Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ผ่าน ดร.จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล) เรื่อง ขอให้ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... โดยด่วนที่สุด 21 สิงหาคม 2554 กราบเรียน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา๑๕๓ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่างพ.ร.บ. ที่เป็นวาระค้างพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ภายใน ๖๐ วันหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้ ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. เป็นหนึ่งในวาระค้างพิจารณาอยู่ในสภาฯ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง ร่างพรบ. ฉบับนี้จะตกไปทันที ความพยายามของเครือข่ายผู้ป่วยผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์และบริการทางสาธารณสุขที่เรียกร้องกันมาอย่างยาวนานด้วยความยากลำบากถึง 9 ปี โดยเจตนารมณ์มุ่งหวังให้เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ให้ได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและลดความขัดแย้งอันเกิดขึ้นระหว่างแพทย์ผู้กระทำการรักษาพยาบาลผิดพลาดจนเกิดความเสียหายกับผู้ป่วยที่ต้องการได้รับความเป็นธรรม จะเป็นอันสูญเปล่าในที่สุด ทั้งนี้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การที่ท่านได้มีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารของประเทศ จากชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นั้น เป็นผลพวงจากกระแสสังคมไทยที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตความขัดแย้งในการเรียกร้องปฏิรูปความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมของประชาชนไทย ซึ่งเรื่องสิทธิในด้านสุขภาวะ การสาธารณสุข ถือเป็นอีกสิทธิหนึ่งในสังคมไทยที่ยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมมาตลอดหลายปี และมีประชาชนจำนวนมากที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองที่จะได้รับการดูแล ฟื้นฟูเยียวยา ความเสียหายอันเกิดจากความผิดพลาดในการให้บริการของแพทย์ โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขในระดับต่างๆ ซึ่งความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ การสาธารณสุขดังที่กล่าวมานี้ ได้หมายถึงความสูญเสียในหลายๆ ด้านของผู้เสียหาย ทั้งความเสียหายทางด้านร่างกาย ที่ทำให้หลายคนเสียชีวิตโดยเหตุอันมิควร หรือต้องกลายเป็นผู้ทุพลภาพ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่มีสุขภาวะที่ดีในการดำเนินชีวิตอันพึงมีในฐานะมนุษยชาติ ต้องสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงปากท้อง สูญเสียความสามารถในการพัฒนาศักยภาพตนเองได้อย่างเหมาะสมตามที่พึงควร อันถือเป็นการสูญเสียต้นทุนชีวิตที่มิอาจประเมินค่าความเสียหายเป็นเงิน ทั้งยังเป็นความสูญเสียในด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอีกด้วย และในฐานะที่ตัวข้าพเจ้าเป็นประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับพระราชทานรางวัลระดับชาติในด้านสิทธิเด็ก เยาวชน (เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขากฎหมายและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ปี๒๕๕๒) และเป็นอดีตคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครชุดแรกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๕๕๐ และปัจจุบันเป็นนักพัฒนาสังคมภาคเอกชน รวมทั้งเป็นกรรมการให้กับหน่วยงานของรัฐในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยแก่เด็กและเยาวชน ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า ปัญหาความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ การสาธารณสุข มีกรณีตัวอย่างส่วนหนึ่งซึ่งมีผู้เสียหายเป็นเด็ก หรือเป็นมารดาของเด็ก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น หากไม่เสียชีวิต ก็อาจต้องกลายเป็นผู้พิการแต่กำเนิดหรือพิการตั้งแต่วัยเยาว์ อันเป็นการสูญเสียต้นทุนชีวิตและโอกาสในการที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความสุขในการใช้ชีวิตในสังคม หรือหากเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่มารดา บิดา ผู้ปกครองของเด็ก ก็ย่อมนำไปสู่ความสูญเสียความสามารถในการเลี้ยงดู อุปการะบุตร หลาน ของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเหมาะสมด้วยเช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่ง ในการต่อสู้ของผู้เสียหายหลายกรณี