Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2554 ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในเรือนจำนราธิวาส วันแรกของการก่อเหตุ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เฝ้าดูสถานการณ์อยู่ไกลๆ มองผ่านจากข้างนอกรั้ว ด้านใน รวมตลอดถึงติดตามข่าวสารจากสื่อ ในความรู้สึกตอนนั้น เข้าใจว่าในไม่ช้าทางเจ้าหน้าที่คงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งๆที่ผู้เขียนเองก็ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่ทราบสถานการณ์ทีแท้จริงเป็นเช่นไร ที่เข้าใจได้เป็นเช่นนี้เพราะที่เรือนจำแห่งนี้ เคยมีเรื่องลักษณะเดียวกันนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา สุดท้ายก็จบลงได้ด้วยดี แต่จะอย่างไรก็ดี ในความรู้สึกลึกๆ เป็นห่วงพี่ น้อง หลายคนที่อยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะพี่น้อง ที่เคยให้ความช่วยเหลือด้านคดี และกำลังว่าความช่วยเหลือคดีอยู่ จะเป็นอยู่อย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะช่วงนี้อยู่ในเดือนรอมฎอน(เดือนถือศิลอด) ต่อมาในคืนของวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ได้ติดตามดูข่าว ปรากฏว่าสถานการณ์ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ จึงเริ่มมีคำถามเข้ามามากมายว่า เกิดอะไรขั้น เพราะอะไร และสาเหตุมาจากอะไร สถานการณ์จึงยังไม่สามารถคลี่คลายได้ และก็เริ่มรู้สึกกังวลมากขึ้น และเริ่มมีผลกระทบด้านคดี เนื่องจากคดีที่จำเลยมีนัดสืบพยานหรือนัดฟังคำพิพากษา ไม่สามารถเบิกตัวมาศาลได้ เช้าวันรุ่งขึ้น มีเสียงโทรศัพท์ เข้ามามากมายให้ผู้เขียนเป็นตัวแทนทนายความเดินทางไปเรือนจำนราธิวาส โดยเป็นการเชิญอย่างไม่เป็นทางการ จากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งมีจากส่วนกลางได้ลงมาเพื่อต้องการทราบและคลี่คลายสถานการณ์ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เช้าวันนั้น เริ่มรู้สึกเครียดกับการเดินทางไปนราธิวาส พยายามประสานงาน สอบถามความคืบหน้ากับน้องๆ ผู้ช่วยทนายความ ที่สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่บริเวณเรือนจำเป็นระยะๆ เพื่อต้องการข้อมูล ปรากฏว่าไม่มีใครทราบข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงได้ เริ่มรู้สึกเครียดจึงได้ติดต่อกับประธานมูลนิธิฯขอความเห็นและขอคำแนะนำ ก็ได้รับคำตอบเช่นกันว่า ให้อยู่ในดุลยพินิจจากสถานการณ์ตามความเหมาะสม เมื่อไปถึงหน้าเรือนจำ เริ่มรู้สึกเครียด เพราะบรรยากาศ บริเวณหน้าเรือนจำตึงเครียดมาก ได้พบกับรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งทหาร ตำรวจ แต่ที่น่าแปลกใจ ภายหลังการพูดคุย กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ทราบข้อมูลว่า ผู้ต้องขังด้านในต้องการอะไร และกระบวนการหลังจากนี้ไป จะทำอย่างไร รู้สึกกังวลที่สุดตอนนั้น เกรงว่า หากต่างฝ่ายต่างไม่รู้ซึ่งกันและกัน สถานการณ์จะยังตึงเครียด จึงได้พยายามวิธีการติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังให้ได้ ไม่ว่าโดยวิธีใด เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริง และจุดประสงค์ที่ต้องการ แค่อีกแง่มุมหนึ่ง ก็กลับมีความคิดว่าหากเราทำเป็นการใดๆลงไป เดี่ยวทางเจ้าหน้าที่มองว่าเราเป็นพวกเดียวกันกับผู้ต้องขังอีก แต่แล้วก็พยายามปลดความรู้สึกนั้นไป มุ่งแต่ต้องการให้สถานการณ์กลับคืนมาโดยเร็ว ส่วนเขาจะมองเช่นไรก็เรื่องของเขาเพราะตอนนั้น ขณะช่วยว่าความให้ ก็ยังถูกกล่าวหา เป็นพวกเดียวกันกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และแล้วก็สามารถติดต่อกับผู้ต้องขังข้างในได้ สิ่งที่เราได้รับข้อมูล แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อมูลที่ได้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้านนอก มันช่างแตกต่างกัน จากเดิมที่เราคิดว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำมีเงื่อนไข ความต้องการและข้อเสนอเป็นจำนวนมาก แต่กลับหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ และเราพอจะทราบมูลเหตุของปัญหา แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แต่ภายนอกกลับบอกว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เป็นผู้ก่อเหตุ เพียงแค่ว่าผู้ต้องขังคดีความมั่นคง พยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายมากไปกว่านี้ สิ่งที่เราได้รับคำตอบคือ ผู้ต้องขังด้านในต้องการกลับคืนสู่สถานภาพเดิมโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนั้น ไฟฟ้า ประปา ถูกตัดขาด ผู้ต้องขังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำใช้ ผู้ต้องหาบางคนอยู่ในห้องเรือนนอน ไม่สามารถลงมาด้านล่างได้ แต่จากห้องได้มีการพังผนังห้องที่ 1 เพื่อออกไปอยู่ด้านนอก เพราะทนความอึดอัดไม่ไหว จึงมีการพังห้องออกไป แต่ก็ไม่กล้าออกไปบริเวณด้านนอกอาคาร เพราะผู้ต้องขังเกรงว่าจะถูกลักลอบทำร้ายจากหน่วยพิเศษที่เล็งอาวุธอยู่หลายล้อมอาคารบริเวณเรือนจำ เมื่อรู้ข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านในเป็นเช่นไร จึงได้ประสานแจ้งกับรองปลัด,อธิบดี เพื่อคลายความกดดันโดยขอให้ทางเจ้าหน้าที่ ต่อกระแสไฟ และน้ำให้กับผู้ต้องขัง และแจ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ต้องขัง ว่าไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ผู้ต้องขังเพียงเพื่อต้องการกลับสู่สภาพเดิม และไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการที่รุนแรง หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การพูดคุย โดยเวลาประมาณ 12.00 น.ได้มีการต่อกระแสไฟฟ้าให้ผู้ต้องขัง และส่งกุญแจห้องโรงนอนที่ถูกล็อกให้เปิดออก โดยในตอนบ่ายได้มีการต่อท่อน้ำประปาเข้าสู่เรือนจำ และได้รับการติดต่อจากผู้ต้องขัง ขอเวลาในการชำระร่างกายและจะส่งตัวแทนพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ จึงได้แจ้งให้รองปลัด,อธิบดี ทราบ หลังจากนั้นทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เกี่ยวจึงได้มีการกำหนดตัวบุคคลที่จะพูดคุยกับฝ่ายผู้ต้องขัง และจุดที่จะคุย โดยตกลงกันว่า จะพูดคุยที่ประตู 3 หลังจากนั้น เวลาประมาณ 15.40 น.จึงได้มีการพูดคุยกับฝ่ายผู้ต้องขังซึ่งจัดได้ 5 คน มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดและคดีความมั่นคง และได้มีการพูดคุยจนเป็นที่เข้าใจในที่สุดว่า ต่างฝ่ายต่างต้องการกลับสู่สภาพเดิม ฝ่ายผู้ต้องขังก็ต้องการกลับให้เรียบร้อยใช้ชีวิตด้านในเหมือนเช่นปกติ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เช่นกัน ต้องการกลับเข้าสู่การทำงาน และสถานการณ์ให้เป็นปกติ เมื่อมีการพูดคุยก็ปรากฏว่า มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และผม ในนามตัวแทนทนายความได้ยืนพูดคุยกับตัวแทนผู้ต้องขัง ที่ประตู 2 จนสุดท้ายได้ข้อสรุป เป็นที่พอใจ และทางตัวแทนผู้ต้องขังทั้งพุทธและมุสลิม ได้ขอใช้เครื่องกระจายเสียงเพื่อสื่อสารให้ทราบถึงผลการพูดคุยและข้อสรุป พร้อมให้ทุกคนกลับคืนสู่สภาวะปกติ จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวสรุปมาทั้งหมดในข้างต้น มูลเหตุของปัญหาใช่เป็นเรื่องของการเรียกร้อง สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือกำหนดเรื่องไป