๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้ใช้สิทธิดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้ (๑) ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ (๒) พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๓) พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ (๔) บิดามารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาล โดยอาศัยสิทธิของบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ในการนี้ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามที่ได้ตกลงกันกับรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แล้วแต่กรณี การกำหนดให้บุคคลตามวรรคหนึ่งประเภทใด หรือหน่วยงานใด ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสามใช้บังคับแล้ว ให้รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แล้วแต่กรณี ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ตกลงกับคณะกรรมการ มาตรา ๑๐ ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน ให้คณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้คณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน [3] มาตรา ๖๖ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และหากไม่แล้วเสร็จให้ขยายระยะเวลาได้ครั้งละหนึ่งปี โดยให้สำนักงาน หรือสำนักงานและสำนักงานประกันสังคม แล้วแต่กรณี รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานนั้นต่อสาธารณชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net