ย่อมหมายถึงรายจ่ายอันต้องเกิดขึ้นจากการสู้คดีด้วย และผู้เสียหายหลายรายเองก็ไม่ใช่ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับที่ดีนัก การสู้คดีจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งในด้านโอกาสการชนะคดีและการมีภาระรายจ่ายในครอบครัวที่เป็นภาระหนักมาก ปัญหาเหล่านี้ หากรัฐบาลไม่ใส่ใจยกระดับการแก้ปัญหาด้วยกลไกเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมเป็นวงจรนำไปสู่ความเสียหายอย่างมหาศาลยากที่จะประเมินมูลค่าทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และจะเป็นชนวนความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมอย่างหนึ่งที่จะฝังรากลึกในสังคมไทยด้วย ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้พิจารณาอย่างใคร่ครวญแล้วถึงเนื้อหาสาระที่ทางเครือข่ายผู้ป่วย ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เครือข่ายผู้บริโภค และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ได้เรียกร้องสนับสนุนให้เกิดร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เล็งเห็นว่า เนื้อหาสาระได้มุ่งไปในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ฝ่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ที่จะได้รับการชดเชย เยียวยาความเสียหายอย่างเหมาะสมอันเป็นสิทธิที่พึงควรได้ และทางฝ่ายแพทย์ผู้กระทำการรักษาพยาบาลผิดพลาด อันเป็นเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้โดยมิได้เจตนา จะมีโอกาสถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาน้อยลง รวมถึงความขัดแย้งแค้นเคืองที่ฝ่ายผู้เสียหายจะมีต่อแพทย์ก็จะลดลงไปด้วย เพราะโดยรวมผู้เสียหายมีแนวโน้มต้องการได้รับการชดเชยความเสียหายมากกว่าที่จะให้แพทย์ หรือผู้บริหารสถานพยาบาลต้องถูกดำเนินคดี และเงินทุนที่จะมาชดเชยความเสียหายก็มิได้ฟ้องรีดเอาจากแพทย์ผู้เป็นจำเลยสังคมแต่อย่างใด ในการนี้ข้าพเจ้า นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ซึ่งได้รับทราบข่าวสารความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนที่กำลังเรียกร้องสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้ ผ่านทาง Facebook ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์(Social Network)บนโลกอินเตอร์เน็ต ที่กำลังร้องขอให้ประชาชนไทยร่วมกันเขียนจดหมายสนับสนุนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้โดยเร็วที่สุดภายใน ๖๐ วันนับแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ข้าพเจ้าจึงร่างหนังสือฉบับนี้ในลักษณะจดหมายเปิดผนึก(เผยแพร่ทั่วไป)เพื่อเป็นหนึ่งเสียงของประชาชนที่ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายดังกล่าว และจะขอนำเรียนส่งจดหมายฉบับนี้ไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยผ่านท่าน ดร.จารุพรรณ กุลดิลก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ซึ่งอยู่สังกัดพรรคเดียวกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็น ส.ส. ในวิปรัฐบาล ผู้ที่ข้าพเจ้าให้ความเคารพนับถือโดยการส่วนตัว เพื่อฝากนำความเรียนไปยังท่าน พร้อมกับเรียกร้องไปยังท่าน ส.ส.จารุพรรณและ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ให้ร่วมกันเห็นชอบสนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ. นี้ให้จงได้ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเครือข่ายประชาชนที่เรียกร้องให้มีกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังที่จะเห็นการยกระดับของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ความมุ่งหวังให้ประชาชนไทยมีสุขภาวะที่ดีของ น.พ.สงวน นิตยารัมพงศ์ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนไทยในด้านการเข้าถึงการสาธารณสุขที่ดี อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทย(อันเป็นจุดเริ่มต้นของพรรคเพื่อไทยที่ท่านสังกัดอยู่)ประสบความสำเร็จในการครองความนิยมของประชาชน(ด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) จนนำมาสู่ความสำเร็จในสนามเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่ได้ทำให้ท่านได้มีโอกาสเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันนี้ และหากการอันใดที่จะเป็นประโยชน์อันนำไปสู่การบรรลุข้อเสนอ ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุน จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามข้อเสนอ ขอแสดงความนับถือ (นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net