เพื่อนำไปสู่ความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่ หากแต่เป็นขั้นกระบวนการเข้าตรวจค้น ผู้ต้องขังภายในเรือนนอน ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควรจะใช้วิธีใด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ เช่นนี้อีก แต่สิ่งที่กล่าวถึงมากที่สุด และแสดงข้อกังวลว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นกรณีของเรือนจำนราธิวาส ทัศนคติมุมมองของฝ่ายรัฐเอง ทำไมต้องมองที่สาเหตุของปัญหาไปยังผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ และเป็นกระบวนการขั้นตอนของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งๆที่ทราบสาเหตุของการก่อม็อบจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่มาจากกลุ่มคดียาเสพติดและผู้ต้องขังคดีอื่นๆไม่ใช่คดีความมั่นคง หรือเพียงเพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง อาจขอเจรจาพูดคุยกับฝ่ายผู้ต้องขังและกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง สะท้อนให้เห็นถึงการมีอคติต่อผู้ต้องขังหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง ระหว่างพวกเขากับรัฐ ยังมีช่องว่างและมุมมองทัศนคติ ที่มีต่อกัน ยังต้องใช้ยุทธศาสตร์อื่นๆเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว สวนกลับที่ว่าความหวาดระแวงของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองมองว่าสถานการณ์ภายใน ไม่น่าไว้วางใจ มีวัตถุระเบิดหรืออุปกรณ์อื่นที่ใช้เป็นอาวุธ เพื่อเตรียมก่อเหตุ ส่วนฝ่ายผู้ต้องขังก็มองว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าผู้ต้องขังเตรียมวางแผนที่จะก่อเหตุ ซึ่งเป็นความหวาดระแวงที่มีอยู่คู่กับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมองที่ช่องว่าง ระหว่างรัฐกับผู้ต้องขัง แล้วความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นที่เรือนจำนราธิวาส ทำให้มองให้ถึงระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมากับงบประมาณที่รัฐทุ่มลงไป หลายแสนล้านบาท และชวนให้คิดต่อไปว่าน่าจะลองเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ๆดูบ้างไม่ดีหรือ นอกเหนือจากการเข้าร่วมโครงการดะวะห์สัญจรกับบุคคลที่ต้องหมายพรก.โดยังไม่ถูกดำเนินคดี จะทำอย่างไรให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไปพร้อมกับภาคประชาชนหรือกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง เพื่อลดช่องว่างและความหวาดระแวงที่มีอยู่ เพราะอย่าลืมว่าวันสุดท้ายของการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ส่วนมากศาลพิพากษายกฟ้อง ถูกปล่อยตัวจากถูกคุมขัง และต้องกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ต้องเผชิญกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ในการใช้ชีวิต ดังนั้น หากช่องว่างและความหวาดระแวง ยังคงมีอยู่ ย่อมยากที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติ หรือทำให้สู่การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ และตราบใดที่ความหวาดระแวงยังคงมีอยู่ ความรู้สึกว่าความไม่จริงใจก็ยังคงมีอยู่ในจิตใจ ทุ่มงบประมาณอีกหลายหมื่นล้านบาท ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากนักกับการที่อยู่ในความรู้สึกหวาดระแวงต่อกัน ดังนั้นรัฐควรจะตีกรอบกลุ่มเป้าหมายให้แคบลง และขจัดความหวาดระแวงให้ตรงจุดกับมูลเหตุของปัญหา การจลาจลที่เรือนจำนราธิวาส เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน ออกสู่ข้างนอกได้ หากทำมาเป็นบทเรียน…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net